ไร้หมายเรียก-หมายจับ ตร.คุมตัว 2 นักกิจกรรมนครสวรรค์ ไปสอบปากคำโดยไม่มีทนาย-ค้นโทรศัพท์ อ้าง ‘นี่ไม่ใช่การคุกคาม’

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับรายงานว่า มีนักกิจกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ โดยไม่มีการแสดงหมายเรียก หรือหมายจับ แต่แจ้งว่า ‘เชิญไปพูดคุยกัน’ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อตามหาแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มังกรปฏิวัติ”

‘ไอซ์’ ธนกฤต (สงวนนามสกุล) นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ เปิดเผยว่า วันที่ 24 พ.ค. 65 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรหามารดาของเขา โดยแจ้งให้พาลูกชายไปพบที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ แต่เขาตัดสินใจไม่เข้าไปพบ เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายเรียกใดๆ มา และไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด 

ต่อมาวันที่ 25 พ.ค. 2565 เวลาประมาณ 8.00 น. ขณะที่ธนกฤตกำลังเข้าเรียนอยู่ในวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ได้มีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบ 2 นาย อ้างว่ามาจากฝ่ายความมั่นคง เข้ามาควบคุมตัวธนกฤตเพียงคนเดียวมาจากสถานศึกษาไปยังสถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายจับหรือหมายเรียกใดๆ เพียงแจ้งว่าจะขอนำไปซักถามข้อมูลเกี่ยวกับเพจมังกรปฏิวัติ

เมื่อมาถึงที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ เขาถูกพาเข้าไปด้านในห้องคล้ายห้องประชุมเพียงคนเดียว มีเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงาน ไม่ต่ำกว่า 10 นายรออยู่ด้านใน เจ้าหน้าที่ได้ขอโทรศัพท์ของธนกฤตนำไปด้านนอกห้อง  เพื่อเปิดข้อมูลในโทรศัพท์ เข้าถึงรูปภาพ เฟซบุ๊ค และแชทต่างๆ ทั้งหมด โดยคาดว่ามีการคัดลอกเก็บข้อมูลโทรศัพท์ของเขาไว้ทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายศาลใดๆ ในการขอเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวนี้

เจ้าหน้าที่ยังพยายามซักถามธนกฤตว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับเพจเฟซบุ๊กมังกรปฏิวัติ ถามว่าใครเป็นแอดมินเพจ และได้นำเอกสารบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่โพสต์พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์อีก มาให้เขาลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าว ซึ่งเขาได้ยินยอมลงชื่อไป

ธนกฤตถูกปล่อยตัวจากห้องเวลาประมาณ 12.00 น. ซึ่งเป็นขณะเดียวกันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้นำตัว ‘เหลา’ ปิยมิตร เข้ามาในห้องสอบสวนเดิมต่อจากธนกฤต

.

‘เหลา’ ปิยมิตร (สงวนนามสกุล) นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าในวันเดียวกัน เวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล 2 นาย เดินเข้ามาเรียกหาเขาซึ่งกำลังนั่งอยู่บริเวณหน้าบ้าน บอกว่าจะชวนไปพูดคุยที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ 

เจ้าหน้าที่ตำรวจพาปิยมิตรขึ้นรถตำรวจไปเพียงคนเดียว โดยแจ้งเขาว่าไม่ให้บอกใคร เพราะไม่ต้องการให้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเข้าไปถึงสถานีตำรวจมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากหลายหน่วย เช่น หน่วยข่าวกรอง หน่วยข่าวกรองทหาร สันติบาล และหน่วยอื่นๆ อีก ระบุตนว่ามีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 โดยตรง

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ขอนำโทรศัพท์และไอแพดของปิยมิตรไปตรวจสอบ บอกว่าถ้าให้ความร่วมมือก็จะได้เสร็จเร็ว โดยขอทั้งพาสเวิร์ตเฟซบุ๊คไป และขอเข้าดูข้อมูลในอุปกรณ์ของเขาทั้งหมด มีการถ่ายภาพและเก็บข้อมูลไว้ หลังจากนั้นจึงนำเอกสารยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาให้เขาลงลายมือชื่อ แต่ไม่ได้มีหมายศาลใดๆ

เจ้าหน้าที่ยังพยายามซักถามข้อมูลจากปิยมิตรว่า เกี่ยวข้องอย่างไรกับเพจเฟซบุ๊กมังกรปฏิวัติ ถามว่าใครเป็นแอดมินเพจ และได้นำเอกสารบันทึกข้อตกลงว่าจะไม่โพสต์พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ มาให้เขาลงลายมือชื่อเช่นเดียวกันกับธนกฤต ทั้งยังพยายามซักถามความคิดเห็นทางการเมืองของเขาในด้านต่างๆ พิมพ์บันทึกเก็บไว้อีกด้วย

ก่อนให้กลับ เจ้าหน้าที่แจ้งปิยมิตรไว้ว่าจะไม่มีคดีตามมา หากเขายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง และแจ้งว่า “นี่ไม่ใช่การคุกคาม” เพียงแต่เรียกมาพูดคุยเท่านั้น ก่อนจะนำตัวปิยมิตรขึ้นรถกลับมาส่งที่บ้านในเวลาประมาณ 16.00 น.

ปิยมิตรเล่าถึงความรู้สึกว่า การที่เขาถูกควบคุมตัวไว้เพียงคนเดียว ไม่มีทนายความ ไม่มีผู้ไว้วางใจไปด้วย ถูกขู่ไม่ให้ติดต่อใคร ถูกยึดเครื่องมือสื่อสารไปตรวจสอบ โดย ในห้องมีเจ้าหน้าที่รัฐประมาณ 10 นาย คอยรุมสอบปากคำเป็นเวลานาน ทำให้เขารู้สึกถูกกดดัน หวาดกลัวเจ้าหน้าที่จนต้องยอมปฏิบัติตามที่สั่ง เขารู้สึกว่าการปฏิบัติการเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและเป็นการคุกคามประชาชน

สถานการณ์การเข้าติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้อำนาจนอกเหนือกฎหมาย ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานประชาชนผู้ถูกคุกคามติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่น้อยกว่า 149 ราย ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 15 ราย

>> 2 เดือน ผู้ถูกคุกคามโดยจนท.รัฐ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 66 ราย เหตุจากมีขบวนเสด็จยังเป็นปัจจัยสำคัญ

.

X