สถานการณ์คุกคาม-ปิดกั้นกิจกรรมการเมืองช่วง ก.ค. – ส.ค. 65 ยังพบเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 33 กรณี

ช่วงระหว่าง ก.ค. – ส.ค. 2565 นับเป็นช่วงเวลาที่มีความร้อนแรงทางการเมือง ด้วยมีการอภิปรายและการลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล และวาระครบรอบ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จากการติดตามสถานการณ์คุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาสองเดือนนี้ พบว่ามีจำนวนประชาชนผู้ถูกคุกคาม รวมทั้งกรณีการเข้าห้ามปรามการทำกิจกรรมทางการเมือง เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 33 ราย โดยเป็นเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1 ราย  แยกพิจารณาตามรายภูมิภาค ได้ดังนี้

ทำให้ตลอดปี 2565 จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีจำนวนประชาชนผู้ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐรวมอย่างน้อย 224 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 20 คน ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงจำนวนที่ได้รับทราบข้อมูลเท่านั้น คาดว่าในความเป็นจริงคงจะมีจำนวนผู้ถูกติดตามคุกคามมากกว่านี้ และบางรายยังถูกคุกคามหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา

.

คุกคามเพราะเหตุใด : เหตุใดยังคุกคาม?

การติดตามคุกคามเป็นความพยายามของฝ่ายรัฐในการกดปราบผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการนี้มิได้มีแค่กลุ่มนักกิจกรรม หากแต่หมายรวมไปถึงบุคคลใกล้ตัวพวกเขา สำหรับการติดตามคุกคามในช่วงระหว่างเดือน ก.ค. – ส.ค. ที่ผ่านมีสาเหตุสำคัญๆ ดังนี้

1. การลงพื้นที่ของบุคคลในราชวงศ์และแกนนำรัฐบาล

เป็นต้นว่า การลงพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ของประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 มีผลทำให้นักกิจกรรมและทีมงานก้าวไกลในภาคเหนือตอนล่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามไปสอบถามข้อมูลถึงที่บ้าน เพราะเกรงว่าจะไปทำกิจกรรมถือป้ายต้อนรับประยุทธ์

อีกกรณีหนึ่งคือ การลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ของประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2565 ทำให้มีประชาชนถูกติดตามคุกคามเท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 1 ราย โดยผู้ถูกคุกคามได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีรถยนต์มาจอดหน้าเป็นเวลา 2 วันติดกัน มีการสอบถามเพื่อนบ้านเพื่อตรวจสอบว่าบุคคลเป้าหมายอยู่บ้านหรือไม่ ทั้งยังได้เข้าไปในพื้นที่ของเพื่อนบ้านเพื่อชะโงกมองข้ามไปยังบ้านของเขาด้วย

  • คุกคามเนื่องในวันสำคัญของราชวงศ์

ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมักมีความกังวลว่าจะมีการทำกิจกรรมในวันสำคัญๆ เช่น วันเกิดของสมาชิกราชวงศ์ จึงได้ดำเนินการเฝ้าติดตามประชาชน โดยช่วง 2 เดือนนี้ ได้รับข้อมูลว่ามีการคุกคามที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับวันสำคัญของราชวงศ์เกิดขึ้นด้วย อย่างน้อย 3 กรณี

กรณีหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 แม่ของนักกิจกรรมคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่โทรศัพท์มาถามว่าลูกชายอยู่บ้านหรือไม่ และมีแผนจะทำกิจกรรมอะไรในวันเกิดของรัชกาลที่ 10 หรือไม่ โดยตำรวจชี้แจงว่าได้รับคำสั่งให้โทรมาสอบถาม

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 ส.ค. มีกรณีการคุกคาม “ฟ้า” นักกิจกรรมคนหนึ่งของกลุ่มเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ด้วยการไปหาที่บ้านเกิดซึ่งอยู่ จ.นครศรีธรรมราช หากแต่ฟ้าไม่ได้อยู่ที่นั่นแหลายปีแล้ว มีเพียงแต่ยาย โดยตำรวจได้กล่าวหาว่าฟ้ายุ่งเกี่ยวกับสถาบันฯ  ทั้งยังได้ต่อว่าและข่มขู่ญาติผู้ใหญ่ของฟ้าด้วย 

ในวันเดียวกันยังมีกรณีการห้ามมิให้เยาวชนและเด็กนักกิจกรรม 2 คน เข้าเข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 101 รูป เนื่องในโอกาสวันเกิดของสมเด็จพระพันปีหลวง ราชินีในรัชกาลที่ 9 ด้วย

.

2. การชุมนุมและรวมตัวแสดงออกทางการเมือง

สำหรับในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. นี้ มีการชุมนุมที่สำคัญๆ ได้แก่ กิจกรรมยืนหยุดขังที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมปักหลักที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งมีข้อเรียกร้องสำคัญคือ คืนสิทธิประกันตัวให้นักโทษทางความคิด หรือนักโทษทางการเมือง โดยเฉพาะ บุ้ง-ใบปอ ที่อดอาหารอยู่ในขณะนั้น

  • กิจกรรมยืนหยุดขังประเทศไทย

กิจกรรม #ยืนหยุดขังประเทศไทย ริเริ่มโดยนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ได้รับการขานรับจากนักกิจกรรมและประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในส่วนภูมิภาค ทำให้มีการจัดกิจกรรมขึ้นในหลายพื้นที่อย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565  จากการติดตามสถานการณ์ของ iLaw พบว่า มีประชาชนถูกคุกคามเนื่องจากเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 3 ราย โดยมีตำรวจไปพบที่บ้าน ทั้งยังมีกรณีตำรวจไปคุกคามอดีตแกนนำคนเสื้อแดงถึงร้านก๋วยเตี๋ยว เหตุเพราะโพสเฟซบุ๊กเชิญชวนทำกิจกรรมยืนหยุดขังและยกเลิก 112 ด้วย

  • หมู่บ้านหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้

กิจกรรมหมู่บ้านศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นการชุมนุมปักหลักในพื้นที่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่นักโทษการเมือง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เริ่มต้นปักกันกันตั้งแต่ 30 มิ.ย. 2565 การชุมนุมก็ดำเนินเรื่อยมา มีการเปิดเพลง การปราศรัยเพื่อเน้นย้ำข้อเสนอของการชุมนุมเป็นระยะ โดยในตอนแรกยังไม่มีรายงานการเข้ามาขัดขวางหรือห้ามปรามของเจ้าหน้าที่

กระทั่งวันที่ 28 ก.ค. 2565 กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำกิจกรรม “ยืนบอกเจ้าว่าเราโดนรังแก” โดยมีการยืนหยุดขัง การโกนหัวเพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันแก่ผู้ต้องหาทางการเมือง และมีการปราศรัยของไบรท์ ชินวัตร 

จากนั้นในวันที่ 30 ก.ค. 2565 ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักงานเขตสาทรได้เข้ามาสอบถามหาผู้รับผิดชอบการชุมนุม พร้อมแจ้งว่าการชุมนุมนี้มีความผิด เพราะตั้งเต็นท์และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งบอกด้วยว่าในวันที่ 1 ส.ค. 2565  จะออกคำสั่งเพื่อแจ้งให้กับผู้รับผิดชอบการชุมนุมทราบ แต่ถ้าไม่มีผู้รับผิดชอบทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการรื้อเต็นท์เอง

.

3. การแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การชุมนุม

ขณะที่สถานการณ์การแสดงออกทางการเมืองมีรูปแบบหลากหลายมากไปกว่าการชุมนุม จึงปรากฏว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้มีการพยายามขัดขวางการทำกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ด้วย ดังนี้

  • กิจกรรม “ลงมติประชาชนอภิปรายไม่ไว้วางใจประยุทธ์” 

กิจกรรมนี้มีขึ้นทั่วประเทศเมื่อวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้คุกคามด้วยการขัดขวางและห้ามมิให้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวในอย่างน้อย 2 กรณี

กรณีแรกเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยตำรวจไม่ทราบหน่วยงานหลายนาย เข้ามาที่ร้านหนังสือ A Book with No Name เพื่อบอกให้ทางเจ้าของร้านเก็บป้ายชวนทำกิจกรรม ‘ลงมติประชาชนอภิปรายไม่ไว้วางใจประยุทธ์’ เข้ามาด้านในร้าย ให้เหตุผลว่าไม่เหมาะสมเพราะใกล้ ‘วัง’

อ่านข่าวนี้  : ตร.ขอให้ร้านหนังสือเก็บป้ายกิจกรรมไม่ไว้วางใจประยุทธ์เข้าในร้าน ชี้ใกล้ ‘วัง’ | ประชาไท Prachatai.com 

อีกกรณีหนึ่งคือที่ จ.นครราชสีมา นักกิจกรรมกลุ่ม KoratMovement ได้จัดพื้นที่ลงมติไม่ไว้วางใจประยุทธ์ที่บริเวณลานย่าโม จากนั้นได้ถูกเจ้าหน้าเทศกิจเข้ามาเจรจา รื้อที่จัดกิจกรรม รวมทั้งยึดอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมดังกล่าว 

อ่านข่าวนี้ : เทศกิจยึดอุปกรณ์ทำกิจกรรมประชามติ ‘ไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์’ ที่โคราช | ประชาไท Prachatai.com

.

นอกเหนือจากนี้ ศูนย์ทนายฯ ยังได้รับทราบข้อมูลว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาแกนนำชาวบ้านที่เคลื่อนไหวในประเด็นทรัพยากร โดยการคัดค้านโรงงานในพื้นที่จังหวัดสตูล และมีกรณ๊เจ้าหน้าที่ไปติดตามครอบครัวของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เหตุเพียงเพราะเข้าร่วมการเสวนาเชิงปฎิบัติการที่ว่าด้วยประเด็นแรงงาน ในพื้นที่ภาคตะวันออก

.

ควบคุมตัวมิชอบ บังคับทำประวัติ เซ็นเอกสารข้อตกลง และปัญหาการเดินทางออกนอกประเทศ

นับแต่ต้นปี 2565 เห็นได้ว่ารูปแบบการคุกคามส่วนใหญ่เป็นการเฝ้าติดตามสอดแนม การไปหาที่บ้านหรือที่ทำงานเพื่อตรวจเช็คว่าบุคคลเป้าหมายมีการเคลื่อนไหว หรือมีแผนการจะทำกิจกรรมใดหรือไม่ จากนั้นก็มักจะมีการถ่ายรูปเพื่อนำไปรายงานผู้บังคับบัญชา 

ขณะเดียวกันยังมีลักษณะการคุกคาม ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีการควบคุมตัวโดยมิชอบ โดยไม่มีหมายจับและไม่ได้กระทำความผิดชัดเจน เช่น กรณีศิลปินกลุ่ม “แพะในกุโบร์” ถูกตำรวจสายสืบ สน.บางซื่อ ควบคุมตัวไปทำประวัติ เหตุเพียงติดภาพประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมข้อความ “หมดเวลา 8 ปี นายกเถื่อน”

ทั้งยังพบรูปแบบการพาตัวบุคคลเป้าหมายไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ด้วย โดยผู้ที่ถูกคุกคามมักเป็นผู้ที่โพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น กรณีของ “ลูกหนัง” นักกิจกรรมอิสระที่ถูกควบคุมตัวมิชอบไว้เป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง เพื่อบังคับให้ลงนามในเอกสารข้อตกลงว่าจะไม่โพสต์วิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ อีก 

นอกจากนี้ ยังได้ทราบข้อมูลว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองบางรายพบปัญหาการเดินออกนอกประเทศ เพื่อไปทำงานหรือทำภารกิจ โดยเจ้าหน้าที่ ตม. จะแจ้งว่าหนังสือเดินทางมีปัญหา ด้วยเหตุว่าเป็นบุคคลที่มีคดีค้างอยู่ในชั้นศาล ทั้งที่คดีนั้นๆ ไม่ได้มีเงื่อนไขศาลที่ห้ามเดินทางออกนอกประเทศแต่อย่างใด 

เมื่อนักกิจกรรมไล่สอบถามข้อมูลไปเรื่อยๆ จึงได้ทราบว่าเหตุที่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางนั้นเพราะมีรายชื่ออยู่ในบัญชีเฝ้าติดตามของทางการ ไม่ใช่เรื่องเงื่อนไขของศาล โดยหลังจากการสอบถามข้อมูลและตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่พบว่ายังสามารถเดินทางออกไปได้ แต่ก็ใช้ระยะรอการตรวจสอบค่อนข้างนาน 

.

ย้อนอ่านรายงานสรุปการคุกคามก่อนหน้านี้

2 เดือนแรกปี 2565: จนท.รัฐติดตามประชาชนระหว่างมีขบวนเสด็จเข้มข้น ยอดผู้ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 83 ราย

2 เดือน ผู้ถูกคุกคามโดยจนท.รัฐ เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 66 ราย เหตุจากมีขบวนเสด็จยังเป็นปัจจัยสำคัญ

ครึ่งปี 65 ยอดรวมประชาชนและนักกิจกรรมถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามอย่างน้อย 191 ราย เป็นเยาวชนไม่ต่ำกว่า 19 คน อายุต่ำสุดคือ 13 ปี

.

X