17 ต.ค. 2566 – 3 นักกิจกรรม เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข มีนัดที่ศาลอาญารัชดาฯ เพื่อฟังคำพิพากษาในคดี “ดูหมิ่นศาล” จากการเข้าร่วมชุมนุมหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกขังระหว่างการต่อสู้คดีมาตรา 112 หลังมีการสืบพยานไปเมื่อเดือน ส.ค. – ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งช่วงดังกล่าวเบนจาติดเรียน และศาลได้อนุญาตให้พิจารณาลับหลังในนัดสืบพยานโจทก์
คดีนี้นักกิจกรรมทั้งสามถูกฟ้องใน 5 ข้อหา ได้แก่ ดูหมิ่นศาล, ร่วมกันมั่วสุมก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต อัยการระบุว่า คำปราศรัยและการกระทำของจำเลยเป็นการดูหมิ่น เหยียดหยาม ว่าศาลหรือผู้พิพากษาที่มีคําสั่งยกคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดี 112 ใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย
ด้านเบนจา, ณัฐชนน และสมยศ มีข้อต่อสู้ว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่เสี่ยงแพร่โควิด ที่สำคัญ การปราศรัยตามฟ้องเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ให้สิทธิในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 โดยไม่ได้วิจารณ์หรือกล่าวถึงผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ ข้อหาดูหมิ่นศาล มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาไม่เลิกมั่วสุม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่น่าจับตาคือ หากศาลพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นความผิด และลงโทษจำคุก อัยการได้ระบุในคำฟ้องขอให้ศาลเพิ่มโทษจำคุกสมยศ 1 ใน 3 ของโทษจำคุกในคดีนี้ เนื่องจากสมยศเคยต้องโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 และกลับมากระทำผิดในคดีนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังพ้นโทษ
นอกจากคดีดูหมิ่นศาลคดีนี้แล้ว น่าสังเกตว่า เบนจาและณัฐชนนถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุการณ์การชุมนุมครั้งเดียวกันนี้ไปแล้ว โดยมีชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา ระบุว่า การกระทำของทั้งสองถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล และฝ่าฝืนข้อกำหนดของศาลอาญา โดยทั้งศาลอาญาและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า ทั้งสองมีความผิด ลงโทษปรับเบนจา 500 บาท ในส่วนณัฐชนนศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 15 วัน และแก้โทษจำคุกเป็นกักขังแทน
ในช่วงเกิดเหตุในคดีนี้ มีนักกิจกรรมต้องถูกคุมขังเป็นเวลานานนับเดือนจากการไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีในคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 7 คน และมีการอดอาหารในเรือนจำอีกหลายราย ทำให้นักกิจกรรมและประชาชนจัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวอย่างต่อเนื่อง และถูกดำเนินคดีดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 อย่างน้อย 4 คดี โดยณัฐชนนและเบนจาถูกดำเนินคดี 2 คดี คือ คดีนี้และคดีจากการชุมนุมหน้าศาลอาญาในวันที่ 29 เม.ย. 2564 ซึ่งปัจจุบันคดียังอยู่ในชั้นสอบสวน ทั้งสองยังถูกดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลจากเหตุชุมนุมทั้งสองวันด้วย
ส่วนอีก 2 คดี เป็นคดีจากการชุมนุมหน้าศาลอาญาของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกจำเลย 12 ราย คนละ 3 ปี ปรับคนละ 33,300 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และจำคุก “บอย” ชาติชาย แกดำ 1 ปี 12 เดือน ปรับ 2,200 บาท โดยไม่รอลงอาญา รวมทั้งยกฟ้องจำเลยอีก 2 ราย
.
ภาพกิจกรรมวันเกิดเหตุจาก Mob Data Thailand
.
เหตุแห่งคดี: ชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” ยืนยันสิทธิประกันตัว หลังเพนกวินอดอาหาร 46 วัน จนถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 ครอบครัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันเพนกวินเป็นครั้งที่ 10 และขอประกันรุ้งเป็นครั้งที่ 6 หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีมาตรา 112 ชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร มานานเกือบ 3 เดือนสำหรับเพนกวิน โดยมีเหตุผลสำคัญเพื่อให้ทั้งสองเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูร่างกายในโรงพยาบาล เนื่องจากเพนกวินอดอาหารประท้วงมาแล้ว 46 วัน มีอาการถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ และรุ้งอดอาหารมาแล้วร่วม 1 เดือน ก่อนที่ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องขอประกันในวันที่ 6 พ.ค. 2564
ในวันดังกล่าวแม่เพนกวินยังได้โกนหัวที่บริเวณลานจอดรถศาลอาญา เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้แก่ลูกชาย ขณะที่มีนักกิจกรรมและประชาชนเดินทางมาปักหลักรอผลการประกันตัวด้านหน้าศาล พร้อมทั้งร่วมโกนหัวประท้วง ทั้งยังมีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ อาทิ เผาภาพหน้าปกหนังสือประมวลกฎหมาย ผูกโบว์ขาวและป้ายผ้าข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่หน้ารั้วศาลอาญา และในช่วงท้าย เบนจาได้อ่านแถลงการณ์และโปรยรายชื่อแนบท้ายจดหมายถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเข้าไปในรั้วศาลอาญา
ภายหลังกิจกรรม ณัฐชนน, เบนจา และสมยศ ถูกศาลอาญาออกหมายจับใน 5 ข้อหา ได้แก่ ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาศาลในการพิจารณาคดี, ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เป็นผู้ร้องขอให้ออกหมายจับ
ทั้งสามจึงได้ทยอยเข้ามอบตัวในวันที่ 11 พ.ค. และ 14 พ.ค. 2564 กรณีของณัฐชนนและเบนจา พนักงานสอบสวนให้ประกันตัวในวงเงินคนละ 100,000 บาท ขณะที่สมยศถูกนำตัวไปฝากขัง ก่อนที่จะได้ประกันในวงเงิน 80,000 บาท พร้อมติด EM เป็นเวลา 30 วัน
ก่อนที่วันที่ 30 มิ.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักกิจกรรมทั้งสามในทั้ง 5 ข้อหา
.
ภาพกิจกรรมวันเกิดเหตุจาก Mob Data Thailand
.
คำฟ้องชี้ การวิจารณ์คำสั่งไม่ให้ประกันผู้ต้องขัง ม.112 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนเกลียดชังศาล ผู้พิพากษาได้รับความเสียหาย
คำฟ้องของอัยการระบุว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุเกิดจากการนัดหมายของ “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” มารวมตัวกันที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อให้กำลังใจ สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ในการยื่นประกันตัว “เพนกวิน” นอกจากกล่าวหาว่า เป็นการชุมนุมในที่แออัดที่เสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 โดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันแล้ว
ยังกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามร่วมกับพวกรวม 200-300 คน ก่อความวุ่นวาย โดยจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการโกนผม, เผารูปผู้พิพากษา ประมวลกฎหมาย และดอกไม้จันทน์ เพื่อแสดงความไว้อาลัยแก่ความอยุติธรรมของศาล, ติดป้ายผ้า “ปล่อยเพื่อนเรา”, ชักชวนให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมตะโกน ด่าทอ ตําหนิ โห่ไล่ แสดงอากัปกิริยาไม่พอใจ เพื่อผู้พิพากษาให้พิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย และเปิดเพลงก่อกวนการทํางานของศาลที่บริเวณด้านในรั้วของศาลอาญา
นอกจากนี้ อัยการกล่าวหาด้วยว่า จําเลยทั้งสามและผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ที่ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวพริษฐ์และพวก โดยการปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง มีใจความสำคัญดังนี้
ณัฐชนน (จําเลยที่ 1) ได้พูดหรือปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “ตอนนี้ เรามองว่าระบบความอยุติธรรมของไทย เป็นระบอบยุติธรรมที่มีความด่างพร้อย สมควรแก่การตั้งคําถามแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง รบกวนมวลชนนั่งลงนิดนึงครับ เพื่อนบอกมา ดังนั้น วันนี้คุณแม่สุ ได้โกนหัวประท้วงให้กับระบบความยุติธรรม ที่ไม่ให้ประกันเพื่อนๆ ของเราทุกคน”
“พวกเราต่อสู้กับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สู้คนที่มีอํานาจ ความเลื่อมล้ำในสังคม และระบอบเฮงซวยในประเทศนี้ พวกเราทุกคนในที่นี้เป็นประจักษ์พยานและเห็นได้ชัดว่า ณ ศาลอาญา รัชดาแห่งนี้ หมดความชอบธรรมที่จะตัดสินคดีใดๆ และหมดความชอบธรรมไร้ซึ่งความยุติธรรมไปแล้ว”
ด้านเบนจา (จําเลยที่ 2) ได้พูดหรือปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “การที่มีการฝากขังระหว่างพิจารณาคดีผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับคดีที่เกี่ยวพันทางการเมือง ทั้งนี้พวกเค้าทั้งหมดยังถูกปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาในระหว่างการดําเนินคดี และถูกฝากขังมาจนถึงวันนี้ ตอนนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นคงอาจกล่าวได้ว่านี่คืออยุติธรรมและจุดต่ำตมที่สุดของการใช้กฎหมาย เพราะกลายเป็นว่ากฎหมายเหล่านี้ที่ควรจะมีบรรทัดฐานในการใช้ ไม่ว่ามาตราใด กลับกลายเป็นเครื่องมือในการปิดปากของผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด”
ภาพเบนจาวันเกิดเหตุจาก Mob Data Thailand
ส่วนสมยศ (จำเลยที่ 3) ได้พูดหรือปราศรัยมีใจความบางช่วงว่า “ในเมื่อเราถูกคุมขัง ดังนั้น เราจึงบอกว่าถ้าเดินหน้าไปเนี่ยคําว่ายุติธรรม กระบวนการพิจารณาในศาลจะสู่กระบวนการของเรา เราจะเดินหน้าไปไม่ได้ เพราะเราถูกขัง เราจะสู้คดีอะไรละครับ ผมก็แถลงต่อศาลว่า ผมจะสู้คดียังไง ฝ่ายพวกผมเป็นราษฎร…”
“ผมอยากให้น้ำตาของแม่เพนกวิน กลายเป็นน้ำกรดไปรดหัวใจผู้พิพากษาทั้งหมด ให้รับรู้ถึงความยุติธรรมมันหมายถึงอะไร..”
อัยการระบุว่า ข้อความและพฤติการณ์ดังกล่าวถือเป็นการกระทําที่ดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยาม ลดคุณค่าของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ว่าศาลหรือผู้พิพากษาที่มีคําสั่งยกคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของพริษฐ์และพวกใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรม ทำให้กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมเกลียดชัง เป็นเหตุให้ศาลหรือผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย
.
นักกิจกรรมทั้งสามยืนยัน วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ให้สิทธิในการประกันตัวในคดี 112 ไม่ได้กล่าวถึงผู้พิพากษาคนใดเป็นการเฉพาะ สอดคล้องกับพยานโจทก์หลายปาก
การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในวันที่ 24, 25, 29, 30 ส.ค. และ 14 ก.ย. 2566 โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 14 ปาก ซึ่งมีทั้ง สว.สส.สน.พหลโยธิน (ขณะเกิดเหตุ) ผู้กล่าวหา, ชุดสืบสวนที่ร่วมสังเกตการชุมนุม, ตํารวจจราจร, เจ้าหน้าที่ศาลอาญาและตํารวจศาลซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตลอดถึงผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับคําปราศรัย และพนักงานสอบสวน
พยานโจทก์ระบุว่า การชุมนุมมีคนเข้าร่วมจำนวนมาก บางคนไม่ใส่หน้ากากอนามัย ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด เจ้าหน้าที่ประกาศให้เลิกชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็ยังคงไม่เลิก นอกจากนี้คำปราศรัยของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้พิพากษาในประเด็นเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวในลักษณะเป็นการละเมิด โดยใช้คำที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์หลายปากยอมรับในการตอบคำถามทนายจำเลยว่า ไม่พบหลักฐานว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้มีการชุมนุม อีกทั้งจำเลยตลอดถึงผู้ร่วมชุมนุมทุกคนก็สวมใส่หน้ากากอนามัย ที่ชุมนุมเป็นลานกว้างกลางแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง การปราศรัยของจำเลยเป็นการวิจารณ์การทำงานของกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ได้มีการระบุถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง และไม่ได้ใช้คำหยาบคาย
ภาพณัฐชนนวันเกิดเหตุจาก Mob Data Thailand
ด้านทนายจำเลยนำนักกิจกรรมทั้งสามเบิกความเป็นพยานจำเลย ยืนยันว่า เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ โดยใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อโควิดตลอดเวลา อีกทั้งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัว อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยการชุมนุมไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีความรุนแรง ไม่เข้าข่ายมั่วสุมก่อความวุ่นวาย
นอกจากนี้ในการปราศรัยตามฟ้องก็เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ให้สิทธิในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดี 112 ซึ่งขัดต่อหลักการสากลในการสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด โดยจำเลยทั้งสามไม่ได้วิจารณ์หรือกล่าวถึงผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ
เมื่อคดีเสร็จการพิจารณา ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในอีก 1 เดือนถัดมา
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง: