วันที่ 28 มี.ค. 2566 นี้ เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ที่ด้านหน้าของศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 หรือ #ม็อบ2พฤษภา เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว 7 นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 ในขณะนั้น เช่น “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, อานนท์ นำภา โดยเพนกวินได้อดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาแล้ว 45 วัน และมีอาการไม่สู้ดีจากการอดอาหารดังกล่าว
ในคดีนี้มีนักกิจกรรม นักศึกษา และประชาชนทั้งหมด 15 ราย ถูกฟ้องเป็นจำเลย ได้แก่ ร่อซีกีน นิยมเดชา, หทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม, ศุภกิจ บุญมหิทานนท์, วีรภาพ วงษ์สมาน, ปรณัท น้อยนงเยาว์, พัชรวัฒน์ โกมลประเสริฐกุล, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, อิทธิกร ทรัพย์แฉ่ง, ปรีชญา สานจิตรสัมพันธ์, สุทธิตา รัตนวงศ์, “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, ยงยุทธ ฮังนนท์, ศรัณย์ อนุรักษ์ปราการ, ชนกันต์ เคืองไม่หาย และชาติชาย แกดำ
การชุมนุมของกลุ่ม #REDEM ในวันที่ 2 พ.ค. 2564 นั้น มีการนัดหมายกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนเคลื่อนขบวนไปที่ศาลอาญา มีการปราศรัยเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง จากนั้นมีกิจกรรมปามะเขือเทศ-ไข่ ใส่ป้ายศาลและรูปของรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ก่อนมีการประกาศยุติการชุมนุม
ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน >> เปิดบันทึกสืบพยาน ม็อบ REDEM: เมื่อ “ไข่ มะเขือเทศ และสี” ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ เรียกร้องสิทธิการประกันตัวจากผู้พิพากษา
.
ช่วงเช้าที่ห้องพิจารณา 902 จำเลยทั้ง 15, ทนายความ และผู้ที่มาให้กำลังใจได้เข้ามานั่งรอเต็มห้องพิจารณา ก่อนศาลออกนั่งพิจารณา เวลา 10.28 น. แล้วอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่อซีกีน นิยมเดชา และหทัยรัตน์ แก้วสีคร้าม พยานโจทก์เบิกความแต่เพียงว่าพบ จำเลยที่ 1-2 ถูกจับกุมในขณะหลบหนีที่ซอยรัชดาภฺิเษก 32 แต่ไม่ปรากฏภาพพยานหลักฐานว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมชุมนุมกระทำความผิดบริเวณหน้าศาลอาญา และหลังเจ้าหน้าที่จับกุมแล้วตรวจไม่พบพลุไฟ, ลูกแก้ว หรือสิ่งผิดกฎหมาย จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พิพากษายกฟ้อง
ในส่วนของจำเลยที่ 3-15 ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกัน เป็นขั้นเป็นตอนและสอดคล้องกับพยานหลักฐาน พยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย จึงไม่มีเหตุให้ต้องเบิกความเท็จเพื่อใส่ร้ายจำเลย
พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3-15 ได้ร่วมกันชุมนุมหน้าศาลอาญา และร่วมกันด่าทอผู้พิพากษา “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” ว่าเป็นฆาตกร รวมถึงขว้างปาสิ่งของใส่ป้ายหน้าศาล การกระทำดังกล่าวถือเป็นการดูหมิ่นและลดทอนผู้พิพากษาว่าไม่ได้ใช้ดุลพินิจอย่างอิสระ ทำให้ผู้พิพากษาชนาธิปเกิดความเสียหาย
ที่จำเลยที่ 3-15 นำสืบอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 นั้น แม้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ก็ตามแต่ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิหรือเป็นการละเมิดต่อบุคคล เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในระหว่างการชุมนุมของจำเลยที่ 3 – 15 กับพวกมีการใช้กำลังประทุษร้ายและเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ด่าทอ ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี ทำให้ผู้พิพากษาเกิดความหวาดกลัวใช้ดุลยพินิจไม่ได้อย่างอิสระ อันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น จึงมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่จำเลยที่ 3-15 อ้างว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและการกำหนดเงื่อนไขอย่างไรในแต่ละคดีเป็นการใช้ดุลพินิจโดยอิสระขององค์คณะผู้พิพากษาตามกฎหมาย ข้ออ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3-15 ฐานร่วมกันจัดการชุมนุมโดยไม่ขออนุญาต และไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 – 15 เป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุม จึงไม่มีความผิดใน 2 ข้อหานี้
พิพากษาว่า จำเลยที่ 3-15 มีความผิดฐาน ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่งมีอาวุธ, ขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรค 2, มาตรา 216 และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ไม่ยอมเลิกการมั่วสุม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ด้านจำเลยที่ 15 จำคุก 1 ปี
ในฐานร่วมกันดูหมิ่นศาล จำคุกจำเลยที่ 3-14 คนละ 2 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท จำเลยที่ 15 จำคุก 2 ปี
ในฐานร่วมกันเดินเป็นขบวนในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ปรับคนละ 300 บาท และฐานร่วมกันเททิ้งสิ่งปฏิกูลมูลฝอยน้ำโสโครกและสิ่งอื่นใดลงบนถนน ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ปรับคนละ 3,000 บาท
ทางนำสืบของจำเลยที่ 15 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกระทงละหนึ่งในสาม รวมจำคุกจำเลยที่ 3-15 คนละ 3 ปี และปรับคนละ 33,300 บาท จำคุกจำเลยที่ 15 มีกำหนดโทษ 1 ปี 12 เดือน ปรับ 2,200 บาท
จำเลยที่ 3 – 14 ไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติกับให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากนี้ให้ยก
.
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตัวแทนกองทุนราษฎรประสงค์ได้ชำระเงินค่าปรับของทั้ง 13 คน รวมเป็นเงิน 401,800 บาท ทั้งหมดจึงได้รับการปล่อยตัว ยกเว้นชาติชาย จำเลยที่ 15 ซึ่งศาลไม่รอลงอาญา โดยทนายความได้ยื่นประกันชั้นอุทธรณ์
ต่อมา เวลา 17.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชาติชาย โดยมีประกันในวงเงิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ การสืบพยานคดีนี้ จำเลยทั้ง 15 ต่อสู้คดีว่า ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญของประชาชน การชุมนุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสงบสันติ ไม่ได้มีการใช้ความรุนแรง โดยพยานโจทก์ก็ยอมรับกับทนายจำเลยว่า ผู้ชุมนุมที่หน้าศาลไม่มีอาวุธและไม่มีใครได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม
นอกจากนี้ เอกพันธ์ ปิณฑวณิช นักวิชาการสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เบิกความเป็นพยานจำเลยให้ความเห็นว่า การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีลักษณะเป็นคาร์ม็อบเพื่อแสดงสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การปราศรัย ปาไข่ มะเขือเทศ เข้าใส่ป้ายศาลอาญา ชูป้ายเพื่อสื่อสารบางเรื่อง ซึ่งเหตุในการชุมนุม เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความทุกข์ แต่การชุมนุมเพียงแค่ปาไข่ และมะเขือเทศ ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่รุนแรง