ในรอบเดือนที่ผ่านมา (8 มี.ค. – 8 เม.ย. 2568) ยังมีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั่วประเทศ อย่างน้อย 48 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 31 คน) โดยมีประชาชนถูกคุมขังตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 2 คน
ในจำนวนนี้ แยกเป็นผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 30 คน ผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 17 คน และยังมีเยาวชน 1 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำพิพากษาของศาลเยาวชน
.
ผู้ต้องขังเพิ่ม 3 ราย: คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ 10 ข้อความช่วงรัฐประหารปี 57 และคดีมาตรา 112 จำนวน 2 ราย ล่าสุด “พอล แชมเบอร์ส”
ในเดือนมีนาคม 2568 มีผู้ต้องขังใหม่เพิ่ม 2 ราย ได้แก่ “วิจิตร” (นามสมมติ) ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น อายุ 59 ปี ซึ่งถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์จากคดีที่ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กพร้อมภาพประกอบทั้งสิ้น 10 โพสต์ ระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 2557 – 20 มิ.ย. 2558 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองในช่วงหลังรัฐประหารในขณะนั้น และมีบางโพสต์พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์
คดีนี้ ศาลอาญาพิพากษาว่าวิจิตรมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 10 กรรม เป็นจำคุกรวม 20 ปี แต่ในคดีนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 10 ปี ไม่รอลงอาญา
ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ โดยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2568 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ทำให้ปัจจุบันวิจิตรถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2568 ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
น่าสังเกตว่าคดีของ “วิจิตร” ไม่ได้มีการนำมาตรา 112 มาใช้กล่าวหา โดยหากพิจารณาวันที่ศาลออกหมายจับ คือวันที่ 11 ก.ย. 2561 พบว่าเป็นช่วงเวลาที่รัฐมีนโยบายการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบังคับใช้มาตรานี้ โดยไม่นำข้อหานี้มาใช้กล่าวหาในคดีใหม่ ๆ แต่มักนำข้อกล่าวหาอื่นมาใช้กล่าวหาต่อการแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แทน เช่น ข้อหามาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น จนกระทั่งมีการนำมาตรา 112 กลับมาใช้กล่าวหาอีกครั้งในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาเยาวชนปลายปี 2563 เป็นต้นมา
สำหรับข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มักถูกนำมาใช้ในคดีจากการโพสต์แสดงออกทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในการบังคับใช้อย่างมาก เนื่องจากใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ถูกใช้ตีความได้อย่างกว้างขวาง และเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวาง
ผู้ต้องขังใหม่อีกราย คือ “ตรัณ” (นามสมมติ) ประชาชนจากกรุงเทพฯ อายุ 25 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีคอมเมนต์ใต้ไลฟ์สดในเพจศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2564
คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้มีการรอลงอาญา โดยจำเลยได้เข้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ที่จะพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา
ต่อมา 4 เม.ย. 2568 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันในระหว่างฎีกา ทำให้ตรัณต้องถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และนับเป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 คนที่ 30 แล้วที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในปัจจุบัน
ล่าสุด ต้นเดือนเมษายน มีผู้ต้องขังเพิ่มอีก 1 ราย ได้แก่ พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการสัญชาติอเมริกัน ประจำสถานประชาคมอาเซียนศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ถูกศาลจังหวัดพิษณุโลกออกหมายจับในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีกองทัพภาคที่ 3 เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความในเว็บไซต์ของสถาบัน ISEAS Yusof Ishak Institute โดยมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
8 เม.ย. 2568 หลังพอลพร้อมทนายความ และเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองพิษณุโลก ตำรวจได้ส่งตัวพอลไปขอฝากขังกับศาลจังหวัดพิษณุโลก และทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันในชั้นสอบสวน โดยวางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 150,000 บาท แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ทนายความจึงได้ยื่นประกันเป็นครั้งที่สองในวันเดียวกัน เพิ่มหลักทรัพย์เป็น 300,000 บาท ก่อนศาลไม่อนุญาตให้ประกันเช่นเดิม ทำให้พอลต้องถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำจังหวัดพิษณุโลกทันที
กรณีของพอล พบว่าเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวต่างชาติที่โดนแจ้งความตามมาตรา 112 และไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนในรอบหลายปี หลังจากในปี 2554 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ที่ “โจ กอร์ดอน” หรือ “เลอพงษ์” ถูกจับกุมและขังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 โดยไม่ได้รับการประกันตัว จากกรณีแปลหนังสือ “The King Never Smile” เป็นภาษาไทย รวมถึงนำไฟล์ต้นฉบับหนังสือไปโพสต์ให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้บนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกเขาเป็นเวลาห้าปีในวันที่ 8 ธันวาคม 2554 เนื่องจากโจรับสารภาพโทษจำคุกของเขาจึงลดเหลือสองปี หกเดือน โจถูกคุมขังจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ก็ได้รับการปล่อยตัวหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ เขาถูกคุมขังเป็นเวลาประมาณหนึ่งปีสองเดือน หลังได้รับการปล่อยตัวโจเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาแต่ไม่มีข้อมูลว่าเป็นการเดินทางกลับโดยสมัครใจหรือเนรเทศ
.
“ขนุน” สิรภพ ยุติการประท้วงอดอาหารหลังยังคงไม่ได้รับการประกันตัวตามข้อเรียกร้อง
25 มี.ค. 2568 “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ ผู้ต้องขังมาตรา 112 ถูกคุมขังครบ 1 ปี หลังถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี กรณีปราศรัยในการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ เมื่อปี 2563
ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมาจนถึงต้นปี 2568 ขนุนมีความพยายามในการยื่นคำร้องขอประกันต่อศาลหลายครั้ง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 16 ครั้ง โดยไม่มีครั้งไหนที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัว
จนกระทั่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ขนุนได้ตัดสินใจอดอาหารประท้วงในเรือนจำเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัว โดยเสนอข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง ได้แก่ สร้างอิสรภาพที่ถาวรแก่ผู้ถูกกล่าวหาทางการเมืองโดยไร้เงื่อนไข และยุติการนำมาตรา 112 มาใช้ในทางการเมือง
การประท้วงของขนุนเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 21 ก.พ. จนถึงวันที่ 16 มี.ค. 2568 รวมเป็นการอดอาหารทั้งสิ้น 24 วัน แม้ตลอดระยะเวลาที่เขาประท้วงอดอาหาร ร่างกายจะมีสภาวะย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง และทนายได้ยื่นประกันในระหว่างที่ขนุนอดอาหารรวม 2 ครั้ง ทั้งยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันอีก 2 ครั้ง แต่ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ภายหลังการประกาศยุติการอดอาหาร ขนุนได้เข้ากระบวนการ Refeeding โดยเริ่มรับอาหารเหลวและเกลือแร่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ก่อนถูกส่งตัวกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา
.
“อาย” กันต์ฤทัย ตัดสินใจไม่อดอาหาร พร้อมเล่าเรื่องผู้ต้องขังหญิงที่เริ่มถูกย้ายเรือนจำ
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2568 “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังในระหว่างอุทธรณ์คดี มาตั้งแต่วันที่ 27 ส.ค. 2567 หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 8 ปี 48 เดือน (หรือประมาณ 12 ปี) ในคดีที่ถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 8 ข้อความ ประกาศจะประท้วงอดอาหารในปลายสัปดาห์ หลังจากที่ทนายความเข้าเยี่ยม โดยเธอได้แจ้งว่า อยากประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทุกคน รวมทั้งตัวเธอเอง
ต่อมา 21 มี.ค. 2568 ทนายความได้เข้าเยี่ยมอายที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง เธอเล่าให้ฟังว่าหลังจากที่เธอได้ประกาศเรื่องอดอาหารออกไป ผู้อำนวยการในแดนต่าง ๆ ก็ได้เรียกพบและขอร้องไม่ให้เธออดอาหาร ทั้งเพื่อนผู้ต้องขังหลายคนก็ขอร้องไม่ให้เธอทำ แต่เสนอให้หาทางรักษาโรคซึมเศร้าที่เธอต่อสู้กับอาการอยู่ ทั้งประเมินสถานการณ์สังคมอีกครั้ง เธอจึงเปลี่ยนความตั้งใจ
ภายหลัง 24 มี.ค. 2568 ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดี ม.112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ศาลอาญา อายเปิดเผยกับทนายว่าได้ตัดสินใจไม่อดอาหาร เนื่องจากเธอกังวลเรื่องสภาพจิตใจของลูกชายที่กำลังโต และเข้าใจสถานการณ์สังคมภายนอกว่า กระแสการประท้วงคงไม่ทำให้เธอได้สิทธิประกันตัวในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ตาม อายยังเล่าต่ออีกว่า ช่วงนี้เรือนจำกำลังมีการโยกย้ายผู้ต้องขัง เธอได้ยินว่าเรือนจำชายเริ่มมาสักพักแล้ว ส่วนทัณฑสถานหญิงกลางเอง ก็เริ่มมีการย้ายผู้ต้องขังเด็ดขาดด้วยแล้วเหมือนกัน
“หนูหวังว่ามันจะไม่มาถึงแดนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ตอนนี้เขาย้ายผู้ต้องขังเด็ดขาดมาอยู่รวมกัน มันแออัดมากขึ้นไปอีก เพราะแทบไม่มีใครได้ปล่อยตัวเลย”
.
“วุฒิ” ผ่าตัดต้อกระจก ต้องพักฟื้น 1 เดือนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วน “สถาพร” ถูกคุกคามทางเพศหลังถูกบังคับย้ายเรือนจำไปบางขวาง
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “วุฒิ” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังมาแล้วกว่า 2 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564
การเข้าเยี่ยมของทนายในครั้งนี้ เป็นการติดตามอาการภายหลังจากที่วุฒิ เพิ่งได้ผ่านการผ่าตัดต้อกระจก โดยเขาได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2568 และต้องใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่ออีกราว 1 เดือนจึงจะสามารถมองเห็นได้อย่างปกติ
วุฒิได้เล่าผ่านทนายความถึงอาการปัจจุบันว่า ระหว่างนี้เขาได้รับยาแก้ปวด น้ำตาเทียม ยาล้างตา และยาบำรุงดวงตาที่เขาบอกว่าอ่านฉลากไม่ออกเพราะตัวอักษรเล็กเกินไป รวมถึงครีมสำหรับทาบริเวณใต้ตาก่อนนอน
“ความเป็นอยู่ในโรงพยาบาลก็ถือว่าดี พยาบาลก็ยังใส่ใจอยู่” วุฒิเล่าถึงความเป็นอยู่ในโรงพยาบาลด้วยน้ำเสียงปกติ แต่แฝงไว้ซึ่งความอึดอัดเล็กน้อย “ที่นี่ถ้านอนแล้วก็ไม่มีการปิดไฟ มันก็ส่งผลกับผมบ้างที่ว่าแสบตา ผมเลยใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กมาปิดตาตนเองแทน ก็ถือว่าช่วยได้เยอะเลย”
.
อีกกรณีเป็นเรื่องของ “จอย” สถาพร (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จากกรณีที่ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน จากการแสดงออกระหว่างขบวนเสด็จผ่านบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565
ปัจจุบันสถาพรถูกย้ายตัวมาคุมขังที่เรือนจำบางขวาง ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2568 ตามนโยบายของกรมราชทัณฑ์ พร้อมกับ “ก้อง” อุกฤษฏ์ และ “บุ๊ค” ธนายุทธ มายังเรือนจำกลางบางขวาง โดยทั้งสามคนถูกแยกกันไปอยู่คนละแดน
ภายหลังการย้ายเรือนจำ สถาพรได้เปิดเผยกับทนายความที่เข้าเยี่ยมว่า ตั้งแต่ที่เขาถูกย้ายเรือนจำมาที่บางขวาง เขาถูกคุกคามทางเพศโดยผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ทั้งการล้อเลียนทางวาจา การเหยียดหยามฐานะความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการถูกจับเนื้อต้องตัว กระทั่งถูกจับอวัยวะเพศ ซึ่งเขาบอกว่าเกิดขึ้นแทบจะทุกวัน
จอยระบุว่า คนในห้องไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติในพื้นที่นี้ และไม่รู้ว่าเรือนจำแห่งนี้มีห้องเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังที่เป็น LGBTQ+ เหมือนที่เรือนจำคลองเปรมหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ตอนนี้เขาก็อยากย้ายแดน ทำให้ยังต้องติดตามเรื่องนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 ทนายความได้ยื่นคำร้องถึงผู้บัญชาการเรือนจำกลางบางขวาง เรื่องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการถูกคุกคามทางเพศของสถาพร ซึ่งปัจจุบัน (8 เม.ย.) สถาพรได้แจ้งทนายว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ย้ายเขาไปอยู่ที่แดนอื่นแล้ว โดยจะมีการสอบข้อเท็จจริงพร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีที่เกิดขึ้น และจะชี้แจงการดำเนินการทั้งหมดตอบกลับเป็นหนังสือภายในสัปดาห์นี้
.
สถานการณ์ย้ายเรือนจำ
ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่าเริ่มมีการย้ายตัวผู้ต้องขังในคดีการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำอื่น ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการโยกย้ายผู้ต้องขังไม่เพียงแต่คดีถึงที่สุดแล้วเท่านั้น โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2568 พบว่า มีผู้ต้องขังทางการเมืองถูกย้ายตามนโยบายดังกล่าวถึง 9 คน โดยไม่มีการแจ้งญาติล่วงหน้า และตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2568 ยังพบว่ามีการย้ายผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน ได้แก่
- ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำคลองเปรม ได้แก่ “วีรวัฒน์” ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิด, “เมธี อมรวุฒิกุล” ผู้ต้องขังคดีครอบครองอาวุธปืน ซึ่งทั้งสองคนเป็นผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว
- ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำบางขวาง ได้แก่ “ก้อง” อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล และสถาพร สองผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นกรณีที่ถูกย้ายไปทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด และมีกรณีของ “บุ๊ค” ธนายุทธ ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัตถุระเบิด เป็นกรณีที่ย้ายโดยคดีถึงที่สุดแล้ว
- ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำธนบุรี ได้แก่ “อนุชา” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 เป็นกรณีที่ถูกย้ายโดยคดีถึงที่สุดแล้ว
ทำให้ปัจจุบัน สถานการณ์ย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำอื่นรวมทั้งสิ้น 16 รายแล้ว
.