จำนวน ‘42’ คือตัวเลขของผู้ต้องขังทางการเมือง ในปัจจุบัน (23 ส.ค. 2567) และดูเหมือนว่าสถานการณ์เข้าออกเรือนจำของเหล่า ‘ผู้ต้องหาเสรีภาพ’ ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น หนำซ้ำยังมีอีกหลายคดีที่รอการตัดสิน นั่นหมายถึงยังมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ที่อาจต้องไปเผชิญชีวิตในห้องขังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างที่กล่าวไป 42 ชีวิต อาจเป็นตัวเลขที่สะท้อนถึงสถิติผู้ต้องขัง แต่ 42 ชีวิต อาจหมายถึง 42 ครอบครัว ที่ต้องห่างไกลกัน เพียงเพราะโทษทัณฑ์จากการแสดงออกทางการเมือง ที่ทำให้หลายชีวิตตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ทั้งความเป็นอยู่ข้างใน สภาพจิตใจที่อาจจะไม่มั่นคงเหมือนเดิม รวมไปถึงการสื่อสาร ที่ไม่สามารถทำได้สะดวกเหมือนดังชีวิตนอกเรือนจำ
‘ทนายสายเยี่ยม’ เกิดขึ้นจากทนายความอาสา ที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชน และร่วมทำหน้าที่เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อพูดคุยกับผู้ต้องขัง ในเรื่องสถานการณ์ภายนอกเรือนจำ และสิ่งที่ผู้ต้องขังต้องประสบภายในเรือนจำ และเป็นตัวกลางคอยสื่อสารเรื่องราวนั้น ๆ กับญาติผู้ต้องขังที่ไม่ได้เข้าเยี่ยม
กระทั่งการเข้าเยี่ยมบ่อยครั้ง เกิดเป็น ‘บันทึกเยี่ยม’ เรื่องราวที่ผู้ต้องขังทางการเมืองต้องการสื่อสารกับคนภายนอก โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตย และผู้คนที่ยังติดตามข่าวสารสถานการณ์คดีด้านเสรีภาพ ผ่านบรรดาทนายความที่วนเวียนเข้าออกเรือนจำเพื่อนำเรื่องเหล่านั้นมาตีแผ่สู่สังคม จึงเป็นโอกาสที่ดีในการจะทำความรู้จักทนายสายเยี่ยม ทั้งบทบาท ตัวตน และความคาดหวังที่พวกเขาและเธอ อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังคดีการเมือง
.
ปูเล: สิ่งสำคัญ ที่ได้เรียนรู้จากสภาวะนี้คือ ‘การมีความหวัง’
แพรวพรรณ พิลาทอง หรือ ‘ปูเล’ จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนไปสมัยเคยเรียนทำโครงการเรื่องคนไร้สัญชาติ ทำให้สนใจสิทธิมนุษยชนตั้งแต่นั้น พอเรียนจบอยากทำงานที่ได้ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส จึงเริ่มการทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือเด็กในแคมป์คนงานก่อสร้างข้ามชาติให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ก่อนลาออกมาในช่วงก่อนโควิดระบาด มาเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่ร้านอาหารเกาหลี ทำได้ไม่นานร้านก็โดนสั่งปิดเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ด้วยรู้สึกว่าเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการบริหารจัดการโรคระบาดของรัฐ ช่วงนั้นเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่รู้สึกว่าอาจจะนำสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ จึงได้เข้ามาร่วมงานอาสากับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กระทั่งได้ตั๋วทนายในปี 2565 จึงเริ่มรับหน้าที่เป็นทนายอาสาต่อทันที และหนึ่งในหน้าที่นั้นคือการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง โดยเฉพาะผู้ต้องขังหลายคนที่ประท้วงในรูปแบบต่าง ๆ จากภายในเรือนจำ ทั้งด้วยการอดน้ำ อดอาหาร หรือแม้กระทั่งอดนอน
ด้วยเห็นผู้ต้องขังร้องไห้เยอะมาก ไม่ว่าจะจากการพูดถึงครอบครัว หรือเรื่องอนาคต การเตรียมตัวไปเยี่ยมแต่ละครั้ง เธอเริ่มที่ต้องทำตัวให้สดชื่นเข้าไว้ “เคยมีผู้ต้องขังคนหนึ่งพูดกับเราว่า เวลาเขาอยู่ข้างในมันไม่ได้มีอะไรที่เขารู้สึกสดชื่น แต่พอทนายมาหาด้วยท่าทางสดใส ยังใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เขาก็รู้สึกดีไปด้วย”
ปูเลเล่าอีกว่าบางทีผู้ต้องขังที่มีประวัติพยายามจะฆ่าตัวตายมาก่อนหน้านั้น หากเข้าไปเยี่ยม จะต้องสังเกตว่าตามตัวเขามีแผลอะไรหรือไม่ ยังพยายามที่จะหาอะไรมากรีดแขนไหม ทนายจะต้องไวกับเรื่องแบบนี้ ถ้าสมมติน้ำเสียงเขาดูไม่ดี ต้องคอยสังเกตและเปรียบเทียบว่าสัปดาห์ที่แล้วเป็นอย่างไร แล้วสัปดาห์นี้เขาเป็นอย่างไร มีเรื่องอะไรที่ทำให้ดูซึมลงหรือเปล่า
ยิ่งเป็นผู้ต้องขังที่ใช้ร่างกายตัวเองประท้วงสิทธิประกันตัวต่อศาล สำหรับปูเลถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแย่ แย่ในแง่ที่เหมือนเข้าไปดูผู้ต้องขังค่อย ๆ กำลังตายลงทุกวัน อย่างกรณี ‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องขังคดี 112 ที่เคยอดอาหารและอดน้ำประท้วง เมื่อเข้าไปเยี่ยมบ่อยขึ้นทุกวัน สังเกตเห็นได้ว่าดูเหมือนไม่มีแรง ร่างกายดูซูบโทรมมาก
หรือกรณี ‘เก็ท’ โสภณ อีกผู้ต้องขังคดี 112 ที่ใช้วิธีอดหลับอดนอน “ฝืนตื่นประท้วง” ซึ่งเป็นวิธีการที่อาจจะยังไม่คุ้นเคย “เราไม่สามารถไปบอกเขาได้อยู่แล้วว่าหยุดทำ ที่ทำได้คือรับฟังสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำแบบนี้ เพราะเหตุผลอย่างนี้”
พอเก็ทเริ่มอดนอน เธอพบว่า เขาเคลื่อนไหวช้าลง มีอาการมือสั่น วันถัดมามือสั่นยิ่งกว่าเดิม ควบคุมตัวเองไม่ได้ อีกวันหนึ่งไปดูแล้วพบว่า พูดไม่รู้เรื่อง “ครั้งหนึ่งเขาร้องไห้ต่อหน้าเรา ซึ่งปกติเขาไม่เคยร้องไห้ต่อหน้าเราหรือต่อหน้าใครมาก่อน ในฐานะที่เราไปเยี่ยมเขาตลอดจนบางทีเรารู้สึกเหมือนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว แล้วเราจะไม่รู้สึกแย่ได้อย่างไรในเวลาที่เพื่อนต้องทรมานตัวเองขนาดนั้น”
สำหรับปูเล เสียงของคนข้างในเป็นเรื่องสำคัญมาก ด้วยตอนที่อยู่ข้างนอกพวกเขาได้ทำกิจกรรม ได้ส่งเสียงของตัวเองอย่างที่อยากทำ แต่พอเข้าไปอยู่ข้างใน วิธีการส่งเสียงของผู้ต้องขังมีไม่เยอะ ไม่สามารถทำป้ายประท้วงได้ ไม่สามารถทำกิจกรรมที่จะสร้างความสนใจได้เหมือนตอนที่อยู่ข้างนอก แต่อุดมการณ์เขาก็ยังอยู่ ยังสู้อยู่อและยังทำทุกวิถีทางเพื่อบอกให้คนในสังคมรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ปกติ มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำเสียงของเขาออกมา
มีเรื่องหนึ่งที่ปูเลชอบเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังในการเป็นทนายสายเยี่ยม ครั้งหนึ่งเธอเคยไปเยี่ยมเก็ท แล้วถามเขาว่า ทำใจไว้ไหม ว่าอาจจะติดคุกนานสุดกี่ปี เก็ทบอกว่า ทำใจไว้ว่าอาจจะติดคุกนานสุดสิบปี “แล้วเขาก็ถามเราว่า เวลาผ่านไปสิบปีตอนนั้น พี่จะเป็นยังไงบ้าง พี่จะแต่งงานและมีครอบครัวแล้วหรือยัง”
“เขาถามแล้วเขาก็ยิ้ม ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เวลาตั้งสิบปี เป็นเวลาที่คน ๆ หนึ่งสามารถทำงาน สร้างเนื้อสร้างตัว หาตัวตน จนกระทั่งสร้างครอบครัว มีลูกมีแฟน มีหมา มีแมว มันไม่ใช่เวลาสั้น ๆ แต่กลับมีแค่เราที่สามารถใช้เวลาสิบปีนั้นอย่างคุ้มค่าได้ ในขณะที่อีกคนหนึ่งต้องวางแผนใช้เวลาสิบปีในคุก”
นอกจากความผูกพัน การที่ยังเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังอยู่เพราะพวกเขามีเรื่องราวแห่งความอยุติธรรมที่อยากจะพูด ไม่ว่าจะได้ผลมากหรือน้อย “เราก็อยากเป็นหนึ่งในตัวกลางเข้าไปเพื่อสื่อสารในสิ่งที่เขาอยากจะพูดให้สังคมรับฟังได้ วันนี้อาจจะไม่มีคนสนใจ แต่วันข้างหน้า มันอาจจะเกิดกระแสเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาจนทำให้คนสนใจได้”
อีกสิ่งที่ปูเลตกผลึกได้จากการเข้าเยี่ยมคือ ถ้าคนข้างนอกสู้ คนข้างในก็ยังพร้อมจะสู้เสมอ ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหว และเรื่องผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ
ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็นในเร็ววัน เธอไม่อยากให้มีผู้ต้องขังทางการเมืองให้เยี่ยมอีกแล้ว อยากให้ทุกคนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ “เราอยากให้สังคมไทยดีกว่านี้ ที่คนสามารถพูดเรื่องราวที่อยากพูดได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกรัฐโจมตีในภายหลัง”
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นทนายสายเยี่ยม หลัก ๆ เป็นทักษะพูดคุยและการเข้าอกเข้าใจคน เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนพอเจอกันแล้วจะเปิดใจให้กันเลยในทันที เพิ่มเติมไปมากกว่านั้นคือความกล้าหาญ ความสามารถในการรอ และการเยียวยาตนเอง “มันเป็นเรื่องที่เราต้องฝึกเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นคงทำงานแบบนี้ไม่ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ได้เรียนรู้จากสภาวะนี้ คือการมีความหวัง”
ปูเลอยากจะบอกถึงผู้ต้องขังคดีทางการเมืองว่า “เรารู้ว่าเขาเข้มแข็ง มีอุดมการณ์แน่วแน่ในการต่อสู้ แต่อยากจะบอกว่า มันโอเค ถ้าเขาอยากจะอ่อนแอ หรืออยากจะร้องไห้ โดยไม่ต้องแบกมันไว้กับตัวตลอดเวลา การเคลื่อนไหวของเขา เขาทำมามากพอแล้ว เรารู้สึกว่าตอนนี้ความคิดของคนเปลี่ยนไปแล้ว เพียงแต่วิธีการเคลื่อนไหวมีหลายรูปแบบขึ้น และเราที่อยู่ข้างนอกก็สามารถสนับสนุนได้ในหลาย ๆ รูปแบบ อาจจะเป็นการเขียนจดหมาย การบริจาคทุนสำหรับข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นภายในนั้น มันยังมีคนที่สนับสนุนในรูปแบบที่กล่าวมานี้อยู่”
สุดท้ายเรื่องความคาดหวังของผู้ต้องขัง ปูเลพบว่าส่วนใหญ่คนข้างในไม่ได้ต้องการอะไรจากคนข้างนอก แค่ทุกคนทำในสิ่งที่แต่ละคนทำได้ หรือแม้แต่ช่วยแชร์ข่าวหรือเรื่องราวของพวกเขา มันเป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า คนข้างนอกยังต่อสู้ร่วมไปกับพวกเขาอยู่ หรือหากมีเวลาหน่อยก็เขียนจดหมายถึง เพียงแค่ข้อความที่ว่า ‘เป็นกำลังใจให้’ นั่นก็ทำให้คนที่อยู่ในจุดที่มืดมิดที่สุดในชีวิตสามารถยิ้มได้แล้วในวันนั้น
.
เหน่ง: บันทึกเยี่ยม เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่จะนำเข้าสู่เรื่องนิรโทษกรรม
กฤต แสงสุรินทร์ หรือ ‘ทนายเหน่ง’ เริ่มสนใจการเมืองและประเด็นทางสังคม ตั้งแต่เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านการทำกิจกรรมกับกลุ่มดาวดิน หลังเรียนจบผ่านงานภาคประชาสังคมมาพอสมควร ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำขององค์กร We Watch ในตำแหน่งฝ่ายข้อมูลและกฎหมาย ควบคู่ไปกับการทำงานเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง ก่อนหน้านี้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีโอกาสได้เยี่ยม ‘มาย’ ชัยพร และ ‘ธี’ ถิรนัย ที่เพิ่งได้ออกจากเรือนจำ ปัจจุบันยังเยี่ยม ‘บุ๊ค’ ธนายุทธ และมี ‘มาร์ค’ ที่เป็นคดีครอบครองวัตถุระเบิดในช่วงการชุมนุมที่ดินแดงเหมือนกัน
การจะไปเยี่ยมทุกครั้งของเหน่ง อย่างแรกคือเตรียมตัว เตรียมเอกสาร และพยายามเคลียร์เวลาให้ไปตอนเช้าให้ได้ เพราะถ้าไปสายจะมีผลต่อการเบิกตัวผู้ต้องขังได้ล่าช้า แล้วก็ต้องประเมินอีกว่ากำลังจะไปเยี่ยมใคร เช่น ถ้าไปเยี่ยมคนที่ยังมีกำลังใจเต็มเปี่ยม ไม่ได้อยู่ในช่วงที่หดหู่ อาจจะไม่ต้องเตรียมใจ ไม่ต้องเตรียมบทสนทนาอะไรมาก
แต่ถ้าไปเยี่ยมคนที่อยู่ในสภาวะสูญเสียความมั่นคงในตัวเองไปพอสมควร ก็ต้องเตรียมตัวด้วยการคุยกับตัวเองให้ชัด ๆ ก่อน ถ้าวันไหนรู้สึกว่า ไม่พร้อมเลยที่ต้องเข้าไปเจอสภาวะนี้ ก็จะตัดสินใจเลื่อนไปวันหลังแทน “เพราะหากไปแล้วเราจัดการตัวเองไม่ได้ นอกจากเราจะไม่ได้อะไรแล้ว ผู้ต้องขังก็อาจจะไม่ได้อะไรด้วย หรือเลวร้ายกว่านั้นเราอาจจะหลุดพูดอะไรที่ไม่ดีออกไปด้วยซ้ำ”
ความสำคัญของเหน่งต่องานเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมือง เขายกตัวอย่างเวลาผู้คนถกเถียงเรื่องคุณภาพของประชาธิปไตย คุณภาพของการเมือง ตัวชี้วัดมันคือเสรีภาพในการแสดงออกว่ามีได้ขนาดไหน การพูดออกไปแล้วโดนคดีหรือไม่ ติดคุกหรือไม่ เสียงของคนข้างในจึงสำคัญมากที่จะบอกว่าขณะนี้สังคมกำลังมีปัญหา
“เลยรู้สึกว่าเราต้องเขียนบันทึกเยี่ยม เพราะการเขียนแบบนี้มันมีประโยชน์ มีพลังทำให้คนสนใจและเชื่อมโยงเป็นแรงหนุนเข้าสู่เรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งแม้วันนี้จะไม่ได้มีคนสนใจมากนัก อย่างน้อยผมก็คิดว่า นี่เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นการร้อยเรียงเรื่องก่อนการถูกหยิบมาใช้อีกครั้งหนึ่ง”
ทนายเหน่งยังเสนอทางออกเรื่องนี้ว่า “คดีทางการเมืองนั้นนิรโทษกรรมให้หมดก่อน ยังไม่ต้องถึงขั้นออกกฎหมายใหม่ ให้รัฐมนตรีรับรองให้ได้ แล้วประกันออกมาก่อน พักโทษออกมาก่อน กระบวนการเอาเขาออกมา กับเขาไม่ผิดจากการนิรโทษกรรม มันคนละระดับกัน แต่ในระยะแรก เอาพวกเขาออกมาก่อน ประชุมสภา ประชุม ครม. ขั้นต่อไปค่อยมาคุยกันเรื่องนิรโทษกรรม แล้วจึงไปสู่เรื่องที่ 3 การแก้ไขกฎหมาย ว่าถ้าตัดสินว่าเขาผิด ที่เคยกล่าวหาว่าเขาผิดก่อนการนิรโทษกรรม เขาผิดจากไหน จากกฎหมายไหน กลับไปดูว่ามันมีปัญหาที่ตัวบทกฎหมายจริง ๆ หรือมันมีปัญหาที่การบังคับใช้ ”
หากมองไปมากกว่า ‘อิสรภาพ’ เท่าที่เหน่งสัมผัสชีวิตของผู้ต้องขังทางการเมืองบางส่วน ต้องการ ‘โอกาส’ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้มาจากนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง บางคนมาจากกลุ่มทะลุแก๊ซ บางคนเป็นประชาชนธรรมดา ที่พูดไม่เก่ง สื่อสารไม่เก่ง และต้องมาเสียเวลา เสียประวัติว่าเคยติดคุก “อันนี้พูดในกรณีถ้าไม่ได้นิรโทษกรรม ซึ่งมันส่งผลกระทบต่ออนาคต ต่อชีวิต ต่อหน้าที่การงานของเขาในระยะยาว เทียบกับสิ่งที่เขาเสียไป
“จะมีช่วงชีวิตที่ทำให้เขาพอจะกลับมาตั้งตัวได้ไหม เราควรมีกองทุนที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เขาออกมาจากเรือนจำหรือไม่ หรือการฝึกอบรมวิชาชีพตามที่พวกเขาสนใจ ก็ดูจะเป็นอีกแนวทางที่เป็นไปได้” เหน่งเปิดประเด็นคำถามเอาไว้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวอาชีพหรือคนธรรมดาที่สนใจการเมืองจนต้องถูกคุมขัง ต่างต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “ทุกคนต่างถามว่า รัฐบาลเป็นยังไง รัฐสภาเป็นยังไง การผ่านกฎหมายเป็นยังไง ในทางสังคมมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง”
สุดท้ายเหน่งมองถึงการเป็นทนายสายเยี่ยมว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จะเป็นทักษะด้านการฟัง แม้บางสิ่งที่เขาสื่อสารออกมาอาจจะนำมาเขียนไม่ได้ แต่ยังมีส่วนสำคัญของการเยี่ยม คือเข้าไปฟัง ให้เขารู้สึกว่าเราเข้าไปเพื่อฟังจริง ๆ ไม่ใช่แค่เพียงเข้ามาเอาเรื่องเล่า แล้วก็จากไป
.
สายลม: มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ สิ่งที่พวกเขาทำมา จะไม่เสียเปล่าเลยจริง ๆ
“สายลม” เป็นบัณฑิตจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกราย ก่อนจะมาเป็นทนายสายเยี่ยมก็เป็นทนายอาสา ไปร่วมรับทราบข้อกล่าวหากับนักกิจกรรมที่ได้รับหมายเรียกในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง
สายลมไปเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองมาแล้วหลายคน มีคนที่ได้ออกไปแล้ว แต่ต้องกลับเข้าไปใหม่ก็มี ทุกวันนี้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังอยู่รวม 6 ราย มีทั้งที่เยี่ยมทุกสัปดาห์ ทั้งแบบเดือนหนึ่งไปเยี่ยม 1-2 ครั้ง คนที่ได้เยี่ยมประจำที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ คือ ‘สมบัติ ทองย้อย’ ผู้ต้องขังคดี 112
“เราจะเจอลูกความหลายแบบ อย่างพี่สมบัติ เขาค่อนข้างจะสนใจการเมือง แต่พักหลัง ๆ มาเขาอยู่กับทนายอานนท์ เพราะฉะนั้นจะได้รับข่าวพวกนี้บ่อยอยู่แล้ว ความต้องการก็จะเปลี่ยนไป อยากให้เราสื่อสารกับญาติทุกครั้งก่อนเข้าไปหาเขาซะมากกว่า ส่วนกรณีไบรท์ ชินวัตร เขาค่อนข้างจะอยากรู้เยอะ จะถามเรื่องข่าวคดี 112 เป็นยังไงบ้าง มีใครเข้ามาอีกไหม แนวโน้มเป็นยังไง การประกันตัวเป็นยังไง คำพิพากษาของศาลไปในแนวทางไหน”
สายลมเล่าถึงสมบัติ อีกว่า ครั้งแรกที่ไปเข้าเรือนจำ ตอนปี 2565 สมบัติดูเครียดมาก เพราะไม่ได้มีเวลาเตรียมตัวอะไรเลย เหมือนถูกดึงออกมาจากบ้าน แล้วกลับบ้านไม่ได้ ทั้งที่เห็นว่าบ้านอยู่ตรงนั้น “ฟีลเหมือนเกิดอุบัติเหตุ รถชน ตู้ม แล้วก็นอนอยู่โรงบาล ลืมตาเห็นหน้าแฟน เห็นหน้าลูก แต่มันทำอะไรไม่ได้ ขยับตัวก็ไม่ได้ มันเป็นประมาณนั้นเลย”
ครั้งนั้นสมบัติติดคุกอยู่ 8 เดือน กระทั่งได้รับการประกันตัวชั้นอุทธรณ์ ก่อนถึงช่วงเวลากลับเข้าไปรอบที่สอง ที่สายลมสังเกตเห็นว่า เขาไปเตรียมตัวเตรียมใจอะไรหลาย ๆ อย่าง เคลียร์บ้าน เคลียร์งาน ส่งต่อสิ่งต่าง ๆ ให้คนอื่นดูแลในระหว่างที่อาจจะไม่สามารถกลับไปได้อีกหลายปี
“การกลับเข้าไปอีกครั้ง ท่าทีของแกจึงเปลี่ยนไป ดูทำใจยอมรับกับสิ่งที่กำลังจะเกิด และกำลังเกิดขึ้นอยู่ได้ เหมือนเป็นตลกร้ายที่เราไม่ควรจะทำใจได้กับเรื่องแบบนี้เลย แม้จะเป็นการพูดกันอย่างขำ ๆ แต่มันก็คือ ขำแห้ง ที่แบบมีอะไรอยู่ในใจเป็นหมื่นล้านคำ”
สำหรับสายลม ปัจจัยที่ ‘เสียง’ จากคนข้างไหนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ “เพราะเขาอยู่ข้างในไง พูดอะไรเสียงก็ไม่อาจเล็ดลอดออกมาข้างนอกให้ใครได้ยินหรอก สมมติเขาเจ็บป่วยมาก ๆ ยังต้องต่อคิวหาหมออยู่เลย เสียงจากข้างในเองยังไม่ค่อยได้ยิน แล้วประสาอะไรที่เสียงนั้นจะดังออกมาถึงข้างนอกได้ เรามองว่ามันไม่มีทาง ถ้าเราไม่สื่อสาร เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าคนข้างในลำบากแค่ไหน”
สายลมกล่าวถึงระบบเรือนจำอีกว่า ทางรัฐเน้นใช้มุมมองจะดัดสันดานคน ก็ต้องให้คนเหล่านี้ถูกลงโทษด้วยการอยู่แบบนี้ แต่ก็รู้สึกว่าก็ไม่ต้องถึงขนาดนี้ก็ได้ แบบการกินการอยู่ คือได้กินวิญญาณหมู แทบจะไม่มีเศษหมู ข้าวไม่สุก มันแข็งจนกินไม่ได้ เขาทำผิดไม่ได้แปลว่าจะต้องปฏิบัติกับเขาเหมือนไม่ใช่คน
แต่หลัง ๆ เรื่องข้างใน เมื่อถูกสื่อสารออกมา ก็ทำให้เรือนจำปรับปรุงขึ้น “อาจจะใช้เวลานานหน่อยแต่มันดีขึ้นจริง ๆ อย่างกรณีที่เกิดการกลั่นแกล้งกันในเรือนจำ ไม่ว่าจะจากผู้คุมแกล้งหรือผู้ต้องขังด้วยกันเองแกล้ง บางทีถ้าเขาไม่มีคนนอกให้คำปรึกษา มีแต่ญาติมาเยี่ยมบางทีเขาก็ทำอะไรไม่ได้”
สำหรับทนายความ การสื่อสารเรื่องราวข้างในออกมา เลยทำให้ผู้ต้องขังคดีการเมืองไม่ถูกมองข้าม ไม่ถูกกลั่นแกล้ง “เพราะจริง ๆ เขาก็เป็นคนแบบเรา ๆ นี่แหละ เพียงแต่เขาเห็นต่างทางการเมือง ไม่ได้ไปฆ่าใคร แต่ยังต้องเข้าไปอยู่ร่วมกับนักโทษหลายคนที่อาจจะถูกขังด้วยคดีร้ายแรง”
เท่าที่สายลมสังเกต เรื่องที่ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกได้รับการเยียวยาและรู้สึกดี เรื่องแรกคือ เพื่อนได้รับการประกันตัว หรือมีข่าวเกี่ยวกับการยกฟ้อง ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่า สิ่งที่เรียกร้องกันมา ไม่เสียเปล่า
เรื่องสำคัญถัดมาคือเรื่องครอบครัวของแต่ละคน ในส่วนที่เป็นข่าวดี เช่น ลูกเรียนจบ หรือคนในครอบครัวฝากความคิดถึงมาหา “เขาจะรู้สึกใจชื้นและดีใจมาก แต่ลึก ๆ ก็แฝงความเสียใจไว้อยู่ที่ว่า เขาไม่ได้อยู่ในห้วงเวลานั้น ๆ กับครอบครัว”
สุดท้ายสายลมกล่าวถึงบรรดาคนที่เธอได้ไปเยี่ยมว่า มันมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสมอ เข้าใจว่ามันยาก แต่ว่าสิ่งที่พวกเขาทำมา มันไม่เสียเปล่าเลยจริง ๆ และเชื่อว่าในอนาคตมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปได้มากกว่านี้อีก
“ในส่วนงานที่รับผิดชอบอยู่ถ้ามันจะเป็นการช่วยนำเสียงของพวกเขาออกสู่ภายนอกได้ เราก็จะยังคงทำเรื่องเหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบที่ยังทำไหว”
.
ต้าร์: อยากให้อดทน มีกำลังใจที่จะอยู่ต่อ ขอให้มีนิรโทษกรรมที่เป็นร่างของประชาชน
อีกหนึ่งทนายสายเยี่ยม ‘ต้าร์’ ศุภมาศ นักเรียนกฎหมายจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันเป็นทนายความอิสระ ก่อนหน้านั้นเคยทำงานเกี่ยวกับองค์กรกฎหมายภาคประชาสังคม และทำงานที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ในการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่มีประชาชนถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีส่วนช่วยประสานงานให้ทนายความเข้าช่วยเหลือในชั้นสอบสวนและชั้นจับกุม จึงเริ่มมีโอกาสทำงานในส่วนนี้ ที่ภายหลังก่อตัวเป็นภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ก่อนหน้าเป็นทนายสายเยี่ยม ต้าร์ก็เป็นทนายในชั้นตำรวจ ตั้งแต่มีการถูกจับกุม ตามไปที่สถานีตำรวจ หลังจากนั้นก็เป็นทนายว่าความในชั้นศาล ทั้งเป็นทนายว่าความในคดีที่ประชาชนต้องการฟ้องกลับกรณีรัฐละเมิดสิทธิ
ครั้งแรกของการได้เยี่ยมของต้าร์ คือการไปพบเบนจา อะปัญ ที่ทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อปี 2564 “เราเคยเจอตอนอยู่ข้างนอก ด้วยความที่เราต้องพูดคุยทางคดีและเรื่องเอกสาร แล้วตอนไปเจอเขาตัวโทรม ๆ ใส่เสื้อสีน้ำตาลแบบตัวโคร่ง ๆ ชุดสีที่คนข้างในเรียกว่า ‘ชุดสีลูกวัว’ เราตกใจมาก แล้วเบนจาต้องสวมหน้ากากอนามัย เดินมาในท่าทางที่ไม่สู้ดีนัก เราจำได้ว่าเป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ที่เขาเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ และการแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นมันนำพาเขามาสู่จุดนี้เลยหรือ”
การไปเยี่ยมแต่ละครั้งของต้าร์ อันดับแรกจะค้นเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อบอกผู้ต้องขังถึงความเคลื่อนไหวภายนอก ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกว่าเรื่องของเขามันไม่เงียบ ต่อมายังต้องเตรียมเรื่องความแข็งแรงทางจิตใจของตัวเองด้วย “ถ้าเราไปแบบที่อารมณ์ข้างในเราไม่ไหว เราจะไปรับสารอะไรจากเขาไม่ได้เลย”
เธอยกตัวอย่างการไปเยี่ยม น้ำ วารุณี “เวลาที่เขาคุยกับเรา เขาจะรู้ว่าเราใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ จากการที่เราตอบคำถามต่อสิ่งที่คุยกันค้างไว้อยู่ได้ เช่น สัปดาห์ที่แล้วเขาบอกว่าจะไปพบจิตแพทย์ในช่วงบ่ายหลังเยี่ยมเสร็จ สัปดาห์นี้พอเราไปถึง เราก็จะถามไล่เช็คว่าสัปดาห์ก่อนเราคุยเรื่องอะไร และมันยังมีเรื่องอะไรที่ต้องถามต่อในเรื่องที่ยังคุยกันไม่จบ”
กับการเลือกเยี่ยมผู้ต้องขัง ในระหว่างที่มีภาระงานอย่างอื่นด้วย ในสัปดาห์ ๆ หนึ่งที่บางครั้งว่างไม่กี่วัน เธอจะเลือกไปเยี่ยม ‘แม็กกี้’ ผู้ต้องขัง LGBTQIAN+ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม เป็นหลัก “คนอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญแต่เพราะคนอื่น ๆ พอมีญาติ มีเพื่อนฝูงที่เข้าเยี่ยมอยู่แล้ว แต่ว่าแม็กกี้ไม่มีใครเลย”
ต้าร์เล่าว่ามีโอกาสคุยกับแม่ของแม็กกี้จากการเขียนจดหมาย กว่าจะติดต่อได้ก็ยากลำบากพอสมควร แม่เล่าว่า แม็กกี้ออกจากบ้านมาหลายปีแล้ว ไม่ได้ติดต่อกับทางบ้านเลย เหมือนมีช่องว่างระหว่างกัน แม้กระทั่งตอนที่บอกว่า “แม่สามารถเขียนจดหมายหาแม็กกี้ได้นะ และเราก็บอกแม็กกี้เหมือนกันว่าสามารถเขียนจดหมายหาครอบครัวได้นะ ที่อยู่ตามเดิม” ทว่าทั้งสองไม่เคยเขียนจดหมาย หรือไม่เคยสื่อสารกันเลย
“ถ้าถามว่าความผูกพันกับแม็กกี้ จะเรียกว่าสงสารไหม คงไม่ได้สงสาร แต่เราเห็นใจเขามากกว่า จากโทษคดี 112 จำคุก 25 ปี ไม่รู้จะได้ออกจากเรือนจำตอนไหน ในวัย 25 ปี ที่ต้องอยู่แบบนี้ในภาวะที่ครอบครัวก็ดูจะไม่ได้ห่วงหาอาทร เราก็เลยเห็นใจในตรงนี้ เลยอยากจะช่วยประคับประคองให้เขาผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้”
“เขาเอ่ยกับเราหลายครั้งที่เจอกันว่า แม่ทำไมหนูรู้สึกว่ามันนานจัง ทั้งที่ยังไม่ถึงปีเลยที่หนูอยู่มา เราก็บอกว่า แม็กกี้ต้องหาอะไรทำ ถึงขนาดบอกว่า ถ้ามีเรียนก็ให้เรียนเลย ถ้าจบ ม.6 พี่มีของขวัญให้ เราก็บอกไปอย่างนี้ ตอนนี้เราเหมือนมองเขาเป็นน้องคนหนึ่ง”
จากประสบการณ์เข้าเยี่ยม สำหรับต้าร์ สิ่งเยียวยาคนข้างในคือ เวลามีการจัดกิจกรรมการเมือง แล้วมีรูปพวกเขาไปโชว์ สิ่งนี้ทุกคนจะรู้สึกตื่นเต้น อย่างเข้าเยี่ยม ‘นารา’, น้ำ หรือแม็กกี้ “เราจะปริ้นต์ภาพโพสต์ที่ทางศูนย์ทนายฯ ลง เขาก็จะตื่นเต้นและบอกว่าสวยจัง ถึงขนาดขอให้ส่งเข้าไปให้ เพื่อจะเอาไปเก็บไว้”
ส่วนเรื่องการสื่อสารผ่านบันทึกเยี่ยม ที่อาจไม่เป็นกระแสที่คนจะสนใจมากนัก เธอมองว่า สิ่งนี้เป็นงานที่เข้ามาทำโดยไม่ได้รู้สึกว่าขึ้นอยู่กับกระแสสังคม “ถ้าเราทำตามกระแสสังคม ป่านนี้เราไม่พูดถึง 112 หรอก”
ต้าร์ยกคำพูดของ ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อแห่งหนึ่ง ในทำนองว่า “เราแพ้อยู่ แพ้อีก และจะแพ้ต่อไป มันเป็นคำพูดที่ดูเรียบง่ายมากเลย แต่มีความหมายตรงที่ว่า รู้ทั้งรู้ว่าแพ้ แต่ทำไมยังไม่หยุด ไม่เหนื่อยกันบ้างหรือไง ก็เพราะมันยังมีเรื่องนี้อยู่ มันยังมีคนที่อยู่ข้างในนั้นอยู่ไง แล้วทำไมเราจะต้องหยุดสื่อสารในเสียงของเขา”
ก่อนจากต้าร์กล่าวถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองว่า “เขาไม่ได้อยู่คนเดียว ไม่ได้โดดเดี่ยว ยังมีคนที่อยู่ระหว่างทาง ยังมีคนที่อยู่ระหว่างเรื่องราวที่เขาเผชิญอยู่ มันมีคนที่อยู่ในหลาย ๆ ที่ ที่พร้อมจะยื่นมือมาประคับประคอง เราอาจจะไม่สามารถหยิบเขาออกจากปัญหานี้ได้ แต่ว่าเขาไม่ลำพังแน่นอน อยากให้อดทนและมีกำลังใจในการที่จะอยู่ต่อ ขอให้ได้ออกมาเร็ว ๆ ขอให้มีนิรโทษกรรมที่เป็นร่างของประชาชน”