นัดไต่สวนโอนย้ายคดีเผารูป ร.10 ของ “ปูน ธนพัฒน์” ศาลนัดฟังคำสั่ง 27 ก.ย. นี้

วันนี้ (20 ก.ย. 64) เวลา 13.30 น. ศาลอาญา รัชดา นัดไต่สวนคำร้องขอโอนย้ายคดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) ไปยังศาลเยาวชนกลางและครอบครัว หลังก่อนหน้านี้ ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 64 ศาลได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องซึ่งทนายความได้ยื่นขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งโอนคดี โดยให้ธนพัฒน์ไปตรวจสภาพร่างกายและจิตใจว่าเข้าเกณฑ์ว่าเป็นเยาวชนหรือไม่ ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ และนัดไต่สวนในวันที่ 19 ก.ค. 64 

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม ศาลจึงมีคำสั่งยกเลิกนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 19 ก.ค. 64 และเลื่อนมาไต่สวนในวันนี้แทน (20 ก.ย. 64) 

สำหรับคดีนี้ ธนพัฒน์ถูกสั่งฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และมาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์” เหตุวางเพลิงเผารูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564

ที่ห้องพิจารณาคดี 903 ธนพัฒน์ พร้อมกับมารดา และทนายความมาศาล  อัยการโจทก์มาศาล ทนายได้แถลงต่อศาลว่า จะไต่สวนพยานจำนวน 2 ปาก ได้แก่ ธนพัฒน์ และมารดาของธนพัฒน์ ส่วนศาลได้นำผลการตรวจร่างกายของธนพัฒน์ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ให้ทนายความและธนพัฒน์อ่าน โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่า ธนพัฒน์มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น มีสภาพเป็นเยาวชน 

ส่วนที่จำเลยไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธนั้น แพทย์ได้ลงความเห็นว่า ยังไม่มีความสามารถในการวินิจฉัยได้ จึงให้ส่งไปตรวจที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์แทน แต่จำเลยยังไม่ได้ไป จึงเหลือแต่คำวินิจฉัยของแพทย์ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติเท่านั้น 

ก่อนธนพัฒน์เบิกความต่อศาล ศาลได้ให้ทนายความสอนธนพัฒน์กล่าวคำสาบานตน แต่ธนพัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ได้นับถือศาสนาอะไร ก่อนที่จะกล่าวคำปฏิญาณต่ออุดมการณ์ของตัวเอง เมื่อศาลเห็นว่า ธนพัฒน์นั้นเอามือไพล่หลัง ขณะกล่าวคำปฏิญาณ ศาลได้ขอให้ธนพัฒน์นำมือมาวางบนโต๊ะข้างหน้าให้เรียบร้อย

ศาลได้สอบถามถึงข้อมูลส่วนตัว ธนพัฒน์ตอบว่า ปัจจุบันตนเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง และยังแถลงถึงน้ำหนัก ส่วนสูง และค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากมารดา

เมื่อศาลถามถึงการลงทะเบียนเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ธนพัฒน์เบิกความว่า ตนได้สมัครและลงทะเบียนเรียนไว้ แต่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหน่วยกิต และคิดว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว โดยจะกลับไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายให้จบก่อน จากนั้นศาลจึงสอบถามว่า ธนพัฒน์ได้ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงไว้เมื่อไหร่ ธนพัฒน์เบิกความตอบว่า จำวันเดือนปีที่สมัครไปไม่ได้ แต่จำได้ว่าสมัครปีนี้ 

ตอบทนายถาม ธนพัฒน์เบิกความว่า ตนเดินทางมาที่กรุงเทพฯ เพื่อตั้งใจมาเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ลงทะเบียนเรียนไว้ แต่ยังไม่ได้เริ่มเรียน และยังไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยกิตรายวิชา 

ส่วนปัจจุบันพักอาศัยอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ แต่ช่วงแรกที่เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ​ นั้นพักอาศัยอยู่คนเดียว ส่วนเรื่องกลับไปเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษานั้น แม่ได้คุยกับทางโรงเรียนแล้ว และทางโรงเรียนยินดีรับธนพัฒน์กลับไปศึกษาต่อ 

ตอบโจทก์ถามค้าน ธนพัฒน์เบิกความว่า จำไม่ได้ว่าเหตุการณ์ในคดีเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อไหร่ แต่จำได้ว่า หลังเกิดเหตุ เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และพนักงานสอบสวนได้สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้บันทึกถ้อยคำ และอ่านถ้อยคำให้การให้ธนพัฒน์ทราบ โดยระหว่างการสอบสวน มีทนายความและมารดาเข้าร่วมอยู่ด้วย 

โจทก์ถามถึงกรณีธนพัฒน์ไม่นับถือศาสนามาตั้งแต่เมื่อไหร่ ธนพัฒน์ตอบ เพิ่งเลิกนับถือศาสนาเมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างที่พักอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว โจทก์ถามธนพัฒน์ว่า ได้ออกไปเข้าร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่ และมีใครพาไปหรือบังคับให้ไปหรือไม่ ธนพัฒน์ตอบว่า ไปเข้าร่วมชุมนุมจริง และไม่ได้มีใครบังคับให้ไป โจทก์จึงถามต่อว่า ธนพัฒน์ได้ตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมด้วยตัวเองใช่หรือไม่ ธนพัฒน์ตอบใช่  

ธนพัฒน์เบิกความตอบโจทก์ว่า สมัครเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เนื่องจากต้องการมีความรู้ด้านกฎหมาย และทราบว่าถ้าจบการศึกษาจะได้นิติศาสตรบัณฑิต โจทก์ถามต่อว่า ตอนลงทะเบียนเรียนไม่ได้ถูกใครชักจูงใช่หรือไม่ ธนพัฒน์ตอบ มีคุยกับเพื่อนก่อนตัดสินใจลงทะเบียนเรียน 

หลังเกิดเหตุ ธนพัฒน์จึงได้ย้ายมาอาศัยกับน้าได้ 2-3 เดือน และไม่ได้กลับบ้านที่จังหวัดกาญจนบุรี เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่เช่นนั้นจะกลับไปเรียนต่อที่โรงเรียนแล้ว 

เมื่อโจทก์ถามว่า มีใครชักจูงให้ไปในวันดังกล่าวหรือไม่ ทนายได้คัดค้าน ระบุว่าเป็นคำถามในเนื้อหาคดี ศาลจึงได้พิจารณาให้เปลี่ยนคำถาม โจทก์จึงถามถึงการติดต่อพูดคุยกับมารดาแทน ธนพัฒน์เบิกความตอบว่า ธนพัฒน์ติดต่อพูดคุยกับมารดาอยู่บ้าง แต่เล่าให้แม่ฟังเพียงบางเรื่องเท่านั้น ตนมักไม่ค่อยปรึกษากับแม่เรื่องเข้าร่วมการชุมนุม มักปรึกษากับน้ามากกว่า 

จากนั้นโจทก์ได้ถามว่า ก่อนเกิดเหตุ ธนพัฒน์ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองมาตลอดหรือไม่ ธนพัฒน์ตอบว่า ไม่ใช่ทุกครั้ง ด้านโจทก์ถามต่ออีกว่า หลังเกิดเหตุได้เข้าร่วมการชุมนุมที่ไหนอีกหรือไม่ ธนพัฒน์เบิกความว่า มีการไปเข้าร่วมการชุมนุมอยู่บ้าง สำหรับวันนี้ ธนพัฒน์ทราบอยู่แล้วว่าจะมีการไต่สวน 

โจทก์จึงถามว่า ทราบหรือไม่ว่าถูกฟ้องในฐานความผิดใด ธนพัฒน์ตอบฐานความผิดต่อพระมหากษัตริย์ โจทก์พยายามถามว่า แต่ธนพัฒน์ก็ยังคงใส่เสื้อ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” มาศาล ก่อนที่ทนายคัดค้าน ระบุไม่เกี่ยวกับการไต่สวนโอนย้ายคดี ศาลจึงให้โจทก์เปลี่ยนคำถามใหม่ โจทก์จึงถามว่า ธนพัฒน์ตัดสินใจสวมใส่เสื้อตัวนี้เอง 

ก่อนเสร็จสิ้นการเบิกความของธนพัฒน์ ศาลได้ถามอีกว่า ธนพัฒน์ได้เสื้อตัวนี้มาจากไหน ธนพัฒน์ตอบว่า เป็นเสื้อที่ได้รับมาฟรี 

ตอบทนายจำเลยถามติง ธนพัฒน์เบิกความว่า เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อตั้งใจเรียน pre degree ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ได้ตั้งใจเดินทางมาเข้าร่วมการชุมนุม ปัจจุบันยังเดินทางกลับกาญจนบุรีไม่ได้ เพราะสถานการณ์โควิด จึงอยู่ที่กรุงเทพฯ ต่อ 

เวลา 14.30 น. มารดาของธนพัฒน์ขึ้นเบิกความต่อ ศาลสอบถามถึงข้อมูลประวัติส่วนตัวของมารดา โดยพยานได้เบิกความว่า ปัจจุบัน ตนประกอบอาชีพค้าขาย อยู่ที่จังหวัดยะลา และไม่ได้อยู่อาศัยกับธนพัฒน์ แต่ยังโทรศัพท์คุยกับลูกอยู่ ถามไถ่กันในฐานะมารดาบุตรเท่านั้น 

ตอบทนายจำเลย มารดาเบิกความว่า ธนพัฒน์นั้นมีนิสัยดื้อเงียบ บางทีก็ฟังแม่ แต่ไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยแม่ทราบว่า ธนพัฒน์ถูกดำเนินคดี หลังธนพัฒน์ถูกจับ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรไปหา ส่วนเรื่องการกลับไปเรียนมัธยมศึกษาต่อ มารดาได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว และทางโรงเรียนยินดีรับธนพัฒน์กลับมาศึกษาต่อ เพราะยังไม่พ้นสภาพนักเรียน ปัจจุบัน ธนพัฒน์กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ทำให้ธนพัฒน์เป็นเด็กที่คล้อยตามเพื่อนได้ง่าย 

ตอบโจทก์ถามค้าน มารดาเบิกความว่า ก่อนหน้านี้ธนพัฒน์นับถือศาสนาพุทธ และไม่ทราบว่า ธนพัฒน์เปลี่ยนศาสนาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนธนพัฒน์มาที่กรุงเทพฯ เป็นเด็กเรียนดี เรียนเก่ง ช่วงที่ธนพัฒน์มาอยู่กรุงเทพฯ ตนก็ไม่ทราบมากนัก เพราะถ้ามีอะไรมักไม่ค่อยบอก 

หลังจากการไต่สวนเสร็จสิ้น ศาลได้กำหนดนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 ก.ย. 64 เวลา 10.00 น. 

ทั้งนี้การไต่สวนกรณีของธนพัฒน์ เกิดขึ้นหลังฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้มีการโอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 97 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ หากศาลพิจารณาเห็นว่ามีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน โดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว สามารถมีคำสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนฯ ได้

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ทนายยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีวางเพลิงเผารูป ร.10 ของ “ธนพัฒน์” เยาวชนอายุ 18 ไปศาลเยาวชนฯ ตามมาตรา 97 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ

คดีวางเพลิงรูป ร.10 หน้าเรือนจำ ศาลให้ส่ง “ธนพัฒน์” ตรวจสภาพร่างกายจิตใจ ส่วน “แอมมี่” นัดสืบพยาน มี.ค. ปีหน้า

X