วารุณีเดินหน้าอดอาหารวันที่ 4 พร้อมยกระดับ “อดน้ำ” ด้วย หลังไร้แววศาลให้ประกัน

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม “น้ำ” วารุณี ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 ในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัข โดยศาลอุทธรณ์รวมถึงศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี

วันที่ทนายเข้าเยี่ยมนี้นับเป็นการอดอาหารประท้วงวันที่ 3 ของวารุณี โดยทั้ง 3 วันที่ผ่านมาเธอดื่มแต่นมถั่วเหลืองมื้อละ 1 กล่อง รวมวันละ 3 กล่องเท่านั้น การแสดงออกดังกล่าวดำเนินมาตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงของวันที่ 21 ส.ค. 2566 มีจุดประสงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวและประท้วงต่อศาลที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา เมื่อทนายเข้าเยี่ยมวารุณีในครั้งนี้ มีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. วารุณีจะยกระดับการอดอาหารเป็นการ “อดน้ำ” ร่วมด้วย ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. นี้เป็นต้นไป โดยจะจำกัดการดื่มน้ำของตัวเองไว้เฉพาะเมื่อต้องรับประทานยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (Biporlar Disorder) กระนั้นเธอก็จะพยายามรับประทานยาโดยไม่ต้องดื่มน้ำ หรือจะพยายามดื่มน้ำให้น้อยที่สุด
  1. อาการเบื้องต้นหลังอดอาหารประท้วงมาแล้ว 3 วัน พบว่า วารุณีริมฝีปากแห้ง น้ำหนักตัวลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ถูกคุมขังในคดีนี้ ปัจจุบันมีน้ำหนักตัวเหลือเพียง 33 กิโลกรัม นอกจากนี้เธอมีอาการปวดท้อง บางครั้งปวดมากเป็นปกติ และมีความดันโลหิตต่ำกว่าปกติ
  1. เบื้องต้นวารุณีได้รับการตรวจร่างกายจากพยาบาลของเรือนจำแล้ว และจะได้รับการตรวจร่างกายแบบทั่วไปอีกครั้งในทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี
  1. วารุณีเผยว่า ได้เซ็นเอกสารแสดงเจตจำนงจะไม่รับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตามและได้มอบต่อเจ้าหน้าที่ของเรือนจำแล้ว เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าต่อจากนี้แม้จะเกิดขึ้นอะไรกับร่างกายและชีวิตของเธอ เธอก็พร้อมที่จะยอมรับความเสี่ยงนั้น 
  1. ปัจจุบัน (24 ส.ค.) วารุณีถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาเป็นเวลา 58 วัน หรือเกือบ 2 เดือนแล้ว โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมา แม้ว่าคดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม โดยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปแล้ว
  1. ตั้งแต่วารุณีถูกคุมขัง ทนายความยื่นประกันตัวและอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว เป็นจำนวนรวม 4 ครั้ง (มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลฎีกาอีก 1 ครั้ง) ทุกครั้งศาลชั้นต้นส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลในทำนองคล้ายกันว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง มีเหตุควรเชื่อว่าจะหลบหนี และส่วนเรื่องอาการเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการได้ ไม่มีเหตุผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่สั่งไม่ให้ประกันตัว
  1. นอกจากวารุณีแล้ว ปัจจุบันยังมี “เวหา แสนชนชนะศึก” ผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี ม.112 แสดงออกด้วยการอดอาหารประท้วงอีกคนหนึ่งด้วย โดยเริ่มมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา เวหาอดอาหารประท้วงในลักษณะไม่ทั้งหมด (Non-Total Hunger Strike/Fasting) กล่าวคือ ปฏิเสธการรับประทานอาหารที่เป็นของแข็งที่ต้องขบเคี้ยวทุกประเภท แต่ยังคงดื่มน้ำและของเหลวอื่นๆ อย่างน้ำผลไม้และนม 

บันทึกเยี่ยม “วารุณี” จากทนายความ

วันนี้ (23 ส.ค. 2566) วารุณีออกมาพบเราโดยที่ไม่ได้แต่งหน้า แววตาดูเศร้า และริมฝีปากดูแห้งกว่าปกติ “วันนี้ไม่สวยเลย ปล่อยโทรมเลย ไม่มีอารมณ์แต่งหน้า” เธอพูดแล้วก็หัวเราะกับเรา 

ตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา วารุณีบอกว่าได้กินนมถั่วเหลืองขนาด 300 มล. มื้อละ 1 กล่อง รวมเป็นวันละ 3 กล่อง ในมื้อเช้า กลางวัน และเย็น ปัจจุบันวารุณีได้อดอาหารประท้วง โดยดื่มเพียงนมถั่วเหลืองมาได้ 3 วันแล้ว เธอบอกว่า เวลาได้กลิ่นอาหารก็ยังรู้สึกหิวอยู่ นอกจากนั้นก็มีอาการน้ำลายเหนียว และรู้สึกท้องปวดตลอดเวลา บางเวลาก็จะปวดรุนแรงมาก ตอนที่คุยกันอยู่นี้เธอก็รู้สึกปวดท้องในลักษณะระคายเคืองเหมือนกับเป็นโรคกระเพาะ

“วันที่ 21 ส.ค. หลังจากเจอทนายแล้วหนูก็ไปบอกแม่ห้อง (หัวหน้าห้องขัง) แม่ห้องก็ไปพูดกับแม่บ้าน (เทียบเคียงได้กับหัวหน้าของกลุ่มผู้ต้องขัง) เขาก็มาคุยทำนองว่า ไม่อยากให้อดอาหาร จะทำทำไม ทำแล้วเดือดร้อนทั้งตัวเองทั้งคนอื่น

“แต่หนูก็ยืนยันว่าจะทำ” วารุณีบอก

เมื่อวาน (22 ส.ค.) วารุณีได้รับการตรวจร่างกายเบื้องต้นจากพยาบาลด้วย ผลปรากฏว่า อัตราการเต้นของชีพจรและค่าทั่วไปเกี่ยวกับร่างกายอีกประมาณ 4-5 อย่างเป็นปกติดี ยกเว้นความดันโลหิตที่มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ โดยพยาบาลได้นัดตรวจอีกครั้งในทุกวันอังคารและพฤหัสบดี

“หนูถามพยาบาลว่า ส่วนไหนของร่างกายจะไปก่อนกัน ตับ ไต หัวใจ อะไรพวกนั้น, พยาบาลบอกว่ามันจะดับไปทีละส่วน แล้วแต่คนว่าส่วนไหนจะไปก่อน

“ถ้าไม่ได้ออกมาก็ปล่อยดับไปเลยค่ะ ตายเป็นตาย …”

วารุณีพูด พร้อมกับบอกอีกว่า ล่าสุดได้เซ็นเอกสารแสดงเจตจำนงปฏิเสธรับการรักษาทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางหลอดเลือดหรือทางปากก็ตาม

ยกระดับการแสดงออก เริ่มจำกัดการดื่มน้ำทันที หลังอดอาหารประท้วงครบ 3 วันแล้ว

“หนูจะเริ่ม ‘อดน้ำ’ พรุ่งนี้ค่ะ เลี่ยนนมเวอร์ ไม่กินแล้ว” วารุณีบอก 

ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) วารุณีจะยกระดับด้วยการอดอาหารและน้ำร่วมด้วย โดยจะปฏิเสธอาหารทุกอย่างและจะจำกัดการดื่มน้ำของตัวเองไว้เฉพาะตอนรับประทานยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้วเท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นไปตามเจตจำนงของเธอที่เคยบอกไว้ตั้งแต่อดอาหารวันแรกว่า หากอดอาหารประท้วงครบ 3 วันแล้ว เธอก็จะยกระดับเป็นการอดน้ำด้วย

วารุณีพูดถึงการยกระดับอดน้ำครั้งนี้พร้อมเสียงหัวเราะว่า ‘วันนี้เผาหลอก พรุ่งนี้เผาจริง’ และได้พูดถึงความคิดเห็นของคนรอบตัวในเรือนจำต่อการที่เธอเลือกแสดงออกครั้งนี้ของเธอด้วย

“บางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจค่ะ หนูวานน้องคนหนึ่งไว้ในห้องขังไว้ด้วย เผื่อว่าอดอาหารไปนานๆ แล้วหนูอาจจะมีอาการเวียนหัว เดินเซ มองไม่เห็นตามปกติ ทรงตัวไม่ค่อยอยู่ หรืออาจจะลื่นล้มตอนอาบน้ำ หนูเลยฝากน้องคนนี้ช่วยดูหนูหน่อย น้องก็น่ารักบอกหนูว่า เขาพร้อมดูแลหนูตลอด 

“กังวลเรื่องวูบด้วย บทจะวูบก็วูบไปเลย ไม่ทันรู้สึกตัว เหมือนตอนเป็นลมในเรือนจำครั้งก่อนหน้านี้ (เมื่อวันที่ 26 ก.ค.)

“แต่หลายๆ คนก็พูดว่า ทำไมไม่รักษาตัวให้แข็งแรงแล้วค่อยไปสู้ 

“หนูก็รู้สึกว่าจะสู้ยังไงได้อีก หนูทำทุกอย่างแล้ว แต่ศาลก็ยังไม่ให้ออก หนูเลยต้องหาวิธีออกไปด้วยตัวเอง

“มีบางคนพูดด้วยว่า ‘อดอาหารทำไม ไร้สาระ’ หนูโกรธมากนะ หนูบอกเขาไปว่า ‘พี่, อดน้ำอดอาหารนี่ตายได้เลยนะ หนูทำเพราะหนูไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว จะรออุทธรณ์หรือเซ็นใบเด็ดขาด ไม่ว่าขั้นตอนไหนมันก็ใช้เวลาทั้งนั้น 

“หนูเอาชีวิตเข้าแลกขนาดนี้ มันจะเป็นเรื่องไร้สาระได้ยังไง’…

“วันที่น้องสาวของหนูรู้ว่าหนูจะอดอาหาร น้องสาวร้องไห้ใหญ่เลย น้องบอกว่า ‘ขอเห็นแก่ตัว ห้ามไม่ให้พี่ทำได้มั้ย’…” วารุณีพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ

“หนูก็บอกน้องสาวว่า ลองมาอยู่ในคุกดูไหมล่ะ จะได้เข้าใจว่าพี่ทรมานขนาดไหน น้องสาวก็ตอบว่า ‘ถึงพูดว่าขอเห็นแก่ตัวได้มั้ยไง …’”

วารุณียังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันในครั้งนี้ว่า 

“แรกๆ หนูยังคิดในแง่บวกค่ะ มองว่าการถูกขังครั้งนี้เป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ถือซะว่าได้ทดสอบความอดทนของตัวเองด้วย อย่างน้อยตอนอยู่ข้างในนี้ก็มีเหตุการณ์น่ารักๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง อย่างตอนที่หนูล้างสบู่ออกไม่หมดแล้วพอเดินผ่านผู้ต้องขังด้วยกัน เขาก็เรียกหนูว่า ‘ลูกสาว มีสบู่ติดหู’ แล้วก็เช็ดออกให้ทันทีเลย แล้วหนูก็มีกัลยาณมิตรร่วมห้องขังที่ดีด้วย

“แต่พอยื่นประกันไปกี่ครั้งๆ ก็ไม่ผ่าน แล้วศาลก็ให้แต่เหตุผลเดิมๆ หนูก็เริ่มอดทนรอไม่ได้แล้ว

“อยู่ข้างในนี้ ไม่ว่าคนข้างนอกจะสั่งอาหารอร่อยแค่ไหนมาให้ เราก็รู้สึกว่ามันไม่อร่อย แฟนหนูซื้อข้าวให้วันละเกือบพัน แต่แทบไม่รู้รสอาหารเลย เพราะพอข้าวมาถึงก็นั่งกินได้ไม่ถึง 2 นาที เขาก็มาบอกแล้วว่า ‘รีบกินนะคะ เหลือเวลาอีก 2 นาที’ ซึ่งลิ้นหนูยังไม่ทันได้ลิ้มรสเลยว่าอะไรอร่อยไม่อร่อย …

“หนูรู้สึกว่า ที่นี่ไม่ใช่ที่ของหนู”

“สภาพในแดนเหมือนอยู่ใน ‘ห้องว้าก’ ตลอดเวลา เต็มไปด้วยเสียงด่าทอ แล้วเราก็ไม่มีสิทธิหยาบคายกลับด้วยนะ หนูเห็นภาพเด็กอายุ 23 ยืนด่าคุณยายอายุ 60 กว่า น่าจะเป็นเพราะเขาทำอะไรงกๆ เงิ่นๆ เดินสะเปะสะปะไปทั่ว แล้วด่าแรงมากด้วยนะ เห็นแล้วก็รู้สึกสลดใจ ทำให้เราไม่อยากทำตัวไม่ดีใส่ใครเลย”

ความลำบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อีกปัญหาในเรือนจำที่วารุณีทุกข์ใจ

“เข้าถึงโคตรยาก ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยจะมีสิทธิขอยา

“ถ้าปวดหัวหรือปวดท้องประจำเดือนจะขอยาได้ แต่ถ้าแพ้อากาศหรือเป็นร้อนใน จะขอยาไม่ได้เลย ทั้งที่อาการมันโคตรจะทรมาน 

“มิหนำซ้ำ เรือนจำยังจำกัดโควตารับยาด้วยนะ ให้แต่ละห้องขังขอยาได้แค่วันละ 5 คนเท่านั้น, หนูทำใจเรื่องร้อนในไว้แล้ว คิดว่าสักพักน่าจะเป็น เพราะต่อจากนี้แทบจะไม่ได้ดื่มน้ำแล้ว

“เพื่อนร่วมห้องนอนที่อายุพอๆ กับแม่หนู (50+) หนูเลยเรียกเขาว่าแม่ เขาไปฉีดวัคซีนแล้วไม่ได้กินยาพารา เพราะไม่มีใครบอก พอตกเย็นแกเป็นไข้เลยขอยาพาราเม็ดหนึ่ง แต่กลับโดนพี่เลี้ยงที่เป็นผู้ต้องขังเหมือนกันด่าทำนองว่า ‘ทำไมไม่รับผิดชอบตัวเอง ลำบากคนอื่นต้องมาหายาให้’ ถูกด่าจนคุณแม่ร้องไห้ ด่าจนข้างห้องสงสาร หนูก็ไปปลอบใจเขา”

ยินดีกับรัฐบาลเศรษฐา แต่เสียใจที่เพื่อไทยไม่มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม – แก้ไข ม.112  

เราเล่าสถานการณ์การเมืองให้วารุณีฟังด้วยว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว และในวันเดียวกันสภาก็โหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยเป็นนายกฯ คนที่ 30 แล้วด้วย 

วารุณีแสดงความเห็นว่า “ต้องรอดูว่าเขาจะบริหารประเทศยังไง อีก 4 ปี เพื่อไทยน่าจะมีสภาพเหมือนประชาธิปัตย์ (หัวเราะ) 

“ขอแสดงความยินดี ขอให้รัฐบาลบริหารประเทศอย่างมืออาชีพ ฝากอนาคตประเทศไทยไว้กับเพื่อไทยด้วยค่ะ แต่ด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสมก็กลัวจะทำอะไรได้ไม่เต็มที่เนอะ

“เราก็พยายามทำความเข้าใจเขา เพราะความจริงก็คือเขาได้เป็นรัฐบาล มันอาจจะไม่มีตัวเลือกมาก พอได้อำนาจแล้ว อาจจะบริหารประเทศดีก็ได้ ไม่รู้เหมือนกัน

“แต่เสียใจมากที่นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ‘ไม่มี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ต้องขังทางการเมือง และแก้ไขมาตรา 112’ รู้สึกแย่ที่เขาทำกับพรรคก้าวไกลแบบนี้ด้วย เพราะหลังเลือกตั้งเสร็จก็ดูรักกันดี”

ฝากคำขอบคุณถึงทุกคนที่เรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เธอ

วันนี้เราปริ้นรูปภาพของข่าวของวารุณีที่สำนักข่าวและกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ช่วยกันเผยแพร่และร่วมกันเรียกร้องให้มีการปล่อยตัววารุณีให้เธอดู รวมถึงเล่าให้ฟังว่าข้างนอกให้กำลังใจเธอยังไงบ้าง วารุณีได้ดูรูปแล้วก็ยิ้ม และขอให้เราส่งรูปภาพเหล่านั้นเข้าไปให้ในเรือนจำด้วย

“ขอบคุณทุกคนที่เลือกแต่รูปสวยๆ (หัวเราะ) 

“เข้าใจว่าทุกคนเป็นห่วง และอาจจะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่หนูทนการกลั่นแกล้งไม่ไหวแล้ว การที่ศาลไม่ให้ประกันโดยใช้เหตุผลเดิมๆ มันคิดเป็นอื่นไม่ได้เลยค่ะ และหนูจะต่อสู้อย่างเต็มที่” แววตาของวารุณีดูมีความมุ่งมั่นขึ้นมา

“หนูเข้าใจคนที่ไม่เห็นด้วยนะคะ แต่ข้างในมันทำอะไรไม่ได้จริงๆ อยากออกไปมาก ทั้งรักทั้งห่วงคนข้างนอก แต่ต้องมาผิดหวังซ้ำๆ ผู้ต้องขังด้วยกันยังงงว่าทำไมหนูไม่ได้ออกสักที”

เราถามวารุณีว่า ได้ยินเสียงพลุต่อเนื่องที่มีผู้จุดแถวเรือนจำในค่ำวันที่ 21 ส.ค. บ้างไหม วารุณีตอบกลับว่า “มาจุดตอนกี่โมงคะ? หนูไม่ได้ยินเลยเพราะกินยานอนหลับตั้งแต่ก่อน 3 ทุ่ม แล้วช่วงนั้นเสียงทีวีจะดังมาก ห้องหนูอยู่ติดรั้วเลย มันก็จะได้ยินลำบาก ถ้าจุดตอนเที่ยงคืนน่าจะได้ยิน แต่ชาวบ้านน่าจะตื่นกันหมด (หัวเราะ) 

“หนูอยากได้ยินค่ะ (ยิ้ม) แต่เขาจะโดนอะไรไหม ยังไงก็ต้องขอบคุณมากๆ นะคะที่ทำเพื่อหนู”

อย่างไรก็ตาม เราสังเกตว่าวารุณีดูผ่อนคลายขึ้น เราจึงถามว่าตอนนี้รู้สึกดีกว่าเมื่อวานซืนใช่ไหม วารุณีตอบว่า “มันรู้สึกว่าได้ทำอะไรเพื่อตัวเอง แม้สิ่งที่ทำจะเป็นการทำร้ายตัวเองก็ตาม

“จริงๆ หนูไม่ได้อยากตาย อยากออกไปสู้ข้างนอก แต่ในเมื่อมันเป็นแบบนี้แล้ว ก็ต้องเป็นไป…”

“ฝากบอกศาลว่า หนูพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว 3 ครั้ง นี่จะเป็นครั้งที่ 4” วารุณีทิ้งท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

โดยปราศจากน้ำและอาหาร: การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย เดิมพันขั้นสุดท้ายของผู้เรียกร้องทางการเมือง

X