1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติ

เกริ่นนำ

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557  คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ  และประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 (กฎอัยการศึก) ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนกระทั่งได้ประกาศยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 และได้ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติขึ้นมา เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารแทนกฎอัยการศึก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีของการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ปรากฏการกระทำที่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ไม่เคารพหลักนิติธรรมและพันธกรณีกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อีกทั้งยังละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ได้แตกต่างจากการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารภายใต้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด แต่มีความรุนแรงในการบังคับใช้มากกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไม่สามารถตรวจสอบการกระทำโดยฝ่ายตุลาการได้

มาตรา  44  อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ

คสช. ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ซึ่งโดยหลักการแล้วในประเทศที่ปกครองโดยใช้กฎหมายหรือนิติรัฐ (Legal state) เมื่อมีรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศก็ต้องเป็นตามรัฐธรรมนูญอันเป็นทั้งแหล่งที่มาของอำนาจและข้อจำกัดในการใช้อำนาจ

อย่างไรก็ตาม มาตรา 44 ยังคงอำนาจให้ คสช. ไว้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่มีข้อจำกัดใด และไม่ผูกพันต่อบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ แม้กระทั่งมาตรา 4 ซึ่งรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ยังต้องตกอยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 44 ที่ให้อำนาจหัวหน้า คสช. มีอำนาจในการสั่งระงับยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำรวมทั้งปฏิบัติการตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด มาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงมีอำนาจเหนือบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ และถือได้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังมีอำนาจเต็มปราศจากข้อจำกัดทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

บทบัญญัติตามมาตรา 44 นั้นให้อำนาจอย่างกว้างขวางและปราศจากการตรวจสอบใดๆ ทั้งนี้ศาลปกครองในคดีหมายเลขแดงที่ 1938/2558 ซึ่งเอกชนรายหนึ่งฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 24/2558 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม ได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีที่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งหัวหน้าคสช.ไว้พิจารณา เนื่องจากมาตรา 44 กำหนดให้คำสั่งหรือการกระทำใดตามคำสั่ง เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นที่สุด  ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่าปัจจุบันรัฐไทยปกครองโดยกฎหมายหรือเป็นนิติรัฐ เพราะคสช. ยังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งหมด

ณ ขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44  แล้ว จำนวน 61 ฉบับ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะของการรวบอำนาจการสั่งการไว้ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ให้อยู่ภายใต้คำสั่งของบุคคลคนเดียว โดยมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเสมือนการบัญญัติกฎหมายพิเศษขึ้นมาบังคับใช้ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งกฎหมายพิเศษดังกล่าวนี้มีเนื้อหาสาระสำคัญเช่นเดียวกับกฎอัยการศึก ที่มีการประกาศใช้มาก่อนนั่นเอง

การบังคับใช้กฎหมายก่อนมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

ก่อนมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 คสช.ได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวัน กรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎอัยการศึก หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหาร

ขณะเดียวกัน ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 40/2557 กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่ถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีเงื่อนไขหลักคือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห้ามชุมนุมทางการเมือง และยินยอมจะถูกดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงินหากผิดเงื่อนไข

อีกทั้ง ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ยังอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ห้ามมิให้มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป  หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มี 15 คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลยุติธรรมและศาลทหารได้ลงโทษปรับและจำคุก โดยให้รอลงอาญา ยกเว้นคดีของนายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งมีการต่อสู้คดีว่าคสช.ได้อำนาจมาโดยวิธีการไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของตนไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นสิทธิของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่แน่นอนว่าคสช.จะยึดอำนาจสำเร็จหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลแขวงปทุมวันได้ยกฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 59 โดยศาลอ้างเหตุเชิงเทคนิค คือเหตุพนักงานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามไม่มีอำนาจสอบสวน

DSC_0505

นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ และทนายความวันฟังคำพิพากษาที่ศาลแขวงปทุมวัน

นอกจากนั้น ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 39/2557 ซึ่งกําหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และฉบับที่ 41/2557 ซึ่งกําหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด โดยประกาศทั้งสองฉบับมีเงื่อนไขเดียวกับการปล่อยตัวผู้ถูกรายงานตัว ซึ่งตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรื่องให้บุคคลมารายงานตัวมีรายชื่อบุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างเป็นทางการในช่วงสามเดือนแรกหลังรัฐประหารจำนวน 472 คน รวมคำสั่ง 37 ฉบับ มีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม กลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ โดยส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ระบุเหตุผลในการเรียกตัวว่า “เพื่อให้มาตรการรักษาความสงบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย”

อำนาจของฝ่ายทหารตามกฎอัยการศึก  นอกจากควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวันโดยไม่มีหมายศาล  ยังรวมถึงการตรวจค้นและยึด  โดยไม่ต้องขอหมายศาล  และอำนาจที่จะห้ามกระทำการใดๆ อีกหลายประการ เช่น ห้ามออกนอกเคหะสถาน เป็นต้น  ทั้งนี้ กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ยามศึกสงคราม  ซึ่งเป็นภาวะพิเศษ  ทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนและมีอำนาจมากกว่าปกติ  โดยไม่ต้องขอให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจ คือการขอออกหมายที่ศาลก่อนดังเช่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

สาระสำคัญของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558

ภาพรวมของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 เป็นการกำหนดให้ทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย  ทำให้ฝ่ายทหารยังคงมีอำนาจในการตรวจค้น  ยึด  และควบคุมตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน  โดยไม่ต้องมีหมายของศาล  การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นไปในลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก  ซึ่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน  จึงแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า  คสช.ประกาศคำสั่งฉบับนี้เพื่อมาใช้แทนกฎอัยการศึก  ซึ่งได้ประกาศยกเลิกไปก่อนหน้า

นอกจากนี้  ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่กำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งบังคับใช้แทนประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง และตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 6  ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจเรียกบุคคลให้รายงานตัว  ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับคำสั่ง คสช.ที่เรียกให้บุคคลมารายงานตัวในช่วงแรกของการรัฐประหาร  และข้อ 11  ให้อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัว  และหากฝ่าฝืนเงื่อนไขก็จะมีความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  ด้วย ซึ่งนำมาใช้แทนประกาศคสช.ที่ 39/2557 และ 40/2557  เรื่องเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัว

เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นเจ้าหน้าที่ทหารชั้นร้อยตรีที่ต้องได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช.หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคสช. อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาการบังคับใช้คำสั่งที่ผ่านมาพบว่า หลายกรณีเวลาปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ไม่ระบุตัว และเจ้าหน้าที่ไม่ใส่เครื่องแบบ ทำให้ประชาชนไม่สามารถทราบได้ว่าบุคคลผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยจริงหรือไม่ ในบางกรณีเจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่มีการควบคุมตัว แต่ต่อมาปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวไป ดังเช่นกรณีการควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ ไปจากโรงพยาบาลสิรินธร เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.58

นอกจากนี้  การจับกุมและควบคุมตัวยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหมายจับแล้ว  กล่าวคือเมื่อเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมบุคคลใดจะอ้างว่าใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  ทั้งที่บุคคลดังกล่าวมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอยู่  ซึ่งพนักงานตำรวจสามารถใช้อำนาจจับกุมบุคคลที่มีหมายจับได้อยู่แล้ว  ในแต่หลายกรณี ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ทหารมีการควบคุมตัว 7 วัน ไว้ในค่ายทหารโดยไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามขั้นตอนของกฎหมาย  อีกทั้ง การควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่  ไม่อนุญาตให้ติดต่อบุคคลภายนอก อันเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายชั่วคราว  ทั้งนี้การควบคุมตัว 7 วัน ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีอาญาหรือประโยชน์ในชั้นสอบสวนนั่นเอง

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  จึงเป็นคำสั่งที่นำมาใช้เพื่อยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาที่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของผู้เสียหาย ผู้ต้องหา และจำเลย  ทั้งที่ปัจจุบันประเทศก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ  เพราะได้มีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว  และไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศแต่อย่างใด ขณะที่ความขัดแย้งทางความคิดต่างๆ ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ในทุกสังคม ไม่ได้ถือว่าเป็นสถานการณ์พิเศษแต่อย่างใด

ตัวอย่างกรณีการตรวจสอบการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งประชาชนไม่สามารถกระทำได้ภายใต้การใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 นี้คือ การที่ศาลอาญายกคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเนื่องจากควบคุมตัวนายธเนตร อนันตวงษ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 90 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (habeas corpus) โดยศาลอ้างว่าการควบคุมตัวเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งที่ยังไม่มีการไต่สวนให้ได้รายละเอียดว่าใครเป็นผู้ควบคุมตัว เป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ และควบคุมตัวด้วยเหตุใด คดีนี้จึงเป็นการยืนยันอีกครั้งว่าภายใต้มาตรา 44 นั้นประชาชนขาดซึ่งหลักประกันสิทธิและเสรีภาพและขาดกลไกในการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่

อำนาจเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีหน้าที่ในการดําเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทําอันเป็นความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ และความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืนประกาศ คำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งหน้าที่ดังกล่าวจำกัดกว่าการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกซึ่งไม่ได้ระบุฐานความผิดไว้ และการทำหน้าที่ดังกล่าว เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยมีอำนาจ (1) ออกคําสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัว หรือมาให้ถ้อยคําหรือส่งมอบเอกสารหรือหลักฐาน (2) จับกุมตัวบุคคลที่กระทําความผิดซึ่งหน้า และควบคุมตัวผู้ถูกจับนําส่งพนักงานสอบสวน (3) ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน (4) เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น รวมตลอดทั้งค้นบุคคลหรือยานพาหนะใดๆ ทั้งนี้ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัย ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไปหรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม (5) ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบ หรือ (6) กระทําการอื่นใดตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย

การให้อำนาจดังกล่าวแก่ฝ่ายทหารถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นในการจับกุมคุมขังและทำการสอบสวน เมื่อพิจารณาประกอบกับการกำหนดให้คดีความผิดสี่ประเภทต้องนำขึ้นพิจารณาในศาลทหารแล้ว จะเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมภายใต้ คสช.ขาดความอิสระและเป็นกลาง อันเป็นหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม คือสิทธิการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าแม้จะยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งโดยชื่อเรียกอาจเห็นว่าเป็นมาตรการที่เบากว่ากฎอัยการศึก หากเมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำสั่งแล้วกลับพบว่าถ้อยคำที่ปรากฏเป็นถ้อยคำเดียวกันกับกฎอัยการศึกอย่างชัดเจน  อีกทั้ง  สถานะของคำสั่งหัวหน้า คสช. ไม่สามารถใช้กลไกใดๆ ในการตรวจสอบได้ เนื่องจากมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557  กำหนดว่าให้คำสั่งของหัวหน้าคสช.ที่ออกตามอำนาจของมาตรานี้ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐรุนแรงยิ่งกว่าขณะประกาศใช้กฎอัยการศึก เนื่องเพราะศาลยังสามารถเข้ามาตรวจสอบการกระทำใดๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎอัยการศึกได้

สถานการณ์ภายหลังการประกาศคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558

  • การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมืออันสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกของบุคคล คสช.ได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ทั้งการเรียกรายงานตัวและการห้ามชุมนุมทางการเมือง รวมไปถึงการบังคับใช้ร่วมกับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558  การดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 116 เรื่องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน  และการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งถูกนำมาตีความบังคับใช้อย่างกว้างขวาง เกินขอบเขตบทบัญญัติของกฎหมาย

กรณีการห้ามชุมนุมทางการเมือง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีบุคคลอย่างน้อย 26 รายจาก 5 คดีถูกดำเนินคดีจากการฝ่าฝืนข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป อาทิเช่นในวันที่ 22 พ.ค.58 นักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 7 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ได้ไปชูป้ายคัดค้านการรัฐประหาร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น ทำให้ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 นอกจากนี้ในวันเดียวกันกลุ่มนักศึกษาและประชาชนซึ่งไปทำกิจกรรม บริเวณลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพก็ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และมีบุคคล 9 รายถูกดำเนินคดีข้อหาห้ามชุมนุมทางการเมืองจากเหตุการณ์ดังกล่าว ต่อมาทั้งสองกลุ่มได้ร่วมกันในนามขบวนประชาธิปไตยใหม่ทำกิจกรรมและชุมนุมโดยสงบที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 25 มิ.ย.58 ทำให้มีนักกิจกรรมนักศึกษา 14 คนถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองฝ่าฝืนตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และยุยงปลุกปั่น มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญาเป็นอีกหนึ่งคดีภายใต้อำนาจศาลทหาร

11214066_848053365244519_7006886565319980133_n

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารและการละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 58

ปัญหาสำคัญจากการใช้ข้อ 12 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 คือ เจ้าหน้าที่รัฐตีความ “การชุมนุมทางการเมือง” อย่างกว้างขวางทำให้การชุมนุมเกือบทุกประเภทเข้าข่ายฝ่าฝืนคำสั่งฉบับนี้ ทั้งการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองโดยตรง การเคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อมทรัพยากร หรือการเรียกร้องกรณีเฉพาะ อาทิเช่น การยื่นหนังสือของกลุ่ม“ขอคืนผังเมือง”, การชุมนุมเพื่อเข้ายื่นหนังสือให้มีการติดตั้งไฟแดงตลาดต้นดู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2558 การเลือกตั้งคณะกรรมการสภาทนายความ หรือการจัดผ้าป่าเพื่อระดมทุนต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตพื้นที่เหมืองบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตีความว่าการกระทำดังกล่าวนั้นการชุมนุมทางการเมือง

  • การเรียกรายงานตัว

ในช่วงเดือนแรกหลังรัฐประหาร ลักษณะการเรียกให้ไปรายงานตัวนั้น คสช.ได้มีคำสั่งเรียกบุคคลเข้ารายงานตัวโดยการผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุให้ไปรายงานตัว ณ สโมสรทหารบก เทเวศน์ อย่างไรก็ตามนอกจากการประกาศอย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่ทหารยังใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเรียกตัวและควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีคำสั่งอย่างเป็นทางการ โดยการโทรศัพท์นัดหมายให้ไปพบหรือไปควบคุมตัวมาจากที่บ้าน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และไม่พบการออกหนังสือเรียกรายงานตัวอย่างเป็นทางการอีกโดยตั้งแต่รัฐประหารมีบุคคลที่ถูกเรียกไปรายงานตัวและมีเจ้าหน้าที่ทหารไปพบที่บ้านอย่างน้อย 904 คน

ศูนย์ทนายความฯ มีข้อสังเกตว่าการเรียกรายงานตัวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 นั้นไม่ได้ระบุรูปแบบและวิธีการเรียกแต่อย่างใด ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ต้องการควบคุมตัวบุคคลใดก็สามารถออกคำสั่งเรียกบุคคลไปรายงานตัวต่อหน้าบุคคลดังกล่าวได้ทันที และสามารถจับกุมบุคคลได้หากฝ่าฝืนก็มีโทษ ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมักใช้อำนาจดังกล่าวข่มขู่บุคคลซึ่งออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกว่าตนสามารถใช้มาตรา 44 ควบคุมตัวหรือนำตัวไปปรับทัศนคติได้ในทันที ทำให้ทั้งมาตรา 44 และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 กลายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่ทางการเมือง ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กล่าวอ้างในการระงับยับยั้งการแสดงออกและการชุมนุมของประชาชนอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น การควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุขไปจากบ้านพักกรณีการวิจารณ์ คสช., การควบคุมตัวนายวรชัย เหมะ นักการเมืองพรรคเพื่อไทย, การควบคุมตัวนายสราวุฒิ บำรุงกิตติคุณ แอดมินเพจเปิดประเด็น

  • การควบคุมตัวโดยมิชอบและบังคับให้บุคคลสูญหาย

แม้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินเจ็ดวันก็ตาม แต่โดยหลักการควบคุมตัวและหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมตามข้อ 9 และข้อ 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่าการจับกุมและควบคุมตัวจะเป็นไปโดยอำเภอใจไม่ได้ บุคคลมีสิทธิที่จะทราบเหตุแห่งการควบคุมตัวและทราบข้อกล่าวหา สิทธิในการได้รับเยี่ยมญาติ สิทธิที่จะมีทนายความและการนำตัวไปศาลโดยพลัน แต่การควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 กลับไม่เป็นไปตามหลักการดังกล่าว กล่าวคือมีการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ปิดลับ บุคคลทั่วไปหรือแม้กระทั่งญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ ซึ่งเป็นการควบคุมตัวไม่ชอบ (arbitrary detention) ตามข้อ 9 ICCPR

นอกจากนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีของอนุสัญญามิให้บังคับบุคคลสูญหายเนื่องจากมีการควบคุมตัวในสถานที่ลับและปกปิดที่จะทราบชะตากรรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐทำให้บุคคลอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย อาทิ กรณีการควบคุมตัวนายฐนกร ศิริไพบูลย์ หรือกรณีการควบคุมตัวนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณ แอดมินเพจเปิดประเด็น เป็นต้น และปรากฏมีการร้องเรียนว่ามีการข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว ตัวอย่างเช่น การควบคุมตัวนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ไปจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 20 ม.ค.59 โดยเจ้าหน้าที่ทหารอย่างน้อยแปดราย ซึ่งปิดบังใบหน้าขณะควบคุมตัว ปิดตาผู้ถูกควบคุมตัว ไม่ได้แจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่มีการแจ้งสิทธิและสถานที่ซึ่งควบคุมตัวไป อันถือเป็นการควบคุมตัวไม่ชอบและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

12342825_1648686735370766_7766085023576003430_n (1)

สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ (ซ้ายสุด) ขณะทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 58 ภายหลังเหตุการณ์เขาถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตกลางดึก

อีกทั้ง  ยังมีกรณีที่ศูนย์ทนายความฯ เห็นว่าการควบคุมตัวบุคคลของเจ้าหน้าที่ทหารหลายกรณีนั้นเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 อีกด้วย เนื่องจากอำนาจการจับกุมตามคำสั่งดังกล่าวนั้นเจ้าหน้าที่ทหารจะทำการจับกุมได้เมื่อเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ทหารจะอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เข้าควบคุมตัวบุคคลก่อนจะทำการออกหมายจับและส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวน ดังเช่นกรณีของนายฐนกร ศิริไพบูลย์

อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความฯ พบว่าในบางกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายใดเลยเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้วิธีการควบคุมตัวบุคคลไปยังสถานีตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันและจัดทำประวัติโดยไม่มีฐานรองรับใดๆ ทางกฎหมาย อาทิเช่น การทำกิจกรรมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มเส้นทางสีแดงเมื่อวันที่ 6 มี.ค.59 ที่ผ่านมา หรือก่ออุปสรรคในการจัดงานเสวนาเช่น งานเสวนา “ห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่สาม จอมพลสฤษดิ์ศึกษา” ของขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 21 พ.ย.58 งานเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “รัฐธรรมนูญใหม่ เอาไงดีจ๊ะ?” กับงานประกวดการนำเสนอ PechaKucha 20×20 หัวข้อ “รัฐธรรมนูญ” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ก.พ.59

  • คุกทหาร: ส่วนต่อขยายเวลาของการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558

นอกจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 จะให้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน ในระยะเวลาดังกล่าวผู้ถูกควบคุมตัวจะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารในสถานที่ใดก็ได้ ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ  หลังจากการควบคุมตัว 7 วัน เจ้าหน้าที่ทหารต้องปล่อยตัวหรือส่งมอบตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 11 ก.ย.58 รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมได้ออกคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 314/2557 ตั้งเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีเพื่อใช้ควบคุมผู้ต้องขังคดีความมั่นคง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ภายในค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 ถนนนครไชยศรี  กรุงเทพมหานครทำให้เจ้าหน้าที่ทหารยังมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลต่อไปอีก  โดยมีการตั้งเจ้าหน้าที่ทหารทำหน้าที่เป็น “ผู้คุมพิเศษ” ดูแลเรือนจำ

1193184

สุริยันต์ สุจริตพลวงษ์ หรือหมอหยองขณะถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ จากการถูกกล่าวหาว่าแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ในการเรียกรับผลประโยชน์ จากนั้นเขาถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี และเสียชีวิตภายในเรือนจำหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน

ทั้งนี้นับแต่ก่อตั้งเรือนจำมีผู้ต้องขังอย่างน้อย 13 ราย จาก 4 คดีที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำดังกล่าว ปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังอยู่อย่างน้อย 4 ราย ทนายความจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้เมื่อแต่งทนายความแล้วเท่านั้น และตลอดระยะเวลาการพูดคุยจะมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อร้องเรียนว่ามีการทรมานเกิดขึ้นภายในเรือนจำดังกล่าวจากจำเลยในคดีระเบิดราชประสงค์ และมีผู้ต้องขังเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวแล้ว 2 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตมีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวอยู่ฝ่ายเดียวและไม่มีญาติอยู่ร่วมระหว่างการชันสูตรพลิกศพ อาจถือได้ว่าเรือนจำดังกล่าวเป็นการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารต่อจากการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

โดยสรุป การใช้อำนาจของฝ่ายทหารในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ว่าจะเป็นการเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมหรือคุมขังบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน การห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แม้จะมีเงื่อนไขจำกัดว่าผู้ใช้อำนาจต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย และจำกัดเฉพาะฐานความผิดที่ต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลทหารเท่านั้น แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบได้ โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้รับรองความชอบธรรมของบทบัญญัติและการกระทำตามคำสั่งดังกล่าวตั้งแต่ต้นบทบัญญัติ ซึ่งมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่แล้ว ยิ่งถูกบังคับใช้อย่างกว้างขวางและเป็นไปโดยอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ เพราะปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรใดๆ

จากสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ดังที่กล่าวมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันให้คสช.ยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เนื่องจากไม่มีเหตุจำเป็นใดที่จะต้องประกาศใช้บังคับอยู่อีกต่อไป และยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558  โดยให้กลับไปใช้กระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาตามปกติ

X