ทนายยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีวางเพลิงเผารูป ร.10 ของ “ธนพัฒน์” เยาวชนอายุ 18 ไปศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 97 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ

7 มิ.ย. 64 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้ายื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งโอนคดีวางเพลิงเผารูปรัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 64 ซึ่งพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้อง “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) เยาวชนอายุ 18 ปี ในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์”​ และ “วางเพลิงเผาทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 217 ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

ก่อนหน้านี้ อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดี และยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 64 โดยศาลรับฟ้องคดีนี้ไว้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.1271/2564 ก่อนให้ประกันตัวธนพัฒน์ระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางเงินสดจำนวน 200,000 บาท เป็นหลักประกัน และกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 28 มิ.ย. 64 เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นวันเดียวกับ “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ จำเลยอีกรายในคดีที่ยื่นฟ้องไปก่อนหน้าแล้วเมื่อ 25 พ.ค. 64 จากเหตุการณ์เดียวกัน

ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งของศาลอาญา ซึ่งศาลอาจจะมีคำสั่งภายใน 3-5 วัน หรืออาจจะสั่งในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน 28 มิ.ย. 64 

.

เปิดคำร้องขอศาลใช้ดุลยพินิจ โอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชน ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 97 

คำร้องที่ทนายความยื่นต่อศาลอาญา ขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งโอนคดีของธนพัฒน์ไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ โดยอ้างถึงพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 พร้อมกับข้อเท็จจริงทางคดี และอุปนิสัยของธนพัฒน์ มีรายละเอียดดังนี้ 

คำร้องเผยว่า ในวันเกิดเหตุคือวันที่ 28 ก.พ. 64  ธนพัฒน์ (จำเลย) มีอายุเกิน 18 ปี เพียง 9 วัน โดยเยาวชนตามคำจำกัดความในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.​ 2553 จะต้องมีอายุไม่เกิน 18 ปี อย่างไรก็ตาม ในพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ มาตรา 97 ได้บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ กระทำความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจ และให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน” 

แม้จำเลยจะมีอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ แต่อายุเกินเพียง 9 วันเท่านั้น และยังมีอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ตามนัยแห่งพระราชบัญญัตินี้ ประกอบกับจำเลยมีรูปร่างผอมแห้ง สภาพจิตใจค่อนข้างวิตกกังวลกับคดีความเป็นอย่างมาก อาจส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของจำเลย ปัจจุบันจำเลยยังศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และมีนิสัยที่เป็นเด็กและเยาวชน สมควรได้รับการเลี้ยงดูสั่งสอนจากผู้ปกครอง หรือส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ที่รัฐอาจมอบโอกาสให้ 

จำเลยมีนิสัยเป็นเด็กดี ไม่เคยต้องคำพิพากษาลงโทษให้จำคุกหรือประพฤติร้ายแรงจนเป็นคดีความ จำเลยอายุยังน้อย เส้นทางชีวิตยังอีกยาวนาน หากมีการดำเนินคดีในศาลอาญาเยี่ยงผู้ใหญ่ อาจสร้างหวาดกลัวให้จำเลยจดจำเป็นตราบาปในใจ อันมิอาจขัดล้างให้สะอาดลงได้ 

ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติที่กล่าวถึงตามนัยมาตรา 4 และมาตรา 97 ประกอบกับข้อเท็จจริงที่กล่าวมาแล้วว่าจำเลยยังคงมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัย เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชน จึงขอให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์ของจำเลยซึ่งยังมีลักษณะเป็นเด็กและเยาวชน พิจารณาสั่งโอนคดีของจำเลยไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง.

ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นับตั้งแต่การกลับมาใช้มาตราดังกล่าวมาดำเนินคดีกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตั้งแต่เดือน พ.ย. 63 พบผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเยาวชนอายุ 18 ปี อย่างน้อย 2 ราย และต้องเข้ากระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันกับผู้ใหญ่ ได้แก่ “ธนพัฒน์” ผู้ถูกดำเนินคดีนี้ และ “คริษฐ์” ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการปราศรัยถึงประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรีในการชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว (อ่านเรื่องราวการต่อสู้ของคริษฐ์)

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สั่งฟ้อง ธนพัฒน์ “ม.112-เผาทรัพย์” คดีวางเพลิงรูป ร.10 หน้าเรือนจำ ก่อนศาลให้ประกัน 2 แสน พร้อมเงื่อนไข “ห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ”

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X