พรุ่งนี้ (16 ก.ค. 2567) เวลา 09.00 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ “ธี” ถิรนัย (สงวนนามสกุล) และ “มาย” ชัยพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมวัย 23 และ 24 ปี ตามลำดับ ในคดีครอบครองวัตถุระเบิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ หลังถูกตรวจพบระเบิดปิงปองจำนวน 10 ลูก ก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64
ปัจจุบันทั้งสองคนเป็นผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวข้องกับการเมืองที่ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีนานที่สุด เป็นระยะเวลา 517 วันแล้ว (หรือ 1 ปี 5 เดือน) โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี
นอกจากนั้นในวันพรุ่งนี้ ทั้งสองคนจะถูกเบิกตัวมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ซึ่งจะเป็นการออกศาลครั้งแรก นับตั้งแต่ทั้งสองคนถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลายาวนาน
.
ถูกจับกุมหลัง ตร. ตรวจพบ ‘ระเบิดปิงปอง 10 ลูก’ ก่อนชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 ก่อนถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี และลดเหลือ 3 ปี
ในวันเกิดเหตุคดีนี้ 29 ส.ค. 2564 มีนัดหมายชุมนุม CAR MOB CALL (ประยุทธ์) OUT ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยกันหลายกลุ่ม ได้แก่ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) กลุ่มที่สองนำโดย “ม่อน อาชีวะ” กับกิจกรรม “รวมพลคนพันธุ์ R” และกลุ่มที่สามโดยกลุ่ม “เยาวชนทะลุแก๊ส” มีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เผาสาปแช่งนายกฯ และคณะรัฐมนตรี
วันดังกล่าว ถิรนัยและชัยพรถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจค้นรถบริเวณด่านใกล้แยกนางเลิ้งเข้าหยุดรถ ก่อนพบระเบิดปิงปองจำนวน 10 ลูก จึงถูกยึดไว้เป็นของกลางและควบคุมตัวทั้งสองไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง วันต่อมา (30 ส.ค. 2564) พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังทั้งสองต่อศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขัง แต่อนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 10,000 บาท พร้อมกับให้ติดกำไล EM
19 พ.ย. 2564 อัยการยื่นฟ้องทั้งสองคนในฐานความผิด “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ระบุว่า ระเบิดปิงปองในครอบครองทั้ง 10 ลูกที่ถูกตรวจค้นเจอนั้น อัยการเห็นว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้หากถูกอวัยวะสำคัญ อีกทั้งยังสามารถทำอันตรายต่อวัตถุและทรัพย์สินได้ในระยะไม่เกิน 2 เมตร
ในนัดสุดท้ายของการสืบพยานโจทก์ ช่วงเดือน ก.พ. 2566 ทั้งสองคนตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทำให้ต่อมาวันที่ 15 ก.พ. 2566 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกทั้งสองคนละ 6 ปี แต่ลดกึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน
.
ทนายยื่นประกันตัวรวมแล้ว 9 ครั้ง ศาลมีคำสั่งยกคำร้องทุกครั้ง – เป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีที่ยังถูกขังนานที่สุดถึง 517 วันแล้ว
หลังศาลอาญามีคำพิพากษา ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวถิรนัยและชัยพรในระหว่างชั้นอุทธรณ์ทันที คำร้องดังกล่าวถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทำให้ทั้งสองคนต้องเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพในวันดังกล่าวทันที และต่อมาศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องการประกันตัว
จนถึงปัจจุบัน ทนายความยื่นประกันตัวทั้งสองคนรวมแล้ว 9 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งคำร้องถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา และศาลอุทธรณ์ก็ยกคำร้องดังกล่าวเรื่อยมา โดยในครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ก็ได้ยื่นขอประกันตัวอีกครั้ง ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาและสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุว่า
“พิเคราะห์ความพนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
.
ในช่วงต้นเดือนนี้ (ระหว่างวันที่ 2-12 ก.ค.) ถิรนัยและชัยพรได้ฝากข้อความจากเรือนจำออกมา ทั้งสองคนตื่นเต้นและมีความหวังในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งอาจเป็นจุดชี้ชะตาสำหรับพวกเขาว่าจะต้องอยู่ในเรือนจำต่อหรือได้กลับบ้าน
“วันที่ 16 นี้ผมจะออกศาลไปฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ ตื่นเต้น นอนไม่ค่อยหลับ มันอาทิตย์สุดท้ายก่อนไปฟังแล้ว ผมมองนาฬิกาตลอด เหมือนเวลามันเดินช้าลง มันเป็นจุดชี้ชะตาของเราเลยว่าจะอยู่ต่อหรือได้กลับบ้าน มันวัดกันรอบนี้นี่แหละ ไม่ว่าผลจะออกมายังไงก็ต้องรับมันให้ได้” ชัยพรเล่า
ด้านถิรนัยก็เล่าว่าตื่นเต้นที่จะได้ฟังคำพิพากษาอุทธรณ์วันที่ 16 นี้ “นอนคิดทั้งคืน ผมรู้สึกแอบมีความหวังอยู่ แล้วก็อยากให้ทางศูนย์ทนายฯ โพสต์เรื่องคดีว่าจะมีการฟังคำพิพากษาที่จะว่าพวกผมจะได้อยู่ต่อหรือกลับ อยากให้มีคนมองเห็น”
เขาเล่าต่อว่า ถ้าได้ออกก็จะไปช่วยเคลื่อนเรื่องนิรโทษกรรมต่อจนกว่าจะจบ พอจบแล้วจึงจะกลับไปเริ่มต้นใหม่ ไปเรียนต่อให้จบแล้วค่อยมาทำงาน ถิรนัยเปิดใจว่าชอบงานเคลื่อนไหว งานการเมือง เพิ่งมาค้นพบตอนปี 2563 -2564 ตอนนี้เขาคิดว่ามันคือภาคปฏิบัติ หลังจากนี้คงต้องขยับไปภาควิชาการ ภาคทฤษฎี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
อย่าลืม “ธี” ถิรนัย: จากการ์ดม็อบอาชีวะ ถูกขังจนมีฝันใหม่ต้องเปลี่ยนประเทศให้ได้!
อย่าลืม “มาย” ชัยพร: รัฐรุนแรงในวันนั้น มีฉัน ‘การ์ดม็อบ-นักโทษการเมือง’ ในวันนี้