รัฐไทยกับการปฏิบัติต่อเยาวชนผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง 

ตวงพร เพ็ชรมนี และ ศรันย์พล อ่อนรัฐ

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

.

ปรากฏการณ์ที่เยาวชนจำนวนมากถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย และดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกระแสการชุมนุมกลางปี 2563 เป็นต้นมา 

จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 2565 มีเยาวชนถูกกล่าวหาไปแล้วไม่น้อยกว่า 283 คน ใน 211 คดี ในจำนวนนี้มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาอย่างมาตรา 112 จำนวน 17 คน หลายคดีกำลังทยอยขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาลเยาวชน 

ขณะเดียวกันเยาวชนหลายคน ที่ออกมาเคลื่อนไหว แม้ยังไม่ถึงขั้นถูกดำเนินคดี แต่ก็เผชิญกับการคุกคามติดตามของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือการกดดันต่อครอบครัวและโรงเรียน ทำให้การทำกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวเป็นไปได้ยากและเต็มไปด้วยอุปสรรค

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วนของเยาวชนที่กำลังเผชิญกับการใช้อำนาจรัฐ เหตุเพราะการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นสำหรับอนาคตของทุกๆ คน

.

เพชร ธนกร: เยาวชนอายุ 18 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 

เริ่มแรกเพชร ธนกร ถูกตั้งข้อหาครั้งแรก ในข้อหาตามมาตรา 116 จากเหตุการณ์ชุมนุม “คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ”  ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 แต่ในระยะเวลาให้หลัง 1 ปี เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแจ้งข้อหามาตรา 112 ย้อนหลัง หลังจากรัฐเปลี่ยนนโยบายให้ใช้ข้อหามาตรานี้โดยตรง หลังจากช่วงก่อนหน้านั้นมีการหยุดใช้มาช่วงระยะหนึ่ง

ต่อมาเพชร ยังถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 เพิ่มอีก 2 คดีรวด ทั้งจากเหตุปราศรัยในการชุมนุมบริเวณวงเวียนใหญ่ ใน #ม็อบ6ธันวา2563 และเหตุไปร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 นอกจากนั้นเพชรยังถูกกล่าวหาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการไปร่วมชุมนุมระหว่างยังเป็นเยาวชน อีก 2 คดี

ในแต่ละคดี เจ้าหน้าที่ได้นัดหมายธนกรไปยังสถานพินิจ เพื่อให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพินิจประวัติครอบครัว เพื่อประกอบสำนวนของพนักงานสอบสวน และนัดพบกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ให้คำปรึกษา ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อพบที่ปรึกษาคดีเยาวชน และทำแบบสอบถามทางจิตวิทยา 

ธนกรเล่าเรื่องราวการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐว่า ส่งผลกระทบต่อชีวิต ไม่ว่าจะทั้งต่อตัวเองโดยตรง หรือกับทางครอบครัวก็ตาม เขาถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะในชีวิตจริงหรือในช่องทางออนไลน์ ถึงขนาดธนกรเองตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนเก่า แล้วเข้าศึกษาในระบบพรีดีกรีของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และยังจำเป็นต้องย้ายออกจากครอบครัวมาดำเนินชีวิตเพียงลำพัง เพราะไม่อยากให้ทางครอบครัวถูกคุกคามเพราะการดำเนินกิจกรรมของตัวเอง 

นอกเหนือจากการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว เพชรยังมีประเด็นของการเข้าพบนักจิตวิทยาและเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ เขาระบุว่านักจิตวิทยาของรัฐนั้นจับตาดูชีวิตของธนกรทุกฝีก้าว ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกที่สนิทสนมกับคุณพ่อของตนเองก็ตาม อีกทั้งยังมีการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวบนแอปพลิเคชันไลน์ ธนกรได้บอกเล่าให้ฟังว่านักจิตวิทยาได้เพิ่มเป็น “เพื่อน” และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงทัศนคติทางการเมืองของเพชร หลังการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในไลน์ของเขา

ในส่วนของนักจิตวิทยาที่รัฐจัดให้กับคดีเยาวชน ยังมีความน่าสงสัยในกระบวนการ กรณีของธนกรนั้นนอกเหนือจากการวิจารณ์ทัศนคติทางการเมืองผ่านรูปโปร์ไฟล์ไลน์แล้ว ยังมีให้การบ้านที่มีเนื้องานตีกรอบความคิดเยาวชน อาทิเช่น การคัดลายมือศีล 5 และอาชีพสุจริตอย่างละ 20 จบ รวมถึงมีแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่มีเนื้อหาคุกคามถึงเพศสภาพของตัวธนกรเอง

.

สายน้ำ: เยาวชนผู้ถูกดำเนินคดี 112 และทำร้ายระหว่างจับกุม

สำหรับสายน้ำ เป็นฐานะเยาวชนคนแรกที่โดนคดีมาตรา 112 ในระลอกการเคลื่อนไหวของเยาวชนครั้งนี้ จากกรณีการร่วมกิจกรรมรันเวย์ของประชาชน  เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ที่หน้าวัดแขกสีลม 

ในคดีนี้นอกเหนือจากการพยายามยัดข้อหามาตรา 112 ให้กับเยาวชนแล้ว ยังพบว่าพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวสายน้ำ โดยอ้างว่ายังมีพยานบุคคลที่ยังสอบสวนไม่เสร็จ และเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดอีก และต่อมาศาลให้ออกหมายควบคุมตัว ทั้งที่สายน้ำเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่ได้เป็นการจับกุมตามหมายจับ และตัวสายน้ำซึ่งเป็นเยาวชนไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีความจำเป็นที่พนักงานสอบสวนจะต้องขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวไว้ในระหว่างสอบสวน

ในกรณีของสายน้ำ ยังได้รับการปฏิบัติต่อรัฐอย่างรุนแรงจากกรณีการถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 1 เขาเล่าว่าระหว่างที่กำลังช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ล้มอยู่ ก็โดนกระสุนยางยิงเข้าที่หลังนัดหนึ่ง เขาพยายามจะวิ่งต่อ แต่กลับถูกยิงอีกนัดเข้าที่ขา หลังจากนั้นก็โดนเจ้าหน้าที่ คฝ. ตะครุบตัวลงไปกับพื้น ก่อนโดนทั้งโล่ กระบองฟาดลงมา และจำได้ว่าถูกกระทืบด้วย ทั้งๆ ที่ถูกล็อกมือไว้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังกระทืบต่อ และไม่ได้มีการแจ้งสิทธิต่อสายน้ำในระหว่างการจับกุมตัวดังกล่าว 

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังพยายามปิดบังปลายทางของสถานที่ควบคุมตัว ในกรณีของสายน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นำตัวไป บก.ตชด. เหมือนคนอื่นๆ แต่นำตัวไปที่ สน.สุทธิสาร พร้อมกับเยาวชนที่ถูกจับกุมอีก 3 คน โดยให้เหตุผลว่าเป็นเยาวชน จึงนำไปที่ สน. และยังยื้อตัวสายน้ำไว้ทั้งคืน ทั้งที่สายน้ำได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ ก่อนจะให้นำตัวไปโรงพยาบาล

ความไม่ชัดเจนเรื่องสถานที่ควบคุมตัวนั้น ยังเกิดขึ้นกับเยาวชนคนอื่นๆ อีก อาทิ กรณีของเสกจิ๋วและโป๊ยเซียน เยาวชนอายุ 15 และ 14 ปี  ในคืนวันที่ 20 มี.ค. 2563 ตำรวจทำการจับกุม โดยมีการล้อมรถแท็กซี่ ก่อนจะให้เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบนั่งประกบเยาวชนในรถ โดยตำรวจแจ้งว่าจะพาทั้งคู่ไปที่ สน.พญาไท แต่สุดท้ายกลับพาไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 

ความพยายามปิดบังสถานที่ควบคุมตัว หรือแม้แต่ปรับเปลี่ยนปลายทางกะทันหันนั้น ไม่เพียงแค่ก่อให้เกิดความลำบากในการเข้าถึงสิทธิของผู้ถูกจับกุมที่ควรจะได้รับแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดการบังคับสูญหายได้เช่นกัน เนื่องจากสังคมภายนอกไม่มีทางรับทราบได้เลยว่าตัวเยาวชนหรือผู้ถูกจับกุมนั้น จะถูกนำตัวไปสถานที่ใด และเจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการใดไปบ้าง

.

อันนา นักเรียนเลว: ผู้มีชื่อในบัญชีเฝ้าระวัง และถูกจับกุมอย่างละเมิดสิทธิเด็ก

กรณีของ “อันนา นักเรียนเลว” วัย 16 ปี เป็นผู้มีชื่อปรากฎอยู่บน “บัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (ระดับแดง)” เธอถูกจับกุมระหว่างการไปรับประทานอาหารที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยทางเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางผ่านของขบวนเสด็จในวันนั้น และยังอ้างอีกว่าผู้ถูกจับกุมเคยมีประวัติและมีพฤติการณ์ก่อกวน จึงได้นำตัวอันนาและเพื่อนไปควบคุมตัวไว้ก่อนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

ก่อนจะย้ายผู้ถูกจับกุมไปยังสโมสรตำรวจ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่ามีมวลชนจำนวนหนึ่งมารวมตัวให้กำลังใจแก่ผู้ถูกจับกุม จึงต้องย้านตัวเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย หลังจากนั้นจึงปล่อยตัวออกมา โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด

การควบคุมตัวอันนาดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ อย่างชัดเจน นับได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก แถมยังส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจอีกด้วย โดยตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ระบุว่าหากพบเด็กที่เสี่ยงต่อกระทำความผิด ให้ดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงก่อน กลับกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่ พม. ที่เข้าทำการจับกุม ไม่ได้คำนึงถึงมาตรานี้แต่อย่างใด

หลังจากมีชื่อของตนปรากฎอยู่บน “บัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (ระดับแดง)” อันนายังประสบพบเจอกับการติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบได้ติดตามอันนาไปยังสถานที่ต่างๆ หลายครั้งติดตามเธอไปถึงที่พักส่วนตัว เช่น ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมานั่งเฝ้าที่หอพักและออกติดตามเธอไปที่เรียนพิเศษในช่วงบ่าย 

นอกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการโทรศัพท์มากดดันแม่ของอันนา เพื่อให้ไปกดดันให้เธอเลิกทำกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย

.

ปูน ธนพัฒน์ ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไกลถึง สภ.สุไหงโก-ลก

“ปูน ธนพัฒน์” เป็นอีกคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวม 3 คดี โดยมีคดีหนึ่งที่ไปถูกกล่าวหาไกลถึง สภ.สุไหงโก-ลก ด้วยข้อกล่าวหาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กกลุ่ม “ตลาดหลวง” ในระหว่างยังอายุไม่ถึง 18 ปี 

ในคดีนี้ พนักงานสอบสวนยังได้ยื่นขอออกหมายควบคุมตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนราธิวาส  ทางทนายได้แถลงคัดค้านด้วยวาจาว่า เนื่องจากปูนถูกดำเนินคดีในฐานะเยาวชนและมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอื่น จึงควรให้ศาลเยาวชนที่มีขอบเขตอำนาจตามพื้นที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นปกติ มีอำนาจรับพิจารณาความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แต่ทว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ควบคุมตัวตามคำขอ คดีนี้ต่อมา อัยการได้สั่งฟ้องคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในกรุงเทพฯ 

อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีเผารูปพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม คดีนี้ทางทนายความได้ยื่นขอคำร้องให้ศาลโอนย้ายคดีของปูนไปยังศาลเยาวชนฯ เนื่องจากเห็นว่าสภาพร่างกายและจิตใจเขายังเป็นเยาวชน และในวันเกิดเหตุที่ถูกกล่าวหา เขาอายุ 18 ปี 9 วัน เท่านั้น จึงได้ขอให้ส่งตัวปูนไปให้แพทย์วินิจฉัยสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ 

แม้แพทย์จะได้มีความเห็นว่าปูนมีอาการวู่วาม คล้อยตามความเห็นเพื่อน รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตั้งใจได้แค่บางส่วน มีพฤติกรรมและนิสัยสอดคล้องกับพฤติกรรมของเยาวชน แต่สุดท้ายศาลอาญาเห็นว่า ไม่อนุญาตให้ทำการย้ายโอนคดีไปยังศาลเยาวชนฯ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นไปตามวัยของจำเลยอยู่แล้ว

.

พลอย เบญจมาภรณ์: การถูกจับกุมควบคุมตัวในคดี 112

ด้านเบญจมาภรณ์ หรือ “พลอย ทะลุวัง” ก็ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 2 คดีรวดในช่วงปี 2565 นี้ คดีหนึ่งเหตุจากการแชร์โพสต์จากเพจทะลุวัง เธอถูกจับกุมตามหมายจับขณะเดินทางไปพักผ่อนกับ ‘ใบปอ’ และ ‘เมนู’ สุพิชฌาย์ โดยตำรวจทางหลวงใช้รถยนต์จำนวน 4 คัน เข้าสกัดบริเวณเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

โดยขณะจับกุม ตำรวจไม่ได้มีการแสดงหมายจับ แต่แจ้งทางวาจาว่ามีหมายจับของทั้งสามคน ทั้งสามจึงเจรจาขอนั่งรถคันเดิมตามตำรวจไปเอง โดยชุดจับกุมนำไปยังหน่วยบริการตำรวจทางหลวง อ.ชะอำ เพื่อทำบันทึกจับกุม ตำรวจยังมีความพยายามจะขอตรวจค้นอุปกรณ์มือถือและค้นรถ โดยมีการแสดงคำสั่งอนุญาตให้เข้าถึงโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ของทั้งสามที่ออกโดยศาลอาญา เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 แต่ทั้งสามขอเจรจาว่าให้ไปถึง บก.ปอท. เจ้าของคดี และได้พบทนายก่อน จึงจะให้ตรวจค้นได้ 

หลังจากนั้น ยังมีการเจรจาให้ทั้งสามสามารถเดินทางโดยรถยนต์ของตนเองไปได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยินยอม และจัดให้ทั้งสามนั่งรถตู้ที่ทางตำรวจหามาให้ พร้อมมีตำรวจ 5 นายโดยสารไปด้วย หลังจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพลอยแล้ว จึงนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมและขอออกหมายควบคุมตัวที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศาลลงความเห็นว่าการจับกุมนั้นชอบด้วยกฎหมายและออกหมายควบคุมตัว 

นอกจากคดี 112 แล้ว พลอยยังถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมอื่นๆ ตั้งแต่เริ่มร่วมกิจกรรมทางการเมืองในปี 2563 เป็นต้นมา รวมแล้วทั้งหมด 6 คดีอีกด้วย

จากกรณีตัวอย่างดังกล่าว เราสามารถเห็นได้ว่ารัฐมีรูปแบบการคุกคามเยาวชน โดยเริ่มจากก่อให้เกิดความกลัวโดยการข่มขู่ ผ่านการเข้าติดตามสอดส่องหรือพูดคุยถึงบ้าน หรือแม้กระทั่งช่องทางออนไลน์ ต่อมาจึงยกระดับผ่านการใช้อำนาจที่มีอยู่ผ่าน “กระบวนการทางกฎหมาย” ซึ่งทำให้เยาวชนมีภาระทางคดี และการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยง่าย หลายคนที่เผชิญกับแรงเสียดทานเหล่านี้ ก็ต้องเลือกที่จะไม่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองหรือร่วมชุมนุม

ในสถานการณ์ที่เยาวชนจำนวนมากมีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากสิ่งที่รัฐไทยอยากให้เชื่อหรือพยายามปลูกฝัง การใช้อำนาจรัฐในลักษณะนี้ ดูจะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ แต่เป็นเพียงแค่การปราบปรามเพื่อรักษาอำนาจของรัฐให้ดำรงต่อไปได้

.

X