“แซม สาแมท” ถูกขังครั้งที่ 4 หลังถูกกล่าวหาใช้เท้าถีบรถคุมขังนักโทษจนเสียหาย-เข้าเมืองผิดกฎหมาย ตั้งแต่ถูกจับ #ม็อบ29ตุลา

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 เวลา 19.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม แซม สาแมท หรือ “อาร์ท” ผู้ไร้สัญชาติวัย 20 ปี จากหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ  ไปยังสน.ทุ่งสองห้อง ตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2095/2564 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ในฐานความผิด “ทำให้ทรัพย์สาธารณประโยชน์เสียหาย” และ “เป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยยังไม่ทราบเหตุแห่งคดีแน่ชัด 

ต่อมา เวลาประมาณ 20.22 น. หลังทนายความได้ติดตามไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง แล้ว จึงทราบว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 หรือ #ม็อบ29ตุลา แซมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม หลังเข้าร่วมกิจกรรมไว้อาลัย “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนอายุ 15 ปี ซึ่งเสียชีวิตหลังถูกยิงขณะร่วมการชุมนุมที่หน้า สน.ดินแดง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวแซมไปยังกองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส) แซมได้ใช้เท้าถีบรถควบคุมผู้ต้องหาจนกระจกแตกเสียหาย จึงเป็นเหตุให้มีการกล่าวหาดำเนินคดีนี้ ทั้งยังมีการไปขอศาลออกหมายจับ

สำหรับในวันที่ 16 ธันวาคม 64 นั้น แซมเพิ่งจะได้รับการปล่อยตัวจากการถูกฝากขังในคดี #ม็อบ29ตุลา เนื่องจากครบระยะเวลาฝากขัง 48 วัน และอัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องในคดีดังกล่าว ทำให้หมดอำนาจในการขอฝากขังต่อ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ทำการจับกุมแซมหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัวออกมา

>>>“แซม” ถูกขังครั้งที่ 3 หลังถูกกล่าวหาราดน้ำมันศาลพระภูมิ #ม็อบ29ตุลา ไว้อาลัย “วาฤทธิ์” – ศาลไม่ให้ประกัน ผู้ถูกจับอีก 7 ได้ประกัน – ปล่อยตัว 

ในบันทึกจับกุมบรรยายว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ร.ต.อ.ชวลิต ทองชาติ, ร.ต.อ.พิชัย มูลนิกร, ส.ต.อ.อนิรุธ เลิกนอก, ส.ต.อ.กฤษดา สายกัน, ส.ต.อ.เกรียงไกร สิงห์สนอง เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุม 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าพนักงานตํารวจชุดจับได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุ สน.ทุ่งสองห้อง ว่า “แซม” ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ปรากฏตัวอยู่ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ จึงได้ร่วมกันไปตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้ง เมื่อไปถึงและพบผู้ต้องหาแล้ว เจ้าหน้าที่ตํารวจจึงได้แสดงหมายจับให้ดู พร้อมกับแจ้งว่าจะต้องถูกจับในข้อหา “ทำให้ทรัพย์สาธารณประโยชน์เสียหาย” โดยผู้ต้องหายอมรับว่าตนเองเป็นบุคคลตามหมายจับดังกล่าว ตำรวจจึงนําตัวไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง 

ต่อมา หลังสอบถามผู้ต้องหาแล้วปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และไม่มีเอกสารการเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร จึงได้แจ้งข้อหา “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ก่อนที่จะนําตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมข้างต้นไว้ พร้อมกับจะให้การเป็นเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน 

.

แจ้ง 2 ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์-เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” แม้ผู้ต้องหาเกิดในประเทศไทย และกำลังดำเนินการขอสัญชาติ

สำหรับพฤติการณคดี พนักงานสอบสวนได้บรรยายโดยสรุปไว้ว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. ภายหลังจากที่กิจกรรม #ม็อบ29ตุลา หน้าสน.ดินแดง ได้ยุติลงแล้ว ส.ต.ต.นพฤทธิ์ ขาวเขียว และ ส.ต.ต.กฤตพัฒน์ หุ่นพานิช ได้ทำการควบคุมตัวแซม สาแมท โดยใช้รถยนต์ควบคุมผู้ต้องหาของ สน.บางโพ เป็นยานพาหนะรับส่งตัวผู้ต้องหา จากสน.ดินแดง มาส่งที่กองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด กรุงเทพมหานคร 

ระหว่างทางที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาอยู่นั้น ผู้ต้องหาได้ใช้เท้าที่สวมรองเท้าส้นสูง พยายามถีบบริเวณกระจก หลังรถควบคุมผู้ต้องหาตลอดระยะเวลาที่เดินทาง จนกระทั่ง ผู้กล่าวหาขับรถมาถึงกองบัญชาการตํารวจปราบปรามยาเสพติด เวลาประมาณ 19.00 น. 

ผู้กล่าวหาได้ตรวจสอบพบว่ากระจกรถควบคุมซึ่งติดตั้งไว้ระหว่างห้องควบคุมกับห้องผู้โดยสารแตกเสียหาย เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย ผู้กล่าวหาจึงเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดี

พนักงานสอบสวนได้แจ้งแซม 2 ข้อหา ได้แก่ “ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และ “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” 

.

ศาลไม่ให้ประกัน เกรงผู้ต้องหาหลบหนี หรือไปก่อเหตุภยันอันตรายอื่น 

ต่อมา ช่วงเช้าของวันที่ 17 ธ.ค. 2564 หลังแซมถูกพนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญา ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยขอวางเงินสดจำนวน 25,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน 

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันแซม โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีที่ศาลนี้โดยไม่ได้การปล่อยชั่วคราวหลายคดี ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีนี้ ผู้ต้องหาเป็นผู้ไม่ปรากฎสัญชาติยังอุกอาจกระทำความผิดจนถูกดำเนินคดีหลายครั้ง น่าเชื่อว่า หากให้ปล่อยชั่วคราวไปน่าจะหลบหนีไปหรือไปก่อเหตุภยันอันตรายอื่นอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง 

คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอาญาครั้งนี้ ทำให้แซมถูกขังเป็นครั้งที่ 4 และตอนนี้ แซมได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 5 วัน แล้ว 

ทั้งนี้โดยข้อเท็จจริงแล้ว แซมเกิดและเติบโตในประเทศไทย โดยพ่อเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นชาวกัมพูชา จึงไม่ใช่บุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพียงแต่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เนื่องจากพ่อและแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และแยกทางกันตั้งแต่แซมยังเล็ก ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการขอจัดทำเอกสารบุคคล

ก่อนหน้านี้ แซมเคยถูกกล่าวหาในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยเป็นหนึ่งในข้อหาที่เขาถูกแจ้งและถูกสั่งฟ้องในคดีชุมนุม #ม็อบ28กุมภา64 ที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 ทำให้การถูกกล่าวหาบข้อหานี้ เป็นการถูกดำเนินคดีซ้ำอีก จากพฤติการณ์เดียวกัน 

ขณะเดียวกัน การกล่าวหาในข้อหาทั้งสองในคดีนี้ ทางตำรวจสามารถดำเนินคดีตั้งแต่วันที่แจ้งข้อกล่าวหาแซมภายใน บช.ปส. ก็ได้ รวมทั้งสามารถเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาขณะเขาถูกฝากขังในเรือนจำ แต่ก็ไม่เคยมีการดำเนินการดังกล่าว กลับมีการไปขอศาลออกหมายจับก่อนวันที่จะครบกำหนดฝากขังเขาเพียงสองวัน อาจชี้ให้เห็นเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่จะควบคุมตัวเขาต่อไป

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง 

สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี

X