คืนวานนี้ (6 ก.ย. 64) เวลาประมาณ 20.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีการจับกุมประชาชนจำนวน 18 รายบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง หลังการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในเวลา 17.30 น. ที่แยกดินแดง โดยในจำนวนนี้เป็นเยาวชนถึง 9 ราย ทั้งยังพบว่ามีผู้ถูกจับกุมบางส่วนไม่ได้เดินทางไปเข้าร่วมชุมนุม แต่กลับถูกจับกุม และได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุม
เวลา 22.40 น. ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปถึงกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) พบมีผู้ถูกจับกุม 18 รายถูกควบคุมตัวอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นไม่ยอมให้ทนายความเข้าพบผู้ถูกจับกุม อ้างว่ากำลังจัดเตรียมเอกสาร ก่อนที่จะให้ทนายความเข้าพบในครู่ต่อมา
โดยประชาชน 4 รายถูกตั้งข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, มาตรา 216 และ มาตรา 140 “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยได้กระทำโดยมีและใช้อาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป”
ขณะที่ประชาชนอีก 5 ราย ได้ถูกแจ้งข้อหาในลักษณะเดียวกัน โดยเพิ่มเติมข้อกล่าวหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ตามพ.ร.บ.จราจรฯ อีก 1 ข้อหา
ด้านเยาวชนอีก 9 ราย มี 6 รายถูกแจ้งข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามคามมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, มาตรา 216 และ มาตรา 140 “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยได้กระทำโดยมีและใช้อาวุธ” ขณะที่อีก 3 รายถูกล่าวหาว่าได้ “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยได้กระทำโดยมีและใช้อาวุธ และร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป” ด้วย
โดย คฝ.ชุดจับกุมยังได้ตรวจค้นผู้ถูกจับกุมที่อายุมากกว่า 18 ปีทั้งหมด 9 ราย พบหนังสติ๊กด้ามไม้ 1 อัน, ประทัดปิงปอง 1 ลูก, ลูกแก้ว 37 ลูก, หินอ่อนขนาดเล็ก 1 ก้อน, กระเป๋าสะพายผู้ต้องหา 1 ใบ จึงยึดไว้เป็นของกลาง พร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ของผู้ถูกจับกุม และประชาชนคนอื่นๆ รวม 24 คัน นอกจากนี้ยังได้ยึดโทรศัพท์ผู้ถูกจับกุมอีก 6 เครื่อง ไว้เป็นวัตถุพยาน แม้ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ในกลุ่มผู้ถูกจับกุมที่เป็นเยาวชน คฝ.ได้ยึดรถจักรยานยนต์รวม 6 คัน เป็นของกลาง และยึดโทรศัพท์ 9 เครื่องไปเป็นวัถุพยานเช่นกัน
ที่ บช.ปส. ยังมีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นำเอกสารให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ ก่อนที่ทนายความสามารถเข้าถึงลูกความได้อีกด้วย
หลังจัดทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้น โดยผู้ถูกจับกุมทั้งหมดปฏิเสธลงชื่อในบันทึกการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปล่อยตัวเยาวชน 9 ราย ในเวลาประมาณ 02.30 น. และนัดหมายให้ทั้งหมดเดินทางไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อตรวจสอบการจับในเวลา 14.00 น. ของวันรุ่งขึ้น (7 ก.ย. 64) ขณะที่ผู้ถูกจับกุมอายุมากกว่า 18 ปีนั้นถูกควบคุมตัวอยู่ที่ บช.ปส.เป็นเวลา 1 คืน ก่อนพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง จะยื่นคำร้องขอฝากขังผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลอาญาในเช้าวันรุ่งขึ้นเช่นกัน
วันนี้ (7 ก.ย. 64) พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญารัชดาฯ ฝากขังผู้ถูกจับกุมทั้ง 9 ราย เนื่องจากยังสอบสวนไม่เสร็จ และได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างเหตุว่า หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว อาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ทั้งคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์ของผู้ต้องหานั้นไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง การเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมนี้ยังก่อให้เกิดความเสียหาย อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและสงบเรียบร้อยของสังคม นอกจากนี้ ยังมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จนทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ
ขณะทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกัน ต่อมา เวลา 15.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง 9 คน พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามให้ทั้งหมดกระทำการใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่ถูกกล่าวหา และห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ หรือการชุมนุมใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นภายในบ้านเมือง โดยศาลกำหนดนัดรายงานตัวต่อศาลอีกครั้งในวันที่ 25 ต.ค. 64 เวลา 08.30 น. ที่ศาลอาญารัชดาฯ
ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เวลา 14.00 น. เยาวชนที่ถูกจับกุม 6 รายมาศาล ร.ต.อ.พิเชษฐ์ กัดฟัก พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องตรวจสอบการจับต่อศาล โดยต่อมา ศาลได้มีคำสั่งว่า การจับเยาวชนทั้งหกเป็นไปโดยชอบ และให้ออกหมายควบคุมตัวไว้ระหว่างสอบสวน แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักประกันตามที่ที่ปรึกษากฎหมายยื่นคำร้อง แต่ถ้าผิดสัญญาประกัน จะปรับเงินเป็นจำนวน 5,000 บาท โดยศาลกำหนดนัดพบที่สถานพินิจฯ บางนา เพื่อพบพนักงานคุมประพฤติในวันที่ 14 ก.ย. 64 และกำหนดนัดรายงานตัวต่องานรับฟ้อง ในวันที่ 27 ก.ย. 64
ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้กำหนดนัดสอบคำให้การผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนในวันที่ 9 และ 10 ก.ย. 64 เวลา 13.30 น.
จับกุมประชาชน 18 ราย พบอย่างน้อย 5 รายไม่ได้ไปร่วมชุมนุม
หลังการประกาศชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สที่สามเหลี่ยมดินแดงเมื่อเวลา 17.30 น. ของวันที่ 6 ก.ย. 64 ต่อมา ที่บริเวณหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก เจ้าหน้าที่เริ่มใช้แก๊สน้ำตา และประกาศว่า การกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ก่อนที่เวลา 19.15 น. เจ้าหน้าที่ได้เริ่มจับกุมประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว โดยคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยเคลื่อนที่เร็ว จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศให้สื่อมวลชนเขยิบขึ้นทางเท้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศขอตรวจโทรศัพท์มือถือผู้ถูกจับกุมทุกราย
ทั้งนี้ มีผู้ขับรถจักรยานยนต์ถูกเจ้าหน้าที่ถีบ และได้รับบาดเจ็บ ขณะตะโกนว่ากำลังเดินทางกลับบ้านเท่านั้น ไม่ได้มาเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด
เมื่อทนายความไปถึงที่ บช.ปส. พบว่ามีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 18 ราย โดยแบ่งเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งหมด 9 ราย อายุน้อยสุดคือ 14 ปี มีถึง 3 ราย และผู้ใหญ่อีก 9 ราย โดยส่วนใหญ่นั้นมีอายุระหว่าง 18-23 ปีเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 รายยังยืนยันว่า ไม่ได้ไปเข้าร่วมการชุมนุม แต่ถูกจับกุมระหว่างเดินทางกลับบ้านอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้ถูกจับกุมที่ได้รับบาดเจ็บขณะการจับกุม 12 ราย แยกเป็นเยาวชน 7 ราย ผู้ใหญ่ 5 ราย
กลุ่มเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย มี 2 ราย ถูกยิงด้วยกระสุนยาง บริเวณไหล่ซ้ายและขวา ส่วนรายอื่น ๆ มีบาดแผลตามร่างกาย รายหนึ่งได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอก หลังถูกเจ้าหน้าที่ผลักล้มกระแทกแผงเหล็กกั้น แล้วยังถูก คฝ.รุมกระทืบ ส่วนอีกรายมีแผลถลอกเป็นทางยาวที่แขน หลังเจ้าหน้าที่ถีบไถลไปกับพื้น หลังถูกผลักให้ล้มลง เยาวชนอีกรายไม่มีบาดแผล แต่ระบุว่าถูก คฝ.เหยียบที่หัว ทั้งนี้ ในจำนวนผู้บาดเจ็บดังกล่าวยังเป็นเยาวชนอายุ 14 ปีถึง 2 ราย รายหนึ่งมีแผลถลอกตรงศอกจากรถล้ม และยังมีอาการปวดที่คอ โดยระบุว่า ถูกเหยียบ
ด้านกลุ่มผู้ใหญ่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากใช้กำลังเข้าจับกุมเช่นเดียวกับกลุ่มเยาวชน โดยหลายรายถูกเจ้าหน้าที่กระชาก ถีบ หรือขับรถชนขณะขับขี่จักรยานยนต์จนได้รับบาดเจ็บ บางรายระบุว่า ถูกต่อยที่ใบหน้าหลังรถจักรยานต์ล้ม บางรายระบุ ถูกเจ้าหน้าที่ถีบตกจากรถจักรยานยนต์ ท้องกระแทกเข้าที่ขอบทางด่วน หน้าสโมสรดุริยางค์ทหารบก อีกรายระบุ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนชนรถจักรยานยนต์แล้วรุมกระทืบ และกระชากจนเสื้อขาด ทั้งยังได้รับบาดเจ็บบริเวณซี่โครง
เห็นได้ชัดว่า ปฏิบัติการของ คฝ.ที่ระบุว่า เพื่อรักษาความสงบและจับกุมผู้กระทำผิดนั้น เป็นไปโดยรุนแรงเกินกว่าเหตุ เกินจำเป็น และไม่จำกัดเป้าหมายเหมือนเช่นทุกครั้ง ขณะที่ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงแถลงยืนยันคำเดิมๆ ว่า เป็นไปตาม “หลักสากล”