จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง 44 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 24 คน
ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 อย่างน้อย 17 คน และยังมีในส่วนคดีเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด – วางเพลิงรถตำรวจ อย่างน้อย 7 คน นอกจากนั้นยังมีเยาวชน 2 คน ที่ถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาลเยาวชนฯ
ในปี 2567 นี้ พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฏาคม มีการยื่นประกันตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองถี่มาก และสูงที่สุดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 109 ครั้ง โดยแบ่งเป็นการยื่นคำร้องในคดีหลักตามมาตรา 112 – 116 จำนวน 85 ครั้ง, คดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดจากการชุมนุม จำนวน 23 ครั้ง และคดีดูหมิ่นศาล-ละเมิดอำนาจศาล 1 ครั้ง
ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเพียง 5 คน ได้แก่ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร จากกรณีที่ถูกคุมขังตามมาตรา 116 สืบเนื่องมาจากการที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าขัดขวางขบวนเสด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2567, “ถนอม” ชายไร้บ้าน จากกรณีถูกฝากขังในคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 บริเวณแยกคอกวัว, “แอมป์” ณวรรษ จากกรณีถูกคุมขังในคดี ม.112 จากคดีปราศรัย #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb , ผู้ต้องขัง LGBTQIA+ วัย 24 ปี และชายหนึ่งคนวัย 53 ปี (นับเฉพาะคนที่เคยถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ และได้รับการประกันตัว ไม่ได้รวมถึงผู้ที่ได้รับการประกันตัวอยู่แล้ว ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ)
นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังที่เสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัว 1 ราย ได้แก่ บุ้ง เนติพร จากกรณีถูกคุมขังตามคดีละเมิดอำนาจศาลที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 และเหตุจากการถูกสั่งถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 ทำโพลขบวนเสด็จที่ห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิดในเหตุการณ์ชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา พบว่าแนวโน้มของการไม่อนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดมีเพิ่มมากขึ้น และคำสั่งประกันตัวของศาลอุทธรณ์ก็มีแนวโน้มเป็นไปในทางลบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
.
ยื่นคำร้องขอประกันตัวชุดใหญ่ ผ่านสถานการณ์ทางการเมือง 3 เหตุการณ์
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่ามีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองท่ามกลางกระแสทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมหลายครั้ง ดังนี้
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ทนายความได้เข้ายื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองรวม 15 ราย การยื่นประกันระลอกนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปิดลงชื่อเสนอกฎหมาย “นิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งเป็นความพยายามให้ศาลทบทวนสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และได้รับการทบทวนคำพิพากษา-การกำหนดโทษต่าง ๆ จากศาลที่สูงขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ศาลก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังทางการเมืองกลุ่มนี้ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีเช่นเดิม
แม้คำร้องขอประกันผู้ต้องขังระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คน ได้แก่ อุดม, กัลยา และบัสบาส ถูกส่งไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมด
ส่วนคำร้องขอประกันผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ 11 คน ถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งทั้งหมด โดยตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์เริ่มทยอยมีคำสั่งออกมา ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมดเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีมาตรา 112 อีก 1 คน คือ แม็กกี้ ซึ่งหลังจากยื่นคำร้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกัน
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ซึ่งอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีจำนวน 16 ราย ได้แก่ อานนท์, ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, มงคล, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์, สุขสันต์, อุกฤษฏ์, วีรภาพ, จิรวัฒน์, ณัฐนนท์, ทานตะวัน, อัฐสิษฎ และสิรภพ
การยื่นประกันตัวครั้งดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปีของการทำรัฐประหาร ที่นำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บรรดาองค์กรทางกฎหมายได้นิรโทษกรรมให้กับคณะผู้ทำรัฐประหารที่ทำลายระบบนิติรัฐของประเทศ
ในโอกาสนี้ ผู้ต้องขังจำนวน 16 ราย จึงประสงค์ที่จะยื่นประกันตัว เพื่อตอกย้ำว่ายังมีคนที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวขั้นพื้นฐาน และในสถานการณ์ที่ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกเริ่มริบหรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันของศาลในลักษณะเช่นเดิมว่า ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ และเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเพื่อนผู้ต้องขังที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างไม่มีวันกลับอย่าง ‘บุ้ง เนติพร’ กลายเป็นแรงผลักดันให้หลายคนต้องการยืนยันสิทธิของตัวเอง และขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัว ต่อมาในระหว่างวันที่ 22 – 24 พ.ค. ศาลได้ทยอยมีผลคำสั่งโดยไม่ให้ประกันตัวทั้งหมด โดยระบุคำสั่งเช่นเดิมว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ทนายความเข้ายื่นคำร้องของประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 13 ราย ได้แก่ ได้แก่ อานนท์, สิรภพ, อารีฟ วีรภาพ, จิรวัฒน์, อัฐสิษฎ, กัลยา, ไพฑูรย์, สุขสันต์, ถิรนัย, ชัยพร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์ และประวิตร โดยแบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี ม.112 จำนวน 6 คน และคดีที่มีมูลสืบเนื่องจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอีก 7 ราย ที่ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดนราธิวาส
ภายหลังศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ได้ทยอยมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวทุกฉบับ ซึ่งการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองในระลอกนี้ มีแนวโน้มที่ไม่แตกต่างกันกับการยื่นขอประกันตัวเมื่อวันที่ 22 พ.ค. และ วันที่ 31 พ.ค. 2567 โดยศาลก็ยังคงยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองกลุ่มนี้ในระหว่างการพิจารณาคดีเช่มเดิม
.
ศาลให้ประกันตัว 6 ราย และ อีก 1 รายได้พักโทษ ส่วนผู้ต้องขังที่พ้นกำหนดโทษมี 4 ราย
แม้ในครึ่งปีแรกระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จะไม่มีผู้ต้องขังทางการเมืองได้รับสิทธิประกันตัว แต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทานตะวัน ใน 2 คดี โดยในคดีมาตรา 112 จากกรณีไลฟ์สดหน้า UN ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ประกันตัวลงมาในวันเดียวกัน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัว 100,000 บาท ระบุคำสั่งว่า
“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ภายหลังจำเลยไม่ประสงค์ที่จะขอให้ปล่อยชั่วคราวเอง แล้วถูกควบคุมตัวอยู่ทันฑสถานหญิงกลางมาจนถูกย้ายไปควบคุมที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จนกระทั่ง ผอ. โรงพยาบาลดังกล่าว ขอให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย เนื่องจากจำเลยอาจจะเสียชีวิตระหว่างพิจารณาได้ ศาลได้ปล่อยชั่วคราวไปแล้วจำเลยไม่มารายงานตัว แต่จำเลยมาศาลตลอดในช่วงที่มีการสืบพยาน พฤติการณ์ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยหลบหนีในคดีนี้ ดังนั้นหากจำเลยสมัครใจที่จะติดกำไล EM และผู้ประกันวางเงินประกันตามเสนอ ให้เบิกตัวจำเลยมาทำสัญญาประกันตัวต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในคดีตาม ม.116 ของทานตะวันและแฟรงค์ที่ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไปในวันเดียวกันนั้น ศาลอาญา ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุสั้น ๆ ว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
มีข้อน่าสังเกตว่า การยื่นประกันตัวในวันที่ 22 พ.ค. โดยเฉพาะในกรณีของคดี ม.112 จากการไลฟ์สดหน้า UN ศาลได้ระบุคำสั่งที่น่าสนใจว่า พฤติการณ์ของทานตะวันได้ส่อให้เห็นว่าจำเลยไม่เคยหลบหนี ซึ่งในคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีโทษสูงกว่า ม.116 ที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และระบุคำสั่งว่าจำเลยได้มาตามนัดหมายทางคดีทุกนัด และไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีในคดีที่มีโทษสูงกว่านั้น ย่อมแสดงให้เห็นเจตนาการมาต่อสู้คดีของจำเลย ดังนั้น เหตุผลของการออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในคดี ม.116 โดยระบุคำสั่งเพียงว่า ‘ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ จึงเป็นความลักลั่นของการใช้ดุลยพินิจในการออกคำสั่งประกันตัวที่ไม่อาจสามารถหาคำตอบได้
แต่ภายหลังในวันที่ 27 พ.ค. 2567 ศาลอาญาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทานตะวันในคดี ม.112 แล้ว ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทานตะวันในคดี ม.116 อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการยื่นประกันตัวในคดีดังกล่าวครั้งที่ 10 แล้วของตะวัน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท
ในส่วนของแฟรงค์ ทนายความได้เข้ายื่นขอประกันตัวเขาทันทีในวันถัดมา (28 พ.ค. 2567) ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวตะวัน ศาลก็ได้มีคำสั่งอนุญาตเช่นเดียวกัน ระบุคำสั่งโดยสรุปว่า จำเลยถูกขังมาเป็นระยะเวลาหนึ่งพอสมควรแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุเปลี่ยนแปลงไป อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินเท่ากันกับของทานตะวัน ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้
ในส่วนของ “ถนอม” ชายไร้บ้าน ซึ่งถูกจับกุมและศูนย์ทนายฯ เพิ่งได้รับแจ้งว่าเขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ต้นช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 สืบเนื่องจากเหตุคดีชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 บริเวณแยกคอกวัว ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัว ก่อนที่ในวันที่ 31 พ.ค. ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวถนอม โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 35,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีกรณีของชายวัย 53 ปีที่ได้รับการประกันตัว เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2567 รวมถึง “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมทางการเมืองวัย 29 ปีที่ถูกศาลออกหมายจับและไม่ให้ประกันตัวกรณีมานัดศาลล่าช้า ในนัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดี ม.112 และ ม.116 กรณีชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 ทำให้เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที
ต่อมาวันที่ 4 ก.ค. 2567 ทนายความได้ยื่นประกันตัวแอมป์ต่อศาลอาญา ระบุในคำร้องว่าจำเลยมีโรคประจำตัวติดเชื้อ HIV จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสให้ตรงเวลาทุกวัน ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี ระบุในคำสั่งว่า เห็นว่าจำเลยมีปัญหาสุขภาพ ต้องพบแพทย์รับยาเป็นระยะ อีกทั้งจำเลยได้มารายงานตัวต่อศาลในวันต่อมา และยอมวางหลักประกันเพิ่มจากเดิม เชื่อว่าหากจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวจะไม่หลบหนี โดยศาลให้วางเงินประกัน 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ในส่วนหนึ่ง และศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม
ในกรณีของผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ครบกำหนดโทษในครึ่งปี 2567 นี้ และได้รับการปล่อยตัว พบว่ามีอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ “โย่ง”, เอกชัย หงส์กังวาน, “ปริทัศน์” และ สุวิทย์
และยังมีผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษ 1 ราย ได้แก่ “มะ ณัฐชนน” ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 เป็นรายล่าสุดของครึ่งปีแรก หลังได้รับการพักโทษจากการถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดในพื้นที่ชุมนุม จาก #ม็อบ12มิถุนา65 ภายใต้เงื่อนไขการคุมความประพฤติ การติดกำไล EM และการห้ามเดินทางออกนอกจังหวัดที่อาศัยอยู่ ทำให้สิ้นสุดการคุมขังเป็นระยะเวลา 723 วัน หรือเกือบ 2 ปี
.
ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และ ผู้ต้องขังคดีครอบครองวัwตถุระเบิด มีแนวโน้มถูกขังชนป้าย ไร้แววสิทธิประกันตัวในศาลสูง
ช่วงครึ่งปีแรกของ 2567 พบว่าอัตราการยื่นประกันตัวในคดีมาตรา 112 – 116 มีสูงที่สุดถึง 85 ครั้ง โดยปัจจุบันมีผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวที่อยู่ในระหว่างพิจารณา จำนวน 17 ราย และคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดอีก 7 ราย
ในจำนวนผู้ต้องขังคดี ม.112 – 116 ที่ยื่นประกันตัวมีเพียงแค่ “ตะวัน – แฟรงค์” เท่านั้นที่ได้ประกันตัว ส่วนผู้ต้องขังรายอื่นที่มีคำพิพากษาในศาลชั้นต้นแล้ว ตลอดจนผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังข้ามปีล้วนแล้วแต่ถูกศาลปฏิเสธคืนสิทธิประกันตัวทั้งสิ้น
ทั้งในกรณีของผู้ต้องขังคดีเหตุเกี่ยวกับการเผา – ทำลาย และมีวัตถุระเบิด 7 ราย ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ประวิตร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, ไพฑูรย์ และสุขสันต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ต้องขังทางการเมือข้ามปี 2566 และถูกคุมขังมาระยะหนึ่ง โดยไม่มีคดีใดที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุด โดยเฉพาะถิรนัย และชัยพร ซึ่งเป็นสองนักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระที่ถูกคุมขังนานมานานที่สุดในระลอกนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ถิรนัย – ชัยพร” นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมวัย 23 และ 24 ปีตามลำดับ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้นหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้โทษ เป็นจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน
และเมื่อนับรวมวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 16 ก.ค. 2567 ถิรนัยและชัยพรถูกขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 518 วัน หรือ 1 ปี 5 เดือน 1 วัน ทำให้ทั้งสองคนจะถูกปล่อยตัวในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2567 นี้ ตามโทษในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
.
ศาลชั้นต้นมีแนวโน้มไม่พิจารณาคำสั่งประกันตัว ส่งศาลอุทธรณ์ – ฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าในทุกคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา แนวโน้มของคำสั่งมักไม่ถูกพิจารณาโดยศาลชั้นต้น แต่มักจะส่งให้ศาลอุทธรณ์ – ฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว
ทั้งนี้ ใน ข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีการเรียกประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ในข้อที่ 24 ได้ระบุไว้ว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม
หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ โดยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งประกันได้ โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการประกันในระหว่างพิจารณา หรือใช้เงื่อนไขประกันที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลสูงเป็นผู้สั่งเอง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวโน้มของการพิจารณาคำสั่งประกันตัวในคดีการเมืองหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ของจำเลยหลายคนไม่ถูกสั่งในศาลชั้นต้น แต่จะถูกส่งให้ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาทันทีภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว
การใช้ดุลยพินิจของศาลชั้นต้นดังกล่าว ทำให้การขอประกันตัวจำเลยในคดีการเมืองมีแนวโน้มยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากในช่วงหลัง ศาลสูงมีแนวโน้มจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 หรือคดีเกี่ยวกับวัตถุระเบิด แม้จำเลยจะไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประกอบกับเมื่อคำสั่งประกันตัวในครั้งแรกหลังมีคำพิพากษา ถูกสั่งโดยศาลที่สูงกว่าแล้ว การขอประกันตัวในครั้งถัด ๆ ไป ก็มักจะถูกส่งไปพิจารณาโดยศาลสูงเช่นเดิม ทำให้จำเลยหลายคนไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมา
นอกจากนั้น การไม่ได้รับการประกันตัวทำให้หลายคนได้ตัดสินใจไม่ต่อสู้คดีต่อในศาลสูง ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ต้องยินยอมให้คดีสิ้นสุดลง เพื่อรับโทษและรู้วันเวลาออกที่แน่นอน พร้อมกับไปสู่ช่องทางอภัยโทษหรือพักโทษต่าง ๆ กรณีลักษณะนี้ อาทิ กรณีของทีปกร, วารุณี หรือพรชัย