วันที่ 29 ม.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ลลิตา มีสุข” ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งถูกฟ้องในความผิดฐาน “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์คลิปวิดีโอสั้นในแอปพลิเคชัน TikTok วิจารณ์นโยบายการจัดการโควิด-19 การใช้ภาษีประชาชน และถูกกล่าวหาว่ามีการพาดพิงถึงกษัตริย์
คดีนี้มีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง คือ อภิวัฒน์ ขันทอง ซึ่งถูกแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบและดําเนินคดีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค (คตส.) ตามคําสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 32/2563 ลง 21 ก.ย. 2563 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พฤติการณ์ที่กล่าวหา เกิดจากการโพสต์คลิปวิดีโอใน Tiktok เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2564 โดยลลิตาได้พูดสั้น ๆ ถึงการนำภาษีของประชาชนไปแจกประชาชนด้วยกันเอง และทำพีอาร์ตัวเอง ปีละเป็นหมื่น ๆ ล้าน ไม่ควรซาบซึ้งเป็นบุญคุณ โดยไม่ได้มีการเอ่ยถึงบุคคลใดหรือเอ่ยถึงสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่ผู้กล่าวหาระบุว่า ช่วงหนึ่งของคลิป จำเลยได้ทำปากพูดคำว่า “พระมหา…” โดยไม่ออกเสียง ก่อนพูดคำว่า “กรุณาธิคุณ” ทำให้ผู้กล่าวหาตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน เป็นการเสียดสี ใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ
คดีนี้เดิมนัดเริ่มสืบพยานเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2566 อย่างไรก็ตามก่อนเริ่มการสืบพยาน จำเลยได้แถลงขอกลับคำให้การเดิมจากปฏิเสธข้อกล่าวหา เป็นรับสารภาพ โดยมีความหวังว่าเมื่อมีคำพิพากษา จะได้รับโอกาสให้รอการลงโทษไว้ เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน
เมื่อจำเลยรับสารภาพ และอัยการแถลงไม่ค้าน ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนนัดคำพิพากษาในวันที่ 29 ม.ค. 2567
.
สาเหตุที่ตัดสินใจรับสารภาพ
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการกลับคำให้การ ลลิตาบอกถึงความรู้สึกในวันนั้น และสาเหตุที่ตนตัดสินใจรับสารภาพ รวมไปถึงปัญหาของมาตรา 112 ที่ตนได้ประสบพบเจอ
“ต้องบอกว่ามันเป็นภาวะจำยอม เหมือนกลืนเลือดตัวเอง ที่เราต้องยอมรับสารภาพไป เพราะฟังจากรูปคดีหลาย ๆ อย่างแล้ว ต่อให้เราจะยืนยันว่าเราไม่ได้พูดถึงกษัตริย์ แต่ถ้าเขาไม่เชื่อเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ และหากลงมาว่าเราผิด เราก็ต้องรับไปตามนั้น”
“ทีนีเราลองมานั่งบริหารความเสี่ยงดูว่า ถ้าเราถอยครึ่งหนึ่งและยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกได้ ไม่ได้แปลว่าเรารับสารภาพตรงจุดนี้ไป อุดมการณ์ความคิดของเรามันจะเปลี่ยนไปด้วย เราแค่บริหารความเสี่ยงและก็เปลี่ยนวิธีสู้ เพื่อให้เรายังสามารถใช้ชีวิตอยู่ข้างนอก มีโอกาสอยู่ข้างนอก ทำอะไรได้หลายอย่างกว่าที่เราจะไปยืนยันความบริสุทธิ์ของเราข้างใน”
“อันนี้คือถ้าคนอื่นจะคิดอีกแบบหนึ่งก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับเรา ถ้าไปยืนยันความบริสุทธิ์ตัวเองในคุก ก็ไม่รู้จะได้อะไรขึ้นมา แต่ถ้าเราอยู่ข้างนอกก็ยังได้ใช้โอกาสทำอย่างอื่นอีกเยอะ และยังสามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิมตามแนวทางของเรา”
“ถ้าเราติดคุก 1 ปี 6 เดือนอยู่ข้างใน เราอาจจะทำอะไรไม่ได้ เรามองว่าอยู่ข้างนอกยังเคลื่อนไหวได้ อย่างเราที่มีผู้ติดตามเยอะ เป็นกระบอกเสียงได้ ถ้าขาดเราไปคนหนึ่ง มันก็คงดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้าเราอยู่ข้างนอก เราได้ใช้เสียงของเรา ผลักดันเรื่องนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทั้งหมด คือเรามีแพลนไว้อยู่แล้วว่าเราอยากผลักดันเรื่องนี้”
“ถ้าจะก้าวข้ามความขัดแย้งจริง ๆ นะ มันจะต้องผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ นักโทษทางการเมืองทั้งหมด และเราเชื่อว่าเราเป็นคนหนึ่งที่มีเสียงที่ดังและสามารถใช้กระบอกเสียงตรงนี้ได้ ถ้าสมมติว่าเราติดคุกมันก็อาจจะเงียบไปส่วนหนึ่งด้วย”
.
รู้สึกสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
“เราไม่ศรัทธา และเราก็ไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่แรก โดยเฉพาะคดีการเมือง เพราะมันมีตัวอย่างให้เห็นเยอะมาก ๆ ว่ามันไม่ยุติธรรม แม้เขาจะบอกว่ามันตัดสินตามตรรกะ พยาน หรืออะไรก็แล้วแต่ มันล้วนมีอคติอยู่แล้ว ซึ่งเขาจะอ้างว่าทำตามกระบวนการที่ถูกต้อง แต่การตัดสินคดีการเมืองมันมีอคติอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้เชื่อว่ามันจะยุติธรรมจริง ๆ ตั้งแต่แรกแล้ว”
.
คิดว่า ม.112 เป็นปัญหาอย่างไร?
“เราว่ามันเป็นปัญหาตั้งแต่ตัวบทกฎหมายเลย คำว่าหมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้าย ถ้าเปิดพจนานุกรมมันไม่น่าจะใกล้กัน และมีปัญหาในการตีความ”
“มันมีกรณีที่กล่าวถึง พูดถึงจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้าย อย่างเช่นคดี ชุดไทยของ “นิว จตุพร” ซึ่งมันอาจจะเป็นการ Parody (ล้อเลียน) ก็ได้ ซึ่งการ Parody ไม่ได้แปลว่าหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายอยู่แล้ว แต่ท้ายที่สุดพออะไรที่ไปแตะถึง 112 ก็กลายเป็นว่าผิดหมด เราเลยรู้สึกว่ามันมีปัญหาตั้งแต่ตัวบท และการตีความ การใช้งาน เพราะมันเปิดโอกาสให้ใครก็ได้แจ้งความกันเอง”
“เป็นต้นว่า เรารู้สึกไม่พอใจคุณ เราก็หาช่องที่จะไปฟ้อง 112 ‘ไม่ผิดจะกลัวอะไร’ แต่กว่าจะรู้ว่าผิดหรือไม่ผิด มันก็เสียเวลาตรงนั้นไปเยอะแล้ว และมันก็ยังไม่มีกระบวนการอะไรที่ช่วยเยียวยาให้กับคนที่ไม่ผิดได้เลย มันมีบางคดีที่ยกฟ้องอยู่ แต่ยังไม่เห็นอะไรที่เยียวยาได้เลย เรามองว่ามันต้องแก้ไข ถ้ายกเลิกไม่ได้จริง ๆ อย่างน้อยแก้ไขว่าคนที่จะมาแจ้งความหรือฟ้องเนี่ย มันจะต้องเป็นตัวแทนจากทางวังจริง ๆ มีกระบวนการคัดกรองสำนวนคดีอะไรอย่างนี้ก่อน ไม่ใช่นิดหน่อยก็ฟ้องกัน”
.
บาดแผลจากมาตรา 112
“นี่เป็นปีที่สามที่เราโดนคดี เรามีผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างมาก มีความเครียดเพิ่มขึ้น แต่ก่อนเราเป็นโรคซึมเศร้า แต่หายแล้ว และตอนนี้กลับมาป็นอีกแล้ว มีทั้งอาการเครียด อาการกังวล และแพนิค ตอนนี้เราต้องกลับไปพบจิตแพทย์หลังจากไม่ได้พบมาสี่ปี คดีนี้ทำให้เราต้องกลับมารักษาอาการซึมเศร้า”
นอกเหนือไปจากอาการป่วยซึมเศร้าแล้ว ลลิตาเล่าว่าทางบ้านของเธอก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบคุกคามและจับตาสอดส่องเช่นกัน
“ครอบครัวคุณพ่อคุณแม่ของเราโดนคุกคาม มีทหารตำรวจไปตามที่บ้านอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่โดนหมายเรียกของสน.นางเลิ้ง ไม่กี่วัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่บ้านสองรอบ และที่ไม่ใช่ตำรวจไปบ่อยอยู่เหมือนกัน ประมาณเดือนละครั้ง”
“สำหรับคนต่างจังหวัดถือว่าตกใจมาก เท่าที่ฟังจากคุณตาเล่ามา เขาไม่ได้มาเชิงข่มขู่ เขาจะใช้วิธีการบอกทำนองว่า ดูแลลูกหลานหน่อย อย่าให้ไปทำแบบนี้ เราทำผิดนะ เป็นเด็กก้าวร้าว มาตัดสินเราว่าเป็นคนไม่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่คุณตาอบรมสั่งสอนหน่อย การคุกคามกินเวลาเกือบปี มาเกือบทุกเดือน มาถ่ายรูปบ้าน มาหาคุณตา บางทีก็มาสวัสดี มาเฉย ๆ มาให้รู้ว่ามานะ” ลลิตาเล่า
.