อย่าลืมฉัน EP1: จุดสตาร์ทและหมุดหมายบนเส้นทาง ‘นักเคลื่อนไหว’ ก่อนกลายเป็น ‘ผู้ต้องขังการเมือง’ 

อย่าลืมฉัน อย่าลืมผู้ต้องขังการเมือง

จนถึงขณะนี้ (20 พ.ย. 2565) ยังคงมีผู้ต้องขังทางการเมืองถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีและไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อย่างน้อย 12 ราย แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังนี้ 

  1. คดีที่มีข้อหาหลักเป็นมาตรา 112 อย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ ‘หนุ่ม’ สมบัติ ทองย้อย, ‘แซม’ พรชัย ยวนยี และ ‘มิกกี้บัง’ 
  2. คดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมที่ดินแดง อย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ ‘ต้อม’ จตุพล, ‘เก่ง’ พลพล, ‘แบงค์’ ณัฐพล และ ‘อาร์ม’ วัชรพล
  3. คดีอันเนื่องมาจากการชุมนุมอื่นๆ อย่างน้อย 5 ราย ได้แก่ ‘ต๊ะ’ คทาธร, ‘เพชร’ คงเพชร, ‘เพชร’ พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ‘แม็ก’ สินบุรี แสนกล้า และทัตพงศ์ เขียวขาว
ภาพจากไข่แมวชีส

ทุกคนต่างได้ชื่อว่าเป็น ‘นักเคลื่อนไหวทางการเมือง’ ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างอิสระหรือมีสังกัดกลุ่ม เมื่อย้อนกลับไปดูยังจุดเริ่มต้นในถนนสายนี้ทีละคน พบว่าส่วนใหญ่ล้วนมี ‘ช้าง’ ตัวเดียวกัน นั่นก็คือ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ชายผู้เข้ามายึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร เมื่อปี 2557 และผูกขาดอำนาจนำเรื่อยมากระทั่งรับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีให้กับรัฐบาลชุดนี้

จุดเริ่มต้นในการย่างเท้าเข้าสู่สนามเคลื่อนไหวทางการเมืองของผู้ต้องขังหลายคน เกิดมาจากความไม่พอใจจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของคณะทำงานที่นำโดยประยุทธ์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายสาหัสนานัปการตามมา ไม่ว่าจะเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจ, ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอย่างหนักแทบทุกวัน, กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเล่นงานผู้เห็นต่าง, นโยบายเอื้อนายทุน ฯลฯ โดยเฉพาะเมื่อประเทศต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่เป็นนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ ที่มีช่วงอายุอยู่ที่ 18-25 ปี ต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ประยุทธ์’ คือปัญหา และแน่นอนว่าเป้าหมายของพวกเขาคือ ประยุทธ์ต้องลาออกต้องการเป็นนายกฯ 

ผู้ต้องขังอีกจำนวนหนึ่งตัดสินใจก้าวลงลู่วิ่งเส้นนี้ ด้วยเหตุผลที่กว้างและใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นอีก นั่นคือ ‘ปัญหาโครงสร้างทางสังคม’ ที่แม้จะไม่มีประยุทธ์เป็นผู้นำ ปัญหาฝังรากลึกเหล่านั้นก็จะยังคงดำเนินกัดกินสังคมต่อไปอยู่ดี เช่น การผูกขาดของนายทุน, ปัญหาในกระบวนยุติธรรม, ความเหลื่อมล้ำทางสังคม, เป็นต้น โดยเฉพาะความเป็นไปของสถาบันและองค์กรหลักของสังคม อย่างเช่นสถาบันกษัตริย์ ตุลาการ กองทัพ ต้องถูกปฏิรูปให้อยู่ในร่องในรอย นั่นทำให้หมุดหมายของพวกเขาเป็นเรื่องใหญ่ไปด้วยเช่นกัน

เราชวนย้อนดูจุดสตาร์ทเส้นทางในการ ‘เคลื่อนไหวทางการเมือง’ ของทั้ง 11 คน ก่อนที่จะกลายมาเป็น ‘ผู้ต้องขังทางการเมือง’ ว่าพบเจอสิ่งใดมาหรือถูกสิ่งใดกระตุ้นเร้าจึงเลือกเส้นทางเดินนี้ 

ต๊ะสารภาพว่า ก่อนหน้านี้ไม่คิดเลยว่าจะต้องมาข้องเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่เมื่อเติบโตมากขึ้นกลับได้พบว่าหลายสิ่งในสังคมทั้งอดีตและปัจจุบันนั้นบิดเบี้ยวไป ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519, เหตุล้อมปราบคนเสื้อแดง ปี 2553, การรัฐประหาร 2557, กรณีนักกิจกรรมทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางสังคมหลายคนถูกอุ้มหายและถูกฆาตกรรมอย่างปริศนา รวมถึงอีกหลายกรณีในหลายพื้นที่ของประเทศนี้

ต๊ะอาศัยหาข้อมูลด้วยตัวเอง ทั้งจากช่องยูทูป การพูดคุยกับนักกิจกรรมและพ่อแม่พี่น้องเสื้อแดง ทั้งหมดประกอบสร้างเป็นชุดข้อมูลถึงปัญหาในสังคมที่ทับถมและพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิง แต่ล้วนมีนัยและเชื่อมโยงกัน ประกอบกับได้เห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “นักเรียนเลว” ที่ชี้ประเด็นปัญหาด้านการศึกษา ทำให้ต๊ะสนใจและเห็นด้วยกับประเด็นของกลุ่มนักเรียนเลวเป็นอย่างมาก 

ทั้งหมดนี้ทำให้ต๊ะตัดสินใจก้าวเดินออกมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว เพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นในทุกแง่มุม โดยเลือกเข้าร่วมกับ ‘กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ และเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง จนถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในครั้งนี้

อ่านเรื่องของคทาธรเพิ่มเติม ที่นี่

 

ครอบครัวของเพชรประกอบอาชีพ ‘รับเหมาก่อสร้าง’ มานานหลายปีแล้ว มีงานและรายได้ดีมาตลอด เพียงพอที่จะเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัวให้อยู่ดีมีสุข กระทั่งเมื่อประเทศได้เปลี่ยนผ่านไปอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ เพชรรู้สึกว่าทุกอย่างก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป งานของครอบครัวลดน้อยลง รายได้น้อยลง ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงเท่าเดิม 

การตกที่นั่งลำบากของครอบครัวทำให้เพชรในวัย 17 ย่าง 18 ปี ตัดสินใจทำงานพาร์ทไทม์ไปพร้อมๆ กับการเรียนหนังสือ แต่ถึงกระนั้นสถานการณ์การเงินของครอบครัวก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาวะโรคระบาดโควิด-19 

จากมุมมองของเพชร เขาคิดว่าการจัดการและบริหารงานของรัฐบาลประยุทธ์ คือ สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวต้องเผชิญสถานการณ์ยากลำบากเช่นนี้ จนในที่สุดเพชรเลือกที่จะออกมาร่วมเรียกร้องทางการเมือง ด้วยความหวังว่าจะช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นจากที่เป็นอยู่

การออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองของเพชรนั้นไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากคนใกล้ชิดเสียเท่าไหร่ เพราะหลายคนต่างรู้สึกเป็นห่วงและมองว่าเพชรยังอยู่ในวัยที่ยังไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเมือง แต่เพชรคิดว่า “อย่างน้อยก็ได้เป็นหนึ่งเสียงที่ออกมาเรียกร้องให้ประเทศ”

อ่านเรื่องของคงเพชรเพิ่มเติม ที่นี่

พรพจน์เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อปี 2563 ขณะมีการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก และนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านอำนาจเผด็จการของประยุทธ์ จันทร์โอชา 

เขาให้ความเห็นว่า เขาเป็นเพียงแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะเห็นสังคมที่ดีกว่า และไม่ต้องการให้ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะมาจากการยึดอำนาจและรัฐประหาร ทำให้ประเทศหยุดชะงักในทุกมิติ โดยเฉพาะการปกครองแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 

อ่านเรื่องของพรพจน์เพิ่มเติม ที่นี่

สมบัติเริ่มสนใจปัญหาทางการเมือง พร้อมกับการเกิดขึ้นของวิกฤติทางการเมือง เมื่อช่วงปี 2548 เขาเคยสวมใส่สีเสื้อทางความคิดมาแล้วทั้งเหลืองและแดง เขาเป็นหนึ่งในประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมและลงถนนกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตย (พธม.) และต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหารของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร  ก่อนจะตั้งหมุดหมายได้อย่างแน่วแน่กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงปี 2550

ต่อมาในปี 2552 สมบัติตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทของตัวเองจากมวลชน เป็นการ์ดของผู้ชุมนุม เขามีส่วมร่วมในการต่อสู้กับพี่น้องเสื้อแดง จนถึงวันที่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงในปี 2553 สมบัติเป็นหนึ่งในการ์ดของผู้ชุมนุมที่อยู่ในพื้นที่ใช้กระสุนจริงเพื่อสลายการชุมนุม

ความพ่ายแพ้ของมวลชนคนเสื้อแดงในตอนนั้น ได้แปรเปลี่ยนให้บทบาทการ์ดของเขายุติลง แต่ไม่ได้ทำให้เขาละทิ้งอุดมการณ์แต่อย่างใด การต่อสู้ของสมบัติทำให้สมญานามของเขายังคงถูกเรียกขานอยู่เสมอด้วยการพ่วงท้ายชื่อจริงว่า ‘สมบัติ อดีตการ์ดเสื้อแดง’

อย่างไรก็ตามสมบัติเห็นว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เป็นอยู่ตอนนี้ คือ ต้องให้ประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ไปเสียก่อน ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และอื่นๆ นั้นจะต้องรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมเสียก่อนจึงค่อยผลักดันให้เกิดขึ้นจริง  

อ่านเรื่องของสมบัติเพิ่มเติม ที่นี่

อาร์มเริ่มสนใจการเมืองและเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมุ่งไปที่ข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพียงอย่างเดียว เพราะอาร์มเห็นว่าภายใต้การบริหารและจัดการของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างมาก และเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาร์มยิ่งรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะจัดการและควบคุมโรคได้อย่างที่ควรจะเป็น 

อาร์มเล่าว่า สภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ทำให้ครอบครัวต้องเป็นหนี้มากขึ้น รายได้และงานรับจ้างลดน้อยลง ขณะที่ค่าครองชีพกลับขยับแพงขึ้นอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่เห็นได้ชัดเจนว่าแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาร์มที่ทำงานเป็นไรเดอร์รับส่งอาหารจึงประสบปัญหานี้โดยตรงกับตัวเอง

อ่านเรื่องของอาร์มเพิ่มเติม ที่นี่

ต้อมเริ่มต้นเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเมื่อกลางปี 2564 โดยมีเหตุผลหลักมาจากความไม่พอใจในการทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังเพื่อนของต้อมต้องเสียชีวิตกะทันหันจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่เขารู้สึกว่ารัฐบาลกลับไม่ยื่นมือมาแสดงรับผิดชอบอะไรเลยแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำสภาพเศรษฐกิจยังมีแต่ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ จนทำให้ตัวเขาเองตกงานด้วย 

ในที่สุดต้อมจึงตัดสินใจออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบจากผู้มีอำนาจจนกระทั่งถูกกล่าวหาและถูกคุมขังในคดีนี้

อ่านเรื่องของต้อมเพิ่มเติม ที่นี่

เก่งเริ่มออกมาร่วมการชุมนุมอย่างจริงจังในวันที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมครั้งแรกที่สกายวอร์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 หลังจากนั้นเขาก็พยายามไปให้ได้ทุกม็อบ โดยเฉพาะม็อบดินแดง ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่กลางปี 2564

สาเหตุที่เลือกเข้าร่วมม็อบเป็นประจำ เขาเล่าว่าเป็นเพราะ ‘หลาน’ กับ ‘น้องชาย’ เขาไม่อยากเห็นเด็กรุ่นต่อไปมีชีวิตลำบากเหมือนพวกเขาในปัจจุบันนี้ 

“ถ้ายังมีการบริหารประเทศแบบนี้ คนจะยิ่งเดือด ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีกิน” 

พลพลย้ำว่า ได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศโดยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด เขาต้องรับจ้างรับ ‘ศพผู้เสียชีวิตจากโควิด’ ที่โรงพยาบาลไปส่งวัด เฉลี่ยวันละ 6-7 ศพ ส่วนใหญ่ญาติไม่มีเงินทำศพ ไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อโลงศพ 

“ถ้าผู้นำบริหารประเทศดี จะไม่มีคนตายเพราะโควิดเยอะขนาดนี้ โควิดมันทำให้ทุกคนลำบากกันหมด โดยเฉพาะคนอย่างพวกผม แต่รัฐก็ไม่สนใจปัญหานี้เลย”

“ที่พวกผมยังไปม็อบ เพราะอยากเรียกร้องให้รัฐบาลได้ฟังปัญหาของพวกผม แค่รับฟังแล้วช่วยกันแก้ไขปัญหา แค่นี้เอง แต่พวกผมก็โดนสลายการชุมนุมโดยที่รัฐบาลไม่ได้สนใจ ไม่มาเจรจา ไม่รับฟังพวกผมเลย ยิ่งถ้าโดนสลายพวกผมก็ยิ่งไม่หยุด”  

อ่านเรื่องของเก่งเพิ่มเติม ที่นี่

แบงค์ทำงานหาเลี้ยงตัวเองและเรียนไปด้วยตั้งแต่ อายุ 12 ปี ก่อนหน้าจะถูกคุมขังเขาได้เปิดร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ กับแฟน ช่วง 2-3 ปีมานี้ ตั้งแต่แบงค์ได้เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเองในวัยยังไม่ถึง 20 ปี เขาสัมผัสได้ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน เป็นเงินไปหมด ความฝันในการได้เป็นเจ้าของบ้านหลังหนึ่งในราคาแค่หลักแสนกลับยากเย็นแสนเข็ญ

โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทะลุแก๊สเมื่อช่วงกลางปี 2564 เกิดขึ้น เพื่อนๆ ก็ต่างชักชวนกันไปร่วมการชุมนุมเพราะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง และให้คนที่มีความสามารถมาบริหารจัดการแทน จึงทำให้แบงค์ตัดสินใจเข้าร่วมในที่สุด

แซมเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 ขณะเรียนคณะรัฐศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงการชุมนุมเสื้อแดง แซมเริ่มเคลื่อนไหวผ่านงานเสวนาและกิจกรรมต่างๆ ในนามกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน [Chulalongkorn Community for the People (CCP)] 

ต่อมาปี 2555 เขาได้มาเป็นเลขาธิการเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในปี 2558 ได้ออกมาชุมนุมคัดค้าน คสช. พอหลังปี 2558 ก็ไปทำงานพรรคการเมือง ก่อนกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งในปี 2563 ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าจนถึงปัจจุบัน

อ่านเรื่องของแซมเพิ่มเติม ที่นี่

ก่อนหน้านี้แม็กสารภาพว่า ไม่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองหรือยุ่งเกี่ยวกับทางการเมืองมาก่อน กระทั่งเมื่อช่วงปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ แม็กจึงหันมาสนใจเรื่องการเมืองมากยิ่งขึ้น

รอบตัวแม็กแวดล้อมไปด้วยนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น กลุ่มเป็นไท, แซม พรชัย, ไผ่ จตุภัทร์, ชาติชาย ฯลฯ เขาจึงได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุย ถกเถียง และเปลี่ยนเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง หลังเคลื่อนไหวอิสระพักหนึ่งจึงได้เข้าร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าและลาออกจากงานประจำในที่สุด  เพราะอยากช่วยงานเคลื่อนไหวทางการเมือง และ “ใช้ชีวิต”

“ถ้าเราอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำอะไร ลูกหลานของเราก็ต้องออกมาต่อสู้แบบนี้อีก เรารู้สึกว่าเรามีพลัง ถ้าเรามีพลังมากพอ ก็จะเปลี่ยนประเทศได้จริงๆ”

แม็กต้องการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้น เป็นประชาธิปไตย ยุติความอยุติธรรมในสังคมที่บางอย่างก็เกิดขึ้นและฝังรากลึกมานาน ต้องการให้มีรัฐสวัสดิการที่สร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีให้ทุกคนในประเทศ  

“ผมชอบที่เพื่อนในทะลุฟ้าพูดว่า เราอยู่ตรงนี้ เราสู้เพื่อครอบครัวเราแต่ถ้าเราชนะ จะมีอีกหลายครอบครัวที่ได้ประโยชน์ด้วย ผมจึงเลือกที่จะสู้อยู่ตรงนี้”

อ่านเรื่องของแม็กเพิ่มเติม ที่นี่

แม่ของบังทำร้านอาหารอยู่แถวเจริญนคร ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ เศรษฐกิจก็เริ่มไม่ค่อยดี ทำให้ธุรกิจของแม่ได้รับผลกระทบไปด้วย ลูกค้าน้อยลง รายได้น้อยลง ขณะที่ราคาวัตถุดิบ แก๊ส และค่าครองชีพอื่นๆ กลับแพงขึ้นอย่างสวนทางกัน ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็ได้ยินผู้ใหญ่คุยกันเรื่องปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อร้านค้าต่างๆ อยู่เสมอ นั่นทำให้บังเริ่มสนใจการเมืองขึ้นมา

บังก้าวเข้าเส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่ง “ประธานสโมสรนักศึกษา” โดยมีจุดเริ่มต้นจากคำชักชวนของเพื่อนให้ร่วมกัน “ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหว” ภายในมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์และประเด็นทางการเมืองร้อนระอุมากยิ่งขึ้น เขาและเพื่อนๆ จึงยกระดับการเคลื่อนไหวไปแตะประเด็นเรื่องทางสังคม เช่น สิทธิมนุษยชน สิทธิพื้นฐานของพลเมือง และอื่นๆ

ภายหลังร่วมจัดกิจกรรม “คืนยุติธรรม” เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 กับกลุ่มทะลุฟ้า บังเริ่มเคลื่อนไหวโดยพ่วงท้ายนามสกุล “ทะลุฟ้า” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพฝันในอนาคตของบัง เขาอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดการปฏิรูปได้ในสักวันหนึ่ง นอกจากนี้เขายังวาดฝันถึงสังคมที่ดีไว้ว่า คือ สังคมที่ไม่มีนายทุน ทุกคนสามารถแข่งขันทางการค้าได้อย่างเท่าเทียม รัฐไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกคนเท่าเทียมกัน และมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง

อ่านเรื่องของมิกกี้บังเพิ่มเติม ที่นี่

หมายเหตุ บทความนี้ถูกรวบรวมและจัดทำขึ้นก่อนวันที่ 17 พ.ย. 2565 อันเป็นเวลาก่อนที่ “ทัตพงศ์” ผู้ต้องขังการเมืองรายล่าสุดจะถูกคุมขังที่เรือนจำ บทความนี้จึงไม่มีเรื่องความจุดเริ่มต้นการเข้าสู่เส้นทางเคลื่อนไหวทางการเมืองของทัตพงศ์ สามารถติดตามอ่านเรื่องราวของทัตพงศ์ได้ในเนื้อหาอื่นๆ ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จะเผยแพร่ในอนาคตได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองตั้งแต่มีนาคม 2565

X