ราวบ่ายโมงของวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ได้จับกุมเยาวชนวัย 16 ปี รายหนึ่งชื่อ นิติภัทร (สงวนนามสกุล) ตามหมายจับเลขที่ 58/2564 จากเหตุปาของแข็งใส่ – เผารถตำรวจ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564
เบื้องต้น นิติภัทรเล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง ได้นัดหมายให้เขาเดินทางมาที่ สน. เพื่อรับรถจักรยานยนต์คืน ซึ่งเป็นคันที่ถูกยึดไปเมื่อครั้งถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา ตำรวจบอกว่าสามารถเอารถกลับได้ และให้เขารอรับรถจนถึงช่วงเย็น ทว่าต่อมา ตำรวจ สน.พญาไท ที่เดินทางมาสมทบยัง สน.ดินแดง ได้แสดงหมายจับต่อเยาวชนรายนี้ เขาถูกทำบันทึกจับกุมที่ สน.ดินแดง โดยที่ไม่ทนายอยู่ร่วมด้วย จากนั้นจึงถูกนำตัวต่อไปยัง สน.พญาไท ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงหมายจับในอีกคดีหนึ่ง เป็นคดีตามหมายจับเลขที่ 60/2564 สืบเนื่องจากการปาของแข็ง วัตถุคล้ายระเบิดใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงเผาป้อมตำรวจจราจรที่บริเวณแยกพญาไท
จับตามหมายจับ เหตุปาของแข็ง – ทุบ – เผารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. พญาไท เหตุวันที่ 29 ก.ย. 64
ส่วนบันทึกจับกุมตามหมายจับเลขที่ 58/2564 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ระบุว่า การจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นที่ด้านหน้า สน.ดินแดง ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผกก.สน.พญาไท โดยมีเจ้าหน้าที่ สน.ดินแดง เข้าร่วมกระบวนการจับกุมทั้งหมด 11 นาย
ส่วนของพฤติการณ์การจับกุม ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้สืบสวนและรับแจ้งจากสายลับว่า นิติภัทร ผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น”, “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง”, “ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์” และ “ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” ตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเดินทางมาที่ สน.ดินแดง เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและวางแผนการจับกุม ต่อมา ชุดจับกุมได้เดินทางไปตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งจากสายลับ และพบผู้ถูกจับซึ่งมีลักษณะที่ระบุไว้ตรงกับในหมายจับ จึงได้เข้าไปแสดงหมายจับ ก่อนนำตัวผู้ต้องหาส่ง สน.พญาไท
ในส่วนของพฤติการณ์ทางคดี ระบุโดยเท้าความว่า ในช่วงเวลาตี 2 ของวันที่ 29 กันยายน 2564 ขณะที่รถสายตรวจของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 7 คัน จอดอยู่ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีกลุ่มคนร้าย รวมทั้งผู้ต้องหานี้ ราว 30 – 40 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์มาราว 15 – 20 คัน โดยคนร้ายขับรถมาจากทางสามเหลี่ยมดินแดง เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่จอดรถอยู่ บางส่วนจึงลงจากรถ ทำการขว้างปาของแข็งใส่เจ้าหน้าที่ วิ่งเข้ามาทำการทุบรถของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ซึ่งเกรงว่าจะได้รับอันตรายจึงหลบหนีออกไปทางถนนพญาไท คนร้ายพากันขับรถไล่ตาม จากนั้นได้ร่วมกันจุดไฟเผารถยกของ สน.พญาไท ที่จอดไว้ใต้สะพานข้ามแยกพญาไท ตีเป็นมูลค่าความเสียหาย ราว 1,400,000 บาท จากนั้นกลุ่มคนร้ายจึงได้หลบหนีไป
จากการสอบสวนเพิ่มเติม พบว่ามีผู้ร่วมในการก่อเหตุอีก 3 ราย โดยมี 1 ราย เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี และน่าเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผ่านการพูดคุย วางแผน และแบ่งหน้าที่กันทำมาตั้งแต่ต้น จุดประสงค์เพื่อทำลายข้าวของของราชการ วางเพลิงเผาทรัพย์ของราชการ และมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้รับอันตราย เป็นการกระทำที่เหิมเกริม ท้าทายอำนาจรัฐ ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง อีกทั้งในช่วงที่เกิดเหตุมีการประกาศใช้ข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ผู้ต้องหากับพวกก็ยังฝ่าฝืน
ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมของเจ้าหน้าที่
แจ้งตามหมายจับอีกคดี เหตุปาของแข็งใส่ สน.พญาไท – เผาตู้จราจรแยกพญาไท เหตุวันที่ 1 ต.ค. 64
ภายหลังจากเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับในคดีแรก ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจยังแจ้งอีกว่า นิติภัทรยังมีหมายจับในอีกคดีหนึ่ง เป็นหมายจับเลขที่ 60/2564 โดยเป็นเหตุสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปาของแข็งใส่ สน.พญาไท และวางเพลิงเผาตู้จราจรที่แยกพญาไท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เขาจึงถูกนำตัวมาสอบคำให้การที่อีกโต๊ะหนึ่งใน สน. พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาให้รับทราบ โดยเป็นการรับทราบข้อหา ไม่ใช่การจับกุม
สำหรับพฤติการณ์ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณสามทุ่ม ร.ต.อ. ชานนท์ แก้วสม พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อนิติภัทร
พฤติการณ์ที่กล่าวหาระบุว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 02.20 น. ได้มีกลุ่มคนร้ายจำนวนราว 30 – 40 คน ขับรถจักรยานยนต์มาราว 15 – 20 คัน ได้ร่วมกันก่อเหตุขว้างปาระเบิดและสิ่งของเข้าใส่อาคารที่ทำการ สน.พญาไท จากนั้นหลบหนีไปวางเพลิงตู้จราจรที่แยกพญาไท ตีมูลค่าความเสียหายประมาณ 65,000 บาท จากนั้นได้ขับหลบหนีไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทางด้านแยกสามเหลี่ยมดินแดง
ทั้งนี้ จากการลงตรวจพื้นที่เกิดเหตุโดยหน่วยเก็บกู้ระเบิด ได้รับการยืนยันว่า พบระเบิดแสวงเครื่องที่ระเบิดแล้วประมาณ 10 ลูก และเก็บกู้ที่ยังไม่ระเบิดได้จำนวน 3 ลูก จากการสืบสวนโดยกองพิสูจน์หลักฐาน พบว่านิติภัทรเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ โดยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงน่าเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาพร้อมกับพวกได้สมคบคิดกันวางแผน ก่อเหตุขว้างปาระเบิด และวางเพลิงทรัพย์สินของราชการ มุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ที่กำลังทำหน้าที่ได้รับอันตรายถึงชีวิต
พนักงานแจ้งข้อหานิติภัทร ได้แก่ “ร่วมกันมีระเบิดไว้ในครอบครอง”, “ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น”, “ร่วมกันกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ จนน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น”, “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ”, “ร่วมกันพกพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร”, และ “ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” ตามข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
หลังจากทราบข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือในภายหลัง หลังเสร็จกระบวนการ นิติภัทรต้องนอนในที่คุมขังของ สน. เป็นเวลา 1 คืน เพื่อรอให้พนักงานสอบสวนทำเรื่องตรวจสอบการจับกุม และยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ ขอให้ออกหมายควบคุมผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนในวันต่อมา
นำตัวผู้ต้องหาส่งศาลเยาวชนฯ เพื่อตรวจสอบการจับ – ยื่นคำร้องออกหมายควบคุม ก่อนศาลให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์ประกัน 2 คดี รวม 40,000 บาท
ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ยื่นคำร้องตรวจสอบการจับของนิติภัทรในทั้ง 2 คดี โดยทางทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการออกหมายจับและการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ให้เหตุผลว่า ในตอนที่ถูกจับตามหมายจับ รองผู้กำกับ พ.ต.ท.โสภณ ได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเดินทางมาที่ สน.ดินแดง เพื่อรับรถที่โดนยึดไปกลับ และผู้ต้องหาได้มาเพื่อขอรับรถกลับหลายรอบแล้ว เจ้าหน้าที่ระบุว่า สามารถนำกลับได้ แต่กลับไม่ยอมถอดกุญแจโซ่คล้อง ตำรวจอ้างว่า จะตามหาให้ ตำรวจบอกให้รอตั้งแต่ 11.00 น. จนกระทั่ง 16.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่จาก สน.พญาไท มาจับกุมผู้ต้องหา ไม่ได้มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย และทนายได้ติดตามมาในภายหลัง
ผู้ต้องหาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ควรต้องทำกันถึงขนาดนี้ เพราะผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี อยู่อาศัยตามปกติ และทำกิจกรรมเพื่อสังคมในตลอดเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายจับ สามารถมาตามหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ได้ การออกหมายจับดังกล่าวเสมือนมีอุบายให้ผู้ต้องหาต้องถูกจับตามหมายจับ
ระหว่างจับกุม เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยไม่เต็มใจและไม่มีทนายความอยู่ร่วมได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ขอให้ผู้ต้องหาเป็นสายให้ แต่ผู้ต้องหาก็ได้ปฏิเสธไป ผู้ต้องหายังระบุอีกว่า ผู้ต้องหาเป็นเยาวชน กระทำผิดหรือถูกก็ว่ากันไปตามกระบวนการ แต่เจ้าหน้าที่ต้องกระทำการให้ถูกต้องด้วย
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาขอยื่นคัดค้านการออกหมายควบคุม และขอคัดค้านกระบวนการในชั้นจับกุมทั้งหมด
ต่อมา ศาลระบุว่า จะนำคำร้องดังกล่าวใส่เข้ามาในสำนวนด้วย หลังจากนั้น ศาลได้ลงความเห็นว่าการจับกุมในทั้ง 2 คดี นั้นเป็นไปโดยชอบแล้ว และได้อนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องหา
ทางทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลได้อนุญาต โดยกำหนดหลักทรัพย์ประกันในทั้ง 2 คดี เป็นเงินรวม 40,000 บาท (คดีแรก 10,000 บาท และคดีที่สอง 30,000 บาท) ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
ศาลได้กำหนดนัดอีกครั้ง เป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30 น. สำหรับทั้ง 2 คดี เป็นนัดพบผู้ให้คำปรึกษา นอกจากนั้น ยังนัดหมายให้เดินทางมาพบพนักงานคุมประพฤติที่สถานพินิจฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 และวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เพื่อมารายงานตัวที่งานรับฟ้อง ในกรณีของคดีที่ 2