“เมื่อวาน ตอนเที่ยง มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาที่บ้าน มาถ่ายรูปบ้านและคนในครอบครัวเรา มาคอยติดตามเราตลอดว่ากำลังไปไหน ทำอะไร อยู่ที่ไหน หรือแม้แต่การข่มขู่ด้วยคำสั่งของเผด็จการ
“สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้คนในครอบครัวเราเกิดความเครียด วิตกกังวลถึงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในชีวิตของพวกเรา”
ชลธิชา แจ้งเร็ว โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.59
“การส่งทหารไปที่ครอบครัวแฟนผม เป็นการข่มขู่ให้กลัว เพื่อให้ไม่กล้ามาเยี่ยมผม เพื่อทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่เหลือใคร ทั้งที่แฟนผมไม่ได้ทำอะไรผิด”
รังสิมันต์ โรม ให้สัมภาษณ์ขณะถูกคุมขังในเรือนจำ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.59
ภายใต้การควบคุมอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) มิใช่เพียงตัวนักกิจกรรม ผู้นำการเคลื่อนไหว นักการเมือง นิสิตนักศึกษา หรือพลเมืองผู้กระตือรือร้นทางการเมืองเองเท่านั้น ที่ตกเป็นเป้าหมายในการเรียกเข้ารายงานตัว การบุกไปพูดคุยด้วย หรือการถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ยังปรากฏการดำเนินการข่มขู่คุกคามในลักษณะต่างๆ ต่อครอบครัวหรือญาติพี่น้องของบุคคลเหล่านั้นด้วย แม้ครอบครัวหรือญาติพี่น้องเหล่านั้นจะไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมด้วยเลยก็ตาม
ปฏิบัติการดังกล่าวมิใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กลับเป็นยุทธวิธีอย่างหนึ่งในการปราบปรามความคิดเห็นที่แตกต่าง และการควบคุมการแสดงออกในสังคมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ กระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปด้วยความตั้งใจและอย่างเป็นระบบ จนถือได้ว่าเป็นเทคนิควิธีหนึ่งในการควบคุมสังคมของรัฐบาลทหาร และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นตลอดสองปีที่ผ่านมา
รายงานชิ้นนี้ประมวลตัวอย่างปฏิบัติการของทหารที่มีการควบคุมตัวครอบครัวของ “บุคคลเป้าหมาย” ตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยที่คนที่ถูกควบคุมตัวไปแทนก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไปจนถึงการติดตามคุกคามญาติของนักศึกษา นักกิจกรรม และผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ระบอบอำนาจของคสช. กระทั่งสถานการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
เมื่อครอบครัวกลายเป็น “เป้าหมายรอง” ในการควบคุมตัวของทหาร
“คนที่ถูกเชิญตัวมาก็ล้วนถูกปฏิบัติอย่างสมเกียรติบนพื้นฐานของศักดิ์ความเป็นมนุษย์ ไม่เคยมีกรณีใดที่คสช.และรัฐบาลไปทำร้ายรังแกใคร”
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวบีบีซี ในโอกาสครบรอบสองปีการรัฐประหาร
หลังรัฐประหาร 2557 ใหม่ๆ คสช.ได้ติดตามตัวบุคคลจำนวนมากเข้ารายงานตัว และควบคุมตัวไว้ 7 วัน โดยนอกจากการใช้คำสั่งคสช.ประกาศรายชื่อให้เข้ารายงานตัวตามวันเวลาที่กำหนดแล้ว ยังมีการติดตามตัวบุคคลโดยไม่ได้มีคำสั่งเรียกใดๆ ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ทหารได้ติดตามตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในแต่ละพื้นที่จำนวนมาก โดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก
รูปแบบการปฏิบัติของทหารที่พบโดยทั่วไป คือเจ้าหน้าที่มีการจัดทำรายชื่อบุคคลที่เป็น “เป้าหมาย” ต้องติดตามตัว โดยมากเป็นบุคคลที่เป็นแกนนำหรือมีบทบาทการเคลื่อนไหวในพื้นที่มาก่อน จากนั้นจึงใช้ยุทธวิธีต่างๆ เพื่อติดตามตัวมาให้ได้ ทั้งการโทรศัพท์แจ้งให้มารายงานตัวที่ค่ายทหารในพื้นที่, การจัดกำลังทหารออกติดตามที่บ้านบุคคลนั้น และเมื่อไม่พบตัวบุคคลที่เป็น “เป้าหมายหลัก” ดังกล่าว บางกรณีก็ได้มีการควบคุมตัว “เป้าหมายรอง” (ตามถ้อยคำที่ถูกใช้โดยเจ้าหน้าที่ทหารเอง) ไปแทน ซึ่งเป้าหมายรองดังกล่าว หมายถึงครอบครัวหรือญาติ เพื่อกดดันให้บุคคลที่เป็น “เป้าหมายหลัก” เข้ามารายงานตัวเองต่อเจ้าหน้าที่
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในช่วงแรกหลังรัฐประหาร มีมากกว่า 10 กรณีขึ้นไป ที่เจ้าหน้าที่ได้บุกไปที่บ้านของบุคคลที่ต้องการควบคุมตัว และเมื่อไม่พบบุคคลเป้าหมายดังกล่าว จึงได้เข้าควบคุมตัวครอบครัวหรือญาติของบุคคลนั้นๆ ไปแทน ซึ่งมีทั้งกรณีญาติของนักการเมือง แกนนำเสื้อแดง ผู้นำท้องถิ่น หรือญาติของนักกิจกรรมทางสังคม
กรณีของนักการเมือง ยกตัวอย่างเช่น กรณีนายประสิทธิ์ วุฒินันชัย อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารราว 20 นาย ได้บุกไปบ้านที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ในเย็นวันรัฐประหาร แต่ไม่พบตัวนายประสิทธิ์ จึงได้ควบคุมตัวลูกชายวัย 30 ปี ที่ไม่ได้ทำอาชีพเกี่ยวกับการเมืองใดๆ ไปแทน โดยนำตัวไปควบคุมที่ค่ายทหารเป็นเวลา 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวออกมา ในเวลาต่อมานายประสิทธิ์ได้ถูกประกาศเรียกตามคำสั่งคสช. และได้เข้าไปรายงานตัวที่กรุงเทพฯ
ส่วนกรณีของคนเสื้อแดงในท้องถิ่น เช่น กรณีของนายมหวรรณ กะวัง เจ้าของสถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งหลังรัฐประหารได้ถูกเจ้าหน้าที่บุกไปทั้งที่สถานีวิทยุและที่บ้านพัก แต่ไม่เจอตัวมหวรรณ จึงได้ควบคุมตัวพี่เขยของเขาไปแทน โดยนำตัวไปไว้ที่ค่ายทหารนาน 5 วัน ในภายหลังนายมหวรรณจึงได้ติดต่อประสานขอเข้ารายงานตัวเอง ก่อนที่จะมีรายชื่อเขาในประกาศส่วนกลางของคสช. เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้นำตัวขึ้นรถตู้เดินทางเข้าไปรายงานตัวในกรุงเทพฯ
ในกรณีแกนนำเสื้อแดงระดับอำเภอหนึ่งทางภาคเหนือ ซึ่งประกอบอาชีพเปิดร้านอาหารแห่งหนึ่ง พบว่าในคืนรัฐประหาร ทหารกว่าสิบนายได้มาเฝ้าที่ร้าน และเมื่อไม่พบตัว ก็มีการควบคุมตัวลูกเขยของแกนนำรายดังกล่าวไปจากร้านในเวลาเที่ยงคืน โดยทหารได้นำตัวไปที่ค่ายทหารในพื้นที่ ก่อนที่ในเช้าวันต่อมา แกนนำเสื้อแดงรายดังกล่าวจะเดินทางไปขอ “เปลี่ยนตัว” กับลูกเขยที่ค่ายทหาร ทหารจึงได้ยอมปล่อยตัวลูกเขยออกมา โดยควบคุมตัวแกนนำรายดังกล่าวไว้ 6 วันแทน
“ถ้าหากว่าผมฆ่าคนตายอย่างนี้ ต้องจับเมียผมหรือ จับลูกผมหรือ เขาไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย กฎหมายมันมีแบบนี้หรือ คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็เอาไปกักขังไว้”
แกนนำเสื้อแดงเคยให้สัมภาษณ์ศูนย์ทนายสิทธิฯ ไว้
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลว่าในพื้นที่เดียวกับแกนนำเสื้อแดงรายดังกล่าว ทหารยังมีการควบคุมตัวญาติของผู้นำในท้องถิ่นที่เป็นเป้าหมายในการติดตามตัวไปด้วย ทั้งที่ญาติคนดังกล่าวมีอาการหูตึงและเป็นใบ้ ไม่ได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ และยังต้องเฝ้ามารดาที่อายุมากแล้ว แต่ทหารก็นำไปควบคุมตัวในค่าย ก่อนที่ผู้นำในท้องถิ่นที่เป็นเป้าหมายติดตามตัวจะเดินทางไป “เปลี่ยนตัว” กับญาติออกมา
ขณะที่ยังพบกรณีของคนเสื้อแดงในจังหวัดหนึ่ง ซึ่งช่วงหลังรัฐประหาร เจ้าหน้าที่ทหารกว่า 30 นาย พร้อมอาวุธ ได้นำกำลังบุกไปที่บ้านพัก แต่ไม่พบตัวคนเสื้อแดงรายดังกล่าว จึงได้ควบคุมตัวภรรยาที่มีอาการป่วย และลูกสาวในวัย 27 ปี ไปแทน ก่อนจะให้ภรรยาโทรแจ้งคนเสื้อแดงรายนี้ ให้เขาเดินทางมารายงานตัวที่ค่ายทหารในพื้นที่ ทหารจึงได้มีการปล่อยตัวภรรยาและลูกสาวออกมา แล้วนำคนเสื้อแดงรายนี้ไปควบคุมตัวไว้ในค่ายแทน
ในกรุงเทพฯ เอง ก็ปรากฏกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรวจค้นบ้านของครอบครัวพฤกษาเกษมสุข โดยมีการควบคุมตัวนางสุกัญญา ภรรยาของสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมทางสังคมและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 พร้อมลูกชายและลูกสาวไปจากบ้าน เพื่อพูดคุยสอบสวน ทั้งที่ทั้งสามคนไม่ได้กระทำความผิด และไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองใดมาก่อน นอกจากการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับสมยศ
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุข เคยบอกเล่าประสบการณ์การถูกคสช.ควบคุมตัวไว้ในรายการ “คืนความจริง”
ขณะเดียวกัน ยังพบกรณีการควบคุมตัวญาติไปพร้อมกับผู้ต้องหา และใช้ความไม่ปลอดภัยของญาติมาข่มขู่ผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพด้วย เช่น กรณีของนายชัชวาล ปราบบำรุง ผู้ต้องหาในคดีระเบิดห้างบิ๊กซีราชดำริ ทหารได้มีการควบคุมตัวภรรยาของเขาไปพร้อมกันขณะควบคุมตัวนายชัชวาล แต่มีการควบคุมตัวแยกไปในรถอีกคัน และทหารมีการใช้เรื่องภรรยาจะไม่ปลอดภัย มาข่มขู่ให้ผู้ต้องหารับสารภาพ ภรรยาของชัชวาลถูกควบคุมตัวไว้หลายวันในห้องเดี่ยวปิดตาย โดยมีการสอบสวนหลายครั้ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว รวมทั้งสามีเองยังถูกซ้อมทรมานเพื่อให้รับสารภาพในคดี
ในช่วงหลังรัฐประหาร ยังพบกรณีผู้ถูกควบคุมตัวอีกหลายกรณี ที่แม้ทหารไม่ได้ควบคุมตัวครอบครัวไป แต่ก็ใช้การโทรศัพท์และพูดคุยข่มขู่ “บุคคลเป้าหมาย” ว่าหากไม่เข้ารายงานตัวที่ค่ายทหาร จะเข้าควบคุมตัวลูกเมียหรือญาติไปแทน ทำให้บุคคลที่ถูกติดตามตัว ต้องยินยอมเดินทางไปในค่ายทหารเอง
ในช่วงดังกล่าว แม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ แต่กฎอัยการศึกเองก็ไม่ได้ให้อำนาจในการควบคุมตัวญาติหรือครอบครัวไปในลักษณะที่ทหารปฏิบัติแต่อย่างใด โดยตามพ.ร.บ.กฎอัยการศึกมาตรา 15 ทวิ ระบุว่า
“ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน”
แต่ข้อเท็จจริงกลับพบว่าครอบครัวและญาติของกรณีตัวอย่างที่ถูกควบคุมตัวไปดังกล่าว แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวหรือแสดงออกทางการเมือง หลายคนไม่รู้เรื่องการเมืองใดๆ นัก เพียงแต่เป็นญาติของบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายติดตามตัวของเจ้าหน้าที่ จึงกล่าวไม่ได้เลยว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็น “ราชศัตรู” หรือได้ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (arbitrary detention)
อีกทั้ง วิธีคิดในการกำหนด “เป้าหมายหลัก” และ “เป้าหมายรอง” ในลักษณะนี้ ดูราวกับเป็นยุทธการที่ใช้เพื่อเอาชนะ “ข้าศึก-ศัตรู” ทางทหาร มากกว่าที่ควรจะถูกนำมาดำเนินการกับพลเมืองภายในประเทศของตนเอง การดำเนินยุทธการดังกล่าวยังมีลักษณะคล้ายเป็นการ “จับตัวประกัน” เพื่อข่มขู่บังคับให้บุคคลเป้าหมายยินยอมกระทำการตามเป้าประสงค์ที่เจ้าหน้าที่ต้องการ ซึ่งในกรณีนี้คือการบังคับให้เข้ามารายงานตัว โดยไม่ได้มีการแยกแยะบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องใดๆ อันถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
การคุกคามครอบครัวของนักกิจกรรม-นักเคลื่อนไหว
หลังจากช่วงของการควบคุมตัวบุคคลจำนวนมากในช่วงกฎอัยการศึกแล้ว แม้คสช.จะสามารถกดปรามกระแสการต่อต้านรัฐประหารเอาไว้ได้ แต่ในกลุ่มนักศึกษาหรือนักกิจกรรมที่ยังคงยืนหยัดเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร หรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจของทหาร มาจนถึงปัจจุบัน นอกจากการถูกดำเนินคดีต่างๆ โดย “กฎหมาย” ที่คสช.บัญญัติขึ้นเองแล้ว ทหารก็ยังใช้ยุทธวิธีในการเข้าเยี่ยมบ้าน เพื่อพบกับญาติและครอบครัวของนักกิจกรรมหลายรายโดยตรง หรือบางกรณีก็มีการเรียกญาติมาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่
ช่วงที่มีการใช้ยุทธวิธีลักษณะนี้อย่างเข้มข้นช่วงหนึ่ง คือช่วงหลังการเคลื่อนไหวรำลึกครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร ที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับ 14 นักศึกษา-นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) เจ้าหน้าที่รัฐก็ใช้การบุกไปพบญาติพี่น้องของนักกิจกรรมหลายราย เช่น กรณีของชลธิชา แจ้งเร็ว หนึ่งใน 14 นักศึกษาที่เคยถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 1 ก.ค.58 ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบสามนายเดินทางไปที่บ้านจังหวัดปทุมธานี เพื่อพบกับมารดาของชลธิชา โดยมีการสอบถามถึงพฤติการณ์และความคิดของชลธิชา พร้อมเตือนแม่ว่าเหตุใดจึงไม่ดูแลลูกสาวไม่ให้มีพฤติการณ์ต่อต้านรัฐบาล
กรณีของน.ส.กตัญญู หมื่นคำเรือง นักศึกษามหาวิทยาลัยหาดใหญ่ และทำกิจกรรมในประเด็นสิทธิชุมชน แต่ได้ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงที่ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ถูกจับกุมคุมขังในเดือนมิ.ย.58 ทำให้ในช่วงนั้น มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปหาแม่ของเธอถึงที่ทำงาน ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด โดยมีการเตือนให้ลูกสาวหยุดเคลื่อนไหว พร้อมกับถ่ายรูปแม่ไว้ หลังจากนั้นยังมีการโทรศัพท์มาหาแม่อีก เพื่อเตือนเรื่องที่ลูกไม่หยุดเคลื่อนไหว
กรณีน.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ก็มีทหารไปเยี่ยมที่บ้านเธอรวมสามครั้ง โดยมีการเข้าสอบถามมารดาเกี่ยวกับข้อมูลของครอบครัว เรื่องของลูกๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ยังถ่ายรูปบ้านไปทุกๆ ครั้ง และทุกครั้งทหารเข้าพูดคุยกับแม่ของชนกนันท์เป็นหลัก โดยไม่เคยระบุว่าจะขอพบกับตัวชนกนันท์เองแต่อย่างใด
จตุภัทร หรือ “ไผ่ ดาวดิน” กับบิดา (ภาพจากมติชนออนไลน์)
ในกรณีของนักศึกษากลุ่มดาวดินที่จังหวัดขอนแก่น ช่วงระหว่างการเคลื่อนไหวครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร เดือนพ.ค.-มิ.ย.58 ครอบครัวของสมาชิกในกลุ่มหลายคนถูกเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปพบที่บ้าน พร้อมกับเตือนเรื่องการเคลื่อนไหวในลักษณะคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างเช่น กรณีครอบครัวของภานุพงษ์ ถูกทหารในเครื่องแบบ 4 นาย เดินทางไปยังบ้านจังหวัดสุรินทร์ โดยทหารได้เข้าถ่ายรูปย่า ป้า และลุงที่อยู่ในบ้านทีละคน พร้อมกับมีการโทรไปข่มขู่บิดาที่ไม่ได้อยู่บ้าน หลังจากนั้นก็มีทหารเข้ามาพบบิดาของภานุพงษ์ เพื่อพูดคุยให้ห้ามการเคลื่อนไหวของลูก
กรณีของครอบครัวอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ ในช่วงวันที่ 22 พ.ค.58 ได้มีตำรวจ 4 นาย เดินทางไปที่บ้านจังหวัดร้อยเอ็ด และได้พบกับป้าของอภิวัฒน์ ซึ่งอยู่บ้านติดกัน เจ้าหน้าที่มีการสอบถามข้อมูลครอบครัว พร้อมกับถ่ายรูปป้าและบริเวณบ้านไป หลายวันต่อมา ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารสองนายไปหาพ่อของอภิวัตน์ที่บ้าน โดยมีการสอบถามประวัติของพ่อ และข่มขู่เรื่องการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของลูก ว่าอาจจะต้องติดคุกยาวและอาจถูกตั้งข้อหากบฏได้
กรณีครอบครัวของจตุภัทร บุญภัทรรักษา ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิและเจ้าหน้าที่ของอำเภอได้มีการนัดหมายพูดคุยกับพ่อของจตุภัทรรวม 3 ครั้ง เพื่อสอบถามข้อมูลของลูกชาย และเตือนให้ดูแลลูก รวมทั้งยังมีปลัดอำเภอ กำนัน และตำรวจในเครื่องแบบ เดินเข้ามาพบที่บ้าน เตือนให้ห้ามการเคลื่อนไหวของลูก ในช่วงเดือนมิ.ย.58 เจ้าหน้าที่ยังมีการเชิญพ่อไปที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยให้มหาวิทยาลัยทำหนังสือเชิญผู้ปกครองมาพบ ร่วมกับผู้ปกครองของนักศึกษากลุ่มดาวดินอีกสองคน มีการแยกคุยกับเจ้าหน้าที่คณะทีละคน และหลังจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบหลายนายเข้ามาถ่ายรูป และเตือนเรื่องการเคลื่อนไหวของลูกชายเช่นเดิม
นอกจากกลุ่มนักศึกษา-นักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมแล้ว ครอบครัวของกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นเป้าหมายอื่นๆ ก็ยังถูกติดตามคุกคามอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีของจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารมีการเข้าเยี่ยมบ้านพี่สาวที่จังหวัดสุพรรณบุรีหลายครั้ง แม้เธอจะไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ทหารกลับพยายามเข้าคุยกับพ่อและพี่สาวของเธอเป็นหลัก โดยไม่มาพูดคุยกับเธอโดยตรง เช่น มีการมาคุยเรื่องโครงการห้าล้านหนึ่งตำบล หรืออ้างถึงโครงการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุกับพ่อของเธอ โดยการมาแต่ละครั้งมีการถ่ายรูปบ้าน ถ่ายรูปพ่อหรือบุคคลที่อยู่ในบ้านไป ซึ่งจิตราระบุว่าในบริเวณบ้านที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีบ้านของเธอคนเดียวที่เจ้าหน้าที่ทหารแวะเวียนมาเยี่ยมเช่นนี้
เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปยังบ้านบิดาของจิตรา คชเดช ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ในช่วงเดือนมี.ค.59 (ภาพจาก Jittra Cotchadet)
ปฏิบัติการในลักษณะนี้ เป็นมาตรการที่มุ่งเป้าต่อครอบครัวหรือญาติของผู้ที่เป็นเป้าหมายโดยตรง แต่มีลักษณะให้เกิดผลกระทบเป็นการข่มขู่ คุกคาม หรือกดดัน ต่อนักศึกษาหรือนักกิจกรรม ในการระงับหยุดยั้งการออกมาแสดงความคิดเห็นหรือทำกิจกรรมทางการเมือง โดยอาศัยการดำเนินการทางอ้อมผ่านญาติหรือครอบครัวของพวกเขาและเธอ
การคุกคามครอบครัวของผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ
นอกจากการคุกคามญาติของนักเคลื่อนไหวในประเทศแล้ว ทหารยังคุกคามหรือติดตามครอบครัวของ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” หลายราย โดยพลเมืองไทยที่ถูกคุกคามหรือดำเนินคดีทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมหลายรายแม้จะตัดสินใจลี้ภัยออกต่างประเทศ บางส่วนยังคงมีบทบาทในการนำเสนอและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้การดำเนินการกดดันหรือคุกคามต่อญาติและครอบครัวของผู้ลี้ภัยเหล่านั้น ที่ยังอยู่ในประเทศ
ตัวอย่างกรณีที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน เช่น กรณีของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ระบุในช่วงเดือนพ.ย.58 ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหาร 4 คน ขี่มอเตอร์ไซด์ 2 คัน มาที่หน้าบ้านของแม่วัย 93 ปี พร้อมกับถ่ายรูปในบ้าน แต่ไม่พูดอะไรกับแม่ของเขา โดยเมื่อถ่ายรูปเสร็จเดินทางกลับ
กรณีของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการผู้ปฏิเสธเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. เจ้าหน้าที่ทหารเคยเดินทางไปที่บ้านของเขาราว 4-5 ครั้ง โดยในช่วงเดือนก.พ.59 มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 4 นายเดินทางไปที่บ้านของเขาในเมืองไทย โดยเข้าพูดคุยกับพี่สาวของปวิน เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของน้องชาย ทั้งยังมีบุคคลโทรศัพท์ไปหาพี่สาวของปวินที่ที่ทำงาน เพื่อกล่าวเตือนในลักษณะเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปที่บ้าน โดยมีการข่มขู่ญาติด้วยว่าหากไม่หยุด คนในครอบครัวจะต้องเดือดร้อน ทางบ้านก็ต้องรับผิดชอบต่อปวินด้วย เพราะเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน และยังข่มขู่ว่าจะให้ญาติเข้ารายงานตัวในค่ายทหาร (ดูบทสัมภาษณ์โดยประชาไท)
นอกจากนั้น ยังมีรายงานถึงการเข้าคุกคามญาติของผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกหลายกรณี ซึ่งส่วนใหญ่ญาติๆ เหล่านั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวหรือการแสดงความเห็นทางการเมือง ในหลายกรณีก็ทำให้เกิดความหวาดกลัว กระทั่งกระทบต่อสายสัมพันธ์ในครอบครัวเองด้วย
สู่การดำเนินคดี “แม่” ของนักกิจกรรม
“แม่ไม่ได้กลัวติดคุก แต่วันนี้ถ้าแม่ติดคุกใครจะดูแลอีกสามชีวิตที่บ้าน ใครจะดูข้าวดูยาให้ยาย ใครจะดูแลเด็กๆไปโรงเรียน ใครจะหาค่าน้ำค่าไฟ เราแค่คนหาเช้ากินค่ำ…มันไม่แฟร์ แม่ไม่ได้ทำอะไรผิด…ความผิดแม่ในสายตาพวกเขาคงมีอยู่แค่ว่าแม่เกิดมาเพื่อเป็นแม่ของนิว…”
ถ้อยคำของ “แม่จ่านิว” ขณะให้ปากคำในห้องสอบสวน
กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่พบกรณีใดที่ถึงระดับมีการดำเนินคดีกับครอบครัวของนักเคลื่อนไหว จนกระทั่งเกิดกรณีของ “แม่จ่านิว” อันอาจถือได้ว่าเป็นการยกระดับจากปฏิบัติการคุกคามญาติพี่น้องของนักกิจกรรมที่มีมาโดยตลอดหลังรัฐประหารขึ้นไปอีก
น.ส.พัฒน์นรี หรือ “แม่จ่านิว” เองไม่ได้มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ มาก่อน เพียงแต่เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้นหลังสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ลูกชายออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวหลายครั้ง ถูกห้ามปรามเรื่องการทำกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งคสช.
ในส่วนของครอบครัว ก่อนหน้านี้ในเดือนธ.ค.58 ทหารเคยมีการเรียกตัวน.ส.พัฒน์นรีเข้าพบในช่วงที่ “จ่านิว” มีการทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ โดยช่วงนั้นมีทั้งเจ้าหน้าที่ทหารเดินทางไปพบที่บ้าน เข้าถ่ายรูปคนในครอบครัวและข้าวของในบ้าน พยายามกดดันให้แม่ติดตามตัวลูกชาย พร้อมทั้งข่มขู่ว่าหากลูกชายทำกิจกรรมต่อไป ชีวิตครอบครัวก็จะ “อยู่ไม่เป็นสุข” ก่อนจะเชิญตัวให้ไปพบที่หน่วยของเจ้าหน้าที่ทหาร
กระทั่งในเดือนพ.ค.59 การดำเนินการต่อครอบครัว “จ่านิว” จึงยกระดับถึงขั้นการดำเนินคดีต่อน.ส.พัฒน์นรี ตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากข้อกล่าวหาที่ระบุว่าไม่ได้ห้ามปราม หรือตำหนิบุคคลที่ส่งข้อความซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 มาทางกล่องข้อความส่วนตัวในเฟซบุ๊ก ซึ่งถือเป็นการตีความกฎหมายมาตรานี้ที่ขยายความออกไปอีก มีลักษณะของการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างความหวาดกลัวขึ้นในสังคม และยังมีลักษณะมุ่งดำเนินการกับบุคคลที่เป็นญาติของนักกิจกรรมทางการเมืองซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร
ประชามติภายใต้การคุกคามครอบครัวผู้รณรงค์
กรณีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างจำนวนหนึ่งของการข่มขู่คุกคามครอบครัวของนักกิจกรรม ผู้นำการเคลื่อนไหว นักการเมือง นิสิตนักศึกษา หรือพลเมืองผู้กระตือรือร้นทางการเมือง โดยที่ญาติพี่น้องของบุคคลดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ปฏิบัติการเหล่านี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดสองปีที่ผ่านมา และมีอีกหลายกรณีที่ไม่เป็นข่าว หรือถูกสังคมให้ความสนใจ เพราะปฏิบัติการของเจ้าหน้าจำนวนมากเกิดขึ้นในลักษณะ “ลับหลัง” สาธารณชน หรือบางกรณีผู้ถูกละเมิดก็หวาดกลัวที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตน
เจ้าหน้าที่ทหารล้อมบ้านของวัฒนา เมืองสุข ขณะมีเพียงภรรยาอยู่ที่บ้าน (ภาพจากเฟซบุ๊ก Watana Muangsook)
แม้จนถึงช่วงเวลาการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ที่การถกเถียงแสดงความคิดเห็นอย่างสันติควรจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่การคุกคามข่มขู่ญาติของนักกิจกรรมทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไป ดังตัวอย่างกรณีของชลธิชา และรังสิมันต์ ข้างต้น หรือแม้แต่กรณีของวัฒนา เมืองสุข ที่โพสต์แสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเจ้าหน้าที่ที่พยายามติดตามตัววัฒนา ได้ข่มขู่คุกคามไปถึงลูกสาวของเขาด้วย
กล่าวได้ว่ากระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปอย่างตั้งใจและเป็นระบบ เป็นยุทธวิธีสำคัญในการใช้อำนาจกดบังคับเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้น โดยฉวยใช้และอาศัยความสัมพันธ์ในครอบครัว มาเป็นแรงกดดันในการหยุดยั้งการแสดงออก นักกิจกรรมหลายคนต้องยินยอมหยุดการเคลื่อนไหวลงจริงๆ เพราะได้รับแรงกดดันจากครอบครัว หรือบางครอบครัวก็หวาดกลัวต่อความปลอดภัยของตน จึงไม่อยากให้ลูกเคลื่อนไหวอีก การดำเนินการดังกล่าวจึงทั้งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในการได้รับความมั่นคงปลอดภัยของพลเมืองโดยไม่ถูกรัฐละเมิด
การกระทำดังกล่าวของทหารและคสช. จึงมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ เป็นการใช้อำนาจบีบบังคับพลเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่าง นับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง มากกว่าจะเป็น “การทำตามกฎหมาย” “การรักษาความสงบเรียบร้อย” หรือ “สร้างความปรองดอง” ตามที่กล่าวอ้าง