*อัปเดตข้อมูล 20 ก.พ. 2567
ศาลยกคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองรวม 15 คน ได้แก่ อุดม, “กัลยา” (นามสมมติ), “บัสบาส” มงคล, วีรภาพ, “แม็กกี้” (นามสมมติ), จิรวัฒน์, ทีปกร, ถิรนัย, ชัยพร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, “บุ๊ค” ธนายุทธ, ไพฑูรย์, สุขสันต์ และประวิตร อ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม หลังจากเมื่อวันที่ 8-9 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ทนายความได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 15 คน ซึ่งเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 7 คน และคดีอื่นที่มีมูลเหตุสืบเนื่องจากการเมืองอีก 8 คน ที่ศาลอาญา, ศาลอาญากรุงเทพใต้, ศาลจังหวัดนราธิวาส และศาลจังหวัดเชียงราย
การยื่นประกันผู้ต้องขังทางการเมืองระลอกนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเปิดลงชื่อเสนอกฎหมาย “นิรโทษกรรมประชาชน” ซึ่งเป็นความพยายามให้ศาลทบทวนสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และได้รับการทบทวนคำพิพากษา-การกำหนดโทษต่าง ๆ จากศาลที่สูงขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ศาลก็ยังคงมีคำสั่งยกคำร้อง ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังทางการเมืองกลุ่มนี้ได้รับสิทธิในการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีเช่นเดิม
โดยคำร้องขอประกันผู้ต้องขังระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คน ได้แก่ อุดม, กัลยา และบัสบาส ถูกส่งไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลฎีกาก็มีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมด
ส่วนคำร้องขอประกันผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ 11 คน ถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งทั้งหมด โดยตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์เริ่มทยอยมีคำสั่งออกมา ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องทั้งหมดเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีมาตรา 112 อีก 1 คน คือ แม็กกี้ ซึ่งหลังจากยื่นคำร้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งยกคำร้องเช่นกัน
7 ผู้ต้องขังคดี 112 ยังคงไม่ได้ประกันจากศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา เช่นเดิม
ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอประกันอุดมและกัลยา 2 ผู้ต้องขังระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส โดยภายหลังจากยื่นคำร้อง ศาลจังหวัดนราธิวาสก็ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่ง ต่อมาในวันที่ 11 ก.พ. 2567 ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องขอประกันของทั้งสองคน โดยอ้างเหตุว่า เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
ในกรณีของ อุดม พนักงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 36 ปี ถูกคุมขังในระหว่างชั้นฎีกา หลังจากวันที่ 30 ส.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 4 ปี เพราะให้การเป็นประโยชน์ ในกรณีโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวม 7 ข้อความ ทนายยื่นประกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ศาลฎีกาไม่ให้ประกันมาตลอด
ส่วน กัลยา พนักงานจากกรุงเทพฯ วัย 28 ปี ถูกคุมขังระหว่างฎีกาเช่นเดียวกันกับอุดม หลังจากวันที่ 20 ต.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 6 ปี จากการแชร์และโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ ทนายยื่นประกันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ศาลฎีกาไม่ให้ประกันมาตลอด
การที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคนในครั้งนี้ ทำให้ทั้งสองคนจะต้องถูกคุมขังในเรือนจำจังหวัดนราธิวาสต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 อุดมถูกขังมาแล้ว 175 วัน และกัลยาถูกขังมาแล้ว 124 วัน
.
และเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่ศาลอาญา, ศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลจังหวัดเชียงราย ทนายความพร้อมด้วยนายประกันได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังอีก 13 คน ได้แก่ บัสบาส, วีรภาพ, แม็กกี้, ถิรนัย, ชัยพร, คเชนทร์, ขจรศักดิ์, ธนายุทธ, ทีปกร, จิรวัฒน์, ประวิตร, ไพฑูรย์ และสุขสันต์ ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รวม 5 คน
หลังจากทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 วันต่อมา (10 ก.พ.) ศาลฎีกาก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า พิเคราะห์เหตุผลตามคำร้องแล้วไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม และเหตุผลตามคำร้องที่อ้างอาการเจ็บป่วย จำเลยมีสิทธิได้รับการรักษาตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาต
ทำให้บัสบาสถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 เขาถูกขังมาแล้ว 34 วัน
.
“อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน นักกิจกรรมวัย 20 ปี ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 ในคดีมาตรา 112 ที่เขาถูกกล่าวหาว่าเขียนข้อความเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ใต้ทางด่วนดินแดง หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
หลังจากที่ทนายความและนายประกันยื่นคำร้องขอประกันตัว ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 คำร้องดังกล่าวถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง และเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบพยานหลักฐานที่ศาลชั้นต้นพิจารณามาแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยกับพวกก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในบ้านเมือง ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง และตามคำร้องไม่มีเหตุใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”
ทำให้อารีฟยังคงถูกคุมขังในเรือนจำต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 อารีฟถูกขังมาแล้ว 146 วัน
.
“จิรวัฒน์” (สงวนนามสกุล) พ่อค้าออนไลน์วัย 32 ปี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566 หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 9 ปี ก่อนลดเหลือ 6 ปี จากการถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์เมื่อปี 2564
การยื่นขอประกันตัวในครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 คำร้องถูกส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และต่อมาในวันที่ 13 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยระบุว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
จิรวัฒน์ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 จิรวัฒน์ถูกขังมาแล้ว 77 วัน
.
“แม็กกี้” ประชาชนวัย 26 ปี ถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี ในคดีมาตรา 112 มาตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. 2566 หลังถูกตำรวจสันติบาลจับกุมและสอบสวนโดยไม่ได้รับการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย พร้อมทั้งโดนยึดโทรศัพท์ และไม่มีทนายความอยู่ร่วมระหว่างการสอบสวน โดยกรณีของ “แม็กกี้” ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งหลังจากที่เธอถูกคุมขังในเรือนจำมาระยะหนึ่งแล้ว
ทนายความยื่นขอประกันตัวเธอในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แต่ในวันเดียวกันศาลอาญากรุงเทพใต้ก็มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันแม็กกี้อีกครั้ง
ทำให้แม็กกี้ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 ถูกขังมาแล้ว 124 วัน
.
ส่วน “กิ๊ฟ” ทีปกร (สงวนนามสกุล) หมอนวดอิสระวัย 38 ปี ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 หลังจากที่ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี ซึ่งมีเหตุมาจากการการโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์
ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว “กิ๊ฟ” เป็นครั้งที่ 5 คำร้องดังกล่าวถูกส่งไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง และเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2567 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”
“กิ๊ฟ” ทีปกร ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 247 วัน
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง 8 ผู้ต้องขังระหว่างชั้นอุทธรณ์ในคดีอื่นที่สืบเนื่องจากการเมือง
“ถิรนัย” และ “ชัยพร” 2 นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระ วัย 22 และ 23 ปี พวกเขาถูกคุมขังมาตั้งแต่ 15 ก.พ. 2566 ซึ่งยาวนานที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ โดยเหตุในคดีนี้มาจากการครอบครองวัตถุระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64
หลังจากทนายความและนายประกันได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวทั้งสองคนเป็นครั้งที่ 7 คำร้องได้ถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาเช่นเดิม และเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โดยระบุเหตุผลว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลักษณะการกระทำของจำเลยทั้งสองอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสวัสดิภาพของประชาชนในสังคม ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”
ถิรนัยและชัยพรจึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งวันที่ 14 ก.พ. 2567 เป็นวันที่ทั้งสองถูกขังมาครบ 1 ปี
.
“คเชนทร์” (สงวนนามสกุล) และ “ขจรศักดิ์” (สงวนนามสกุล) วัย 21 และ 20 ปี 2 สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ซถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2566 หลังจากศาลอาญาพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน และ 11 ปี 6 เดือน ตามลำดับ กรณีถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 หลังจากทนายความยื่นขอประกันตัวต่อศาลอาญา คำร้องได้ถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้อง จนเมื่อ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่ง ยกคำร้อง โดยระบุว่า
พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่งมีกำหนด 10 ปี 6 เดือนและปรับ 1,000 บาท จำคุกจำเลยที่สองมีกำหนด 11 ปี 6 เดือนและปรับ 1,000 บาท หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยทั้งสองจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
คเชนทร์และขจรศักดิ์จึงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 ทั้งสองถูกขังมาแล้ว 190 วัน
.
“บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา แร็ปเปอร์คลองเตย วัย 22 ปี ถูกคุมขังหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 ให้จำคุก 2 ปี 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัด, ลูกบอล, ไข่ก๊อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพัก
ในกรณีของ “บุ๊ค” ได้มีการยื่นประกันตัวมาแล้ว 6 ครั้ง โดยการยื่นคำร้องครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ถูกส่งไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา ต่อมาวันที่ 13 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่ง “ยกคำร้อง” โดยระบุว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เช่นเดียวกับทุกคน
ทำให้บุ๊คต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อไป ซึ่งจนถึงวันที่ 20 ก.พ. 2567 บุ๊คถูกขังมาแล้ว 152 วัน
.
กรณีของ “ไพฑูรย์” วัย 24 ปี และ “สุขสันต์” วัย 23 ปี ผู้ต้องขังคดีระเบิดที่ต้องโทษจำคุกมากที่สุดในปี 2566 ทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่าร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก เมื่อปี 2564
เมื่อ 14 ก.ย. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าไพฑูรย์มีความผิดในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ไพฑูรย์ถูกตัดสินจำคุก 33 ปี 12 เดือน ส่วนสุขสันต์ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน โดยวันดังกล่าวพวกเขาไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์และถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางคลองเปรมทันที
หลังจากทนายความยื่นขอประกันตัวทั้งสองคนเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา คำร้องถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 12 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 22 ปี 2 เดือน 20 วัน หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง กรณีไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์”
ไพฑูรย์และสุขสันต์จะยังคงถูกคุมขังในเรือนจำคลองเปรมต่อไป จนถึง 20 ก.พ. 2567 ทั้งคู่ถูกคุมขังมาแล้ว 160 วัน
.
“บาส” ประวิตร (สงวนนามสกุล) ประชาชนวัย 21 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นหัวหน้าครอบครัวและมีลูกเล็กวัย 4 เดือน เขาถูกคุมขังหลังจากศาลอาญาพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน กรณีร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลังการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา64
หลังจากเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 4 คำร้องถูกส่งไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา พฤติการณ์แห่งคดีและดทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์อันเนื่องเกรงว่าจพเลยจะหลบหนีมาแล้วหลายครั้้ง และตามพฤติการณ์ยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง”
“บาส” ประวิตร จะยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำต่อไป จนถึง 20 ก.พ. 2567 เขาถูกคุมขังมาแล้ว 225 วัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง