อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีของหนึ่งในผู้ชุมนุม #ม็อบ21ตุลา63 ชี้ศาลยกฟ้องคดีเหตุเดียวกันไปหมดแล้ว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตในคดีของ ชลธิชา คุ้มจันทร์อัด ประชาชนวัย 25 ปี ในคดีร่วมชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งมีการเดินขบวนของประชาชนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สำหรับการชุมนุมครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง มาตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ต.ค. 2563 เพื่อจัดการกับการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 แต่ยังมีประชาชนออกมาชุมนุมอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก 

ในการชุมนุมวันที่ 21 ต.ค. 2563 ต่อมามีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูก พ.ต.ท.ชัยณรงค์ ทรัพยสาร กล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี โดยมีกรณีของอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่ให้การรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับ

ขณะที่คดีของนักกิจกรรมอีก 10 คดี รวม 11 คน ซึ่งต้องต่อสู้คดีแยกกันไปนั้น ศาลแขวงดุสิตทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องไปทั้งหมดในช่วงปี 2565-66 และอัยการไม่ได้อุทธรณ์คดีอีก ทำให้คดีสิ้นสุดทั้งหมดแล้ว

.

.

ในกรณีของ ชลธิชา คุ้มจันทร์อัด นั้น เคยถูกตำรวจ สน.พญาไท แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และต่อมาเธอไม่ได้เดินทางไปตามนัดส่งตัวให้กับอัยการ ทำให้เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลแขวงดุสิต ขณะกำลังท้องแก่ และมีกำหนดคลอดในไม่กี่วันนี้ด้วย  ต่อมาตำรวจจึงให้ประกันตัว และส่งสำนวนคดีให้กับอัยการพิจารณา โดยตำรวจเห็นว่าควรสั่งฟ้องคดี

จนเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 อัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาดกลับมายัง สน.พญาไท โดยสรุปความเห็นว่าในเหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมถูกแยกดำเนินคดีเป็นหลายสำนวนที่ศาลแขวงดุสิต โดยอัยการยกคดีทั้งหมด 7 คดี ซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด โดยเห็นว่าไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใดอันเป็นการชุมนุมในลักษณะที่ไม่สงบ และไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธ หรือมีการกระทำที่รุนแรง อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 การชุมนุมของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1

อัยการเห็นว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้ถูกกล่าวหาในรายงานการสืบสวนและพยานหลักฐานชุดเดียวกัน และเป็นกรณีที่ได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไปแล้ว แต่ศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับในคดีของชลธิชา แจ้งเร็ว รองอัยการสูงสุดปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ถอนฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าว (แต่ในคดีนี้ คำสั่งให้ถอนฟ้องคดีมาภายหลังการสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว ทำให้ชลธิชาตัดสินใจให้ศาลมีคำพิพากษาออกมา ซึ่งศาลก็ได้พิพากษายกฟ้อง)

อัยการจึงสรุปว่าหากฟ้องคดีไปศาลจะพิพากษายกฟ้องในลักษณะเดียวกันได้ จึงเห็นควรมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของผู้ต้องหาในคดีนี้

การสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทำให้คดีจากการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย สิ้นสุดลงทั้งหมดแล้ว สำหรับคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 10 คดี ได้แก่ คดีของ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก และวสันต์ กล่ำถาวรวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, ปิยรัฐ จงเทพ, ชลธิชา แจ้งเร็ว และ ธัชพงษ์ แกดำ

ทั้งนี้ นอกจากคดีนี้ ชลธิชา คุ้มจันทร์อัด ยังมีคดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563 ได้แก่ คดีชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ของ สน.ปทุมวัน และคดีชุมนุม #ม็อบ20ตุลา63 ที่หน้าห้างเดอะมอลล์บางแค ของ สน.หลักสอง ทั้งสองคดีเธอถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เช่นกัน และคดียังค้างอยู่ในชั้นสอบสวน

.

X