‘คืนสิทธิประกันตัว’ คือ ของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุด ย้อนดูชีวิต-ความฝัน หลังกรงขัง ของ 20 ผู้ถูกคุมขังคดีการเมือง 

ในคืนข้ามปี ขณะที่หลายคนอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวหรือคนรัก เตรียมนับถอยหลังฉลองรับปีใหม่ แต่พวกเขาทั้ง 20 คนข้างหลังกรงขังนี้ ไม่อาจได้ดื่มด่ำกับเทศกาลแห่งความสุขเฉกเช่นคนอื่นๆ และขณะที่พลุระเบิดแสงสวยอยู่เหนือฟ้าในเวลาเที่ยงคืนตรง ผู้คนโอบกอดและกล่าวประโยค “สวัสดีปีใหม่” ซึ่งกันและกัน มันก็คงเป็นอีกคืนที่เงียบเหงาและแสนธรรมดาไม่ต่างจากทุกคืนในห้องขังของพวกเขา

ขณะกำลังจะก้าวย่างเข้าสู่ ปี 2565 เราชวนย้อนมองกลับไปสักหน่อยว่าตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้ที่ยังคงถูกคุมขังในคดีทางการเมือง ซึ่งขณะนี้มีอยู่อย่างน้อย 20 คน พวกเขาจำใจต้องสลัดทิ้งความฝัน ชีวิต และอิสรภาพในเรื่องใด ไปมากน้อยเพียงใดบ้าง ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในห้องกรงสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “คุก” แม้ว่าจะยังไม่เคยมีศาลใดตัดสินว่าพวกเขากระทำผิดและกำหนดโทษแล้วก็ตามแต่

อานนท์ นำภา 

อานนท์ นำภา อายุ 37 ปี นักกิจกรรมและทนายความ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับเนติบัณฑิตรุ่นที่ 62 และประกอบอาชีพทนายความสายสิทธิมนุษยชนมานานกว่า 13 ปี 

ปี 64 ชีวิตกว่า 70% ถูกขังอยู่ในเรือนจำ

ในปี 2654 นี้ อานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 หลังถูกขังนาน 113 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 เขาต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งเป็นหนที่ 2 ของปี จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 143 วันแล้ว ทำให้ตลอดปี 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 365 วัน เท่ากับอานนท์ถูกพรากอิสรภาพไปรวมกัน 256 วัน หรือคิดเป็นกว่า 70% ของเวลาตลอดทั้งปี 

ติดโควิดในคุก พ่วงลองโควิด ทำหอบ-เหนื่อยง่ายตลอดชีวิต

ในการถูกคุมขังครั้งแรกของปี ยังทำให้อานนท์ติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังจากหายเป็นปกติอานนท์ยังคงมีอาการ Long COVID (อาการที่หลงเหลือหลังติดเชื้อโควิด-19) ทำให้เหนื่อยและหอบง่ายกว่าปกติ เนื่องจากเนื้อเยื่อปอดบางส่วนถูกทำลายจากเชื้อไวรัส  ทว่าจนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดเลยแม้แต่เข็มเดียว และนั่นทำให้เขามีความเสี่ยงต่อการกลับมาติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำได้ทุกเมื่อ

ว่าความไม่ได้ ต้องเลื่อน-ถอนตัวอย่างน้อย 10 คดี สูญเสียรายได้ 

อานนท์ประกอบอาชีพทนายความมานานกว่า 13 ปี เป็นทนายความให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองนับไม่ถ้วน คดีที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาได้กลายเป็นที่รู้จักนั่นก็คือ การว่าความให้กับ อำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง’ ในคดี ม.112 

ภายหลังที่อานนท์ต้องถูกคุมขัง ทำให้คดีที่เขาว่าความให้ต้องเลื่อนออกไปก่อน รวมถึงส่วนใหญ่ต้องถอนตัวจากการเป็นทนายในคดีนั้นๆ เนื่องจากไม่สามารถออกมาว่าความได้ อย่างน้อย 10 คดี แต่ในปีนี้ เขายังมีโอกาสได้ว่าความในคดีคนอยากเลือกตั้ง คือการสืบพยานในคดีแกนนำ UN62 ซึ่งอานนท์เป็นจำเลยอยู่ด้วย และเขาใส่ครุยทนายความทับชุดผู้ต้องขัง ขึ้นร่วมถามความในห้องพิจารณาด้วย

อานนท์ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าเขาสนุกกับการว่าความ และรักอาชีพทนายความ ทำให้การถูกคุมขังเป็นเวลาเกือบ 3 ใน 4 ของปีนี้ นับได้ว่าเขาถูกพรากจากการได้กระทำสิ่งที่รักไป

.

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ 

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ อายุ 23 ปี นักกิจกรรมและนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปี 64 ชีวิตกว่า 64% ถูกขังในเรือนจำ-อดอาหารประท้วง 57 วัน 171 มื้อจนถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ

ปี 2564 นี้ พริษฐ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2 ครั้งแล้ว โดยครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 64 หลังถูกขังนาน 92 วัน พริษฐ์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 64

การถูกคุมขังครั้งแรกในรอบปีนี้เองที่พริษฐ์ได้ประกาศก้องว่าจะประท้วงด้วยการ “อดอาหาร” เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว รวมระยะเวลา 57 วัน หรือคิดเป็น 171 มื้อ ตลอดช่วงเวลานานเกือบ 2 เดือนนั้นเขาประทังชีวิตให้รอดไปได้ในแต่ละวันด้วยน้ำเปล่าและเครื่องดื่มเท่านั้น จนท้ายที่สุดพริษฐ์มีอาการอ่อนเพลียมาก รวมทั้งถ่ายมีเลือดและชิ้นเนื้อปนอยู่ด้วย กรมราชทัณฑ์จึงส่งตัวไปรักษาที่ รพ.รามาธิบดี  

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 พริษฐ์ถูกศาลอาญาเพิกถอนประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกครั้ง ทำให้เขาต้องหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นหนที่ 2 ของปี จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 145 วันแล้ว

ในปี 2564 ซึ่งมีทั้งหมด 365 วัน พริษฐ์ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 237 วัน หรือคิดเป็น ราว 65% ของเวลาตลอดทั้งปี

ถูกขังอุปสรรคทำเรียนล่าช้า-เรือนจำไม่เอื้อให้เรียนรู้ 

พริษฐ์เคยเล่าให้ทนายความฟังเมื่อครั้งเข้าเยี่ยมในเรือนจำ ว่าการถูกคุมขังนั้นเป็นอุปสรรคต่อการเรียนอย่างมาก เพราะไม่สามารถเข้าฟังคำบรรยายวิชาใดๆ ได้ การส่งหนังสือหรือเอกสารการเรียนเข้ามาในเรือนจำ ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ล่าช้า และมักมีอุปสรรคแปลกๆ มาขัดขวางไว้อยู่เสมอ บางครั้งเจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบหนังสือเหล่านั้นนานหลายสัปดาห์หรือนานเป็นเดือน 

การขอสอบจากในคุกก็เป็นเรื่องยากมาก รายวิชาไหนที่อาจารย์ไม่เข้าใจหรือไม่สะดวก ก็ต้องจำใจถอนวิชานั้นไป ต่อให้อาจารย์อนุญาตให้สอบจากในเรือนจำได้แล้วก็ยังต้องลุ้นว่าทางเรือนจำจะให้ส่งข้อสอบเข้ามาหรือไม่ หรือเมื่อสอบเสร็จแล้ว เรือนจำจะยอมให้ส่งกระดาษคำตอบนั้นกลับไปหรือไม่

หอบหืดกำเริบ-ป่วยบ่อยครั้ง เหตุห้องขังชื้น-ฝุ่นตลบ ชี้โควิดในคุกหนักกว่าอดอาหารประท้วง

ด้านสุขภาพ พริษฐ์เล่าว่า เรือนจำมีสภาพแออัด อบอ้าว ชื้น และสกปรก ไม่ถูกสุขลักษณะอนามัยเท่าที่ควร ทำให้พริษฐ์และเพื่อนผู้ถูกคุมขังหลายคนเจ็บป่วยอยู่เป็นระยะ เช่น อาการผื่นคัน จากสภาพอากาศร้อนและน้ำที่อาจสกปรก อาการไอจากฝุ่นละอองที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ ไปจนถึง “หอบหืด” ซึ่งพริษฐ์เล่าว่าช่วงหลังนั้นอาการได้กำเริบขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่เขาติดโควิดในคุกด้วย ทำให้สุขภาพปอดที่ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้วอ่อนแอลงไปอีก 

“โควิดที่ติดในคุกนี้น่าจะทำลายสุขภาพยิ่งกว่าการอดอาหารเสียอีก แม้เป็นโควิดแล้วแต่บางครั้งก็ไม่มีแรง เวียนหัว กินข้าวไม่ลง เดินนิดๆ หน่อยๆ ก็เหนื่อยหอบ พูดยาวสักนิดยังต้องหยุดหายใจ บางครั้งก็ไอเหมือนลูกกระเดือกจะหลุดออกมา” 

.

“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก 

ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก อายุ 25 ปี นักกิจกรรมจากจังหวัดระยองและนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

ปี 64 กลับเข้าเรือนจำ 3 ครั้ง ใช้ชีวิตกว่าครึ่งปีในเรือนจำ  

ภาณุพงศ์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ โดยครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และศาลไม่ให้ประกันมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 หลังถูกขังนาน 86 วัน ภาณุพงศ์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64 

ต่อมา เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 ศาลจังหวัดธัญบุรีไม่ให้ภาณุพงศ์กับนักกิจกรรมคนอื่นๆ ประกันตัวในคดีชุมนุม #ม็อบ2สิงหา64 หลังถูกคุมขัง 38 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้อนุญาตให้ประกันตัวเขาอีกครั้ง

แต่หลังมีอิสรภาพอยู่ได้เพียง 8 วัน เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 64 เขาต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งเป็นหนที่ 3  หลังอัยการยื่นฟ้องคดี ม.112 ต่อศาลอาญา จากกรณีการโพสต์ “ราษฎรสาส์น” ถึงกษัตริย์ และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีก

จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับเป็นเวลา 100 วันแล้ว ทำให้ในช่วงปี 2564 ภาณุพงศ์ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว 3 ครั้ง รวมกัน 224 วัน หรือคิดเป็น 61% ของเวลาตลอดทั้งปี

ติดโควิดในเรือนจำถึง 2 ครั้ง เสี่ยงครั้งที่ 3 อีก เหตุยังไม่เคยได้รับวัคซีนสักเข็ม 

จากการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีทั้ง 3 ครั้งนี้ ทำให้ไมค์ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำมาแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64 กรมราชทัณฑ์ตรวจพบว่าเขาติดเชื้อโควิด-19 จึงส่งตัวไปรักษาที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 64 เรือนจำอำเภอธัญบุรีออกมายืนยันว่า ภาณุพงศ์ซึ่งถูกคุมตัวอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับชาติชาย แกดำ และณัฐชนน ไพโรจน์ ก่อนถูกตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

น้ำตาแรกให้กับความสิ้นหวังในตุลาการ

ในการถูกคุมขังครั้งแรกในรอบปี ครั้งหนึ่งทนายความได้เดินทางไปเยี่ยมภาณุพงศ์ และถามเขาถึงการร้องไห้ในระหว่างพิจารณาคดีนัดหนึ่ง ไมค์เล่าว่า

“วันนั้นที่ศาล (29 มีนาคม 2564) ร้องไห้เพราะรู้สึกว่าทำไมเราต้องเป็นเหมือนขอทาน อ้อนวอนกับสิ่งที่ควรจะได้ เรารู้สึกว่าทุกคนต้องนั่งอ้อนวอนเพื่อขออิสรภาพกับผู้ที่เรียกตัวเองว่าผู้ผดุงความยุติธรรม

“ผมไม่เคยร้องไห้เลย ทุกครั้งที่ผมเห็นเพื่อนร้องไห้ ผมจะให้กำลังใจเขาเสมอ แล้วจะบอกว่า ความยุติธรรมที่เราตะโกนเรียกร้อง เป็นเพราะว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมที่แท้จริง ทุกคนที่สู้อยู่ขณะนี้พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจในการต่อสู้คดี ไม่มีความจำเป็นที่ต้องกักขังเราในเรือนจำ

“ผมขอให้กระบวนการยุติธรรมจงรักษาไว้ซึ่งหลักการมากกว่าคำสั่งของบุคคลใด เมื่อไรก็ตามที่ตุลาการทำหลักการหล่นหาย ก็เท่ากับว่ากฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์แล้ว แบบนี้สังคมไทยจะอยู่ได้อย่างไร …”

“จะมีอีก 100 คน 1000 คน 10,000 คน 100,000 คน ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่ใช่เพราะเขาทำผิดกฏหมาย แต่เพราะเป็นความเสื่อมของกฎหมาย” 

.

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อายุ 30 ปี บัณฑิตนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตนักกิจกรรมจากกลุ่ม ‘ดาวดิน’ สู่แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า ที่ถูกคุมขังมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ปี 64 ชีวิตกว่าครึ่งปีถูกขังอยู่ในเรือนจำ 

ปีนี้ จตุภัทร์ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 2 ครั้ง ครั้งแรกเขาถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และศาลไม่ให้ประกันมาตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 64 หลังถูกขังนาน 47 วัน ไผ่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 64

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 64 เขาต้องกลับเข้าเรือนจำเป็นหนที่ 2 ของปี หลังเข้ามอบตัวตามหมายจับในคดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง และคดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย และศาลไม่ให้ประกันตัว จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. 64 เขายังคงถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 145 วันแล้ว 

นั่นทำให้ตลอดปี 2564 จตุภัทร์ถูกพรากอิสรภาพไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 192 วัน หรือคิดเป็น 52% ของเวลาตลอดทั้งปี

ติดโควิดในเรือนจำ ถึงตอนนี้ยังไร้วี่แวววัคซีน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 64 ระหว่างที่จตุภัทร์ถูกคุมขังเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจพบว่าเขาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์จนหายเป็นปกติในเวลาต่อมา และจนถึงตอนนี้เขายังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้แต่เข็มเดียว 

ชวดสอบตั๋วทนาย หลังไม่ได้ประกันครั้งล่าสุด

หลังจตุภัทร์เรียนจบนิติศาสตร์มาไม่กี่ปี เขายังไม่มีโอกาสเข้าสอบตั๋วทนายเพื่อเลื่อนขั้นเป็นทนายความเต็มตัวสักที เนื่องจากมีสารพัดสิ่งให้คิดและทำในทุกวัน ไม่ว่าจะขบวนการเคลื่อนไหว การต่อสู้คดี หรือกระทั่งการถูกคุมขังในเรือนจำนี้เองก็ตาม 

ในบันทึกเยี่ยมครั้งหนึ่ง ไผ่บอกเล่ากับทนายความว่าอยากให้ส่งหนังสือเข้ามาให้อ่าน โดยเฉพาะหนังสือสอบใบอนุญาตว่าความ แม้จะยังไม่รู้วันสอบแต่คิดว่าควรเตรียมตัวไว้ หลังเขาเตรียมตัวสอบครั้งล่าสุดมาหลายเดือน จนแล้วจนรอดเมื่อถึงกำหนดวันสอบจริงๆ ในวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา เขาก็ไม่ได้มีโอกาสออกมาสอบตั๋วทนายรุ่น 57 แต่อย่างใด เพราะศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเช่นเดิม

.

เบนจา อะปัญ 

เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี นักกิจกรรมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (นานาชาติ) ที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) 

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 64 เบนจาถูกคุมขังเป็นครั้งแรกในชีวิต จากการถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 กรณีการอ่านแถลงการณ์หน้าซิโน-ไทย ใน #คาร์ม็อบ10สิงหา64 จนถึงวันนี้ 31 ธ.ค. เธอถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเป็นเวลานานกว่า 85 วันแล้ว หรือคิดเป็น 23% ของเวลาตลอดทั้งปี

กรงขังทำให้ไกลห่างความฝันมากยิ่งขึ้น 

เบนจา จบมัธยมศึกษาตอนปลายมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เธอฝันอยากจะเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่ยังเด็ก จนตอนนี้เธอยังสนใจการศึกษาอวกาศและอุตสาหกรรมอวกาศ ถึงกับได้เปลี่ยนชื่อจาก ‘เบญจมาพร’ เป็น ‘เบนจา’ เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกชื่อเวลาได้ไปทำงานในระดับนานาชาติ

ดีกรีการศึกษาที่โดดเด่นและเส้นทางชีวิตต้องสะดุดลง เมื่อเธอยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเล่าเรียนของเธออย่างมาก จนต้องจำใจพักการศึกษาไปก่อนในภาคการศึกษาที่กำลังจะผ่านไป และหากการลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษาต่อไป ศาลยังคงไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เบนจาก็อาจจะต้องพักการศึกษาเพิ่มอีก 1 ภาคการศึกษา 

เบนจาได้ฝากคำบอกเล่าเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเรียน ผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเธอว่า “การต้องอยู่ในเรือนจำกับการเรียนสายวิศวกรรมที่ต้องมีการคำนวณนั้นยากลำบาก แค่ผลกระทบจากการต้องเรียน online ก็ไม่สะดวกมากอยู่แล้ว ถ้าต้องเรียนในเรือนจำ ถ้าเราคำนวณไม่ได้จะถามใคร จะค้นหาคำตอบอย่างไร 

“เราจึงตัดสินใจดรอปการเรียนในเทอมนี้เนื่องจากติดอยู่ในเรือนจำ เพราะเราคาดหวังผลการเรียนที่ดี เพื่อใช้ในการเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก

“ถึง ณ ตอนนี้ เราไม่มีเหตุจำเป็นแบบเพื่อนที่ต้องออกไปสอบปลายภาค แต่เราก็ยังเป็นนักศึกษา และต้องการออกไปเรียน เราเรียนวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อเป็น foundation เพื่อไปต่อปริญญาโท Aerospace Engineering เราอยากทำงานด้านอวกาศ 

“แต่เราวางแผนว่าจะเรียนให้จบปริญญาเอก เพราะไม่ได้หวังว่าจะเป็นวิศวกรไปตลอด บั้นปลายชีวิตอยากเป็นอาจารย์ เลยอยากเรียนเฉพาะทางเพื่อเอามาพัฒนาประเทศในสาขาที่ประเทศไทยก็ยังขาดความรู้ด้านนี้ เพราะการเป็นอาจารย์และนักวิจัยก็สามารถทำคู่กันไปได้

“ตอนนี้เราเกรดเฉลี่ยประมาณ 3.3 เราอยากเรียนเมื่อเราพร้อม เราจึงดรอปไว้ก่อนเพราะไม่อยากให้การติดคุกมีผลต่อเกรดและอนาคต ถึงเราดรอปและไม่มีกำหนดสอบในเทอมนี้ แต่ปล่อยเราเถอะ เรายังต้องเรียน เรามีประโยชน์มากกว่าที่จะกักขังเราไว้ในเรือนจำเฉยๆ แค่นี้ยังทำลายอนาคตเราไม่พออีกหรือ …”

“ในขณะที่หนูกำลังเขียนอยู่ขณะนี้หนูอยู่ในกรงขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางแห่งประเทศไทย กรงขังทำให้หนูไกลห่างความฝันออกไปมากยิ่งขึ้น 

.

แซม ซาแมท 

“อาร์ท” แซม ซาแมท อายุ 20 ปี ผู้ไร้สัญชาติ สายเลือดไทย-กัมพูชา 

ปี 64 ถูกขัง 4 ครั้ง ติดโควิดในเรือนจำถึง 2 ครั้ง

แซมถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 แล้วในรอบปีนี้ โดยครั้งแรกแซมถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 64 ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำท่ายืนปัสสาวะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ28กุมภา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 64 หลังถูกคุมอยู่นาน 102 วัน เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 64 ในการคุมขังครั้งนี้ แซมยังติดเชื้อโควิดในเรือนจำเป็นครั้งแรกด้วย

ครั้งที่ 2 แซมถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา ที่สามเหลี่ยมดินแดง ในคดีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 หลังถูกคุมขังอยู่นาน 20 วัน วันที่ 27 ส.ค. 64 เขาได้รับการประกันตัว โดยขณะนั้นเขาติดโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 จึงถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลภายนอกจนหายเป็นปกติ

ครั้งที่ 3 แซมถูกจับกุมหลังถูกกล่าวหาว่าราดน้ำมันศาลพระภูมิใน #ม็อบ29ตุลา เพื่อไว้อาลัย “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต  หลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนครบระยะเวลาฝากขัง 48 วัน และอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องในคดีดังกล่าว ทำให้ในวันที่ 16 ธ.ค. 64 แซมได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำไป

ทว่า ในวันที่เขาถูกปล่อยตัว แซมกลับถูกตำรวจควบคุมตัวต่อตามหมายจับ ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าใช้เท้าถีบรถคุมขังนักโทษจนเสียหายและเข้าเมืองผิดกฏหมาย ทำให้แซมต้องกลับเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลากว่า 63 วันแล้ว

ทำให้ในปี 2564 นี้ แซมถูกคุมขังไปรวมกัน 185 วัน หรือคิดเป็น 50% ของเวลาตลอดทั้งปี แม้ว่าแซมจะติดโควิดในเรือนจำมาถึง 2 ครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันเขายังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิดเลยแม้แต่เข็มเดียว เนื่องจากแซมเป็นผู้มีไม่มีสัญชาติ นั่นทำให้เขาเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในเรือนจำเป็นครั้งที่ 3 ได้ทุกเมื่อ

สภาพจิตใจ-ร่างกายบอบช้ำ จนเคยคิดฆ่าตัวตายในห้องขัง

การที่แซมถูกจับกุมและถูกคุมขังกว่า 4 ครั้งนี้ สร้างบาดแผลให้กับสภาพจิตใจและร่างกายของเขาจนเคยกินยาเกินขนาดในเรือนจำมาแล้ว ทั้งในการถูกจับกุมครั้งที่ 3 ในรอบปี แซมได้ถูกตำรวจใช้กำลังประทุษร้ายและกระทืบหน้าอกจนได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้เกิดอาการผวาและเครียด มีอาการผมร่วงผิดปกติ นอกจากนี้แซมยังเล่าว่าเขาถูกผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ รวมถึงเจ้าหน้าทั้ตำรวจและราชทัณฑ์พูดจาเหยาะเย้ย ดูถูกเกี่ยวกับเพศสภาพของตนเองอีกด้วย  

.

“อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ

“อาทิตย์” ทวี เที่ยงวิเศษ อายุ 35 ปี อดีตช่างเชื่อมจากอุบลราชธานีผู้ตบเท้าเข้ามาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรม ‘ทะลุฟ้า’ เพราะพิษเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

ทวีถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ 15 ก.ย. 64 ซึ่งเป็นเวลา 108 วันแล้ว หรือคิดเป็น 30% ของเวลาตลอดทั้งปี การถูกคุมขังครั้งแรกในชีวิตของทวีนี้ สืบเนื่องถูกจับกุมตามหมายจับในคดี #ม็อบ3กันยา #ราษฎรไม่ไว้วางใจมึง ที่แยกราชประสงค์

จากการถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นี้ ทำให้ทวีติดโควิดในเรือนจำ ก่อนจะถูกส่งตัวไปรักษาจนหายปกติในเวลาต่อมา และจนถึงตอนนี้เขาก็ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว

‘อ้ายอาทิตย์อยู่ไส..’ ประโยคติดปากทะลุฟ้า ชายผู้เป็นพี่พึ่งและพี่ชายของทุกคน

จากคำบอกเล่าของสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ทวีเป็นเหมือน ‘พี่ชาย’ ผู้เป็นแรงสนับสนุนน้องๆ ได้ในทุก เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น งานเชื่อมเหล็ก ทำเวทีปราศรัย งานปีนที่สูง จนทำให้เกิดประโยคติดปากทุกคนว่า ‘อ้ายอาทิตย์อยู่ไส’ เพราะเขาเป็นคนที่สามารถทำได้แทบจะทุกอย่างด้วยความเต็มใจและมีรอยยิ้มให้ทุกคนเสมอ

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาทิตย์ทำงานหนักมาก แต่ก็ไม่เคยปริปากบ่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว เป็น ‘นักลงมือทำ’ ไม่มีเคยมีคำว่าไม่ได้ มีแต่คำว่า ‘ได้เสมอ’ จึงไม่แปลกที่แวดวงนักกิจกรรม โดยเฉพาะกลุ่มทะลุฟ้าจะรักและนับถืออาทิตย์

แม้กระทั่งตอนที่เขาถูกคุมขังอยู่นี้ เขามักรับฝากจดหมายจากเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ เพื่อส่งผ่านทนายความไปยังญาติและคนใกล้ชิดทุกครั้งที่ทนายเข้าเยี่ยม แต่กลับกันตัวเขาเองกลับไม่เคยอยากส่งข้อความหาครอบครัวตัวเองเลย โดยให้เหตุผลว่า ‘เกรงใจและไม่อยากรบกวน’ เพราะพ่อแม่ของเขาเสียไปหลายปีแล้ว ญาติพี่น้องที่มีก็ต่างมีภาระและครอบครัวที่ต้องดูแลกันทั้งหมด 

เหมือนกับคำว่า ไผ่ จตุภัทร์บอกกับทนายว่า ‘เป็นห่วงอาทิตย์ เพราะเขาเป็นคนชอบเกรงใจคนอื่น เป็นห่วงคนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอ’
.

พรพจน์ แจ้งกระจ่าง

พรพจน์ แจ้งกระจ่าง อายุ 49 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมยิงพลุและปาประทัด ใน #ม็อบ18ตุลา64 บริเวณดินแดง และถูกขังระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 64 ซึ่งเป็นเวลานานถึง 74 วัน หรือคิดเป็น 20% ของเวลาทั้งปี

พรพจน์นั้นถือได้ว่าเป็นเสาหลักของครอบครัว มีภาระหน้าที่ในการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย  

.

นัท (นามสมมติ)

นัท (นามสมมติ) เด็กหนุ่มวัย 16 ปี เขาถูกจับกุมในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ‘เผาตู้สัญญาณไฟจราจร-ป้อมตำรวจ’ จำนวน 8 จุดในกรุงเทพฯ และถูกกล่าวหาแยกเป็น 8 คดีด้วยกัน ต่อมาศาลเยาวชนฯ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองเดินทางมารับรอง เขาจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านเมตตา ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 64 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 99 วันแล้ว คิดเป็น 27% ของเวลาทั้งปี

นัท เติบโตภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ปกครองซึ่งเป็นครอบครัวบุญธรรม เขาต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคันตอนเรียนอยู่เพียงชั้น ม.2 และเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองด้วยวัยเพียง 14 ปีเท่านั้น

แม้ทนายความจะเดินทางตามหาผู้ให้กำเนิดนัทจนพบ แต่พวกเขาก็มีเหตุผลส่วนตัวที่ยังไม่อาจมาประกันตัวและรับนัทไปดูแลระหว่างการดำเนินคดีได้ในตอนนี้ เมื่อไม่มีใครอ้างตัวเป็นผู้ปกครองเพื่อรับผิดชอบและรับรองการให้ประกันตัวนัท เขาจึงต้องถูกคุมขังที่บ้านเมตตาต่อไป

เมื่อนัทรู้ว่าในตอนนี้ยังไม่มีสามารถมาประกันตัวเขาได้ ทนายความได้เอ่ยถามว่า “ถึงตรงนี้รู้สึกยังไง บอกพี่ได้นะ” นัทนิ่งเงียบไปและบอกว่า “ไม่เป็นไร แต่อยากให้อาม่ามาเยี่ยม” และฝากให้ตามหาคนอีกคนที่นัทรักและเรียกว่า “แม่” ที่อยู่พระประแดง นัทว่า “หาให้หน่อย” ทนายรับว่าจะตามหาให้ แต่ก็จำเป็นต้องพูดกับนัทไปตรงๆ ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา

ครั้งล่าสุดที่ทนายได้ไปเยี่ยมนัท ทนายยังได้แจ้งข่าวดีกับนัทว่า มีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเด็กรู้ว่านัทไม่ได้ประกันตัว เพราะไม่มีผู้ปกครองรับไปดูแล พวกเขาจึงอยากเจอเพื่อพูดคุยทำความรู้จักกันก่อนที่จะมาแถลงเป็นผู้ดูแลในคดี 

ทนายได้ยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ขอให้องค์กรด้านสิทธิเด็กได้เข้าเยี่ยมพร้อมกับทนายเพื่อเตรียมตัวก่อนไปแถลงต่อศาล ส่วนผลจะเป็นยังไงจะมาบอกให้นัทรู้ในครั้งต่อไปในเร็วๆ นี้ 

.

ด.ญ.ฐา (นามสมมติ)

ด.ญ. ฐา (นามสมมติ) อายุ 13 ปี เธอถูกจับกุมในคดี #ม็อบ6ตุลา เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 จากการถูกปิดล้อมจับกุมบริเวณใต้แฟลตดินแดง หลังเธอถูกคุมขังอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานีนาน 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 64 

ต่อมาญาติของเธอได้ไปขอถอนประกันต่อศาลเยาวชนฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 64 เธอจึงต้องคุมขังเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 42 วันแล้ว ทำให้ในปี 2564 เธอถูกคุมขังรวม 48 วัน

.

นฤเบศร์ พิชัย และจิตรกร

นฤเบศร์ หนุ่มวัย 26 ปี และพิชัย หนุ่มวัย 30 ปี ทั้งสองถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถยนต์สายตรวจ สน.ลุมพินี เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค. 64 จนถึงเป็นปัจจุบันเป็นเวลา 88 วันแล้ว หรือคิดเป็น 24% ของเวลาทั้งปี

ด้านจิตรกร หนุ่มวัย 22 ปี ถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุคล้ายระเบิด เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 64 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 64 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 86 วันแล้ว หรือคิดเป็น 23% ของเวลาทั้งปี ทั้งนี้ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จิตรกรได้ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดและต้องเข้ารักการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว

นฤเบศร์ คือ เด็กช่างกลจากบุรีรัมย์ ผู้ขับมอเตอร์ไซต์มาร่วมทะลุแก๊ซ เมื่อครัั้งที่ทนายเข้าเยี่ยม เขาเล่าให้ฟังว่า “ผมมีความฝันว่าอยากเรียนหนังสือต่อครับ ให้มีวุฒิการศึกษามากกว่านี้ ผมอยากเป็นช่างกลครับ”

ด้านพิชัยจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ในกรุงเทพฯ  ในวันที่เขาถูกจับ พิชัยเล่าว่า หลังจากรถมอเตอร์ไซด์ของเขากับเพื่อนอีกสองคนล้มลง ตำรวจสายตรวจจำนวน 7-8 นาย ก็เข้าถึงตัวเขา จับคอและกระชากคอเสื้อเขาให้นั่งลง จนใบหน้าของพิชัยกระแทกกับพื้น มีรอยถลอก เลือดออก จนมีชายที่เป็นวินมอเตอร์ไซด์ เข้ามาช่วยห้ามเลือดให้เขา ทั้งที่ใบหน้าและขา เขายังพบต่อมาอีกว่าตัวเองโดนยิงด้วยกระสุนยางตรงด้านหลังอีกด้วย 

ขณะที่จิตรกรเล่าว่าตัวเองเป็นเหมือน ‘คนไร้บ้าน’ ที่ทำมาแล้วหลากหลายอาชีพ ทั้งตกปลาเพื่อยังชีพ ทำงานรับจ้างเป็นช่างทาสีบ้าง ทำความสะอาดบ้าง แม้กระทั่งงานอาสากู้ภัยก็เคยทำ “รายได้ที่ผมได้ ต่ำสุดสองพันบาท มากสุดที่เคยได้ก็เป็นหมื่นนะ แต่บางเดือนไม่ได้เลยก็มี” 

และเขายังเล่าอีกว่า “ผมมีความฝันอยู่นะ ผมอยากเปิดร้านอาหาร ทำแบบแฮมเบอร์เกอร์ แบบ food street และอยากลองทำช่อง YouTube แบบเดินทางไปเรื่อยด้วย ผมทำอาหารเป็น แฮมเบอร์เกอร์เนี่ย พ่อบุญธรรมทำให้กินตั้งแต่ตอนเด็ก อาหารอิตาเลี่ยนกินมาเยอะ และผมก็ชอบทำแกงกะหรี่ ขนมจีนน้ำยาด้วย”

.

ขจรศักดิ์ และ คเชนทร์ 

“มาร์ค” ขจรศักดิ์ อายุ 18 ปี และ คเชนทร์ อายุ 19 ปี ทั้งสองถูกจับกุมตามหมายจับเมื่อวันที่ 8 ต.ค. 64 ในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปาระเบิดเพลิงใส่ป้อมจราจรพญาไท #ม็อบ30กันยา64 และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 85 วันแล้ว หรือคิดเป็น 23% ของเวลาทั้งปี

ระหว่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ คเชนทร์ได้ติดเชื้อโควิด 1 ครั้ง และได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว โดยทั้งขจรศักดิ์และคเชนทร์ต่างก็ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดเลยแม้แต่เข็มเดียว

เรียนไม่จบ ม.2 แต่ฝันอยากเรียน กศน. ต่อให้จบ

ด้านขจรศักดิ์ เล่าว่าต้องลาออกกลางคันขณะเรียนอยู่ชั้น ม.2 และต้องเข้ากรุงเทพฯ เริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองเป็นเด็กเสิร์ฟตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนได้เป็น ‘รปภ.’ และหันหน้าสู่การรับจ้างขังรถส่งของ นอกจากตัวเองแล้วเขายังต้องดูแลแฟนสาวและลูกน้อยวัย 8 เดือนอีกด้วย 

“อยากเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) พร้อมทำงานไปด้วย และเมื่ออายุครบ 20 ปี จะต้องเกณฑ์ทหาร เมื่อเกณฑ์ทหารแล้วอยากกลับไปอยู่ชัยภูมิกับยาย น่าจะทำงานขนส่งไปรษณีย์” 

ครอบครัวถูกตำรวจกว่า 8 คันรถคุกคามหน้าบ้านกลางดึก รวม 4 ครั้ง

หลังขจรศักดิ์ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ในเรือนจำ ครอบครัวของเขาได้เผชิญการคุกคามจากตำรวจมาแล้วถึง 4 ครั้ง ด้วยการขับรถกระบะประมาณ 5-8 คันมาจอดบริเวณถนนหน้าบ้านและประกาศประจานเสียงดังกลางดึกในทำนองสร้างความเกลียดชังว่า “บ้านหลังนี้มีผู้ต้องหาทำระเบิด ชื่อ ขจรศักดิ์ ตำรวจจะจับตาเป็นพิเศษ” ซึ่งสร้างความหวาดกลัวและรู้สึกเป็นทุกข์กับสมาชิกในครอบครัวขจรศักดิ์เป็นอย่างมาก 

แม่ขจรศักดิ์ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่ถูกตำรวจคุกคามส่วนหนึ่งไว้ว่า “ตำรวจเขาต้องช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่ทำแบบนี้ แล้วอย่างนี้เราจะไปพึ่งใครได้ เราเจอเหตุการณ์คุกคามแบบนี้ สิ่งแรกที่เรานึกถึงคือ เราต้องไปแจ้งความกับตำรวจ ให้เขามาช่วยดูแลเรา แต่ปรากฏว่าตำรวจทำเองอย่างนี้ แล้วเราจะไปแจ้งใครล่ะ”

ถูกขัง 24 ชม. เพราะเสี่ยงโควิดต้องกักตัวซ้ำๆ

นอกจากนี้ ขณะที่เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นั้น เขาไม่เคยออกไปทำกิจกรรมนอกห้องขังเลยแม้แต่วันเดียว เช่น ออกกำลังกาย ขจรศักดิ์ต้องถูกขังอยู่ในห้องขังตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากสัมผัสกับผู้มีความเสี่ยงในเรือนจำอยู่เสมอๆ จึงต้องกักตัวตามมาตรการนาน 28 วันเรื่อยมา โดยขจรศักดิ์เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดในเรือนจำและต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อมาแล้วด้วยกันถึง 7 ครั้ง 

.

ไพทูรย์ และ สุขสันต์ 

ไพทูรย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี และ สุขสันต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี สองสมาชิกจากกลุ่ม ‘ก็มาดิแก๊ซ’ ผู้ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน โดยการขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่ คฝ. ที่ดินแดง ใน #ม็อบ11กันยา64 และถูกขังระหว่างสอบสวน มาตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 64 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 91 วันแล้ว คิดเป็น 25% ของเวลาทั้งปี

ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งสองตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก่อนได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติแล้วในตอนนี้ ทั้งนี้ไม่มีข้อมูลว่าทั้งสองได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้วหรือไม่ 

.

ธีรภัทร ปฐวีกานต์ และสหรัฐ

ธีรภัทร อายุ 21 ปี และปฐวีกานต์ อายุ 25 ปี ทั้งสองถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นคนปาระเบิดใส่รถตำรวจ แยกโรงกรองน้ำดินแดง หลัง #ม็อบ31ตุลา และถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 64 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 38 วันแล้ว

สหรัฐ รถสพงษ์ อายุ 24 ปี ถูกจับกุมในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าไปปาพลุ-ประทัด-ระเบิดบริเวณถนนพระรามเก้า หลังชุมนุม #ม็อบสมรสเท่าเทียม และถูกขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 64 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 33 วันแล้ว

.

X