สัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 26 – 30 ส.ค. 2567 มีนัดพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถึง 6 คดี ทั่วประเทศไทย ในขณะที่สถานการณ์การประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองภายในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในคดีมาตรา 112 ยังเป็นที่น่ากังวล
.
ศาลอาญานัดพิพากษา “อาย” 27 ส.ค. นี้ เหตุโพสต์เฟซบุ๊ก 8 โพสต์ พาดพิง ร.9 – ร.10
วันที่ 27 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “อาย” กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ผู้ชุมนุมทางการเมืองวัย 33 ปี ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 โดยถูกตำรวจสันติบาลกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปบนเฟซบุ๊กจำนวน 8 โพสต์ ในช่วงวันที่ 8 ก.พ. – 1 เม.ย. 2565 มีเนื้อหาบิดเบือน ให้ร้าย ล้อเลียน เสียดสี รัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10
ก่อนได้รับหมายเรียกจากตำรวจให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2565 กันต์ฤทัยเคยถูกกลุ่มชายอ้างตัวเป็นตำรวจสันติบาลจำนวน 8 นาย ล่อออกมาจากห้องพัก ก่อนตำรวจจะพาตัวเธอไปทิ้งไว้ที่ สน.ลาดพร้าว และต่อมาวันที่ 1 ก.ค. 2565 เธอยังถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่า 6 นาย นำหมายค้น เข้าตรวจค้นห้องพัก โดยได้มีการตรวจยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไป รวมทั้งสอบถามข้อมูลสมุดบัญชีธนาคารเอาไว้อีกด้วย
วันที่ 12 พ.ค. 2566 พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ระบุว่า โพสต์ของจำเลยเป็นการมุ่งทำลายดูหมิ่นด้วยด้วยการใช้ถ้อยคำหยาบคายต่อองค์พระมหากษัตริย์ด้วยความไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย เป็นเหตุให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง
ในชั้นสอบสวน กันต์ฤทัยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามในชั้นศาล ก่อนเริ่มการสืบพยาน กันต์ฤทัยตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ส.ค. นี้
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ : คดี 112 “กันต์ฤทัย” เหตุโพสต์ 8 ข้อความ-ภาพ พาดพิง ร.10
.
ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดพิพากษาอุทธรณ์ “ฮ่องเต้” 27 ส.ค. นี้ เหตุอ่านแถลงการณ์และปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” หลังศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน
วันที่ 27 ส.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ บัณฑิตวัย 25 ปี จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และปัจจุบันไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถูกฟ้องในคดีตามมาตรา 112 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากกรณีอ่านแถลงการณ์และปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564
ย้อนไปวันที่ 27 ส.ค. 2564 ธนาธรได้เข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 พฤติการณ์โดยสรุประบุว่า ธนาธรได้ขึ้นปราศรัย โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 และปัญหาของการใช้มาตรา 112 โดยมีการเผยแพร่สดผ่านเพจเฟซบุ๊กพรรควิฬาร์ด้วย
ต่อมาวันที่ 19 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจัดการชุมนุมรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งแยกเป็น 2 กระทง ได้แก่ กรณีการอ่านแถลงการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 และการปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
ในชั้นสอบสวน ธนาธรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มการสืบพยาน ธนาธรตัดสินใจให้การรับสารภาพตามมาตรา 112 จากการปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ แต่ต่อสู้คดีในข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 จากกรณีการอ่านแถลงการณ์
ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 ในกระทงที่ให้การรับสารภาพ ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และมีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 1 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 7 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ
ส่วนกรณีการอ่านแถลงการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 เห็นว่าไม่ได้ระบุเจาะจงถึงตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องในกระทงความผิดนี้
ทนายความจึงอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษตามมาตรา 112 กรณีปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งเป็นกระทงที่จำเลยรับสารภาพ และขอให้ศาลยกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในวันที่ 27 ส.ค. นี้
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ : คดี 112 “ฮ่องเต้ – ธนาธร” นศ.มช. – แกนนำพรรควิฬาร์ ปราศรัยในคาร์ม็อบ15สิงหา
.
ศาลจังหวัดพัทยานัดพิพากษาฎีกา “บุปผา” 28 ส.ค. นี้ เหตุโพสต์เฟซบุ๊ก 13 โพสต์ พาดพิง ร.9 และสมาชิกราชวงศ์รายอื่น หลังศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน
วันที่ 28 ส.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดพัทยานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ถูกฟ้องในคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เหตุจากการโพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงรัชกาลที่ 9 และสมาชิกราชวงศ์รายอื่น
คดีนี้เดิมถูกพิจารณาลับในศาลในทหาร โดยเธอถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลานานถึง 2 ปี ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ต่อมาหลังมีการเลือกตั้งและ คสช.ยุติบทบาทลง คดีได้ถูกโอนย้ายมายังศาลยุติธรรม แต่การสืบพยานต่อในศาลจังหวัดพัทยาก็เป็นการลับเช่นเดิม
เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 แต่ลงโทษในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำนวน 13 กระทง จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี และให้รักษาอาการทางจิตเวชต่อ
ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 1 มี.ค. 2565 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) แทน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นอกจากนั้นเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลจังหวัดพัทยาจึงนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันที่ 28 ส.ค. นี้
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ : บุปผา ผู้ป่วยจิตเภท คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (โพสต์เฟซบุ๊ก)
.
ศาลอาญานัดพิพากษา “เก็ท โสภณ” 29 ส.ค. นี้ เหตุปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จากการปราศรัยในวันแรงงานสากล #แจกน้ำยาให้หมามันกิน จัดโดยกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการใช้งบประมาณของสถาบันกษัตริย์
คดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อโสภณเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2565 ขณะที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในอีกคดีหนึ่ง
ต่อมาในวันที่ 15 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ระบุว่า คำปราศรัยของโสภณเป็นคำพูดที่ทำให้คนฟังน่าจะเชื่อได้ว่าสถาบันกษัตริย์กดขี่ประชาชน ประชาชนเป็นทาส ประชาชนควรเรียกร้องสิทธิของตน โดยเป็นการจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมพระเกียรติ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
ในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โสภณยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่เขาปราศรัยล้วนเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น การปราศรัยถึงเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีไม่ผิดมาตรา 112 เนื่องจากไม่ใช่บุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง ซึ่งมีเพียง กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น และการที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นบริษัทสยามไบโอซายน์ หรือกษัตริย์ทำธุรกิจนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถพูดถึงและถกเถียงได้
คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 26 – 28 มิ.ย. และ 2 – 3 ก.ค. 2567 จนเสร็จสิ้น ศาลอาญาจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. นี้
ทั้งนี้ โสภณถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาในกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวมาตลอดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 369 วันแล้ว
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ : คดี 112 “เก็ท – โสภณ” ปราศรัยหน้าทำเนียบฯ วันแรงงานปี 65
.
ศาลอาญานัดพิพากษา “ทอปัด” 29 ส.ค. นี้ เหตุโพสต์ภาพวาดของ ร.10 ลงในอินสตาแกรม
วันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ทอปัด” (สงวนนามสกุล) ศิลปินนักวาดภาพอิสระวัย 29 ปี โดยเธอเป็นหนึ่งในผู้วาดภาพเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยเผยแพร่ทางโลกออนไลน์ ผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุโพสต์ภาพวาดลงในอินสตาแกรม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ทอปัดถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากจังหวัดสมุทรปราการ โดยนำตัวไปดำเนินคดีที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยในการตรวจค้น ตำรวจตรวจยึดเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 1 เครื่อง ภาพวาดระบายสี 1 แผ่น และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง เป็นของกลาง
ต่อมาในวันที่ 21 ก.ย. 2565 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญา ระบุว่า จำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
ในชั้นสอบสวน ทอปัดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามในชั้นศาล ก่อนเริ่มการสืบพยาน ทอปัดตัดสินใจขอถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. นี้
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ : คดี 112 “ทอปัด” ศิลปินนักวาด ถูกกล่าวหาเผยแพร่ภาพวาดให้ร้าย ร.10 ใน IG
.
ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัดพิพากษา “ตี๋” 29 ส.ค. นี้ เหตุแจกหนังสือ “รวมบทปราศรัยคัดสรรคดี 112” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ปี 64
วันที่ 29 ส.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ศาลจังหวัดพิษณุโลกนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ตี๋” (สงวนชื่อสกุล) นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เหตุเกี่ยวข้องกับการแจกหนังสือ “บทปราศรัยคัดสรรคดี 112” ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 ตี๋ถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ออกหมายเรียกเพื่อไปให้การเป็นพยาน แต่เมื่อเดินทางไปที่สถานีตำรวจ พนักงานสอบสวนกลับแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ทำให้ตี๋ตกเป็นผู้ต้องหาในทันที
ต่อมาในวันที่ 31 ส.ค. 2566 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า จำเลยได้แจกจ่ายหนังสือบทปราศรัยคัดสรรคดี 112 มีข้อความว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่กษัตริย์ ตามที่เขาหลอกลวง” เล่มสีขาว ให้แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งข้อความบางส่วนของคำปราศรัยของบุคคล 6 คนในหนังสือ รวมทั้งข้อความจากจดหมายเปิดผนึกถึงราษฎรชาวไทยถึงสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 เป็นการโฆษณา ละเมิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง จากผู้อื่นหรือประชาชน
ในชั้นสอบสวนและชั้นศาลตี๋ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีข้อต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้แจกจ่ายหนังสือนี้ตามข้อกล่าวหา และไม่เคยอ่านหรือทราบรายละเอียดเนื้อหาในหนังสือ
คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 12 – 15 มี.ค. และ 5 – 6 มิ.ย. 2567 จนเสร็จสิ้น ศาลจังหวัดพิษณุโลกจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. นี้
อ่านฐานข้อมูลในคดีนี้ : คดี 112 “ตี๋” นศ.ม.นเรศวร ถูกกล่าวหาแจกหนังสือรวมคำปราศรัยคดี 112 ในช่วงงานรับปริญญาปี 64