Have you Heard about me?
“มีเรื่องอะไรหรือเปล่าคะ ถึงต้องมาไกลขนาดนี้”
“ไม่มีค่ะ เราแค่อยากรู้ว่า พี่วรรณภาสบายดีไหม”
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 กลางเมืองจังหวัดชลบุรี เป็นวันที่อากาศร้อนอบอ้าว ฟ้าครึ้มตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ เมฆเกาะกลุ่มเป็นสีคล้ำคล้ายว่าฝนจะตกลงในไม่กี่ชั่วอึดใจ ไม่ใช่วันที่ใครจะบอกได้เลยว่า ในชั่วโมงถัดไปข้างหน้า กลางเมืองแห่งนี้จะเป็นวันที่มีอากาศแจ่มใสให้สมกับเป็นเมืองชายทะเลได้หรือไม่
แต่สิ่งที่บอกได้คือ บรรยากาศของเมืองในวันนี้ คงหนักหนาพอ ๆ กับความรู้สึกโดดเดี่ยวข้างในหัวใจของ ‘วรรณภา’ ที่ยังคงนับวันรอ ให้ตัวเองได้ออกมาเจอหน้าลูกชายทั้งสองคนอีกครั้ง
ทัณฑสถานหญิงชลบุรี ที่ซึ่ง ‘วรรณภา’ หญิงสาววัย 35 ปี ในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด ในข้อหา “อั้งยี่” ถูกคุมขังอยู่ จากกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการขายเสื้อของกลุ่มสหพันธรัฐไท เมื่อช่วงปี 2561 โดยเธอถูกศาลฎีกากำหนดโทษจำคุกไว้ 3 ปี เธอถูกย้ายเรือนจำกะทันหันจากทัณฑสถานหญิงกลางฯ ตามนโยบายลดความแออัดในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ทำให้ต้องถูกคุมขังไกลออกไปจากที่ ๆ ญาติของเธออยู่
แม่เลี้ยงเดี่ยวจากจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏตัวด้วยชุดนักโทษหญิงสีฟ้า สวมหน้ากากอนามัยในสีโทนเดียวกัน ผมหยักศกของเธอถูกตัดสั้นเท่าติ่งหู ผิวสีแทนคล้ำจากแดด แต่ภายใต้หน้ากากนั้น แววตาของหญิงสาวกลับสะท้อนความตื่นเต้นเอาไว้ไม่อยู่ “วรรณภาค่ะ” เธอกล่าวแนะนำตัว
“มีเรื่องอะไรหรือเปล่าคะ ถึงต้องมาไกลขนาดนี้” วรรณภาเบิกตาโพลง หลังแนะนำตัว เธอรีบถามออกมาด้วยความตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าตัวเองมีคนมารอเยี่ยมอยู่ หลังถูกคุมขังและใช้ชีวิตอย่างเงียบเฉียบอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีแห่งนี้มานานกว่า 8 เดือนแล้ว แต่ความกังวลนั้นก็ต้องสลายไป เมื่อได้รับคำตอบว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายเกี่ยวกับลูกชายทั้งสองคนของเธอแน่นอน
“โล่งใจค่ะ พี่นึกว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับลูกซะอีก” เธอยิ้มออกมาแล้วตอบว่าตัวเองสบายดี
เมื่อถามว่าเธอได้เจอหน้าลูกชายบ้างหรือไม่ วรรณภากล่าวว่า เธอได้เจอลูกชายคนโตเมื่อ 8 เดือนที่แล้ว เขามาเยี่ยมหลังจากถูกย้ายเรือนจำมาที่ชลบุรีแค่ครั้งเดียว “อย่าโกรธน้องเลยนะคะ พี่เป็นคนห้ามไม่ให้เขามาเอง เพราะมันไกล แล้วเขามีแต่มอไซต์ มันเดินทางลำบาก อันตรายด้วย” เธอรีบเอ่ยออกมาพร้อมปกป้องลูกชายคนโต หลังได้รับทราบว่าทนายความติดต่อเขาไม่ได้ ตอนนี้ลูกชายคนโตของเธอ ก็คงอายุใกล้ 20 ปีแล้ว เธอกล่าวว่ากลัวใครจะตำหนิลูกชาย เธอเข้าใจที่ว่าคนอื่นคงติดต่อเขาได้ยากในช่วงเวลานี้
“น้องน่าจะยุ่งอยู่กับการหางานทำ ตอนที่เขามาเยี่ยม เขาบอกว่าตอนนี้เขาไม่ได้อยู่รอพี่ ที่บ้านเดิมของเราได้อีกแล้ว” เธอกล่าวออกมาด้วยแววตาเศร้า ห้องเช่าหลังเดิมที่สมุทรปราการซึ่งแม่และลูกชายทั้งสองคนเคยใช้ชีวิตอยู่ ลูกชายคนโตเคยเอ่ยสัญญาต่อกันว่าจะรอให้แม่ได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง
แต่เมื่อขาดเสาหลักที่หล่อเลี้ยงครอบครัว ไม่มีรายได้จุนเจือชีวิตลูกชายทั้งสองคน ค่าเช่าบ้านจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกินความสามารถของลูกชายคนโต วรรณภาบอกว่าเธอเข้าใจ และกล่าวว่าลูกชายเลือกไม่ได้ที่จะต้องละทิ้งสิ่งที่เกินขีดจำกัดของตัวเองเพื่อมีชีวิตรอดต่อไป
“แต่อยู่ที่นี่ดีกว่าลาดยาวเยอะเลย” วรรณภาเล่าว่าทัณฑสถานหญิงชลบุรี มีความแออัดน้อยกว่าที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตอยู่ที่แดน 2 ซึ่งเป็นแดนของนักโทษเด็ดขาด แต่มีความคาดหวังว่าจะได้ย้ายเข้าไปแดน 3 ภายในปีนี้
“ตอนนี้ก็สบายดี แข็งแรงมาก ๆ เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่พอหายแล้วก็รู้สึกมีภูมิขึ้นนะคะ” วรรณภาเล่าให้ฟังเพื่อคลายความกังวล หลังจากที่ไม่มีใครได้รับรู้ข่าวสารจากเธอ
“พี่ติดคุกมา 1 ปี 4 เดือนได้แล้วมั้ง… คิดว่าในปีนี้น่าจะได้ย้ายเข้าแดน 3 นะ” เธอเล่าให้ฟัง บอกถึงสภาพความเป็นอยู่ ที่แดน 3 ซึ่งเป็นแดนของผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ เป็นแดนที่นักโทษจะเตรียมรับมือกับการออกไปเผชิญโลกข้างนอกอีกครั้ง ในแดนนั้นทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพ เพื่อเอาชีวิตรอดในสังคมที่กำลังรออยู่ข้างหน้า
“แต่อยู่แเดน 2 นี่ พี่ก็ได้ทำงานนะ ตอนนี้อยู่กองงานทำสบู่ ที่ขายกันในเซเว่นนั่นแหละ ฝีมือพวกเราเอง แต่ก่อนหน้านั้น พี่ทำกองงานประดิษฐ์ พวกทำกล่องใส่ทิชชู่ หรือภาชนะอะไรแบบนั้น” เธอกล่าวสร้างความรู้สึกตื่นเต้น แม้จะได้รับเงินปันผลเพียง 171 บาทต่อเดือน แต่ก็พอให้จุนเจือชีวิตของการเป็นผู้ต้องขังในแต่ละเดือนไปได้บ้าง
วรรณภาเล่าอีกว่าที่ทัณฑสถานหญิงชลบุรีสะอาดกว่าที่เคยอยู่ แม้ในแดน 2 จะมีผู้ต้องขังอยู่รวมกันกว่า 900 คน แต่ก็ไม่ได้แออัด และเธอไม่เคยโดนดุด่าจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ถ้าเทียบกับที่กรุงเทพฯ ที่แค่หายใจแรงก็อาจจะโดนว่าได้แล้ว เธอคิดว่าเป็นเพราะ ผบ.เรือนจำเป็นคนรักสะอาด และเจ้าหน้าที่ที่นี่ก็มีความมืออาชีพมากพอสมควร
“จริง ๆ เดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ปีนี้ พี่คาดหวังว่าจะได้ไปอยู่แดน 3 แล้วนะ ที่ข้างหลังนั่นแหละคือแดน 3” เธอกล่าวพร้อมชี้มือออกไปข้างหน้าผ่านลูกกรง “ที่นั่นน่าจะดูดีมากเลยนะ แล้วพี่คงจะได้ออกมาเดินทำงานนอกแดนบ้าง” เธอเล่าแผนชีวิตในระยะสั้น
นอกแดนต้องขัง เธอหวังจะได้เห็นชีวิตความเป็นไปของคนข้างนอก อย่างน้อยในสถานที่แห่งนี้ก็ติดกับถนนเส้นหลักของเมืองชลบุรี และในแดน 3 ก็มีกิจกรรมที่หลากหลายกว่าแดนนักโทษเด็ดขาดมาก “ที่นั่นเขามีให้ฝึกทำเบเกอรี่ นวดแผนไทย ทำกาแฟ หลายอย่างมาก”
.
เรื่องเล่าจากข้างนอกที่ ‘วรรณภา’ ยังไม่เคยได้ฟัง
เมื่อถามว่าเธออยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับข้างนอกบ้างไหม เพราะคงจะมีเรื่องราวมากมายที่เธอไม่น่าได้ฟัง ในขณะที่อยู่ตรงนี้ แต่วรรณภาไม่ได้ร้องขอให้เล่าเรื่องอะไรมากมาย เพราะจริง ๆ ตั้งแต่ที่ติดคุก เธอก็ไม่รู้เลยว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เธอต้องรู้ แต่เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่ถูกเลือกมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ทำให้เธอไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้จริง ๆ “พี่คิดว่าทุกคนจะลืมพี่แล้ว”
วรรณภาไม่ได้เปิดนามสกุลจริง ไม่ได้อยากเปิดเผยใบหน้าของตัวเอง อาจเพราะตลอดการตกเป็นจำเลยในคดีการเมือง กระบวนการยุติธรรมทำให้เธออับอายมามากพอแล้ว เธอจึงสงสัยว่าทุกคนจดจำเธอในรูปแบบไหนกันบ้าง
บรรยากาศตลอดครึ่งเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (1 ก.พ. – 14 ก.พ. 2567) จึงถูกเล่าให้วรรณภาฟัง เธอยิ้มออกมาด้วยแววตามีความหวังผ่านกระจกห้องเยี่ยม ทั้งเรื่องสแตนดี้ตัวการ์ตูนที่มีชื่อของเธอแปะอยู่ ซึ่งถูกนำไปแสดง และโชว์ในพื้นที่หลากหลายตลอดการรณรงค์แคมเปญ หรือเรื่องที่มีประชาชนมักเข้ามาถามไถ่ถึงความเป็นอยู่ของเธออย่างสม่ำเสมอ และเรื่องที่ชื่อของเธอยังคงปรากฎอยู่ในทุกเดือน ๆ จากรายงานสถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมือง เรายืนยันกับว่า เธอยังไม่ได้ถูกลืม และในทุก ๆ เดือนชื่อของเธอจะต้องมีใครสักคนเห็นบ้างสัก 1 ครั้งเป็นแน่นอน
“ขอบคุณมาก ๆ เลยนะคะ เรื่องนิรโทษกรรมก็ดีใจมาก ๆ ที่ทุกคนทุ่มเทกันขนาดนั้น ถ้ามีรูปก็ส่งมาให้พี่ดูได้นะคะ ส่งจดหมายมาหากันได้ตลอด”
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองอื่น ๆ ก็ทยอยอัปเดตให้วรรณภาฟัง โดยเธอบอกว่าตัวเองกำลังพยายามเรียนรู้เรื่องพักโทษ หรือไม่ก็ขออภัยโทษอยู่ หากสามารถทำได้ “เรื่องอภัยโทษ พี่ไม่รู้ว่ามันจะยากเกินไปสำหรับพี่ไหม ข้างในเขาก็ให้คำปรึกษาบอกว่าคดีพี่มันเป็นคดีความมั่นคงน่าจะยาก พี่เลยคิดว่าคงจะลองขอพักโทษดู”
ทั้งนี้ เมื่อเธอได้ฟังข่าวว่า ทักษิณ ชินวัตร ว่าเพิ่งได้รับการพักโทษและปล่อยตัวออกมาเมื่อเดือนที่แล้วนี้เหมือนกัน วรรณภาเมื่อรับรู้ก็ตกใจ เพราะเธอเพิ่งรู้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้สามารถกลับประเทศมาได้แล้ว
“แล้วเขาจะช่วยเราไหมคะ” คำถามของเธออาจไร้เดียงสา แต่ก็ตรงไปตรงมา แต่เมื่อบอกว่าเรื่องแบบนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก วรรณภาก็ทำเพียงพยักหน้าตอบรับแล้วนิ่งเงียบไป
.
ห่วงลูกชาย แต่ไม่รู้ว่าต้องห่วงยังไง ขอบคุณทุกความช่วยเหลือและความห่วงใยที่ยังไม่ลืม ‘วรรณภา’
วรรณภาเล่าว่าตัวเองเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอเลี้ยงลูกชาย 2 คนตามลำพังด้วยอาชีพขับวินมอเตอร์ไซน์รับจ้าง และทำงานพาร์ททามคัดแยกพัสดุในคลังสินค้าตามบริษัทต่าง ๆ ตลอดทั้งชีวิตของเธอคือคนชั้นแรงงาน หาเช้ากินค่ำ เงินทุกบาทหล่อเลี้ยงให้ทุกชีวิตในครอบครัวสามารถอยู่รอดได้วันต่อวัน ถึงกระนั้น เด็ก ๆ และตัวเธอก็มีความสุขดี
“ตั้งแต่โดนคดีมา เราคิดถึงแต่ลูกว่าเขาจะอยู่กันยังไงถ้าเราติดคุก”
“พี่เคยถามลูกว่า ถ้าเขาไม่มีข้าวกินเขาจะทำยังไง เขาตอบพี่ว่า เขาจะไปขอข้างบ้านกินเอาก่อนรอแม่กลับมาก็ได้ เขาไม่เคยอายที่แม่ต้องติดคุกแบบนี้” วรรณภาเริ่มร้องไห้อีกครั้ง เธอบอกว่ายังนับวันรออยู่ทุก ๆ วัน ถึงแม้ตอนนี้ห้องเช่าเดิมที่เคยอยู่กับลูกจะหายไปแล้ว และไม่รู้ว่าลูกย้ายไปอยู่ที่ไหน แต่เมื่อไหร่ที่เธอออกไป เธอจะกลับไปอยู่กับลูกให้ได้
“อีกครั้งเดียวที่อยากให้ลูกชายคนโตมา คือก่อนออกจากเรือนจำ ช่วยส่งข่าวบอกเขาหน่อยนะคะ”
ในยามบ่ายที่ใกล้หมดเวลาราชการ เราคุยกันต่อถึงความช่วยเหลือที่เธอต้องการ เธอยิ้มออกมาแล้วตอบสั้น ๆ ว่า “ซื้อได้ทุกอย่างเลยค่ะ อะไรก็ได้”
วรรณภาบอกว่าเธอใช้และกินได้หมด แต่ขนมบางอย่างที่นี่ ช่วงนี้ขึ้นราคาจนจับต้องไม่ได้แล้ว “พูดไปพูดมา ขนมเยอะ ๆ ก็ได้นะคะ พี่กินได้”
เมื่ออธิบายว่าเราคงจะไม่ได้เจอกันบ่อยนัก ด้วยสถานการณ์ที่ห่างไกล เราขอให้เธอเขียนจดหมายมาหากัน หากขาดเหลืออะไรก็จะได้รับรู้จากตัวหนังสือที่เธอส่งมาได้ วรรณภาตอบรับด้วยความเกรงใจ แต่ก็สัญญาว่าหากจำเป็นจริง ๆ เธอจะเขียนจดหมายส่งออกมา
“แล้วก็ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ที่ยังไม่ลืมวรรณภา” หญิงสาวกล่าวถึงคนที่ยังไม่ลืมเธอสั้น ๆ
“สิงหาคมนี้ วรรณภาจะได้ออกไปแน่ ๆ”
เราไม่รู้ว่าเรื่องที่เธอพูดจะสมปรารถนาไหม แต่นี่เป็นการพูดเอาฤกษ์เพื่อให้ความฝันเดียวที่วรรณภามี คือการออกไปมีชีวิตอยู่กับลูกชายทั้งสองคนเหมือนอย่างเคย เป็นเรื่องจริง
.
อ่านเรื่องราวชีวิตของวรรณภา >>> ‘วรรณภา’ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท- หัวอกแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และฝันร้ายที่รัฐไทยมอบให้
.