สรุปคำพิพากษา คดี ม.112 เดือนสิงหาคม 2567 มีผู้ต้องขังเพิ่ม 2 ราย ไม่มีคดีศาลยกฟ้อง โทษสูง 24 ปี 1 ราย

ตลอดทั้งเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 5 คดี ของจำเลย 5 ราย แบ่งเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 2 คดี, คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ 2 คดี และฟังคำพิพากษาฎีกา 1 คดี โดยทุกคดีศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามฟ้อง ไม่มีคดีใดเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้องคดี

ผลคำพิพากษาตลอดเดือนดังกล่าว พบว่าจำเลยในทุกคดีมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันออกไป โดยในศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาที่ไม่รอลงอาญาและไม่ได้รับการประกันตัว อย่างน้อย 1 ราย ได้แก่ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน และมีคำพิพากษาที่ให้รอลงอาญา 1 รายที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ได้แก่ “ตี๋” นักศึกษาปริญญาโท ม.นเรศวร

ในศาลอุทธรณ์มีคดีที่ศาลพิพากษา 2 คดี โดยมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว 1 ราย ได้แก่ “นิว” จตุพร แซ่อึง ส่วนอีก 1 ราย คือ “ทิวากร วิถีตน” ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา 

ส่วนในกรณีของศาลฎีกา พบว่าในเดือนสิงหาคมนี้ มี 1 ราย ได้แก่ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 แต่ให้รอลงอาญาข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

.

“ทิวากร วิถีตน” ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจากยกฟ้อง เป็นมีความผิดตาม ม.112 ลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา และไม่ได้รับการประกันตัว

วันที่ 14 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดขอนแก่นนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 48 ปี ตกเป็นจำเลย กรณีโพสต์ภาพสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564 ที่ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่ต่อมาอัยการศาลสูงจังหวัดขอนแก่นยื่นอุทธรณ์

ในชั้นต้น ศาลจังหวัดขอนแก่นยกฟ้องโดยเห็นว่าข้อความของจำเลยไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใดองค์หนึ่ง การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษาแก้ โดยเห็นว่าเห็นว่า นอกจากการที่จําเลยโพสต์รูปภาพของจําเลยสวมเสื้อคอกลมสีขาว มีข้อความสกรีนตัวหนังสืออักษรสีแดงว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ยังปรากฏว่าจําเลยมีการโพสต์ข้อความชักชวนให้คนมาซื้อเสื้อที่มีข้อความดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจําเลยมีเจตนาสบประมาท ลดคุณค่าพระเกียรติยศ อันเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน 

ส่วนที่จําเลยโพสต์อีก 2 ข้อความนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไปทำนองว่าในโพสต์ของจำเลย ปรากฏมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทํานองเกลียดชัง ด่าทอ จึงเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทําให้พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ศาลจึงเห็นว่าทั้ง 3 กระทง มีความผิดตามมาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี โดยยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 คงจําคุกกระทงละ 2 ปี รวมจําคุก 6 ปี ริบของกลาง

ในกรณีของทิวากร ภายหลังฟังคำพิพากษาเขาถูกควบคุมตัวไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่น ซึ่งเป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยที่คดียังไม่สิ้นสุด ในตอนแรกเขายังไม่ยื่นประกันตัว แต่ได้เปลี่ยนการตัดสินใจ โดยทนายความได้ยื่นประกันตัวไปเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567  แต่ในวันที่ 30 ส.ค. 2567 ศาลฎีกาได้ยกคำร้อง ระบุเหตุโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี 

ในข้อเท็จจริงทิวากรเดินทางไปตามนัดของศาลโดยตลอด และคำพิพากษาของศาลสองชั้นเองก็มีแนวทางแตกต่างกันอย่างชัดเจน จำเลยจึงควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัวในการต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาต่อไป ดังมีคดีของ “บอส” ฉัตรมงคล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กลับคำพิพากษาของศาลจังหวัดเชียงราย จากยกฟ้องเป็นเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยเห็นว่าจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวและไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี 

ตัวอย่างลักษณะนี้ สะท้อนมาตรฐานการสั่งประกันตัวในคดีต่าง ๆ ของศาล ที่เป็นไปอย่างลักลั่น ไม่มีความชัดเจนแน่นอนในการให้เหตุผลแต่อย่างใด

“นิว” จตุพร ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ให้ประกันตัว กรณีแต่งชุดไทยเดินแฟชั่นโชว์เมื่อปี 2563

วันที่ 19 ส.ค. 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ วัย 27 ปี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากเหตุแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ใน #ม็อบ29ตุลา2563 ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม 

คดีนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหามาตรา 112 และปรับ 1,500 บาท ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง โดยศาลลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา คงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่รอลงอาญา

ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยสรุปว่าในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จำเลยได้เดินอยู่บนพรมแดง และมีผู้คนตะโกน ‘ทรงพระเจริญ’ และ ‘พระราชินี’ โดยผู้ชุมนุมได้ยื่นมือออกไปเพื่อขอจับข้อเท้า และจำเลยได้หยุดให้จับ แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับว่าตนเองนั้นแสดงเลียนแบบพระราชินีสุทิดา โดยไม่ทำการปฏิเสธ แม้ว่าจะสามารถทำได้ก็ตาม

พิพากษาว่านิวมีความผิดตามมาตรา 112 แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ในระหว่างพิจารณาคดีลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี และ ปรับ 1,000 บาท ในข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ไม่รอลงอาญา

ภายหลังการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ทนายความได้ยื่นประกันตัวนิวเป็นหลักทรัพย์กว่า 200,000 บาท ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาออกคำสั่ง นิวได้ถูกควบคุมตัวไปที่ทัณฑสถานหญิงกลางฯ เพื่อรอฟังคำสั่ง

จนในวันที่ 20 ส.ค. 2567 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนิวในระหว่างฎีกา ทำให้นิวถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในวันถัดมา (21 ส.ค. 2567)  ระบุคำสั่ง พิเคราะห์ข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โทษตามคำพิพากษาไม่สูงมากนัก จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวตลอดไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ตีราคาประกัน 200,000 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะเดียวกับการกระที่ถูกฟ้องร้อง และห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น

กรณีของนิว จตุพร เป็นกรณีเดียวในรอบปี 2567 ที่ศาลสูงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกาในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112  โดยข้อพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แม้ศาลสองระดับจะวินิจฉัยลงโทษเช่นเดียวกัน กลับไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาการประกันตัวในคดีของผู้ต้องขังรายอื่น ๆ แต่อย่างใด รวมทั้งคดีของจำเลยมาตรา 112 อีกหลายรายที่มีคำพิพากษาเพียงในระดับศาลชั้นต้น ก็ไม่ได้รับการประกันตัวด้วย

ภาพนิว จตุพรออกจากทัณฑสถานหญิงกลางฯ หลังได้รับประกันตัว (ภาพจากประชาไท)

.

“อาย” กันต์ฤทัย ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 24 ปี กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 8 โพสต์ ก่อนลดเหลือ 8 ปี 48 เดือน ไม่รอลงอาญา

วันที่ 27 ส.ค. 2567 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาในคดีของ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ประชาชนและแม่ลูกหนึ่งวัย 33 ปี กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กรวม 8 โพสต์ ในช่วงวันที่ 8 ก.พ. – 1 เม.ย. 2565 

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 8 กรรม จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกรรมละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 8 ปี 48 เดือน ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวอายในระหว่างอุทธรณ์ โดยขอวางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 600,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมาศาลอาญาได้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

ต่อมา ในวันที่ 28 ส.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันกันต์ฤทัยระหว่างอุทธรณ์ ระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วย (โรคซึมเศร้า) นั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

กรณีของอาย หลังไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้เธอต้องถูกควบคุมตัวต่อไปในทัณฑสถานหญิงกลางฯ และมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในเรื่องอาการป่วยโรคซึมเศร้า ที่อายได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2562 และจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยหากอาการของโรคกำเริบ อาจทำให้จำเลยมีอารมณ์แปรปรวนไม่มั่นคงได้ 

“บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง ม.112 แต่ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำคุก 24 เดือน ให้รอลงอาญา

วันที่ 28 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของ “บุปผา” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์รายอื่น

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2558 คดีของบุปผา เคยถูกพิจารณาคดีลับที่ศาลทหาร โดยเธอถูกคุมขังในระหว่างการสอบสวนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 ปี ก่อนได้รับการประกันตัว โดยในระหว่างการคุมขังชั้นดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งส่งตัวเธอไปรับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ต่อมา คสช. ยุติบทบาทลง ทำให้คดีของเธอถูกโอนย้ายมาที่ศาลยุติธรรม การสืบพยานของเธอยังคงต่อเนื่องในศาลจังหวัดพัทยา และมีการสั่งพิจารณาคดีลับ เช่นเดียวกับศาลทหาร ทำให้บุคคลที่อื่น ๆ ไม่สามารถเข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีได้

ต่อมาในวันที่ 18 ส.ค. 2563 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหา ม.112 แต่ลงโทษในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวน 13 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้

ทั้งโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คดี และในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

ภายหลัง โจทก์และจำเลยได้ยื่นต่อสู้ในชั้นฎีกาต่อ จนศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ตามฟ้องเฉพาะข้อ 1.5, 1.8, 1.9 และ 1.11 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 24 เดือน ข้อหาและฟ้องข้ออื่นให้ยก ก่อนให้รอการลงโทษและคุมประพฤติ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คือ รอการลงโทษมีกำหนด 3 ปี ให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ 

ทั้งนี้ โพสต์ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เป็นความผิดรวม 4 โพสต์นั้น เป็นข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ และรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นรัชทายาทขณะเกิดเหตุ ส่วนอีก 9 โพสต์ที่เหลือซึ่งศาลยกฟ้อง เป็นโพสต์เกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์องค์อื่น ๆ ทำให้เห็นว่าศาลฎีกาวินิจฉัยจำกัดบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ให้ชัดเจนขึ้น แต่ยังต้องติดตามคำพิพากษาฉบับเต็มต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา บุปผาไม่ได้มาปรากฏตัวที่ศาล และไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้การอ่านคำพิพากษาของเธอเป็นการอ่านลับหลังจำเลย และออกหมายจับบุปผา เพื่อนำตัวเธอมาฟังคำพิพากษาต่อไป 

.

“ตี๋” นักศึกษาปริญญาโท ม.นเรศวร ศาลพิษณุโลก ลงโทษจำคุก 3 ปี เหตุแจกหนังสือรวมคำปราศรัย โทษจำคุกให้รอการลงโทษ

วันที่ 29 ส.ค. 2567 ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “ตี๋” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เหตุเกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564

ในคดีนี้ ศาลเชื่อตามพยานหลักฐานโจทก์ว่าจำเลยมีส่วนเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมแจกหนังสือดังกล่าว แม้จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือ ทั้งไม่ทราบเนื้อหาในหนังสือมาก่อน และศาลเห็นว่าจากจำนวน 7 ข้อความจากในหนังสือที่โจทก์ยกมาฟ้องในคดีนี้ จำเลยมีความผิด 3 ข้อความ ได้แก่ ข้อความเกี่ยวกับการใช้เงินแผ่นดินของรัชกาลที่ 10, ข้อความเกี่ยวกับการโอนย้ายทรัพย์สินของแผ่นดินไปเป็นของส่วนพระองค์, ข้อความในจดหมายที่ยื่นถึงสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี

พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แล้วจำเลยอายุ 22 ปี กิจกรรมที่จำเลยจัดอาจเป็นไปตามความคิดของตน โดยสภาพสังคมในขณะนั้นมีการชุมนุมจำนวนมาก และมีเพียงการแจกหนังสือให้กับเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่ปรากฏว่ามีการแจกให้กับบุคคลทั่วไป จึงยังไม่เกิดความเสียหายมากนัก โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 

ปัจจุบัน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2567 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมจำนวนอย่างน้อย 43 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 29 คน) 

ในจำนวนนี้ มีผู้ต้องขังทางการเมืองเพิ่มในเดือนสิงหาคมจำนวน 2 ราย ได้แก่ ทิวากร วิถีตน และ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน 

X