สถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง: ได้ปล่อยตัวในรอบเดือน 7 ราย ยอดรวมเหลืออย่างน้อย 34 ราย น่ากังวลการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังเจ็บป่วยทั้งกาย-ใจ

ปัจจุบัน (12 พ.ย. 2567) มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทั่วประเทศ รวมจำนวนอย่างน้อย 34 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 25 คน หรือประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งหมด) หากนับจากช่วงเดือนที่ผ่านมา (11 ต.ค. – 12 พ.ย. 2567) นับว่ามีผู้ต้องขังจำนวน 7 ราย ได้รับการปล่อยตัว แบ่งเป็น 6 ราย ที่ได้รับการปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ. 2567 และอีก 1 รายเป็นเยาวชน ที่ได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าแผนบำบัดฟื้นฟูครบตามคำสั่งศาล 

ในจำนวนผู้ต้องขังที่ยังถูกคุมขัง แยกเป็น ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 22 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 16 คน เกือบทั้งหมดถูกคุมขังในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ขณะที่ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว มีจำนวนลดลงเนื่องจากการปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ ที่เกิดขึ้น คือเหลือจำนวน 11 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 9 คน

ทั้งนี้ยังมีสถานการณ์น่ากังวลเรื่องการรักษาพยาบาลในเรือนจำ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวนหนึ่งต้องรักษาอาการป่วยทั้งในเชิงกายภาพและจิตใจในขณะถูกคุมขัง ทั้งกรณี “มานี”, “อาย กันต์ฤทัย” หรือ  “ขุนแผน” ซึ่งประสบกับทั้งปัญหาการไม่ได้รับยารักษาและวิธีการรักษาในแบบเดียวกับที่เคยได้รับขณะใช้ชีวิตอยู่ภายนอก รวมถึงข้อกังวลเรื่องคุณภาพของการรักษาในเรือนจำทั้งในแง่ของการพบแพทย์เฉพาะทาง และการได้รับการรักษาอาการป่วยฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

.

.

ได้รับการปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ 6 ราย อีก 1 ราย ปล่อยตามคำสั่งศาลเยาวชนฯ

สถานการณ์ตั้งแต่ 11 ต.ค. – 12 พ.ย. 2567 พบว่าทั่วประเทศไม่พบผู้ถูกคุมขังทางการเมืองในเรือนจำเพิ่ม แต่มีผู้ต้องขัง 6 คน ที่ได้รับการปล่อยตัว ได้แก่ “ภูมิ” เยาวชนที่ถูกปล่อยตัวในคดีมาตรา 112 จากสถานพินิจฯ บ้านเมตตา เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 หลังเข้าแผนบำบัดฟื้นฟูและฝึกอบรมอาชีพครบตามคำสั่งของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 364 วัน หรือเกือบ 1 ปีพอดี 

ในวันเดียวกันนั้นเอง ยังมีผู้ต้องขังอีก 3 คน ได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ พ.ศ. 2567 คือ “สุดใจ” (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 53 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง, “กิจจา” (นามสมมติ) ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีมาตรา 112 และ “มาร์ค” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 24 ปี ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีครอบครองวัตถุระเบิด รวมแล้ว ทั้งสามคนถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 370, 350 และ 581 วัน ตามลำดับ

นอกจากนี้ “กฤษณะ” (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังเด็ดขาดในคดีแจกใบปลิวและขายเสื้อสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท ที่ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา หลังถูกศาลฎีกาลงโทษจำคุกข้อหาอั้งยี่ 3 ปี ก็ได้ถูกปล่อยตัวแล้วเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2567 หลังหลังเข้าเกณฑ์การปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งสิ้น 698 วัน 

ต่อมาในคดีนี้ ยังมีการปล่อย “วรรณภา” ที่ถูกศาลฎีกาลงโทษเช่นเดียวกับกฤษณะ แต่เธอถูกย้ายไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรี มีรายงานว่าได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 หลังเข้าเกณฑ์อภัยโทษเช่นเดียวกัน โดยปล่อยตัวช้ากว่ากฤษณะไปเป็นเวลา 15 วัน แม้ทั้งสองจะถูกคุมขังในคดีเดียวกัน และระยะเวลาเท่ากัน

และสุดท้าย “ทัตพงศ์” ผู้ต้องขังเด็ดขาดคดีวัตถุระเบิด ได้รับการปล่อยตัวหลังเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2567 โดยทัตพงศ์ถูกขังเป็นระยะเวลาทั้งหมด 615 วัน 

.

มานี: ได้รับยารักษาตัวเดิม อาการทางจิตดีขึ้น แต่กังวลการดูแลผู้ต้องขังแบบสองมาตรฐาน

เดือนที่ผ่านมา ปัญหาการรักษาพยาบาลอาการเจ็บป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ ยังเป็นประเด็นสำคัญ  ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง “มานี” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่รักษาอาการป่วยจากโรคซึมเศร้า ก่อนหน้านี้ประสบปัญหาไม่ได้รับยารักษาที่เคยใช้อยู่ภายนอก แต่ในช่วงหลัง เริ่มได้รับยาตัวเดิมจากโรงพยาบาลราชวิถี อาการดีขึ้นมาก อาการเบลอ ซึม หายไป แต่ยังมีอาการดิ่งและเศร้าหลงเหลืออยู่

มานีบอกเล่าในการเข้าเยี่ยมว่า การอยู่ในเรือนจำทำให้อาการไม่ดีขึ้น 100% เพราะยังเจอเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ ทั้งพบความแตกต่างในการดูแลผู้ต้องขัง เมื่อมีผู้ต้องขังคดีฉ้อโกงที่มีชื่อเสียงเข้ามา ได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ต่างจากผู้ต้องขังทั่วไป นอกจากนี้ การรับยาของเธอถูกเปลี่ยนจากวันละ 2 ครั้ง (เช้า 1 เม็ด เย็น 3 เม็ด) เป็นครั้งเดียว 4 เม็ด ในตอนเย็น

มานีเล่าต่อว่า ยาแก้โรคซึมเศร้าที่นำเข้ามาให้นั้น ปกติต้องได้ทานวันละ 2 มื้อ คือ มื้อเช้า 1 เม็ด เป็นยาแก้อาการวิตกกังวล และมื้อเย็นอีก 3 เม็ด สัปดาห์แรกเจ้าหน้าที่จ่ายยาให้ตามปกติ แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กลับจ่ายยาให้เธอเพียงมื้อเดียว คือตอนเย็น ทั้งแจ้งว่าไม่มียาตอนเช้าให้ แต่พอเธอเดินมาที่โต๊ะยาตอนเย็น เจ้าหน้าที่ให้ยาเธอมา 4 เม็ด ซึ่งรวมตัวยาในมื้อเช้าด้วย ทั้งนี้มานียอมทานควบมื้อไปแบบนั้นตลอดมา

นอกจากนี้สำหรับมานีการทานยาเป็นเพียงการรักษาตามอาการ เพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำยังคงทำให้เธอพบเจอเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการได้ยินเสียงตะโกนดุด่าของแม่บ้านเรือนนอนต่อผู้ต้องขังที่ทำผิดระเบียบทุกเช้า การเห็นเพื่อนผู้ต้องขังที่ป่วยทางจิตเวชคุ้ยขยะกินหรือพูดคนเดียว หรือการต้องคอยช่วยเหลือผู้ต้องขังสูงอายุและผู้ป่วยจิตเวชในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น พับผ้า เก็บที่นอน เพราะหากทำไม่เรียบร้อยหรือช้าจะถูกลงโทษ

สิ่งเหล่านี้ทำให้มานีตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการคุมขังผู้ป่วยจิตเวชและผู้สูงอายุในเรือนจำ รวมถึงการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ต้องขังกลุ่มพิเศษเหล่านี้ และความเหมาะสมของการให้ผู้ป่วยจิตเวชต้องยืนเวรเฝ้าห้องในเวลากลางคืน  ยิ่งคิดยิ่งตั้งคำถามก็พาลให้ตัวเองดิ่งและเครียดไปด้วย

.

ขุนแผน: มีอาการสมองข้างขวา ขาดเลือดหล่อเลี้ยง ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์

วันที่ 6 พ.ย. 2567 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีรายงานว่า “ขุนแผน” ผู้ต้องขังคดี 112 วัย 57 ปี ที่ยังรักษาอาการป่วยเกี่ยวกับวัณโรค พบอาการร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรง ควบคุมกล้ามเนื้อซีกซ้ายไม่ได้ มือซ้ายไม่มีเรี่ยวแรง กล้ามเนื้อมือและตาด้านซ้ายตกลง มีอาการลิ้นแข็งเคี้ยวอาหารไม่ได้ กินข้าวเคี้ยวไม่ถนัด พูดไม่ชัด ก่อนทนายความส่งหนังสือขอให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ราชทัณฑ์ 

ทั้งนี้จากปากคำของขุนแผน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567 รู้สึกไม่มีแรง หยิบขวดน้ำมาจะดื่มก็ทำหล่น ไม่รู้สึกตัวหลายครั้ง และมีอาการชาครึ่งซีกซ้ายทั้งหมด ทั้งหัว ตัว และแขนขา เริ่มสังเกตเห็นว่าว่าตาข้างซ้ายเริ่มตกและมุมปากด้านซ้ายก็ตก แม้ยังคงเดินได้ แต่ก็ไม่ปกติ เวลาเดินรู้สึกชาที่เท้า ก้าวแต่ละทีก็จะสะเทือนมาถึงที่ท้องจนต้องเกร็งตัว เป็นผลให้มีปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน เคี้ยวข้าวได้ไม่ถนัด บางทีก็เผลอกัดปากตัวเอง บางทีก็พูดไม่ชัด ต้องตั้งใจจดจ่อกับการพูดมากขึ้นเพราะลิ้นแข็งควบคุมไม่ได้ 

เวลาผ่านไปกระทั่ง 4 พ.ย. 2567 เขาจึงไปที่แดนพยาบาล เจ้าหน้าที่สอบถามอาการ ก่อนทดสอบกล้ามเนื้อโดยให้หยิบของ ให้ยกขา ให้ออกแรงงัดข้อ และให้วัดความดัน เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่เจออะไรผิดปกติ และขอเจาะเลือดไป  วันถัดมา ขุนแผนได้ไปแดนพยาบาลอีกครั้ง พร้อมแจ้งความประสงค์อยากขอไปตรวจที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

กระทั่งวันที่ 8 พ.ย. 2567 ทนายความและญาติทราบจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ว่าขุนแผนถูกย้ายไปอยู่ที่ รพ.ราชทัณฑ์ แล้ว ตั้งแต่คืนที่ผ่านมา ทนายจึงไปติดต่อเข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ การพบกันครั้งนี้ขุนแผนอาการภายนอกดูปกติ มุมปากซ้ายและหางตาซ้ายไม่ห้อยแล้ว เขาบอกว่าอาการชาที่ซีกซ้ายถือว่าลดลง ยังรู้สึกถึงร่างกายอยู่ตลอด  ส่วนอาการพูดติดขัดยังมีอยู่ มีอาการลิ้นแข็ง ต้องพยายามพูด กินข้าวก็เคี้ยวลำบาก ต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติ เลยกินได้น้อยลง ไม่มีอาการปวดหรือเวียนหัว ส่วนการเดิน เดินได้ปกติขึ้น 

ถึงที่สุดผลตรวจของขุนแผนพบว่า สมองข้างขวาขาดเลือดหล่อเลี้ยง ประมาณ 1 เซนติเมตร ส่งผลให้ขุนแผนรู้สึกชาบริเวณแขนและขาข้างซ้าย เคี้ยวอาหารด้วยฟันกรามข้างซ้ายลำบาก จากนั้นแพทย์ให้ยารักษาอยู่ 2 ตัว ให้น้ำเกลือ พร้อมกับให้นอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลต่อเพื่อสังเกตอาการ ทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์การรักษาพยาบาลกรณีขุนแผนต่อไป

ดู รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2567

.

X