16 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ธี” ถิรนัย (สงวนนามสกุล) และ “มาย” ชัยพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมวัย 23 และ 24 ปี ตามลำดับ ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หลังถูกตรวจพบระเบิดปิงปองจำนวน 10 ลูก บริเวณด่านใกล้แยกนางเลิ้ง ก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้นหนักเกินไป จึงพิพากษาแก้โทษ เป็นจำคุกจำเลยคนละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน
แต่อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น (15 ก.พ. 2566) จนถึงวันนี้ (16 ก.ค. 2567) ถิรนัยและชัยพรถูกขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 518 วัน หรือ 1 ปี 5 เดือน 1 วัน ทำให้ทั้งสองคนจะถูกปล่อยตัวในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า ตามโทษในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
.
ถูกจับกุมหลัง ตร. ตรวจพบ ‘ระเบิดปิงปอง 10 ลูก’ ก่อนชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64
ในวันเกิดเหตุคดีนี้ 29 ส.ค. 2564 มีนัดหมายชุมนุม CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยกันหลายกลุ่ม ในวันดังกล่าว ถิรนัยและชัยพรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจค้นรถบริเวณด่านใกล้แยกนางเลิ้ง ก่อนพบระเบิดปิงปอง จึงถูกยึดไว้เป็นของกลางและควบคุมตัวทั้งสองไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง
ในบันทึกจับกุมระบุว่า ชุดจับกุมประกอบด้วย คฝ.ร้อย 2 บก.น. 1 จำนวน 6 นาย และชุดสืบสวน สน.นางเลิ้ง 4 นาย โดยเวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมได้ตั้งจุดตรวจด่านความมั่นคงที่บริเวณหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถนนนครสวรรค์ ต่อมาเวลาประมาณ 14.30 น. ได้ตรวจค้นรถจักรยานยนต์ซึ่งมีชัยพรขับขี่ และถิรนัยซ้อนท้าย พบระเบิดปิงปองบรรจุขวด 2 ลูก, ระเบิดปิงปองลูกบอลกลม 8 ลูก อยู่ในกระเป๋าที่ถิรนัยสะพายอยู่ และพบขวดบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง 4 ขวด ใต้เบาะรถจักรยานยนต์
พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองว่า “มีวัตถุระเบิดที่เจ้าพนักงานไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง” ถิรนัยและชัยพรไม่ได้ลงชื่อในบันทึกจับกุม หลังทำบันทึกจับกุมที่ สน.นางเลิ้ง พนักงานสอบสวนนำตัวไปสอบปากคำที่ บช.ปส. ก่อนนำตัวกลับมาคุมขังที่ สน.นางเลิ้ง ตลอดคืน
วันต่อมา (30 ส.ค. 2564) พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังทั้งสองต่อศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 10,000 บาท พร้อมกับให้ติดกำไล EM
ถูกสั่งฟ้อง ต่อมารับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เข้าเรือนจำทันทีเพราะไม่ได้ประกันตัว
ต่อมาในวันที่ 19 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) มีคำสั่งฟ้องถิรนัย (จำเลยที่ 1) และชัยพร (จำเลยที่ 2) ต่อศาลอาญาในฐานความผิด “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ระบุว่า ระเบิดปิงปองในครอบครองทั้ง 10 ลูกที่ถูกตรวจค้นเจอ อัยการเห็นว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้หากถูกอวัยวะสำคัญ อีกทั้งยังสามารถทำอันตรายต่อวัตถุและทรัพย์สินได้ในระยะไม่เกิน 2 เมตร
เมื่อคดีเข้าสู่การสืบพยานในชั้นศาล ในนัดสุดท้ายของการสืบพยานโจทก์จำเลยเปลี่ยนคำให้การจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพ จึงทำให้ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 3, 55, 74, 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานมีวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง เป็นกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามบทกฎหมายที่หนักที่สุดคือ ฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี ไม่รอลงอาญา และให้ริบวัตถุระเบิดของกลาง
.
หลังศาลอาญามีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวถิรนัยและชัยพรในระหว่างชั้นอุทธรณ์ คำร้องดังกล่าวถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทำให้ทั้งสองคนต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันดังกล่าวทันที และต่อมาศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัว
จนถึงปัจจุบัน มีการยื่นประกันตัวทั้งสองคนรวมแล้ว 9 ครั้ง ทุกครั้งคำร้องถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา และศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้องดังกล่าวทุกครั้ง ทำให้ในระหว่างการอุทธรณ์คดีนี้ ทั้งสองคนจึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาโดยตลอด
ทนายความยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องหรือลงโทษสถานเบาแก่จำเลย
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2566 ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์ โดยสามารถสรุปใจความสำคัญออกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 แม้จำเลยจะรับสารภาพ ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาวินิจฉัยให้ได้ความด้วยว่า จำเลยทั้งสองคนได้กระทำความผิดความผิดหรือร่วมกันกระทำความผิดด้วยหรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดเนื่องจากให้การรับสารภาพ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดโดยปราศจากข้อสงสัย
คดีนี้ได้มีการสืบพยานโจทก์บางส่วน ทำให้ปรากฏข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณาวินิจฉัยที่เป็นคุณกับจำเลยได้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อคำจำกัดความของนิยามคำว่า “วัตถุระเบิด” นั้นต้องมีแรงทำลายหรือแรงประหารอย่างแรงเกิดขึ้น เมื่อมิได้นำวัตถุของกลางมาพิสูจน์ว่าทำให้เกิดระเบิดได้จริงหรือไม่ ไม่ปรากฏว่าระเบิดแล้วมีแรงทำลายหรือแรงประหารจริงหรือไม่
ประเด็นที่ 2 ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง จำเลยทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากการนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้กับการที่จำเลยที่ 1 ที่นำวัตถุดังกล่าวมาในวันเกิดเหตุอย่างไรบ้าง มีพฤติการณ์อย่างไรที่ควรรู้ว่าจำเลยที่ 1 นำพาวัตถุดังกล่าวมาด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงยังเป็นข้อสงสัยอย่างยิ่งว่าได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง จึงสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่สองในฐานร่วมกันกระทำความผิด
ประเด็นที่ 3 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสองมิอาจเห็นพ้องด้วย เนื่องจากจำเลยได้กระทำไปในช่วงอายุยังน้อย และกระทำไปโดยขาดการไตร่ตรองที่ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการกระทำไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีจิตใจชั่วร้าย อีกทั้งจำเลยทั้งสองไม่มีเคยประวัติเสียหายในทางใด ๆ ไม่มีประวัติอาชญากรและไม่เคยได้รับโทษอาญาถึงจำคุกมาก่อน ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และการลงโทษจำคุกไม่เป็นผลดีต่อจำเลยทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองยังอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน จึงขอศาลยกฟ้องหรือลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองถูกขังมาแล้ว 1 ปี 5 เดือน รอปล่อยตัวในหนึ่งเดือนถัดไป
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 ถิรนัยและชัยพรถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ อีกทั้งยังมีประชาชนและนักกิจกรรมมาร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา โดยมีบางคนสวมเสื้อนิรโทษกรรมประชาชนมาด้วย
ต่อมาในเวลา 10.02 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยสามารถสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า ที่โจทก์ฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษา ตาม ป.วิอาญาฯ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยอุทธรณ์มานั้นขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นนี้
ส่วนในประเด็นที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบา เห็นว่าการที่จำเลยพกพาระเบิดไปในที่สาธารณะเป็นการกระทำที่อุกอาจ เห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง อย่างไรก็ดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปีนั้น เห็นว่าหนักเกินไป ศาลอุทธรณ์เห็นควรแก้ไขให้เหมาะสม
พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นลงโทษในฐานมีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 98 วรรคหนึ่ง จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน
.
หลังฟังคำพิพากษาเสร็จแล้ว ถิรนัยยกมือขออนุญาตศาลโทรไปหาครอบครัวเพื่อบอกคำพิพากษาของศาลในวันนี้ ศาลอนุญาต โดยให้เพื่อนเป็นคนโทรและให้ถิรนัยพูดคุยได้ แต่อย่างไรก็ตามญาติของถิรนัยไม่ได้รับสาย ถิรนัยจึงยังไม่ได้พูดคุยกับญาติของเขา และได้ฝากให้เพื่อนเขาเป็นคนบอกข่าวแทน หลังจากนั้นทั้งสองคนก็ถูกควบคุมตัวลงไปยังใต้ถุนศาลเพื่อรอกลับไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อ
ตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น (15 ก.พ. 2566) จนถึงวันนี้ (16 ก.ค. 2567) ถิรนัยและชัยพรถูกขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 518 วัน หรือ 1 ปี 5 เดือน 1 วัน ทำให้ทั้งสองคนต้องรับโทษจำคุกอีกประมาณหนึ่งเดือน จึงจะได้รับการปล่อยตัว ตามการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อย่าลืม “ธี” ถิรนัย: จากการ์ดม็อบอาชีวะ ถูกขังจนมีฝันใหม่ต้องเปลี่ยนประเทศให้ได้!
อย่าลืม “มาย” ชัยพร: รัฐรุนแรงในวันนั้น มีฉัน ‘การ์ดม็อบ-นักโทษการเมือง’ ในวันนี้