เมษายน: สั่งฟ้องคดีการเมืองอีก 6 คดี เป็นคดีเยาวชน 3 คดี และคดีคาร์ม็อบหาดใหญ่-สิงห์บุรี

ในช่วงวันที่ 1 – 30 เม.ย. 2565 – ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีทางการเมืองที่ไม่ใช่คดีมาตรา 112 และอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อศาลรวม 6 คดี เป็นคดีของเยาวชน 3 คดี ได้แก่ คดีสืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเผารถตำรวจ สน.พญาไท มีจำเลย 1 ราย ในคดีนี้ยังมีจำเลยอื่นอีก 3 ราย ซึ่งอัยการขอให้รวมคดีเข้าด้วยกัน, คดีจากเหตุสลายการชุมนุมที่หมู่บ้านทะลุฟ้า บริเวณด้านข้างทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. 2564 กรณีของเยาวชนถูกฟ้องแยก เนื่องจากติดโควิดในวันที่อัยการนัดฟังคำสั่ง คดีนี้มีจำเลยเยาวชนรวม 4 ราย และคดีจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 ในช่วงเย็นที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยสมาชิก #การ์ดปลดแอก หรือ #ม็อบ16มกรา มีจำเลย 1 ราย คือ “เพชร” ธนกร

คดีของจำเลยผู้ใหญ่ 3 คดี ได้แก่ คดีกิจกรรมคาร์ม็อบ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วันที่ 14 ส.ค. 2564 มีจำเลยเป็นนักกิจกรรม/ประชาชน 11 ราย, คดีกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดสิงห์บุรีเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 มีจำเลย 1 ราย ศาลให้ประกัน กำหนดหลักทรัพย์ 20,000 บาท และคดีสุดท้ายเป็นคดีของนักกิจกรรม 4 ราย กรณีชุมนุมและสาดสีที่ด้านหน้าของพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ศาลให้ประกันทั้งหมด เรียกหลักประกันรวม 175,000 บาท พร้อมทั้งกำหนดให้ต้องติด EM  ห้ามออกนอกเคหสถานช่วงกลางคืน และห้ามทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และศาลเสื่อมเสีย ทั้งที่พฤติการณ์ในคดีไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ แต่อย่างใด

+++ สั่งฟ้องเยาวชนวัย 15 ปี เหตุถูกกล่าวหาวางเพลิงรถตำรวจ สน.พญาไท อัยการขอรวมคดีกับจำเลยอีก 3 ราย เหตุเดียวกัน +++

1 เม.ย. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1) ได้มีคำสั่งฟ้อง “วิช” (สงวนชื่อสกุล) เยาวชนอายุ 15 ปี ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับเพื่อน 3 ราย (แยกเป็นอีกคดี) วางเพลิงรถตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพญาไท (สน.พญาไท) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 

ทั้งหมดถูกจับกุมตามหมายจับ ต่อมาถูกแจ้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหสถานในเวลาต้องห้าม”

ทั้งนี้ คดีนี้มีข้อน่าสังเกตคือ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ไม่อนุญาตให้ทนายความหรือผู้ปกครองเข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนเยาวชน จนกระทั่ง 2 ชั่วโมงต่อมา ทนายจึงได้พบลูกความที่อยู่ในสภาพตัวสั่นเทา ลักษณะมีความหวาดกลัว การสอบสวนดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 6 – 7 นาย ตลอดกระบวนการ ทางเจ้าหน้าที่ฯ ยังได้บันทึกภาพวิดีโอการสอบสวนเอาไว้ด้วย

>>> จับวัยรุ่น 2 ราย อ้างเหตุร่วมปาระเบิดเพลิงใส่ป้อมจราจรพญาไท #ม็อบ30กันยา ก่อนศาลไม่ให้ประกัน – อุ้มหายเยาวชนหลังจับฝ่าเคอร์ฟิว ก่อนพบตัว ที่ สน.ดินแดง ตอนเช้า

>>> จับเยาวชน 15 ปี กล่าวหา ‘เผารถยก-ปาระเบิดเพลิงใส่ สน.พญาไท’ ก่อนย้ายตัวสอบกลางดึก ไม่แจ้งทนาย

>>> ตร. ดินแดง หลอกเยาวชนไปเอารถที่โดนยึด แต่กลับแสดงหมายจับ 2 คดี กล่าวหาวางเพลิงรถ-ป้อม ตร. ทั้งไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลให้ประกันวางเงินสี่หมื่น

>>> จับเยาวชน 15 ปี เพิ่มอีกหนึ่งราย กล่าวหาวางเพลิงรถตำรวจ สน.พญาไท ตร.ไม่ให้ญาติ-ทนายความเข้าพบในชั้นจับกุม

.

สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกที่แยกดำเนินคดี และพวกอีกประมาณ 30 คน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ออกออกที่พักในระยะเวลาเคอร์ฟิวและขับรถมอเตอร์ไซค์ซ้อนท้ายกันไปราว 10 – 15 คัน มาจากสามเหลี่ยมดินแดงจนถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เป็นการรวมตัวที่มีจุดประสงค์คือ ต้องการไปวางเพลิง เผาทรัพย์ และทุบทำลายรถยนต์ของตำรวจหลายคันที่จอดอยู่ตามเส้นทางสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้รถยนต์ 2 คัน อันเป็นทรัพย์สินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย กระจกหลังแตก กระจกมองข้างแตก บริเวณท้ายกะโปรงขวาถลอกและท้ายรถบุบ รวมมูลค่าความเสียหายของรถทั้ง 2 คัน เป็นเงิน 18,000 บาท

ในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยกับพวกเมื่อเดินทางมาถึงสี่แยกพญาไท ยังได้ร่วมกันวางเพลิงรถยก-ลากจูงอันเป็นทรัพย์สินของ สตช. ทำการราดด้วยของเหลวไวไฟบนเบาะนั่งและจุดไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ คิดมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 1,399,000 บาท ต่อมา วันที่ 3 ม.ค. 2565 เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยได้ นำส่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ต่อมาศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยไม่ต้องวางหลักประกัน หากผิดสัญญาประกัน ปรับ 5,000 บาท

นอกจากที่มีคำสั่งฟ้อง พนักงานอัยการยังได้ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้รวมคดีความของจำเลยรายนี้เข้ากับคดีของเยาวชน 3 รายที่ถูกฟ้องไปก่อนหน้านี้ ศาลได้อนุญาตตามขอ และยังอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา ใช้เงื่อนไขประกันเดิม 

+++ ฟ้องเพิ่มอีก 1 ราย กรณีสลายการชุมนุมหมู่บ้านทะลุฟ้าช่วงเช้า รวมเยาวชนถูกฟ้อง 4 ราย ศาลปล่อยชั่วคราว ใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน +++

8 เม.ย. 2565 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3) ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ร่วมชุมนุมเยาวชนอีก 1 ราย ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในคดีสืบเนื่องจากการเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ในช่วงเช้าวันที่ 28 มี.ค. 2564 โดยมีผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน 4 ราย (นับรวมรายนี้ด้วย) ก่อนหน้านี้ถูกอัยการสั่งฟ้องไปแล้วรวม 3 คน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางการจราจร, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 19 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

สาเหตุที่ต้องฟ้องแยก เพราะเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 เยาวชนหญิงรายนี้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาฟังคำสั่งของอัยการได้ สำหรับคดีหมู่สลายชุมนุมบ้านทะลุฟ้าทั้งในช่วงเช้าและช่วงเย็น ในกรณีของผู้ใหญ่ได้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงดุสิตไปแล้วแยกเป็น 2 คดี รวมจำนวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 93 คน

หลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่กำหนดหลักประกัน และกำหนดนัดสอบถามครั้งต่อไป วันที่ 20 มิ.ย. 2565

อ่านพฤติการณ์คำฟ้องที่: ครึ่งเดือนมีนา อัยการฟ้องอีก 4 คดี ม็อบแยกบางนา – คดีเยาวชนตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า – ม็อบ #ปล่อยเพื่อนเรา ต้นปี 64 – ม็อบทะลุแก๊สยังทยอยฟ้องอีก

>>> สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด

>>> นัดสอบคำให้การ คดี “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ปชช.และนักกิจกรรมทะลุฟ้า 93 ราย เหตุคฝ. สลายหมู่บ้านทะลุฟ้า 28 มี.ค.

+++ ฟ้องเยาวชนอีกคดี กรณีร่วม #ม็อบ16มกรา ปี 64 เรียกร้องให้ปล่อยสมาชิก #การ์ดปลดแอก ศาลให้ประกัน ใช้หลักทรัพย์ 5,000 บาท +++

8 เม.ย. 2565 – พนักงานอัยการฯ ได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมเยาวชน “เพชร” ธนกร ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในคดีสืบเนื่องจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2564 ในช่วงเย็นที่สามย่านมิตรทาวน์ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยสมาชิก #การ์ดปลดแอก หรือ #ม็อบ16มกรา ใน 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6)

ในวันดังกล่าว แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ช่วง ในช่วงบ่ายมีกิจกรรม “เขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตร” จัดโดย “การ์ดปลดแอก” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกิจกรรมมีการเขียนป้ายผ้าเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาลและรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังกิจกรรมเริ่มขึ้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมผู้ร่วมชุมนุมรวม 6 ราย ก่อนส่งตัวไปควบคุมไว้ที่ บก.ตชด. ภาค 1 เป็นเหตุให้เกิดการชุมนุมตามมาที่บริเวณห้างสามย่านมิตรทาวน์ในเย็นวันเดียวกัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว

คดีนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 8 ราย โดยถูกจับกุมจากที่ชุมนุมหน้าสามย่านมิตรทาวน์ 4 ราย และถูกแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหาเช่นเดียวกันนี้ ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ออกหมายเรียก “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ อีก 1 ราย และยังออกหมายเรียกเพิ่มเติมอีก 3 ราย มีเพียงธนกรคนเดียวที่เป็นเยาวชน

ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลเยาวชนฯ ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 5,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดสอบถามในวันที่ 20 มิ.ย. 2565

>>> แจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “จัสติน” อีกคดี กรณี #ม็อบ16มกรา สามย่าน เรียกร้องปล่อยเพื่อนเรา

>>> เยาวชน-ประชาชน ผู้ร่วม #ม็อบ16มกรา เรียกร้องปล่อย #การ์ดปลดแอก ถูกแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 2 ราย

ขอบคุณรูปภาพจาก Matichon Online

+++ สั่งฟ้องนักกิจกรรม/ประชาชน 5 ข้อหา เหตุร่วมคาร์ม็อบ หาดใหญ่ 14 ส.ค. 64 ศาลให้ประกันทั้งหมดโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน แต่จะปรับหากผิดสัญญาประกัน +++

26 เม.ย. 2565 – พนักงานอัยการฯ สั่งฟ้องนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนจำนวน 11 ราย ต่อศาลแขวงสงขลา รวม 5 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันส่งเสียงอื้ออึง และนำวัสดุหรือสิ่งอื่นใดมาปิดบังป้ายทะเบียนรถ สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในกิจกรรมคาร์ม็อบ จัดขึ้นในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2564

สำหรับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ ระบุว่า ตำรวจพบว่ามีการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมม็อบในวันที่ 14 ส.ค. 2564 ที่บริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ เมื่อถึงวันและเวลาที่นัดหมาย ปรากฏว่ามีกลุ่มคนขับขี่ยานพาหนะทั้งรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์มาจอดที่บริเวณทางเข้าค่ายฯ ถนนกาญจนวนิช ฝั่งมุ่งหน้าไปสะเดา มีการใช้กระดาษสีขาวปิดบังป้ายทะเบียน

การชุมนุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมราว 150 คน มีรถยนต์ 32 คัน และรอมอเตอร์ไซค์ ราว 35 คัน และรถบรรทุกหกล้อ 1 คัน ซึ่งทำการติดตั้งเครื่องขยายเสียงไว้ บนรถมีผู้ชุมนุมหลายคนที่โดยสารมาด้วย ทำการประกาศจัดขบวนและปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปจนถึงบริเวณหน้าป้ายสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่แล้วทำการเทอาหารสุนัขและสาดสีบริเวณทางเท้าหน้าป้าย จากนั้นจึงเคลื่อนต่อไปที่หน้าหอนาฬิกาหาดใหญ่ ประกาศจบกิจกรรม ต่อมา พ.ต.ท.พัทธนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ รองผู้กำกับการสิบสวนสถานีตำรวจภูธรคอหงส์ ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในชั้นพิจารณา ไม่กำหนดหลักทรัพย์ประกัน แต่หากผิดสัญญาประกันจะปรับคนละ 5,000 บาท กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 18 พ.ค. 2565

ขอบคุณรูปประกอบจาก คม ชัด ลึก

+++ สั่งฟ้องจ่าสิบเอก เหตุร่วมคาร์ม็อบในจังหวัดสิงห์บุรี วันที่ 31 ส.ค. 64 ต่อมา ศาลให้ประกัน แต่กำหนดหลักประกันเป็นเงิน 20,000 บาท +++

28 เม.ย. 2565 – พนักงานอัยการฯ ได้มีคำสั่งฟ้อง จ่าสิบเอก ณรงค์ชัย (สงวนนามสกุล) ต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี ในข้อหาหลักฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดสิงห์บุรี เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2564 ภายหลังจากที่อัยการมีคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา แต่กำหนดให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 20,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ แม้ในตอนแรกจำเลยจะยื่นคำร้องขอประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ก็ตาม ศาลได้กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปเป็นวันที่ 30 พ.ค. 2565

X