27 ก.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “บอย” ธัชพงศ์ แกดำ นักกิจกรรมทางการเมือง กรณีเข้าร่วมชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งห้ามมิให้กระทำการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
ในคดีนี้ ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย เห็นว่าการเข้าร่วมชุมนุมของจำเลยไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือสร้างเสียหายต่อทรัพย์สินใด ๆ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการเรียกร้องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งจำเลยได้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว
เวลา 09.10 น. ที่ห้องพิจารณา 509 ก่อนฟังคำพิพากษา บอยเปิดเผยว่าวันนี้เขามีความมั่นใจว่าคดีนี้จะยกฟ้อง เนื่องจากเขาเป็นจำเลยคนสุดท้ายที่จะมีคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุมครั้งนี้แล้ว
เมื่อศาลขึ้นพิจารณาคดี ได้เรียกให้บอยแสดงตัวที่บริเวณหน้าบัลลังก์ ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญระบุว่า จากการสืบพยานโจทก์ และพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว ได้ความเพียงว่าจำเลยเข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อีกทั้งโจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยไม่มีอาวุธ ไม่ปราฏว่าจำเลยเป็นผู้ก่อความไม่สงบ มีพฤติการณ์เพียงเข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น
อีกทั้ง จำเลยได้เบิกความอธิบายการชุมนุมดังกล่าว ได้ความว่าการชุมนุมเป็นการเรียกร้องการบริหารราชการของรัฐบาล และเรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้และจำเลยได้ใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ศาลพิพากษายกฟ้อง
คดีนี้ นับเป็นคดีจากเหตุชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 คดีสุดท้ายแล้ว ที่ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องอย่างต่อเนื่อง จากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด 11 คน โดยแยกฟ้องเป็นคนละคดีกัน ทำให้การสืบพยานแยกไปในแต่ละคดี และต้องใช้ระยะเวลาในการต่อสู้ โดยกรณีของบอยใช้เวลากว่า 2 ปี ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง
ก่อนหน้านี้ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน, สุวรรณา ตาลเหล็ก และวสันต์ กล่ำถาวร, วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ และ “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว โดยทั้งหมดศาลวินิจฉัยไปในทำนองเดียวกันว่า เป็นการใช้สิทธิในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงขนาดฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง โดยอัยการไม่ได้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ ทำให้คดีทยอยสิ้นสุดลง
สำหรับคดีการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ปี 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” และประชาชน ซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข