ท่ามกลางพลวัตของสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่ผันผวนและซับซ้อน การทำงานด้านข้อมูลและสื่อสารเชิงลึกในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนมีความสำคัญมากขึ้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนอ่าน 5 บทความพิเศษ (Special report) ที่ได้มีการรวบรวมข้อมูล และนำเสนอประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาของกฎหมาย มาตรา 112 การคุกคามประชาชน ผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน หรือสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภาพรวม
.
เมื่อกฎหมายเป็นอาวุธ: ทบทวนคดี ม.112 ที่เกือบครึ่งของทั้งหมด เป็นการกล่าวหาจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ
เรื่องย่อ : เป็นเวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย. 2563 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกมาตราดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง นำไปสู่การนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กลับมาบังคับใช้อีกครั้ง และทำให้มีประชาชนถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2568 มีประชาชนถูกแจ้งดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 1,960 ราย ในจำนวน 1,313 คดี โดยในคดีมาตรา 112 มีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีการเลือกตั้งเปลี่ยนผ่านรัฐบาล “พลเรือน” แต่จำนวนคดีก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
ศูนย์ทนายฯ พบว่าคดีมาตรา 112 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 277 คน ในจำนวน 309 คดี ในจำนวนนี้ พบว่าเป็นคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษถึง 163 คดี หรือมากกว่าครึ่งของจำนวนคดีเท่าที่ทราบข้อมูล
ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยในระลอกล่าสุดนี้ เห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า กฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปราบปรามประชาชนที่มีความเห็นต่างในเรื่องบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ ตลอดจนกลายมาเป็นอาวุธของกลุ่มการเมืองในนามของการ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์”
.
‘กฎ 10 รายชื่อ’ ของเรือนจำ จักรวาลรูหนูของนักโทษ(การเมือง)การกดขี่ซ้ำ-ไม่สมเหตุสมผล
เรื่องย่อ : หลังการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เกิดการดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากกับประชาชน สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบคดีที่เกิดขึ้นจาการแสดงออกทางการเมืองทั้งในที่ชุมนุมและทางออนไลน์ อย่างน้อย 1,960 คน คิดเป็น 1,313 คดี1
การดำเนินคดีตอนนั้นยังเป็นเพียงการส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการจับกุมในที่ชุมนุมและการออกหมายจับโดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาด้วย
กระบวนการดังกล่าว นำไปสู่การคุมขังประชาชนจำนวนไม่น้อยขณะที่ยังไม่ได้เริ่มสืบพยานในชั้นศาลภายหลังเมื่อส่งฟ้องแล้วก็มีหลายกรณีที่ไม่ได้ประกัน โดยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงต้นปี 2568 มีประชาชนถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 176 คน (ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังจำนวน 44 คน)
บางคนได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวหลังจากถูกคุมขังมาในช่วงเวลาหนึ่ง บางคนยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวแม้ผ่านมาร่วมปี การอนุญาตหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและดุลยพินิจของศาลเป็นสำคัญ
ประชาชนบางคนต้องเข้าออกเรือนจำมากกว่า 1 ครั้ง อาทิ อานนท์ นำภา ซึ่งเข้าเรือนจำร่วม 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และแม้ยังต่อสู้คดีอยู่แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว
.
ความมั่นคงปลอดภัย “ประชาชน” อยู่ตรงไหน?: ส่องสถานการณ์ติดตามคุกคามโดยรัฐเมื่อบุคคลสำคัญลงพื้นที่
เรื่องย่อ : เสียงสะท้อนดังกล่าวเป็นเพียงบางส่วนของความเห็นจากนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน ที่ยังคงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปติดตามตัวถึงที่พักอาศัย ไปหาที่ทำงาน คอยติดตามสอดแนม ตรวจเช็คความเคลื่อนไหว ในระหว่างที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั้งในส่วนของสมาชิกราชวงศ์ หรือบุคคลในคณะรัฐมนตรี ในระยะสองสามปีที่ผ่านมา แม้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว
ปฏิบัติการดังกล่าวของรัฐนับได้ว่าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปีแล้ว แม้อาจมีระดับความเข้มข้นต่างจากสมัยคณะรัฐประหาร แต่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง นโยบายเช่นนี้ก็มีลักษณะสืบเนื่องส่งต่อกันมา ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเกิดขึ้น
ปฏิบัติการเช่นนี้ ควรถูกทำให้เป็นเรื่องปกติหรือไม่ เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายใดมาดำเนินการ ลักษณะการใช้อำนาจเช่นนี้ดำเนินไปอย่างไรตลอดทศวรรษที่ผ่านมา รายงานพิเศษชิ้นนี้ พยายามสำรวจสถานการณ์ดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากให้ภาพสถานการณ์การคุกคามที่มีลักษณะสืบเนื่องมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 จนถึงปัจจุบัน นำเสนอสถิติการคุกคามเท่าที่ทราบข้อมูล รวมทั้งประมวลข้อสังเกตต่าง ๆ ต่อปฏิบัติการนี้ของรัฐในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนพิจารณามิติด้านอำนาจตามกฎหมาย และมิติการละเมิดสิทธิของประชาชน ที่ปฏิบัติการถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทยไปแล้ว
.
ศิลปะใต้เงา 112 (ตอน 1) : ราคาของการเสียดสีและขีดจำกัดของเสรีภาพ
เรื่องย่อ : 278 คน ใน 310 คดี คือผลลัพธ์ นับตั้งแต่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 2563 ที่ต่อเนื่องอยู่ราว 2 ปี เป็นการเคลื่อนไหวแสดงออกด้วยข้อเรียกร้องที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย อย่าง ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’
เมื่อประเด็นแหลมคมเช่นนี้ รูปแบบการแสดงออกย่อมต้องมี ‘งานศิลปะ’ เป็นหนึ่งในนั้น ทั้ง ‘ศิลปะการแสดง’ (Performance Art), ‘ศิลปะในพื้นที่สาธารณะ’, ภาพวาด, ภาพถ่าย, การแสดง หรือแม้กระทั่งแฟชั่นโชว์ ซึ่งล้วนเป็นมูลเหตุแห่งคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า มีคดีที่เกิดจากการแสดงออกในรูปแบบผลงานศิลปะรวมอย่างน้อย 15 คดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวน 22 คน
งานชิ้นนี้จะคลี่ขยายรายละเอียดว่า คดีเหล่านั้นถูกตัดสินอย่างไร นักวิชาการด้านศิลปะมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร รวมทั้งขยายมุมมองว่าศิลปะการล้อเลียนสถาบันกษัตริย์มีที่ทางอย่างไรในต่างประเทศ
.
“ธนพร” แม่ลูกอ่อน ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112
“หนูอยากให้ลูกลืมหนูไป เขาจะได้ไม่ต้องเจ็บปวด”
คุยกับ “ธนพร” แม่ลูกอ่อน ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 ในวันที่เธอยังอยู่กับครอบครัว ก่อนถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ของเพจ ซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 เมื่อช่วงปี 2564
ปัจจุบันธนพรถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี มาเป็นระยะเวลากว่า 9 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เธอไม่ได้พบหน้าลูกน้อยทั้งสองของตัวเอง
.