มิถุนายน 2566 ศาลพิพากษา คดี ม.112 รวม “12 คดี” ยกฟ้องเพียง 2 คดี ขณะอีก 2 คดี “ทีปกร-วารุณี” ไม่ได้ประกันระหว่างอุทธรณ์ 

ตลอดทั้งเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 12 คดี รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 12 ราย ในจำนวนนี้ 1 รายถูกดำเนินคดี 2 คดีด้วยกัน คือ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ นับเป็นเดือนที่ศาลมีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 มากที่สุดเดือนหนึ่ง

ทั้ง 12 คดีสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทตามลักษณะพฤติการณ์และเหตุแห่งคดี ได้แก่ 

  1. คดีที่มีมูลเหตุมาจากการสื่อสารในโลกออนไลน์และการใช้โซเซียลมีเดีย จำนวน 8 คดี
  1. คดีที่มีมูลเหตุมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ จำนวน 3 คดี
  1. คดีที่มีมูลเหตุมาจากใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ จำนวน 1 คดี 

รับสารภาพ 8 คดี : ศาลสั่งจำคุกทุกคดี แต่ได้ลดโทษ – ส่วนใหญ่ให้รอการลงโทษ ยกเว้น “ประสงค์-วารุณี” ก่อนศาลไม่ได้ประกันวารุณี

ในจำนวนคดีทั้งหมด 12 คดี ส่วนใหญ่จำเลยกลับคำให้การเป็นรับสารภาพก่อนจะเริ่มสืบพยานในชั้นพิจารณาคดี ซึ่งมีจำนวน 8 คดี คิดเป็น 66.66% ของจำนวนคดีทั้งหมดที่ทราบว่าศาลมีคำพิพากษาในเดือน มิ.ย. นี้ โดยคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ‘ทุกคดี’ ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องและให้ลงโทษจำคุกตาม มาตรา 112 ที่มีบทลงโทษหนักที่สุด 

แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ส่วนใหญ่ศาลจึงให้ลดโทษจำคุกกึ่งหนึ่ง โดยมี 1 คดีที่ศาลลดโทษ ‘1 ใน 3’ ส่วนของโทษทั้งหมด เนื่องจากให้การรับสารภาพ หลังจากเริ่มสืบพยานไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เกือบทุกคดีศาลพิพากษาจำคุก โดยให้รอการลงโทษเอาไว้เป็นเวลา 2 ปี พร้อมกับเงื่อนไขให้ทำบริการสาธารณประโยชน์กับต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ยกเว้นใน 2 คดีที่ศาลพิพากษาไม่รอการลงโทษ ได้แก่ คดีของ “ประสงค์” กรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัชกาลที่ 10 และคดีของ “วารุณี” กรณีโพสต์ภาพตัดต่อการเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดเดรสแบรนด์ Sirivannavari  

ทั้งนี้ ศาลอาญาตลิ่งชันอนุญาตให้ประกันตัวประสงค์ในชั้นอุทธรณ์ทันทีภายในวันที่มีคำพิพากษา ทว่าในคดีของวารุณี ศาลอาญากลับไม่พิจารณาสั่งคำร้องด้วยตัวเอง แต่ส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง ซึ่งต้องรอเวลาประมาณ 2-3 วัน วารุณีจึงถูกส่งตัวไปคุมขังยังทัณฑสถานหญิงกลางเพื่อรอฟังคำสั่ง ต่อมา ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตประกันตัวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 

สู้ชั้นศาล 4 คดี : ศาลยกฟ้องครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งจำคุกไม่รอลงอาญา ก่อนศาลไม่ให้ประกันทีปกร

คดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้ในชั้นศาลมีจำนวน 4 คดี คิดเป็น 33.33% ของจำนวนคดีทั้งหมดที่ศาลมีคำพิพากษาในเดือน มิ.ย. นี้ ในจำนวน 4 คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 2 คดี แต่ได้ลงโทษในข้อหาอื่นแทน ได้แก่ คดีของ “ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์” กรณีปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากป้อมยามหน้าหมู่บ้าน แล้วนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง ศาลยกฟ้องข้อหา ม.112 แต่ลงโทษจำคุกและปรับในฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 

อีกคดีหนึ่งเป็นของ “จัสติน – ชูเกียรติ” กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษที่มีข้อความ “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!” บนรูปรัชกาลที่ 10 หน้าศาลฎีกา ในระหว่าง #ม็อบ20มีนา64 ศาลยกฟ้องข้อหา ม.112 และข้อหาเกี่ยวกับการทำร้ายและขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ลงโทษจำคุกและปรับในฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 

ส่วนคดีที่จำเลยต่อสู้ แต่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องและให้ลงโทษจำคุกในข้อหา ม.112 ที่มีบทลงโทษหนักสุด โดยไม่รอการลงโทษ มีจำนวน 2 คดี  ได้แก่ คดีของ “ตี้ – วรรณวลี” และ “จัสติน – ชูเกียรติ” กรณีปราศรัยวิจารณ์ประเด็นการขยายขอบเขตอำนาจพระมหากษัตริย์เกินขอบเขตของระบอบประชาธิปไตย  ในม็อบวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ศาลพิพากษาจำคุกคนละ 4 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี 8 เดือน แต่ได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ทันทีในวันที่ศาลมีคำพิพากษา ด้วยหลักทรัพย์รวมทั้งสิ้น คนละ 200,000 บาท 

ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีของ “ทีปกร” กรณีโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามและวิจารณ์กษัตริย์ ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่มีการลดโทษ ทีปกรถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากศาลอาญาส่งคำร้องประกันให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา

ไม่ได้ประกันชั้นอุทธรณ์ 2 ราย : “ทีปกร-วารุณี” เข้าเรือนจำ 2 ราย หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก

จากสถานการณ์คำพิพากษาคดี ม.112 ของศาลชั้นต้นตลอดทั้งเดือน มิ.ย. 2566 ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลย 2 รายและต้องถูกคุมขังระหว่างสู้คดีมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้ง 2 คดีนั้นศาลพิพากษาว่าผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกในข้อหา ม.112 ซึ่งเป็นบทลงโทษที่หนักสุด โดยไม่รอการลงโทษ ทั้ง 2 คดี ศาลชั้นต้นไม่พิจารณาคำร้องประกันด้วยตัวเอง แต่ส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกัน ทำให้จำเลยในทั้ง 2 คดีถูกคุมขังระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 

  1. ทีปกร หมอนวดอิสระ อายุ 38 ปี ยืนยันสู้คดีในชั้นศาล ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี ทำให้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566 

สำหรับทีปกรถูกฟ้องและพิพากษาจำคุกจากการกระทำ 1 กรรม ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยกระทำความผิดหรือต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อเทียบกับคดีอื่นที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกด้วยจำนวนอัตราโทษที่สูงกว่านี้ในหลายคดี ศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์และฎีกา

อย่างเช่นคดีของ “พอร์ต ไฟเย็น” หรือ ปริญญา ชีวินกุลปฐม ซึ่งถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ นับเป็น 3 กรรม พอร์ตยืนยันสู้ในชั้นศาล ศาลพิพากษาจำคุกกรรมละ 3 ปี รวม 9 ปี ก่อนลดหนึ่งในสาม เหลือ 6 ปี ไม่รอลงอาญาเช่นเดียวกับคดีทีปกร แต่ศาลสั่งให้ประกันพอร์ตภายในวันที่มีคำพิพากษาทันที พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

  1. วารุณี แอดมินเพจเฟซบุ๊กและมีอาการป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) อายุ 30 ปี ให้การรับสารภาพในชั้นศาล กรณีถูกฟ้องว่าโพสต์ภาพตัดต่อขณะรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตใส่ชุดเดรสแบรนด์ Sirivannavari ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพ แต่ไม่รอลงอาญา แม้จะมีเหตุเกี่ยวกับสุขภาพจิต แต่ศาลเห็นว่าไม่ใช่เหตุให้ต้องรอการลงโทษไว้ วารุณีจึงถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566

เมื่อเทียบกับคดีของ “สุภิสรา” ที่ถูกฟ้องในข้อหา ม.112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ นับเป็น 4 กรรม และมีเหตุสุขภาพจิตเช่นเดียวกับวารุณีนั้น ศาลพิพากษาจำคุกกรรมละ 3 ปี โทษรวมสูงถึง 12 ปี ก่อนลดเหลือ 4 ปี 24 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี เพราะศาลเห็นว่าจากรายงานสืบเสาะตามรายงานของแพทย์ชี้ว่า ช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเหตุในคดีนี้นั้นสุภิสรามีอาการป่วยทางจิตในระดับสูง ควบคุมตนเองไม่ได้

เมื่อย้อนกลับมามองกรณีของวารุณี เธอได้รับการรับรองจากแพทย์เป็นเอกสารยืนยันว่า วารุณีป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วมาหลายปี ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีภาวะอารมณ์เครียด เบื่อ หงุดหงิดง่าย สลับกับอารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร มักถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าทางอารมณ์ได้ง่าย ทำให้ยับยั้งชั่งใจลำบาก สมาธิไม่โฟกัส และสมาธิลดลง

เธอต้องรับการรักษาด้วยการรับประทานยาและการทำจิตบำบัดต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยในบางช่วงของการรักษาวารุณียังเคยมีประวัติคิดทำร้ายตัวเองอีกด้วย  

อย่างไรก็ตาม แม้คดีของวารุณีจะถูกฟ้องเพียง 1 กรรม เป็นการกระทำความผิดแรก และศาลลงโทษจำคุกสุดท้าย 1 ปี 6 เดือน อีกทั้ง มีเหตุป่วยทางสุขภาพจิตตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ศาลก็เห็นว่าไม่ใช่เหตุให้รอการลงโทษ มิหนำซ้ำยังไม่ให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์เรื่อยมา 

ทำให้จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังภายหลังจากการที่ศาลมีคำพิพากษาในคดี ม.112 จำนวน อย่างน้อย 7 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี จำนวน 4 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร และวารุณี อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) จำนวนอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ อัญชัญ, อดีตพลทหารเมธิน และปริทัศน์

แนวโน้มการลงโทษของศาล เฉลี่ยกรรมละ 3 ปี ยกเว้นบางคดีศาลสั่งจำคุกกรรมละ 4 ปี 

ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าผิดตามฟ้อง จำนวน 10 คดี ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาให้จำคุกกรรมละ 3 ปี จำนวน 8 คดี ยกเว้นใน 2 คดีที่ศาลพิพากษาให้จำคุกเป็นกรรมละ 4 ปี

คดีแรก คือคดีของ “ธัญวดี” แม่ค้าออนไลน์และแม่ลูก 5 ซึ่งถูกฟ้องจากการคอมเมนต์วิจารณ์เรื่องการบริจาคเงินและรับภาษีประชาชน ใต้เพจเฟซบุ๊กการบินไทย และคดีของ “ตี้ – จัสติน” กรณีปราศรัยวิจารณ์การขยายอำนาจพระมหากษัตริย์เกินขอบเขต ใน #ม็อบ6 ธันวา63 ทั้งสองคดีศาลพิพากษาให้จำคุก 1 กรรม กรรมละ 4 ปี ซึ่งเป็นไปตามดุลยพินิจของศาล 

พื้นเพ 11 จำเลยใน 11 คดี: ส่วนใหญ่เป็นประชาชนคนธรรมดา ขณะเป็นนักกิจกรรม 3 ราย   

เมื่อสำรวจพื้นเพของจำเลยทั้ง 11 คนที่ศาลมีคำพิพากษาคดี ม.112 ของพวกเขาในช่วงเดือนนี้ พบว่า จำเลยมีช่วงอายุในขณะเกิดเหตุ ตั้งแต่ 18 – 60 ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 31 ปี โดย “ภูมิ หัวลำโพง” เป็นจำเลยที่มีอายุน้อยที่สุดที่ศาลมีคำพิพากษาในเดือนนี้ ด้วยอายุขณะเกิดเหตุเพียง 18 ปีเศษ ขณะที่ “พงษ์” เป็นจำเลยที่มีอายุมากที่สุด ด้วยวัย 60 ปีแล้ว

จำเลยส่วนใหญ่เป็นเพียงประชาชนธรรมดา ไม่ใช่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ไร้กลุ่มสังกัด และประกอบอาชีพอิสระ มีจำนวน 9 ราย อาทิ อาชีพหมอนวด ศิลปิน ขายของออนไลน์ ทำธุรกิจ บุคลากรทางสาธารณสุข คนขับแท็กซี่ และอื่นๆ 

ส่วนจำเลยอีก 3 รายที่เหลือเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองและถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคดี ได้แก่ “จัสติน” ชูเกียรติ, “ตี้” วรรณวลี และ “ภูมิ หัวลำโพง” 

จากคดี ม.112 ทั้งหมด 271 คดี หลังพ้นเดือนนี้ ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว 26.5% 

จากการติดตามและเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดี ม.112 เฉพาะคดีที่เกิดขึ้นนับแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา พบว่า จนถึงปัจจุบัน (5 ก.ค. 2566) มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 252 คน ใน 271 คดี

ภายหลังผ่านพ้นเดือนมิถุนายน 2566 ทำให้ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดี ม.112 แล้ว อย่างน้อย 72 คดี คิดเป็น 26.56% ในจำนวนนี้เป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 39 คดี เป็นคดีที่จำเลยรับสารภาพ 33 คดี 

  • ในคดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาแล้ว แยกได้เป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 13 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 18 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 4 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ 4 คดี
  • ในคดีที่จำเลยรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาแล้ว แยกได้เป็นคดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 15 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 16 คดี และคดีที่ศาลให้รอกำหนดโทษ 2 คดี 

ทั้งนี้ ผลของคดีเหล่านี้ยังไม่ถึงที่สุด ในหลายคดีจะมีการอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาต่อไป 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษา

X