ยอดคนเจ็บม็อบเดือนกันยา ไม่น้อยกว่า 107 ราย เสียชีวิต 1 ราย เด็กได้รับผลกระทบอายุน้อยสุด 4 เดือน 

ในเดือนกันยายนการเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายพื้นที่ยังคุกรุ่น แนวร่วมประชาธิปไตยหลายฝ่ายยังคงจัดกิจกรรมชุมนุมตั้งเวทีปราศรัยตามสถานที่ต่างๆ จัดกิจกรรมในรูปแบบ Car Mob รวมไปถึงรูปแบบการเรียกร้องที่ดินแดงยังเกิดขึ้นเกือบทุกคืน 

แม้เดือนนี้ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บเท่าที่ทราบ จะลดลงเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม แต่ความรุนแรงในปฏิบัติการสลายการชุมนุมจากภาครัฐไม่มีทีท่าว่าจะน้อยลง ในทางกลับกันกลับทวีคูณความเข้มข้นมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ 

การปฏิบัติการปราบปรามผู้ชุมนุมตลอดเดือนกันยายนปี 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ย. ถึง 30 ก.ย. 64 มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งสามารถระบุตัวผู้บาดเจ็บได้อย่างน้อย 107 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 35 ราย (อายุต่ำสุดคือ 13-14 ปี จำนวน 4 ราย) และผู้ใหญ่ 72 ราย

ในจำนวนนี้ยังเป็นสื่อมวลชนอย่างน้อย 5 ราย เป็นผู้ที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีด้วย 80 ราย และเป็นประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมและไม่ถูกดำเนินคดี แต่ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ไปด้วยอย่างน้อย 9 ราย และยังมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เหตุจากการขับรถชนตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้สกัดผู้ชุมนุม ในช่วงกลางดึก

สาเหตุส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บ เกิดขึ้นขณะเข้าจับกุมถึง 80 ราย ทั้งการเหยียบหัว เตะหรือทุบตีตามร่างกาย และแผลจากกระสุนยาง อีกทั้งยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 4 ราย จากการใช้กำลังเข้าจับกุมด้วย

รวมถึงยังพบกรณีที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางเข้าเคหสถานของประชาชนอย่างน้อย 5 ครั้ง ซึ่งไม่ทราบจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยบ้านเรือนของประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงได้รับความเสียหายหลายหลังคาเรือน อีกทั้งในจำนวนนี้ยังพบว่ามีเด็กอายุ 4 เดือน ได้รับผลกระทบจากการสูดดมแก๊สน้ำตาด้วย ถือเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บจากเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ได้ขับรถพุ่งชน จนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 32 ราย และระบุตัวตนผู้บาดเจ็บไม่ได้ 4 กรณี

ปฏิบัติการสลายชุมนุมสร้างความเสียหายให้กับประชาชนผู้ไม่ได้ชุมนุมอย่างมาก

หลายวันตลอดเดือนกันยา ปฏิบัติการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความลำบากต่อประชาชนผู้อาศัยในบริเวณดินแดงและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมแก๊สน้ำตา บ้านเรือนพัง ฝ้าทะลุ กระจกแตก จากการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาสาดเข้าใส่เคหสถานยามวิกาล รวมไปถึงการใช้กำลังเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีประชาชนหลายคนไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วย

+++กรณี #ม็อบ5กันยา ปชช.ดินแดงบ้านพัง บานเกล็ดแตก เด็กวัย 3 เดือนต้องดมแก๊สน้ำตา เหตุเจ้าหน้าโยนแก๊สและยิงกระสุนยางเข้าเคหสถาน อีก 1 ชนตู้คอนเทรนเนอร์ที่ใช้สกัด ผชน. ดับ+++

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 64 เวลา 21.50 น. ระหว่าง #ม็อบ5กันยา สำนักข่าวราษฎรรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้ยิงแก๊สน้ำตา ขึ้นไปบนแฟลตดินแดงชั้น 3 ภายหลังขึ้นไปตรวจสอบพบกระสุนยางถูกกระจกบานเกล็ดแตก 1 บาน

ในขณะที่สื่ออีกหลายสำนักรายงานว่า หน่วยเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการบนรถจู่โจมแฟลตดินแดง  ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าแฟลต ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ทั้งคนส่งอาหารถูกยิงด้วยกระสุนยาง รถพยาบาลที่เปิดไฟฉุกเฉินให้การรักษาคนเจ็บก็ถูก คฝ. ยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาใส่ รวมไปถึงเด็ก 4 ขวบ และ 3 เดือน ต้องหนีเข้าไปอยู่ในห้องกระจก หลังแก๊สน้ำตาเข้าบ้าน

นอกจากนี้ในวันดังกล่าว เวลา 01.30 น. สื่อมวลชนยังรายงานว่า มีชายวัย 50 ปี ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พุ่งชนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้สกัดกั้นการชุมนุม จนทำให้เสียชีวิต ขณะที่เพื่อนผู้เสียชีวิตเล่าว่า ผู้เสียชีวิตทำงานใกล้จุดเกิดเหตุ ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพักพร้อมเพื่อน 1 คัน ขณะนั้นที่จุดเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่กำลังขนย้ายตู้คอนเทรนเนอร์ ตนเบรกรถทัน แต่ผู้เสียชีวิตขับชนเข้าอย่างจังจนร่างกระเด็นได้รับบาดเจ็บอาการสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. กล่าวแสดงความเสียใจพร้อมทั้งระบุว่า หลังสอบปากคำเพื่อนผู้ตายพบว่า หลังจากรับประทานอาหารและดื่มสุรา ก่อนขับขี่จากบ้านมาประสบอุบัติเหตุ ส่วนมาตรการตั้งหรือเก็บตู้คอนเทนเนอร์ เนื่องจากบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา ค่อนข้างมืด จึงได้ประสานติดไฟเพื่อเพิ่มความสว่าง รวมไปถึงถนนหลายๆ แห่งที่มีความเสี่ยง

+++กรณี #ม็อบ10กันยา รถพลิกคว่ำ คาดเกิดจากจีโน่ ด้านตร.แย้งเกิดจากผู้ชุมนุมตัดหน้ารถ ไม่ใช่การกระทำจากจนท.+++

เวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุม #ม็อบ10กันยา มีเหตุรถประชาชนพลิกคว่ำบนถนนวิภาวดีขาออก มีการคาดจากสื่อหลายสำนักว่า อุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากรถฉีดน้ำแรงสูงผสมสารเคมีสีม่วงของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งใช้สลายการชุมนุม โดยจุดที่เกิดเหตุมีรอยน้ำสีม่วงที่ยิงมาจากรถฉีดน้ำแรงดันสูง ขณะที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า  ได้ใช้รถฉีดน้ำไปยังจุดดังกล่าวจริง เนื่องจากใช้เพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้ ทั้งยังอ้างว่าอุบัติเหตุอาจเกิดจากที่ผู้ขับขี่ตกใจเสียงประทัดของผู้ชุมนุม

ต่อมาด้าน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ระบุว่า หลังสอบถาม สันติ วงศ์พิทักษ์ อายุ 52 ปี เจ้าของรถรถยนต์ที่พลิกคว่ำ ทราบความว่า สันติได้ขับขี่รถโดยใช้ถนนวิภาวดีขาออกในช่องทางที่สองจากซ้ายกำลังจะเข้าช่องทางด่วน ขณะนั้นมีผู้ชุมนุม 2 ราย กระโดดข้ามแบริเออร์เข้ามาในช่องทางทำให้รถด้านหน้าหยุดกระทันหัน สันติจึงหักหลบจนเกิดเหตุพลิกคว่ำ โดยเหตุดังกล่าวไม่ได้เกิดจากรถจีโน่ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ทำให้รถของตนเองพลิกคว่ำแต่อย่างใด 

+++กรณี #ม็อบ11กันยา บ้านพัง หลังคาทะลุ และ คฝ. ทำร้ายหญิง 2 ราย ขณะกลับบ้าน+++

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 64 เวลาประมาณ 21.00 น. หลังเจ้าหน้าที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายโดยให้เหตุผลว่าเรื่องการเคอร์ฟิว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. นั่งท้ายรถกระบะเข้ามาจอดหน้าบริเวณสำนักงานเขตดินแดงพร้อมกับได้ประกาศให้นักข่าวนั่งกับพื้น ขอตรวจบัตรสื่อ และขอให้ยุติการไลฟ์สด โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมาเวลา 21.30 น. ตำรวจ คฝ. เริ่มเข้าสลายการชุมนุม ด้วยการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าไปในแฟลตดินแดงนานกว่า 40 นาที ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก ทั้งบ้านพักที่เสียหาย ผลกระทบจากการสูดดมแก๊สน้ำตา และประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย 

ในวันเดียวกันนี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Bowie Phatsorn โพสต์เล่าเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ คฝ. กว่า 10 นาย รุมทำร้ายร่างกายขณะกลับบ้าน โดยระบุว่าเวลาประมาณ 22.00 น. หลังเลิกงานเธอได้ขับรถกลับที่พัก โดยใช้เส้นทางซอยหมอเหล็ง เพื่อส่งเพื่อนร่วมงาน โดยไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวยังมีการชุมนุม ต่อมาหลังพบเจ้าหน้าที่ เธอจึงถอยรถวนกลับมา หลังเจ้าหน้าที่เห็นดังนั้นได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ เมื่อเห็นท่าไม่ดี เธอจึงดึงเพื่อนร่วมงานหลบที่หลังรถยนต์ขับหนึ่ง เธอระบุว่า ขณะนั้นเจ้าหน้าที่ยังคงใช้ระเบิดโยนเข้าหา 

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้วิ่งเข้ามาหา เธอพูดกับเจ้าหน้าที่ว่า “เป็นผู้หญิงเพิ่งเลิกงานและไม่มีอาวุธ” แต่เจ้าหน้าที่ไม่ฟังและใช้กระบองพร้อมปืนฟาดไม่ยั้ง แม้เธอจะไหว้ร้องขอชีวิต แต่เจ้าหน้าที่ยังคงใช้ปืนและกระบองฟาดมาที่แขนและหน้าของเธอ ก่อนที่เธอจะคลานหนีเข้าไปที่ใต้ท้องรถยนต์  เธอได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฟกช้ำตามร่างกาย ส่วนเพื่อนร่วมงานอีกราย ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะแตกแผลลึก 8 เซนติเมตร ทั้งสองคนได้พยายามร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. เวลาประมาณเที่ยงคืน ผู้สื่อข่าวเพจสำนักข่าวราษฎรได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่คฝ.ได้ขึ้นไปจับกุมผู้ชุมนุมบนแฟลตดินแดงยามวิกาลอีกด้วย 

คฝ.ใช้กำลังจับ เจ็บ 80 ราย ขณะที่เคลื่อนที่เร็วไล่ชนผู้ขับขี่เจ็บมากกว่าเดือนที่แล้วถึง 4 เท่า สาหัสอย่างน้อยอีก 4 ราย 

ระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกดำเนินคดีกว่า 80 ราย ส่วนใหญ่ระบุว่า ถูกทำร้ายขณะจับกุม ทั้งการเหยียบศีรษะ ทุบตีตามร่างกาย หรือถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้าย รวมไปถึงผู้ถูกจับกุมหลายรายได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางและแผลถลอกจากการจับกุมขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ 

อีกทั้งบางรายยังระบุว่า ขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมถูกยึดสิ่งของมีค่าที่ติดตัว เช่น สร้อยทอง แหวนทอง และนาฬิกาไป ภายหลังก็ไม่ได้ของมีค่าคืน และไม่มีการลงบันทึกของเหล่านี้ไว้ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ด้วย รวมไปถึงมีกรณีที่เจ้าหน้าที่โยนแก๊สน้ำตาเข้าห้องคุมขังที่ถูกจับกุมใน #ม็อบ27กันยา ทำให้ผู้ต้องหาที่อยู่ในห้องขังหายใจไม่ออก

นอกจากนี้ในเดือนที่ผ่านมาพบว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ยังใช้ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว โดยขึ้นรถกระบะหรือจักรยานยนต์ขับขี่ไล่ตามผู้ชุมนุม โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากขึ้น 4 เท่าจากเดือนสิงหาคม เป็นจำนวน 32 ราย อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้บาดเจ็บได้อีก 4 ครั้ง

+++ #ม็อบ5-6กันยา ชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บหลายราย+++

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 64 #ม็อบ5กันยา ปรากฏคลิปเหตุการณ์บนโลกออนไลน์ เป็นชายวัยรุ่น 3 รายประสบอุบัติเหตุขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม โดยรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บเลือดไหลจากแผลฉีกเปิดบนใบหน้าและศีรษะจนหมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ส่วนอีก 2 รายมีบาดแผลตามร่างกาย โดยพบว่า คฝ. ได้ใช้กำลังเข้าจับกุมและใช้เคเบิ้ลไทร์สีดำรัดข้อมือจากด้านหลัง ในลักษณะคว่ำหน้าบนพื้นถนน

ภายหลังผู้ถูกจับกุมอีก 2 รายได้เล่าเหตุการณ์ว่า ขณะที่ทั้ง 3 ราย นั่งซ้อนรถจักรยานยนต์เพื่อเดินทางกลับบ้านในเวลา 21.00 น. ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ไล่ตาม โดยยิงกระสุนยางมาทางพวกเขาแต่ไม่ถูก ก่อนที่รถกระบะจะขับทันและเข้าปาดหน้าจักรยานยนต์ ทำให้ต้องเบรกรถกะทันหัน จนผู้ประสบเหตุที่นั่งซ้อนตรงกลางลอยข้ามหัวคนขับออกไป ส่วนอีก 2 ราย ล้มลงบนสะพาน

อีกทั้งในวันที่ 6 ก.ย. 64 ระหว่าง #ม็อบ6กันยา มีคลิปเหตุการณ์ขณะเจ้าหน้าที่ คฝ. พร้อมกระบองขับขี่ย้อนศรเข้าจับกุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จนได้รับบาดเจ็บหลายราย ขณะที่ชายรายหนึ่งตะโกนว่ากำลังเดินทางกลับบ้านเท่านั้น ไม่ได้มาเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด

+++ #ม็อบ7กันยา ชุดเคลื่อนที่เร็วพุ่งชนผู้ชุมนุม เจ็บหนัก 2 ราย ด้านตร.แจงข่าวพุ่งชนเด็ก 14 เป็นเฟคนิวส์ +++

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 64 เวลาประมาณ 17.45 น. ก่อนเริ่มการชุมนุม #ม็อบ7กันยา เจ้าหน้าที่ คฝ. ชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมกับกระบะประมาณ 2 คัน ซึ่งไม่มีตราสัญลักษณ์และมีตำรวจ คฝ. หมอบหลบอยู่ในรถ เข้าพุ่งชนและยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณแยกดินแดงก่อนเริ่มการชุมนุม เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสอย่างน้อย 2 ราย เป็นเยาวชนอายุ 17 ปีหนึ่งราย ถูกรถชนจนได้รับผลกระทบที่ปอด ส่วนอีกรายได้รับบาดเจ็บกระดูกไหปลาร้าหัก

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. ระบุว่า กรณีโลกออนไลน์แชร์เด็ก 14 ปี มีปอดข้างเดียว ถูกกระบะ คฝ.พุ่งชนก่อนจับกุม เป็นเฟคนิวส์ เจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงใช้รถกระบะขัดขวางปิดการจราจรและการหลบหนีของกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้มีการพุ่งชนแต่อย่างใด ทั้งยังมีเพียงผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย อาการไหปลาร้าหลุด รักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่หนัก  สำหรับคนโพสต์-แชร์เฟคนิวส์ดังกล่าวมีความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

+++ #ม็อบ12กันยา รถผู้ต้องขังพุ่งชนเยาวชน 14 ปี สาหัส ก่อนตร.หลบหนี ด้านตร.แจง รถดังกล่าวถูกไล่ทุบก่อนเกิดเหตุเชี่ยวชน อ้างไม่จอดเพราะหวั่นเกิดอันตราย  +++

นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีที่เจ้าหน้าที่ขับรถพุ่งชนผู้ชุมนุมระหว่าง #ม็อบ12กันยา เวลาประมาณ 23.55 น. ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง พบรถลักษณะเป็นรถควบคุมผู้ต้องขัง ขับมาด้วยความเร็วผ่านใต้ทางด่วนดินแดง ก่อนเข้าชนผู้ชุมนุม 1 ราย ที่พยายามวิ่งหนีรถจนกระเด็นออกไป หมวกกันน็อกหลุดจากศีรษะ ก่อนรถคันดังกล่าวขับต่อไปทางตลาดศรีวนิช โดยไม่ได้หยุดลงมาดูผู้ที่ถูกชน ก่อนที่ปอเต๊กตึ๊งนำตัวส่งโรงพยาบาลราชวิถี

ต่อมาทราบว่า ผู้ชุมนุมคนดังกล่าวเป็นเพียงเยาวชนอายุ 14 ปี อาการเบื้องต้นได้รับบาดเจ็บ แขนหัก 2 แขน มีแผลที่คง กระดูกเชิงกรานหัก นอกจากนี้มีข้อมูลว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากรถคันดังกล่าวซึ่งขับมาทางแฟลตดินแดงอีกอย่างน้อย 2 ราย 

ด้าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นรถตำรวจที่กำลังกลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ บริเวณแยกดินแดง พบกลุ่มบุคคล 6-7 คน ไล่ทุบรถ พร้อมมีเสียงระเบิด ตำรวจผู้ขับขี่เกรงว่าจะได้รับอันตรายจึงขับรถหลบหนี จนกระทั่งเกิดเหตุเฉี่ยวชน 

ตำรวจยืนยันว่าไม่ได้ชนแล้วหนี โดยอ้างว่าตำรวจพยายามเบรกแล้วหยุดดู แต่ไม่จอดเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตราย อีกทั้งหลังตรวจสอบสถานพยาบาลแล้ว ไม่ได้มีใครเข้ารับการรักษาจากกรณีดังกล่าว นอกจากนี้หลังตรวจสอบสภาพรถ เจ้าหน้าที่ได้โดยลงบันทึกประจำวันและแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีผู้ก่อเหตุ ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ และร่วมกันทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ด้วย

ตรวจบัตร จับสื่อ และการปิดกั้นเสรีภาพสื่ออิสระ

ตลอดเดือนกันยายน สื่อมวลชนเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นอย่างหนักขณะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการตรวจบัตรสื่อ การปิดกั้นไม่ให้รายงานในบางสถานการณ์ และได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการสลายการชุมนุม อาทิ ระหว่างสื่อมวลชนทำหน้าที่ไลฟ์สดสถานการณ์ใน #ม็อบ11กันยา เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้เข้าตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดง โดยการสั่งให้ยุติไลฟ์สด ทั้งยังประกาศให้สื่อออกนอกพื้นที่ โดยระบุ “ถ้าไม่ออกจะดำเนินการตามกฎหมาย เราเตือนแล้ว” และหากไม่ปฏิบัติตามจะเชิญไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก ทำให้สื่อหลายสำนักยุติการรายงานสด

+++ #ม็อบ13กันยา ยิงไล่สื่อหน้ากรมดุริยางค์ฯ ก่อนจับสื่ออิสระ 2 ราย เหตุไม่มีใบอนุญาตอยู่หลังเคอร์ฟิว +++

ระหว่างที่สื่อรายงานสถานการณ์ #ม็อบ13กันยา เจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางใส่สื่อหลายสำนัก โดยผู้สื่อข่าวเกือบ 20 รายยืนยันตรงกันว่า โดนยิงจากมาทางกรมดุริยางค์ทหารบก ก่อนยิงเจ้าหน้าที่ได้มีการฉายเลเซอร์ขาวใส่ผู้สื่อข่าว ก่อนประกาศให้สื่อออกจากถนน 

ในคืนเดียวกันนี้เอง เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวผู้สื่อข่าวอิสระ แอดมินเพจ “สำนักข่าวราษฎร” และแอดมินเพจ “ปล่อยเพื่อนเรา” ขณะกำลังไลฟ์สดไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งภายหลังยังแจ้งข้อหา “ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว” กับสื่อทั้งสอง ก่อนศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ในเวลาต่อมา

ผู้สื่อข่าวสนข.ราษฎร ขณะให้สัมภาษณ์ใน The Reporters

ต่อมาวันที่ 14 ก.ย. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษกตร. กล่าวว่า “กรณีฟรีแลนซ์ ยูทูบเบอร์ ทางสมาพันธ์สื่ออยู่ระหว่างจัดระเบียบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศต้องปฏิบัติตามสื่อมวลชนโดยทั่วไปโดยมีการยืนยันต้นสังกัด ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ทำข่าว หากไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้เป็นสื่อมวลชนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนการเข้ามาสังเกตการณ์ต้องมีการทำหนังสือส่งมาให้รับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแฝงตัวของมือที่สามเข้ามาก่อเหตุความวุ่นวาย”

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผู้สื่อข่าวถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังผลักดันให้ปฏิบัติตามคำสั่ง และอีกกรณีที่ผู้สื่อข่าวถูกน้ำแรงดันสูงจากรถจีโน่ฉีดพุ่งตรงเข้าหาจนล้มลงขณะปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาถึงสถานการณ์ในเดือนตุลาคมนี้ หลัง พ.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึง ความพยายามที่จะจบสถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดงภายในเดือนนี้

พร้อมกันนี้ ด้าน พ.ต.ท. วชิรพงศ์ แก้วดวง รองผู้บังคับการหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ) ยังกล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุว่า ทางต้นสังกัดไม่มีคำสั่งและแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ซึ่งหากพบเจ้าหน้าที่คนใดใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่คนนั้นต้องรับผิดชอบเองไม่เกี่ยวกับต้นสังกัด 

ย้อนอ่านรายงานเดือนสิงหาคม 2564

ยอดคนเจ็บม็อบเดือนสิงหา ไม่น้อยกว่า 115 ราย เป็นเด็กเยาวชน 32 ราย และไม่สามารถระบุผู้บาดเจ็บได้อีก 19 กรณี

X