‘กฎ 10 รายชื่อ’ ของเรือนจำ จักรวาลรูหนูของนักโทษ(การเมือง)การกดขี่ซ้ำ-ไม่สมเหตุสมผล

หลังการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา เกิดการดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากกับประชาชน สถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบคดีที่เกิดขึ้นจาการแสดงออกทางการเมืองทั้งในที่ชุมนุมและทางออนไลน์ อย่างน้อย 1,960 คน คิดเป็น 1,313 คดี1

การดำเนินคดีตอนนั้นยังเป็นเพียงการส่งหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการจับกุมในที่ชุมนุมและการออกหมายจับโดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกรับทราบข้อกล่าวหาด้วย

กระบวนการดังกล่าว นำไปสู่การคุมขังประชาชนจำนวนไม่น้อยขณะที่ยังไม่ได้เริ่มสืบพยานในชั้นศาลภายหลังเมื่อส่งฟ้องแล้วก็มีหลายกรณีที่ไม่ได้ประกัน โดยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงต้นปี 2568 มีประชาชนถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 176 คน (ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังจำนวน 44 คน)

บางคนได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวหลังจากถูกคุมขังมาในช่วงเวลาหนึ่ง บางคนยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวแม้ผ่านมาร่วมปี การอนุญาตหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองและดุลยพินิจของศาลเป็นสำคัญ

ประชาชนบางคนต้องเข้าออกเรือนจำมากกว่า 1 ครั้ง อาทิ อานนท์ นำภา ซึ่งเข้าเรือนจำร่วม 6 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา และแม้ยังต่อสู้คดีอยู่แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว

“กฎ 10 รายชื่อ” เขียนกว้าง-ปฏิบัติแคบ ขึ้นกับดุลยพินิจ

เมื่อเข้าสู่การถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี สิ่งสำคัญที่ผู้ต้องขังทุกคนไม่ค่อยทราบคือ ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าเยี่ยมพวกเขาได้

คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อนของผู้ต้องขัง มักคิดว่าใครๆ ก็สามารถเข้าเยี่ยมกันได้ในเวลาที่สะดวก แต่อันที่จริงเรือนจำมีระเบียบข้อหนึ่งที่ชื่อว่า “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ  ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 25552 เป็นต้นมาและถูกปรับปรุงแก้ไขเป็นฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2561

ใจความสำคัญ ระบุไว้ในหมวด 1 ข้อ 7 โดยมีรายละเอียดจำนวน 4 บรรทัด

“เพื่อประโยชน์ด้านการควบคุมหรือความมั่นคงของเรือนจำ ให้ผู้บัญชาการเรือนจำกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะให้เข้ามาพบหรือติดต่อกับตนภายในเรือนจำไว้ล่วงหน้า รายชื่อบุคคลภายนอกนั้นให้มีจำนวนไม่เกิน 10 คน และหากจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สามารถดำเนินการได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน”

นอกจากนี้ ในหมวด 1 ยังมีการกำหนด “ลักษณะ” และ “ข้อควรปฎิบัติของผู้เข้าเยี่ยม” อาทิ ห้ามผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้าอนุญาตให้เยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังแล้วจะก่อการร้ายหรือกระทำผิดกฎหมายขึ้น ห้ามผู้ที่มีพฤติการณ์ที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของเรือนจำ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเขียนไว้อย่างกว้างๆ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอีกที

ที่สำคัญระเบียบยังระบุว่าต้อง “ยินยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำฟังการสนทนา บันทึกภาพหรือเสียงและตัดการสื่อสาร หากเห็นว่าข้อความที่สนทนาเป็นไปโดยไม่เหมาะสม”

ระเบียบเขียนไว้อย่างกว้างๆ ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร แต่ในทางปฏิบัติกลับสร้างปัญหาหลายอย่างและอาจกลายเป็นกฎที่ตัดโอกาสในการพัฒนา-ดูแล สภาพจิตใจของผู้ต้องขังบางส่วน เช่น ผู้ต้องขังทางการเมือง

“ผู้ต้องขังทางการเมือง” หนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบสำคัญ

ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีจำนวนผู้ต้องขังราว 282,445 คน โดย 72.09 % คือผู้ต้องขังในคดียาเสพติด3 (2)

การกำหนดรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมให้เหลือเพียง 10 รายชื่อ และมีระยะเวลาที่ต้องรออย่างน้อย 30 วัน ภายหลังยื่นเอกสาร อาจเกิดขึ้นเพื่อการจำกัดช่องทางการติดต่อของผู้ต้องขังในคดียาเสพติด อย่างไรก็ตามไม่พบว่ามีการศึกษาผลลัพธ์ว่ามีประโยชน์ในการลดการกระทำความผิด หรือลดการกระทำความผิดซ้ำหรือไม่ เพียงใด

โดยปกติแล้วการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในทุกช่องทาง ทั้งที่เรือนจำและทางออนไลน์ ผู้เข้าเยี่ยมจำเป็นจะต้องลงทะเบียนและแสดงตัวตนด้วยบัตรประชาชนหรือเอกสารแสดงตัวตนอยู่แล้ว เรือนจำสามารถเก็บข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมและตรวจสอบได้เสมอแม้ไม่มีข้อกำหนด 10 รายชื่อก็ตาม

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ต้องขังในคดีการแสดงออกทางการเมืองหลากรูปแบบ เข้าและออกเรือนจำบ่อยครั้งตามความเข้มข้นของสถานการณ์การชุมนุม พวกเขาถูกคุมขังจากหลายสาเหตุ ทั้งการถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ ฝากขังในชั้นสอบสวนและไม่ได้ประกันตัว จับกุมตามหมายจับ ไม่ได้ประกันตัวภายหลังถูกอัยการสั่งฟ้อง หรือแม้แต่การไม่ได้ประกันตัวหลังจากฟังคำพิพากษา แม้ยังประสงค์สู้คดีในชั้นอุทธณ์

จนถึงปัจจุบันยังมีผู้ที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำอย่างน้อย 46 คน เป็นผู้ที่คดีถึงที่สุดแล้ว 17 คน และยังต่อสู้คดีอยู่ 27 คน

ผู้ที่ยังต่อสู้คดีนั้นมีจำนวนถึง 12 ที่ถูกคุมขังมาแล้วเกิน 1 ปี และยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ผู้ที่ถูกคุมขังนานที่สุดที่ยังประสงค์สู้คดีนั้นถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี 7 เดือน (ณ วันที่ 26 ก.พ. 2568)

จากการสำรวจปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการกำหนด 10 รายชื่อผู้เข้าเยี่ยมพบว่า เพื่อนและผู้ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองเป็นผู้ที่ประสบข้อติดขัดมากที่สุด

ในพื้นที่บางแห่ง เรือนจำบังคับใช้กฎ 10 รายชื่อโดยจะเป็นใครก็ได้ที่ผู้ต้องขังอยากให้เข้าเยี่ยม ขณะที่บางเรือนจำบังคับว่าจะต้องเป็นญาติทางสายเลือดเท่านั้นจึงจะลงทะเบียนเข้าเป็น 1 ใน 10 รายชื่อเยี่ยมได้แม้ไม่มีระเบียบกำหนดชัด และในบางกรณีแม้เป็นญาติก็ยังประสบปัญหาจากการบังคับใช้กฎที่นอกเหนือไปจากที่ตัวอักษรเพราะปัญหาในทางปฎิบัติเกี่ยวกับกฎ 4 บรรทัดนี้ ไม่ได้มีเพียงเรื่องการต้องพิสูจน์สายเลือดเท่านั้น

ไร้ครอบครัว-ถูกฟ้องต่างถิ่น-จำกัดวันเยี่ยม สารพัดเหตุขวางญาติเยี่ยม


ข้อติดขัดเกี่ยวกับการกำหนดให้ผู้เป็นญาติเท่านั้นเยี่ยมได้เกิดมาจากเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก เรือนจำเป็นสถานที่ราชการที่เปิดเฉพาะเวลาทำการ จันทร์-ศุกร์ 8.00-16.00 น. อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่ญาติจะต้องมาก่อนเวลา 14.00 น. เนื่องจากการเปิดเยี่ยมรอบสุดท้ายมักจบในเวลา 14.30-15.30 น. แล้วแต่ระเบียบเรือนจำ ญาติที่ยังอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงานและทำงานในลักษณะที่มีเวลาทำงานชัดเจนจึงมักจะต้องลางานหรือลาเรียนเพื่อมาเข้าเยี่ยม

แม้ว่าเรือนจำจะกำหนดเวลาเข้าเยี่ยมเพียง 10 หรือ 15 นาที แต่ผู้ที่จะเข้าเยี่ยมต้องมีเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงไม่นับเวลาเดินทาง เนื่องจากแต่ละเรือนจำโดยเฉพาะเรือนจำใหญ่ๆ อย่างเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หรือทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้มาเข้าเยี่ยมญาติต่อวันเป็นจำนวนมากหลายร้อยคน จึงต้องมีการกดรับบัตรคิว ผู้ที่ต้องการคิวเข้าเยี่ยมอาจจะต้องมารอก่อนเวลาเปิดของเรือนจำ หรือมารอเป็นเวลานานเพื่อจะให้ทันกับการรับคิวเข้าเยี่ยมในวันนั้นๆ

บางเรือนจำกำหนดวันที่แน่ชัดในการเข้าเยี่ยมในแต่ละอาทิตย์ และญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมในวันที่สะดวกได้ จำต้องเยี่ยมในวันที่เรือนจำกำหนดเท่านั้น เช่น บางเรือนจำกำหนดให้เยี่ยมผู้ต้องขังแดน 1 แค่วันศุกร์ บางเรือนจำกำหนดให้เยี่ยมผู้ต้องขังได้อาทิตย์ละ 2 วัน แต่เป็นวันจันทร์กับวันพุธ ข้อกำหนดเหล่านี้ยิ่งเป็นการจำกัดวันเวลาของญาติที่จะสะดวกเดินทางมา

ประการที่สอง ผู้ต้องขังในคดีการเมืองจำนวนหนึ่งไม่มีญาติเข้าเยี่ยม จะมีก็เพียงเพื่อนที่รู้จักกันจากการชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น โดยมีเหตุผลหลายประการ เช่น เดิมทีผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคนใช้ชีวิตอิสระ ไม่ได้อยู่กับครอบครัวมาตั้งแต่แรกและไม่ได้ติดต่อครอบครัวมานานแล้ว นั่นทำให้พวกเขาประสบความลำบากในการตามหาญาติ หากญาติย้ายที่อยู่หรือเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ กระทั่งผู้ที่พ่อแม่เสียชีวิตแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวได้

ประการที่สาม ผู้ต้องขังบางส่วนไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯ แต่ต้องมาสู้คดีในกรุงเทพฯ เนื่องจากคดีทางการเมืองโดยเฉพาะคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่บก.ปอท. เป็นผู้ดำเนินคดีและ คดี ม.112  เปิดทางให้สามารถแจ้งความได้ทุกพื้นที่ ทำให้เกิดการแจ้งความในพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นภูมิลำเนาของผู้ต้องขังจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ต้องขังประสบความลำบากตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และชั้นศาล

ล่วงเลยมาถึงภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ญาติของผู้ต้องหาหลายคนที่เป็นผู้สูงอายุและมีฐานะยากจน จึงประสบปัญหาในการเดินทางและทางการเงิน รวมถึงขาดความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี เช่น การลงทะเบียนเยี่ยมทางแอปพลิเคชั่นไลน์ หรือลงทะเบียนทำบัตรฝากเงิน

แม้ว่าปัจจุบันเรือนจำเกือบทุกแห่ง เปิดให้มีการลงทะเบียนเยี่ยมทางออนไลน์ผ่านการใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ได้ เป็นเวลา 15 นาที เท่ากับการเยี่ยมที่หน้าเรือนจำ แต่ญาติจะต้องมีความสามารถในการลงทะเบียนจองเยี่ยมล่วงหน้า

เช่น ลงทะเบียนจองเยี่ยมวันจันทร์ เพื่อจะรอเยี่ยมตามเวลาที่จองไว้ในวันอังคาร ญาติผู้ต้องขังสูงอายุบางคนไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือไม่มีความถนัดทางเทคโนโลยีที่จะดำเนินการได้เอง อีกทั้งการ “จองเยี่ยม” ออนไลน์ก็ไม่ได้เป็นระบบแบบเดียวกันทุกเรือนจำ เช่น การจองเยี่ยมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพทำผ่านเว็บไซต์ ขณะที่เรือนจำอีกหลายแห่งญาติต้องแอดไลน์เรือนจำที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ลงทะเบียนเยี่ยมไลน์โดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม การจองเยี่ยมออนไลน์ได้รับความนิยมสูง จึงทำให้เรือนจำใหญ่ๆ การคิวจองเยี่ยมสามารถเต็มได้ภายใน 5-10 นาทีแรกที่มีการเปิดจอง

ปัญหาที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือระบบจองเยี่ยมจะถูกยกเลิกไปในทันทีเมื่อ “ไฟดับ” โดยเราพบว่าในเรือนจำหลายแห่งมักมีปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง บางครั้งดับนานหลายชั่วโมง ทำให้การซื้อของออนไลน์และการเยี่ยมญาติทางออนไลน์ถูกยกเลิกไปอย่างกระทันหัน เช่น เรือนจำคลองเปรม หรือ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี  

ฝากเงินไม่ได้หากขังระหว่างพิจารณาคดี แต่บางที่ยืดหยุ่นทำได้

นอกจากจะมีมีข้อจำกัดของผู้เข้าเยี่ยมมากมายแล้ว ผู้ต้องขังทางการเมืองยังอาจขาดโอกาสในการทำบัตรฝากเงินโดยทันที เนื่องจากกฎของเรือนจำเกือบทุกแห่งจะระบุให้ผู้ที่สามารถทำบัตรฝากเงินได้จำต้องเป็นญาติทางสายเลือดเพียงเท่านั้น

อันที่จริงระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการรับ จ่ายเงินฝากของผู้ต้องขังในเรือนจำ พ.ศ. 2563 ระบุไว้อย่างกว้างและเปิดโอกาสมากกว่าในทางการปฎิบัติ โดยมีข้อความอธิบายเพียงว่า 

“ผู้ฝาก” หมายความถึง ผู้มีความสัมพันธ์ในฐานะญาติของผู้ต้องขัง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง และเป็นบุคคลที่ผู้ต้องขังแจ้งไว้ในรายชื่อญาติซึ่งได้ยื่นคำร้องพร้อมเอกสารหลักฐาน แสดงตัวตนหรือเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาอนุญาตตามที่เห็นสมควร  

การบังคับใช้กฎเกี่ยวกับการฝากเงิน ยังมีรายละเอียดที่เป็นข้อติดขัดใหญ่ๆ ทางการบังคับใช้โดยพบว่า ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองกว่า 26 คนที่ยังคงสู้คดีอยู่ในชั้นศาลอุธรณ์และศาลฎีกา นอกจากประสบปัญหาติดขัดในเรื่องผู้มีสิทธิ์เข้าเยี่ยม 10 รายชื่อและผู้มีสิทธิ์ทำบัตรฝากเงินที่ต้องเป็นญาติเท่านั้น ยังประสบกับปัญหาที่ว่าแม้เป็นญาติก็ไม่สามารถทำบัตรฝากเงินได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า “คดียังไม่ถึงที่สุด ยังอาจได้รับการประกันตัว” ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่มีใครก้าวล่วงหรือล่วงรู้ได้ว่ากว่าจะได้รับการประกันตัวนั้น ต้องใช้เวลานานเพียงใด

ปัญหาในข้อนี้เกิดจากผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการสู้คดี มักไม่ถูกนับว่าเป็นผู้ต้องขังเสียทีเดียว พวกเขาไม่มีสิทธิประโยชน์ในการได้ลดโทษ การได้เลื่อนชั้นนักโทษ หรือการอภัยโทษ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกจากเรือนจำ การถูกคุมขัง “ระหว่าง” พิจารณาคดีมาแล้วเกิน 1 ปี โดยญาติยังไม่มีสิทธิ์ทำบัตรฝากเงิน ทำให้พวกเขาเข้าถึงความช่วยเหลือหรือความสะดวกในการใช้ชีวิตได้ยากและล่าช้าขึ้น

วิธีแก้ปัญหาในปัจจุบันคือ ญาติต้องฝากเงินผ่านทนายความในคดีหรือผู้ที่เป็น 1 ใน 10 รายชื่อให้เป็นผู้ดำเนินการที่บริเวณเรือนจำที่ถูกคุมขังอยู่ ซึ่งต้องรอช่วงเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องสะดวกเดินทางไปเข้าเยี่ยม หรือใช้ระบบการฝากผ่านธนณัติ ทางไปรษณีย์ไทย ซึ่งต้องถอดเงินสดไปฝากโดยไม่รับระบบสแกน โดยการฝากธนาณัฒิอาจกินเวลาเกือบ 1 เดือน กว่าผู้ต้องขังจะได้รับเงินเพื่อใช้จ่ายในเรือนจำ

อย่างไรก็ตามเราพบว่า บางเรือนจำผู้ต้องขังระหว่างการต่อสู้คดีสามารถทำบัตรฝากเงินได้โดยอนุโลม เช่น เรือนจำจังหวันราธิวาส ซึ่งมีผู้ต้องขังที่ต้องต่อสู้คดีไกลบ้านอยู่ 2 คน จากการถูกแจ้งความม.112 ข้ามภูมิภาค ญาติของพวกเขาสามารถทำบัตรฝากเงินทางออนไลน์ได้ ทำให้พวกเขาเข้าถึงความช่วยเหลือได้รวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากบัตรฝากเงินออนไลน์ทำให้ผู้ต้องขังได้รับเงินภายในวันรุ่งขึ้น ผ่านการฝากเงินด้วยแอพพลิเคชั่นของธนาคารกรุงไทย

ด้วยปรากฎการณ์นี้ จะเห็นได้ว่าหากเรือนจำจะบังคับใช้ระเบียบโดยยืดหยุ่นเพื่อประโยชน์ของผู้ต้องขังก็ย่อมทำได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ญาติทางสายเลือด” ข้อกำหนดเพิ่มเติมที่สร้างความยุ่งยาก

ปัจจุบันผู้ต้องขังทางการเมืองถูกคุมขังอยู่เป็นต้นว่าในเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนหรือครอบครัวก็สามารถเข้าเป็น 1 ใน 10 รายชื่อได้ เพื่อซื้ออาหารให้ผู้ต้องขัง แต่ญาติทางสายเลือดเท่านั้นจึงจะสามารถทำบัตรฝากเงินได้ โดยแม้จะมีชื่อเป็น 1 ใน 10 รายชื่อแล้ว ก็ไม่สามารถทำบัตรฝากเงินได้

“หลังจากรอมาประมาณ 2 เดือนกว่าจะได้รับการยืนยันว่าได้เข้าเป็น 1 ใน 10 รายชื่อแล้ว เราขับรถจากบ้านไป 70 กิโล ไปกลับเรือนจำก็เกือบๆ 140 กิโล เพื่อจะไปเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้ว แค่ 15 นาที แต่ก็พบว่าแม้ตัวเองจะเป็น 1 ใน 10 รายชื่อ มีสิทธิ์ซื้ออาหารฝากให้ผู้ต้องขังได้แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเยี่ยมที่หน้าเรือนจำได้อยู่ดี เพราะได้รับแจ้งว่าต้องเป็นญาติทางสายเลือดเท่านั้น”

“ไม่ใช่แค่นั้นกรณีของผู้ต้องขังคนนี้ กว่าเราจะติดต่อญาติเขาได้ เขาก็ถูกขังมาแล้วราว 3 เดือนและจนตอนนี้ผ่านไป 6 เดือนแล้ว เขาก็ยังไม่ได้มีบัตรฝากเงินถึงจะเป็นกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว เพราะญาติอยู่ไกลยังไม่ได้สะดวกไปทำบัตรที่เรือนจำ ถึงเราสะดวกและอยากจะเป็นคนทำบัตรฝากเงิน พยามไปลองทำเพื่อจะได้ช่วยฝากเงินให้เขา เราก็ไม่มีสิทธิ์ทำเพราะเรือนจำไม่อนุญาต”

เจ้าหน้าที่โครงการฟรีด้อมบริดจ์ซึ่งติดตามให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง เจอกับความซับซ้อนของกฎเกณฑ์ที่แม้ตัวเองจะอยู่ใน 10 รายชื่อตามระเบียบแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ทำให้การขับรถไปเรือนจำของเธอในคราวนั้นต้องสูญเปล่า และผู้ต้องขังก็ยังคงไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการฝากเงิน

บัตรฝากเงินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ต้องขังที่อยู่ไกลบ้าน เนื่องจากญาติจะสามารถฝากเงินให้ผู้ต้องขังได้ทางออนไลน์โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาฝากที่เรือนจำ

ขณะเดียวกันที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไม่ว่าใคร ทั้งเพื่อนและญาติก็สามารถลงทะเบียนเข้าเป็น 1 ใน 10 รายชื่อได้ และเปิดกว้างให้ทุกคนสามารถซื้ออาหารให้ผู้ต้องขังได้ แม้ไม่ได้ลงทะเบียนเป็น 1 ใน 10 รายชื่อ อีกทั้งหากในวันดังกล่าวมีคนซื้ออาหารให้ผู้ต้องขังหลายคน เรือนจำก็ไม่ได้มีปัญหากับเรื่องนี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามยังคงมีข้อจำกัดว่า ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเป็น 1 ใน 10 รายชื่อไม่สามารถฝากเงินให้ผู้ต้องขังที่หน้าเรือนจำได้

กฎ 10 รายชื่อยังมีความติดขัดทางเทคนิคอีกด้วย โดยเราพบว่าที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งเป็นที่รวมของผู้ป่วยจากเรือนจำหลายแห่งโดยเฉพาะจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ปรากฏว่าฐานข้อมูล 10 รายชื่อของเรือนจำต่างๆ กับโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไม่ได้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่มีรายชื่อเข้าเยี่ยม 10 รายชื่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ไม่สามารถเข้าเยี่ยมที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้

โรงพยาบาลราชทัณฑ์อธิบายว่า ต้องการเน้นเฉพาะญาติสายตรงของผู้ต้องขังเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เยี่ยมได้และหากเพื่อนประสงค์จะเข้าเยี่ยม ต้องให้ญาติสายตรงเป็นผู้อนุญาต ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างความยุ่งยากมากยิ่งขึ้นให้กับการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในโรงพยาบาลราชทัณฑ์

แม้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขังและการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ หมวด 4 ข้อ 25 ระบุในวงเล็บ 1-5 ว่า บุคคลที่จะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยได้ต้องเป็นคนในครอบครัว แต่ยังมี (6) ซึ่งระบุว่า “บุคคลอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือผู้ที่ผู้ต้องขังป่วยร้องขอ” ระเบียบยังได้ระบุต่อไปใน ข้อ 26 ว่า “ให้นำความในหมวด 1 มาใช้บังคับกับกรณีการเยี่ยมผู้ต้องขังป่วยเท่าที่พอจะบังคับได้ โดยอนุโลม” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระเบียบของเรือนจำยังเปิดช่องทางให้แก่เพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่ไม่ใช้ญาติมีสิทธิ์ลงทะเบียนเยี่ยมได้

แต่ในทางปฎิบัตินั้น เพื่อนๆ ของนักโทษการเมืองได้รับการปฎิเสธจากโรงพยาบาลไม่ให้ลงทะเบียนขอเข้าเยี่ยม ทำให้นักโทษการเมืองที่ถูกขังอยู่ในโรงพยาบาลไม่ได้พบกับผู้ที่ต้องการให้กำลังใจและสนับสนุนพวกเขาแต่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง

“เราใช้เวลา 2-3 เดือน กว่าจะสามารถลงชื่อเข้าเป็นหนึ่งในสิบรายชื่อได้” ฟาง เพื่อนของผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำภาคอีสานสะท้อนปัญหา

แม้ว่าเพื่อนจะสามารถลงทะเบียนเข้าเป็น 1 ใน 10 รายชื่อของผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำภาคอีสานได้ แต่ก็ไม่ได้รับการดำเนินการที่รวดเร็วและต้องติดตามด้วยตัวเองหลายครั้งกว่ารายชื่อจะถูกบรรจุเข้าไปในระบบและสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ นั่นทำให้ต้องเกิดการเดินทางมาเรือนจำหลายครั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าในการเข้าเยี่ยม

เรือนจำบางแห่งให้เยี่ยม ‘เดือนละครั้ง’ ออนไลน์

อีกหนึ่งปัญหาที่พบในเรือนจำที่มีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่ คือปัญหาเรื่องความถี่ในการเข้าเยี่ยม

เรือนจำพิเศษกรุงเทพนั้น ผู้ที่มีรายชื่อสามารถเข้าเยี่ยมได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการก่อน 15.30 น. และหลายเรือนจำก็เป็นเช่นนั้น

หากแต่ข้อมูลจากเรือนจำที่มีนักโทษทางการเมืองถูกคุมขังอยู่ กลับพบว่าเรือนจำจังหวัดเชียงรายมีการกำหนดความถี่ในการเข้าเยี่ยมได้เพียงแค่เดือนละ 1 ครั้ง และผู้ที่จะสามารถเข้าเยี่ยมได้ต้องเป็นผู้ที่มีนามสกุลเดียวกันเท่านั้น โดยไม่อนุญาตให้เพื่อนเข้าลงทะเบียนเป็น 1 ใน 10 รายชื่อ

แดนนี่ คนเสื้อแดงที่อยู่ในภาคเหนือและทราบว่ามีผู้ต้องขังทางการเมืองถูกขังอยู่ในจังหวัดเชียงรายเล่าว่า บ้านของเขาอยู่ระหว่างบ้านของพ่อแม่ผู้ต้องขังและเรือนจำ ก่อนจะไปเรือนจำจึงต้องขับผ่านบ้านผู้ต้องขัง ทำให้เขาสามารถแวะรับพ่อแม่ของผู้ต้องขัง ทุกๆ เดือนที่จะเดินทางไปเยี่ยมครั้งละ 15 นาทีได้ อย่างไรก็ตามแดนนี่ไม่สามารถขอเพิ่มชื่อตนเองเป็น 1 ใน 10 รายชื่อได้

“ผมไม่ได้รู้จักกับเขา(ผู้ต้องขัง) มาก่อนเลย แต่เห็นว่าเป็นคดีการเมือง เขาแค่พูด เขาแสดงความเห็นเท่านั้น ไม่ได้ไปค้ายา ไม่ได้ฆ่าคน เราเห็นใจเขา เลยอยากไปเยี่ยม แต่ปรากฏว่าเพิ่มชื่อตัวเองไม่ได้ เพราะเรือนจำบอกว่าต้องเป็นญาติทางสายเลือด ต้องเป็นพ่อ เป็นแม่ พ่อแม่เขาแก่มากแล้วและไม่ค่อยแข็งแรง เดินไม่ค่อยไหว แต่ก็ต้องมาเยี่ยมลูกชาย แล้วเยี่ยมได้แค่เดือนละครั้ง มันเกินไปไหม เดือนละครั้ง ครั้งละแค่ 15 นาที แล้วเจอกันไม่ใช่ว่าได้เจอผ่านแผ่นอะคริลิก ผ่านห้องกระจกเหมือนเรือนจำที่อื่นนะ คอนเฟอเรนซ์ เจอกันผ่านจอภาพอย่างเดียว ที่สำคัญผู้คุมยืนฟังอยู่ข้างหลังทุกครั้ง”

แดนนี่บอกเล่าประสบการณ์การเข้าเยี่ยมของพ่อแม่ผู้ต้องขัง ซึ่งปัจจุบันตัวเขาเองก็ยังอยู่ระหว่างการพยายามขอเพิ่มชื่อตนเองเข้าเป็น 1 ใน 10 รายชื่อ โดยใช้เวลากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากเรือนจำในภาคเหนือแล้วเรือนจำในภาคใต้ก็ประสบปัญหาการเข้าเยี่ยมเช่นเดียวกัน

บี (นามสมมติ) เป็นอีกหนึ่งประชาชนทั่วไปที่ติดตามสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีประสบการณ์ขอลงชื่อเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองที่จังหวัดนราธิวาสแต่ไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากไม่ได้เป็นญาติทางสายเลือด

“เมื่อทราบข่าวก็เลยลองเดินทางไปเข้าเยี่ยมเพราะที่พักของเรากับเรือนจำอยู่ไม่ห่างกันมาก เห็นว่าคดีที่เขาโดนเป็นลักษณะการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ตอนที่ไปขอเข้าเยี่ยม ได้รับคำตอบว่าจะลงทะเบียนได้เฉพาะญาติเท่านั้น จึงทำได้แค่ส่งจดหมายและซื้อของฝากเยี่ยมและก็ได้รับจดหมายตอบกลับจากเขาด้วยในเวลาต่อมา

“พอเรือนจำเปิดให้คนที่ไม่ใช่ญาติลงชื่อได้ ซึ่งกินเวลาประมาณ 6 เดือน เราก็ขอลงทะเบียนไปแต่ก็ใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ถึงจะมีชื่อเข้าเยี่ยมได้จริงๆ แต่ด้วยความที่เขามีโรคประจำตัว บางทีไปโรงพยาบาลต้องกลับมากักตัวหลายวัน ทำให้เราไม่ทราบเพราะไม่มีช่องทางสื่อสารอื่น พอมาเข้าเยี่ยมก็ไม่ทราบว่าช่วงนี้เขาอยู่ระหว่างกักตัว หรือ ช่วงนี้เขาต้องออกไปตรวจร่างกาย เลยพลาดการเยี่ยมไปแล้ว 4 รอบ ไปเยี่ยมแต่ไม่เคยได้พบเลย” บีสะท้อนความยากลำบากในการเข้าเยี่ยม

สำหรับเรื่องการเพิ่มขึ้นของข้อกำหนดเกี่ยวกับ “ญาติทางเลือด” นั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยได้รับการร้องเรียนจากผู้ต้องขังในเรือนจำบางขวาง เรื่องการกำหนดให้ผู้ที่จะส่งจดหมายเข้ามาได้ต้องเป็นญาติทางสายเลือดเท่านั้น โดยมีข้อติดขัดที่มีลักษณะคล้ายกับประเด็นการเข้าเยี่ยมที่เรือนจำข้างต้น กล่าวคือในกรณีที่ผู้ต้องขังมีญาติทางสายเลือดแต่ได้เสียชีวิตไปแล้วก็จะทำให้ผู้ต้องขังหมดสิทธิที่จะได้ติดต่อกับผู้อื่นด้วยข้อจำกัดนี้

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยได้เคยเสนอแนะต่อเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ให้พิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว โดยพิจารณาจากทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึง ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดแมนเดลา ข้อ 58 ซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตให้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ทั้งในรูปแบบการเขียนจดหมายและการเยี่ยม4 (3)


ทุกกฎ “ปรับเปลี่ยนได้” ถ้าคำนึงถึงคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง

หากกฎการเข้าเยี่ยม 10 รายชื่อและกฎการฝากเงินสามารถถูกบังคับใช้อย่างได้สัดส่วน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่ไม่ได้มีฐานะและไม่ใช่ผู้ต้องขังทุกคนจะมีญาติทางสายเลือดที่มีความสัมพันที่ดีต่อกัน การเปิดโอกาสให้เพื่อนที่ผู้ต้องขังไว้วางใจได้เข้ามาดูแล มีสิทธิ์เข้าเยี่ยมและทำบัตรฝากเงิน จะส่งผลให้การดูแลผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับคนในเรือนจำซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศโดยรวม  เนื่องจากพวกเขาจะสามารถพบกับผู้ที่ต้องการให้กำลังใจและได้รับความช่วยเหลือจากผู้ที่ประสงค์จะช่วยเหลือและสนับสนุนพวกเขาได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังจากการแสดงออกที่ยังคงต้องต่อสู้ทั้งในกระบวนการยุติธรรมและการปรับตัวใช้ชีวิตในเรือนจำ

รวมถึงการพิจารณาอนุญาตให้มีการทำบัตรฝากเงินสำหรับผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีแต่ไม่ได้รับการประกันตัว เช่น ผู้ต้องขังทางการเมืองกว่า 27 คนในขณะนี้และผู้ต้องขังอีกจำนวนมากที่ไม่ใช่คดีการเมืองแต่ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีเป็นเวลานาน ยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการและการเดินทางของญาติ และส่งเสริมให้ผู้ต้องขังสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

อ้างอิง

  1. ข้อมูลสถิติศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำเดือน ม.ค. 2568
    https://tlhr2014.com/archives/72734 ↩︎
  2. กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์
    http://www.correct.go.th/popmaha/image/correct%20law.pdf ↩︎
  3. ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_result.php?date=2025-02-01&report=
    http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_result.php?date=2025-02-01&report=drug ↩︎
  4. กสม. แนะราชทัณฑ์ยกเลิกกฎห้ามผู้ต้องขังติดต่อผู้ที่ไม่ใช่ญาติทางสายเลือดทุกเรือนจำทั่วประเทศ https://thestandard.co/recommend-corrections-to-cancel-the-rule/  ↩︎

X