“จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี” : เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิเด็กในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมในประเทศไทย

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ (พ.ศ. 2567) ตรงกับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เผยแพร่รายงานในประเด็นทางด้านสิทธิเด็ก “จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี: การทำให้การแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเด็กและเยาวชนเป็นความผิดทางอาญา” (From Classroom to Courtroom — The Criminalization of Children’s Speeches and Peaceful Assemblies in Thailand) รายงานฉบับนี้ได้เผยถึงการกำหนดให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมของเด็กและเยาวชนในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นความผิดทางอาญาซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดำเนินคดีทางการเมืองโดยไม่ละเว้นแม้กระทั่งเด็กและเยาวชน 

นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มีเยาวชนอย่างน้อย 286 คน ถูกดำเนินคดีใน 217 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติ 

รายงาน จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี นำเสนอถึงข้อมูลเชิงลึกของการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ต่อเยาวชน ผ่านการวิเคราะห์กระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในไทย ซึ่งรวมไปถึงการจับกุมตัวเยาวชน การคุมขังเยาวชน และการใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีทางอาญาต่อเยาวชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายต่อผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม รวมถึงเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทางอาญาอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว ไม่เพียงเท่านี้ ศูนย์ทนาย ฯ ใช้กลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนสิทธิของเด็กในประเทศไทย เช่น การส่งเรื่องร้องเรียนไปยังผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (UN Special Rapportuer) เพื่อเป็นการส่งเสริมงานด้านการสนับสนุนสิทธิเด็กภายในประเทศ

รายงาน จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี ได้นำประสบการณ์ของทนายความและเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ที่ทำงานด้านการสนับสนุนสิทธิของเด็กในประเทศไทยในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยได้ตีแผ่ความท้าทายทางกฎหมายที่เด็กต้องเผชิญทั้งในศาลและนอกศาล รายงานนี้ยังรวมถึงข้อเสนอแนะจากนักกิจกรรมเด็กและเยาวชนที่ถูกคุกคามทั้งจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและนอกเหนือจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ผ่านการสัมภาษณ์ และการรับฟังความเห็นจากเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีที่จัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และตุลาคม พ.ศ. 2566

คดีมาตรา 112 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 สืบเนื่องมาจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้นจากขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชน ส่งผลให้มีบุคคลอย่างน้อย 262 รายถูกตั้งข้อหา
“หมิ่นประมาทกษัตริย์” ใน 285 คดี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมไปถึงเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีอีก 20 คน 

ขณะที่รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ มีเยาวชนอย่างน้อยสองคนกำลังถูกควบคุมตัวในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเบี่ยงเบนการดำเนินคดีทางอาญาอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์

กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ของไทย หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ซึ่งการมีบทบัญญัติทางกฎหมายในลักษณะเช่นว่านี้ ขัดกับหลักการทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ

ประการแรก กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้วางหลักไว้ว่า การจำกัดสิทธิเช่นว่านี้จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อ (1) มีกฎหมายบัญญัติไว้ (2) มีความจำเป็นสำหรับการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ ความสาธารณสุขหรือศีลธรรม โดยรายงานฉบับนี้ได้ให้ความเห็นว่า กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ใช่ข้อจำกัดที่สอดคล้องกับเงื่อนไข (1) และ (2)  ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 34 

Credit: WorkpoingTODAY

ประการที่สอง กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย หรือ Principle of Legality การที่ศาลมีการตีความกฎหมายดังกล่าวในขอบเขตที่กว้างเกินไป การมองว่าการกระทำบางอย่างเป็นการกระทำความผิดทางอาญา เข่น การแชร์บทความจาก BBC เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 บนเฟสบุ๊ค การสวมชุดไทยในงานจำลองแฟชั่นโชว์ที่จัดโดยผู้ชุมนุมทางการเมือง หริอการขายปฏิทิน “เป็ดเหลือง” ที่ปรากฏรูปภาพที่ศาลตีความว่าเป็นการล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 10 

“มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้ระบุว่าการแสดงออกประเภทใดที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น หรือการข่มขู่สถาบันพระมหากษัตริย์  และปล่อยให้การตัดสินว่าความผิดเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยสิ้นเชิง”
– คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ, ความเห็นที่ 64/2021 เกียวกับ อัญชัญ ปรีเลิศ (ประเทศไทย), ย่อหน้า 55.

ประการที่สาม กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ขัดกับหลักการของการไม่เลือกปฏิบัติภายใต้ มาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่วางหลักไว้ว่า ประเทศไทยต้องเคารพและปกป้องสิทธิเด็กทุกคน รวมถึงผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ ปัจจุบัน มาตรา 112 ลงโทษเฉพาะเยาวชนที่ตั้งคำถามหรือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมากษัตริย์ แต่ไม่ลงโทษเยาวชนที่เชิดชู หรือสรรเสริญสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงถือได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเยาวชนอย่างไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ศาลเยาวชนฯ ได้มีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์จำนวน 5 คดี โดยศาลได้ตัดสินให้เยาวชนมีความผิดเป็นจำนวน 4 คดี รายงานนี้สำรวจ 2 คดีหลัก ซึ่งนั่น คือ คดีของ เพชร (17) และสายน้ำ (16)

เด็กที่ถูกกล่าวหาตามกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ในประเทศไทย มีความเสี่ยงที่จะถูกคุมขังในขั้นตอนก่อนพิจารณาคดีหรือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพิเศษแทนคำพิพากษา มากกว่าการดำเนินคดีต่อเยาวชนโดยทั่วไป 

ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ หยก นักกิจกรรมเยาวชนที่มีอายุเพียง 15 ปี ถูกใช้กำลังทำร้ายในขณะที่ถูกจับกุม อีกทั้งยังถูกคุมขังในชั้นสอบสวนเป็นเวลา 51 วัน 

รายงานนี้ยังระบุถึงกรณีของภูมิและภัทรชัย เยาวชน 2 คนที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ปัจจุบันทั้งคู่ถูกคุมขังตามมาตรการพิเศษแทนคำพิพากษาถึงแม้ว่ามาตรการพิเศษนี้มีจุตประสงค์เพื่อไม่ให้เด็กเข้าไปในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญาอย่างเป็นทางการ แต่การถูกคุมขังของภูมิและภัทรชัยทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่าศาลไทยได้ปกป้อง “สิทธิและประโยชน์ที่ดีที่สุดของเด็ก” หรือไม่ เนื่องจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีในไทยเอง วางหลักว่า การคุมขังควรถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น

Credit: ไข่แมวชีส

เยาวชนที่กระทำความผิดทางกฎหมายในประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของเยาวชนภายใต้ขอบเขตอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว อันเนื่องมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เพื่อการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายของเด็กในขอบเขตที่มากขึ้นกว่าผู้ใหญ่ และเพื่อคำนึงถึงหลักการ “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” เป็นอันดับแรก

ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งวางหลักไว้ว่า การจับกุมตัวเด็กจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่เด็กจะได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีหมายจับหรือคำสั่งของศาลต่อการจับกุมในกรณีเช่นว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงการออกหมายจับ ศาลเยาวชนจำต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของอายุ เพศ และอนาคตของเด็ก รวมไปถึงผลกระทบทางด้านจิตใจ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมต้องรายงานให้ผู้ปกครองของเยาวชนทราบในเรื่องของสิทธิ และการจับกุมตัวเยาวชนต้องกระทำการอย่างละมุนละม่อม 

แต่กระนั้นเองตามการบันทึกไว้ในรายงานฉบับนี้ยังปรากฏการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายของหยก เยาวชนอายุ 15 ปี และการใช้กำลังอย่างมากเกินควรและไม่ได้สัดส่วนในการเข้าจับกุมเยาวชนสมาชิกกลุ่มทะเลุแก๊สที่มีการใช้เครื่องพันธนาการ กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา การกระทำดังก่าวขัดกับหลักการที่กฎหมายได้วางไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชน

มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ได้วางหลักไว้ว่า การควบคุมหรือคุมขังเด็กนั้นให้กระทำเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่กระนั้นเอง ในกรณีคดีของเด็กและเยาวชนในขบวนการขับเคลื่อนประชาธิปไตยกลับปรากฏให้เห็นว่ามีเด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกตั้งข้อหาและจับกุมจากการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับการใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ถึงแม้ว่าเด็กและเยาวชนโดยส่วนมากจะไม่ถูกคุมขังก่อนมีคำพิพากษา หรือหลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิด รายงานฉบับนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงกรณีต่างๆ ที่เด็กถูกควบคุมตัวอันเป็นผลมาจากกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงเด็กที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์  และเด็กที่ไม่มีพ่อแม่หรือผู้ปกครอง รวมไปถึงการทำงานและประสบการณ์ของทนายคุ้มเกล้า ทรงสมบูรณ์ ทนายความด้านสิทธิเด็กของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการทำงานทางด้านการพิทักษ์สิทธิเด็กในกรณีเช่นว่านี้

เพื่อการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็ก พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้วางหลักว่า การพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนให้กระทำเป็นการลับ โดยมีแค่ผู้ที่มีส่วนเกียวข้องที่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ เช่น ผู้ปกครอง และที่ปรึกษากฎหมาย ถึงแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีการอนุญาตให้ “บุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควรอนุญาต” เข้ามาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม โดยส่วนมากแล้วศาลมักจะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดี 

รายงานฉบับนี้ได้มีการอภิปรายว่าเหตุใดการไม่มีผู้สังเกตการณ์อิสระและบุคคลที่เด็กไว้วางใจในห้องพิจารณาคดีระหว่างการพิจารณาคดีจึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิในการรับฟังความคิดเห็นของเด็ก และการไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ซึ่งเยาวชนบางรายรู้สึก “โดดเดี่ยว” ที่ต้องเผชิญการพิจารณาคดีแบบลับ

การเบี่ยงเบนเด็กและเยาวชนออกจากการถูกดำเนินคดีทางอาญาเป็นมาตรการที่คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาติแนะนำให้มีการปรับใช้ โดยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ก็ได้มีการวางหลักการให้เยาวชนที่กระทำความผิดตามกฎหมายสามารถเข้าใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีทางอาญาหรือคำพิพากษา กล่าวโดยง่ายคือ  เยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทางอาญาไม่จำเป็นต้องเข้าไปในกระบวนการยุติธรรมเฉกเช่นผู้ใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอถึงปัญหาหลายประการที่ปรากฏอยู่ใน “มาตรการพิเศษ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการจำกัดสิทธิมากกว่าการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็ก เช่น การที่จะมีคุณสมบัติในการเข้าถึง “มาตรการพิเศษ” นี้ เยาวชนดังกล่าวจำต้องแสดงการสำนึกในการกระทำที่ได้กระทำไปโดยการให้การรับสารภาพ เงื่อนไขนี้ อาจส่งผลให้มีการนำคำสารภาพดังกล่าวมาเป็นข้อโต้แย้งในกรณีที่คดีถูกนำกลับมาขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาคดีอีกครั้ง อีกทั้งผลประโยชน์ของเด็กมักไม่ถูกนำมาประกอบใช้ในแผนการฟื้นฟูเด็กและเยาวชน 

บางครั้งการกำหนดแผนดังกล่าวดำเนินการไปโดยไม่มีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กอยู่ด้วย ส่งผลให้มีการใช้มาตรการพิเศษอย่างไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก เช่น ไปพบผู้พิพากษาสมทบที่เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีให้ฟัง เรียงแถวกราบไหว้พ่อแม่ หรือแม้แต่การตรวจปัสสาวะ

ในกรณีของภูมิและภัทรชัย ศาลมีคำสั่งให้เยาวชนทั้งสองเข้ามาตรการพิเศษแทนการพิพากษา และกำหนดให้ส่งตัวทั้งสองไปที่สถานพินิจฯ

รายงาน จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี จบลงด้วยข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลไทย เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • ยุติการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงคดีมาตรา 112 และนิรโทษกรรมเด็กและเยาวชนมากกว่า 280 รายที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2563
  • ยุติการใช้มาตรา 112 กับเด็กและเยาวชน ปล่อยเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจ และแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
  • งดเว้นการจับกุมหรือคุมขังเด็กและเยาวชนหากไม่มีความจำเป็น และหากไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจับกุมหรือคุมขังเด็กและเยาวชน รัฐต้องปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนตามกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ
  • ประกันสิทธิของเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการรับฟังในกระบวนพิจารณาทางตุลาการและทางปกครอง โดยการอนุญาตให้ผู้ไว้วางใจของเด็กได้เข้าฟังการพิจารณาคดี
  • ยกเลิกเงื่อนไข “การรับสารภาพ” สำหรับการเข้าถึงมาตรการพิเศษ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าการให้การรับสารภาพของเด็กและเยาวชนเป็นไปโดยอิสระและสมัครใจอย่างแท้จริง รับฟังความเห็นจากเด็กและเยาวชน ครอบครัว และที่ปรึกษาทางกฎหมาย ในระหว่างการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และปฏิรูป “มาตรการพิเศษ” เพื่อนำไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของนักปกป้องสิทธิและนักกิจกรรมที่เป็นเด็กและเยาวชน

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

X