หลากเสียงสะท้อน จากผู้ต้องขังการเมือง ถึง #เลือกตั้ง66 สิทธิขั้นพื้นฐานที่ยังไปไม่ถึงเรือนจำไทย

เสียงที่ถูก(ขัง)ลืม

ฉันว่า ‘ส.ส.เขต’ คนนี้ปราศรัยถูกใจ, ส่วนฉันอยากโหวตให้ ‘พรรค’ นี้ที่มีนโยบายดีไปแลนด์สไลด์เป็นรัฐบาล  

เมื่อถึงวันที่ 14 พฤษภาคม เทศกาลหาเสียงที่เกิดขึ้นตลอดหลายเดือนจะยุติลง ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะต้องเดินเข้าคูหาไปกาบัตรเลือกตั้ง ‘ส.ส.เขตที่ใช่ พรรคการเมืองที่ชอบ’ 

ทว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกจำกัดสิทธิไม่สามารถเลือกตั้งได้ตามปกติ หนึ่งในนั้นคือ ‘ผู้ต้องขังและนักโทษ’ ที่อยู่เบื้องหลังกำแพงสูงในสถานที่ที่เรียกว่า “เรือนจำ” ซึ่งกรมราชทัณฑ์สรุปสถิติ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นี้ ว่ามีผู้ต้องขังกระจายอยู่ตามทัณฑสถานทั่วประเทศ 268,621 คน (แยกเป็นผู้ต้องขังระหว่างพิจารณา 52,394 คน)

การที่ผู้ต้องขังถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวนี้เป็นไปตาม มาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้ระบุถึงบุคคล ‘ต้องห้าม’ ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้

  1. ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  2. ผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  3. ผู้ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. ผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศได้ทลายกำแพงเกี่ยวกับข้อห้ามในลักษณะนี้และเปิดโอกาสให้ ‘ผู้ต้องขัง’ ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งของตัวเองแล้ว อาทิ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เนปาล อัฟกานิสถาน แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ฯลฯ

ด้านผู้ต้องขังทางการเมืองในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ (13 พ.ค. 2566) มีอยู่อย่างน้อย 15 ราย พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน “อยากจะเลือกตั้ง” และเสนอให้รัฐไทยคืนสิทธิขั้นพื้นฐานนี้กลับคืนสู่ผู้ต้องขังทุกคน พวกเขาส่วนใหญ่ต่างก็รู้สึกเสียใจและเสียดายที่จะไม่ได้ใช้ 1 เสียงของตัวเองร่วมกำหนดทิศทางของประเทศในจุดเปลี่ยนสำคัญเช่นนี้ โดยได้ให้เหตุผลประกอบคล้ายกันอยู่ 2 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้

ประการแรก ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองส่วนใหญ่ล้วนเป็นประชาชนที่ตระหนักรู้ในสิทธิของตัวเอง เป็นประชาชนที่ถูกดำเนินคดีและถูกคุมขัง อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกของตัวเอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นในมิติต่างๆ ตามที่พวกเขามองเห็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องให้ ยกเลิกมาตรา 112, เรียกร้องสิทธิในการชุมนุม, เรียกร้องให้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ลาออก ฯลฯ 

สิ่งที่พวกเขาต้องการมาโดยตลอด คือการได้ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยการเลือกตั้งนับเป็นหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามกฎหมายอันงดงามตามวิถีระบอบประชาธิปไตย ซึ่งให้คุณค่ากับทุกเสียงว่าล้วนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน 

ประการที่สอง หลายคนมีความเห็นว่า แม้ขณะนี้พวกเขาไร้ซึ่งอิสรภาพอยู่ในกรงขัง แต่ถึงอย่างไรเสียวันหนึ่งพวกเขาก็จะถูกปล่อยตัว ได้รับอิสรภาพกลับคืนไปใช้ชีวิตธรรมดาเฉกเช่นพลเมืองไทยคนหนึ่ง 

หรือแม้ว่าจะต้องรับโทษถูกจำคุกไปตลอดชีวิต พวกเขาก็ควรจะได้ใช้สิทธิของตัวเอง เพราะการเลือกตั้งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ แม้แต่นักโทษที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยเสมอ 

ยกตัวอย่างเช่น หากว่ามีการผลักดันนโยบายใดจนเกิดเป็นการบังคับใช้ข้อกฎหมายใหม่ก็ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงจะเป็นนโยบาย ‘ให้ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง’ ที่หากพรรคการเมืองสามารถผลักดันเข้าสู่รัฐสภาและได้รับการเห็นชอบจนสำเร็จลุล่วง ย่อมจะเป็นผลดีโดยตรงกับผู้ต้องขังคดีทางการเมือง

นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิก แก้ไข และเพิ่มโทษประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ‘คะแนนเสียง’ สำคัญที่จะร่วมตัดสินใจไปพร้อมกับคนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่นๆ น่าจะควรมีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างนักโทษในคดี ม.112 อาทิ ป้าอัญชัญ พลทหารเมธิน และวุฒิ 

นโยบายเสนอให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คะแนนเสียงสำคัญส่วนหนึ่งคือเหล่าผู้ต้องขังที่เห็นว่าตนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้พวกเขาได้ร่วมตัดสินใจเลือกหนทางความเปลี่ยนแปลง

นโยบายเพิ่มสิทธิ สวัสดิภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของนักโทษในเรือนจำ ‘ผู้ต้องขังทุกคน’ ควรสามารถมีคะแนนเสียงที่ได้ร่วมตัดสินเลือกเพื่อให้ตัวเองได้รับการปฏิบัติที่มีมาตรฐาน กิน นอน หลับ ได้รับการรักษาพยาบาล และมีสุขภาพจิตที่ดีพอสมควรแก่ความเป็นมนุษย์

กล่าวคือ ผู้ต้องขังทุกคน ไม่ว่าจะถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีหรือคดีได้สิ้นสุดลงแล้วก็ตาม พวกเขาควรที่จะได้รับสิทธิในการเลือกตั้งได้ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกนโยบาย ทุกกฎหมายใหม่ ทุกการบริหารงานของรัฐบาล ย่อมส่งผลกับชีวิตของพวกเขาไม่มากก็น้อย

ชวนอ่านเสียงสะท้อนของผู้ต้องขังคดีการเมืองที่มีต่อประเด็นการเลือกตั้ง 2566 ว่า พวกเขารู้สึกอย่างไรที่จะไม่ได้เลือกตั้ง และปัญหาใดที่ต้องรีบแก้ไขโดยเร่งด่วน รวมถึงลักษณะผู้นำที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร พร้อมกันนี้พวกเขายังได้ฝากสารไปถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่อยากจะพูดคุยด้วย

ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและเงื่อนไขในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ ทำให้เราสามารถรวบรวมความเห็นจากผู้ต้องขังทางการเมืองได้ 9 คน แต่ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมือง อย่างน้อย 15 คน เป็นผู้ถูกขังระหว่างต่อสู้คดี 7 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ทัตพงศ์, ชนะดล, วุฒิ, หยก (เยาวชน) และสุวิทย์ และเป็นผู้ถูกขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 8 คน ได้แก่ อัญชัญ, ศุภากร , “มะ” ณัฐชนน, พลทหาร “เมธิน”, กฤษณะ และวรรณภา, “ปริทัศน์” และ “ต๊ะ” คทาธร

X