เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม “มะ” ณัฐชนน ผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดแล้ว วัย 26 ปี ซึ่งถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2565 จากการถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อถูกตรวจค้นพบประทัดยักษ์ ในช่วงก่อนการชุมนุม #ม็อบ12มิถุนา65 และถูกแจ้งข้อกล่าวหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ณัฐชนนได้ให้การรับสารภาพ โดยไม่มีทนายความและไม่ได้รับการประกันตัว เขาถูกคุมขังเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 ศาลอาญาได้พิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงเหลือจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ปัจจุบันคดีความของมะได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากเขาไม่ประสงค์ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษา มะจึงจะต้องรับโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไปให้ครบกำหนดโทษ 3 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งนี้กรณีของมะนั้นศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพิ่งได้รับแจ้งข้อมูลเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2565 อันเป็นเวลาที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีของมะไปแล้ว
__________________
มะต้อนรับเราด้วยน้ำเสียงสดใส เขาฝากความคิดถึงไปยัง “มาร์ค – ชนะดล” เนื่องจากได้ข่าวมาว่ามาร์คยังทำใจไม่ได้ และร้องไห้เกือบทุกวัน “ช่วงแรกๆ ผมก็รับสภาพตัวเองไม่ได้ ตอนนี้ผมติดคุกมาจะ 1 ปีแล้วพี่ วันที่ 12 มิถุนาฯ ปีนี้ จะครบ 1 ปีแล้วที่ผมถูกขัง
“ฝากบอกมาร์คให้เข้มแข็ง อดทน ผมเป็นกำลังใจให้ น้องทำได้ดีแล้ว ผมนับถือความกล้าหาญของน้องที่ออกมาต่อสู้จนหมดอิสรภาพในเรือนจำ ผมเป็นกำลังใจให้จริงๆ”
นอกจากนี้ มะยังแสดงความห่วงใยถึง “หยก” เยาวชนอายุ 15 ปีที่ขณะนี้ถูกควบคุมตัวในคดีมาตรา 112 อยู่ที่บ้านปรานี จังหวัดนครปฐม โดยมะพูดยืนยันว่าเด็กและเยาวชนไม่ควรติดคุกเพราะแสดงความคิดของตัวเอง และพูดอีกว่า กรณีนี้ยิ่งทำให้เห็นชัดเจนว่าความยุติธรรมไม่ได้ยืนข้างประชาชน มาตรา 112 ควรถูกยกเลิกไปได้แล้ว
จากนั้นมะถามถึงเรื่องการเลือกตั้งและสถานการณ์ของโลกภายนอก รวมถึงสถานการณ์การเมืองต่างประเทศอย่างสงครามระหว่าง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ และการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารในพม่า ว่ามีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง เราเลยเล่าให้มะฟังเรื่องการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ว่าพบข้อผิดพลาดต่างๆ ในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลายอย่างด้วยกัน เมื่อมะได้ยินก็แสดงท่าทางตกใจ เขากังวลว่าเสียงของประชาชนจะไม่ถูกสะท้อนอย่างแท้จริง
Q: วันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ คุณอาจจะไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะถูกคุมขัง
A: “ผมรู้สึกเสียดายที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ผมไม่เคยเสียใจที่สิทธิของผมถูกใช้เพื่อปกป้องอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชน มันควรจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ผมเชื่อในปฏิญญาสากล และเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตย คือระบอบการปกครองที่ดีที่สุดในโลก”
Q: หากมีโอกาสได้พูดคุยกับ “ว่าที่ผู้นำประเทศ” (แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) คุณอยากจะพูดหรือถามคำถามอะไร
A: อยากฝากคำถามถึง “คุณอุ๊งอิ๊ง” (แพทองธาร ชินวัตร) จากพรรคเพื่อไทย ว่า ‘ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม คุณทำอะไรเพื่อประชาขนบ้าง และถ้าหลังการเลือกตั้ง อำนาจตกไปอยู่ในมือฝ่ายอนุรักษ์นิยม คุณอุ๊งอิ๊งและพรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรหากมีการชุมนุมและมีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงอีก’
Q: “ผู้นำในดวงใจ” ของคุณต้องมีลักษณะโดดเด่นอย่างไรบ้าง
A: 1. มีความชัดเจนกับประชาชน
2. สามารถทำในสิ่งที่สัญญากับประชาชนไว้ได้
3. ไม่มาจากอำนาจเผด็จการ
4. มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่านายกฯ คนก่อนหน้า
5. มีสปิริตในการทำงานร่วมกับทีม
Q: เสนอนโยบายของตัวเองให้พรรคการเมืองนำไปพิจารณาและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็วที่สุด
A: 1. ยกเลิก 112
2. ยุติการดำเนินคดีแก่ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมือง
3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนระดับล่างกินดีอยู่ดี
4. ทำให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทัดเทียมชาติตะวันตก ให้ประเทศไทยพัฒนาไปพร้อมๆ กับสากลโลกได้
5. ต้องให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
Q: หากมีการจัดการตั้งรัฐบาลขึ้นในเร็ววันนี้ ในมุมมองของคุณ “ปัญหาสำคัญใด” ในสังคมควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด
A: เอา ส.ว. (สมาชิกวุฒิสภา) 250 คนออก ผมอยากให้มี ‘การร่างรัฐธรรมนูญใหม่’ ของประชาชนโดยเร็วที่สุด การมีอยู่ของ ส.ว. คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเสียงของประชาชนทั้งประเทศไม่เท่ากับเสียง ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งมา
“คุณไม่สมควรพูดว่าคุณรักประชาชน คุณก็แค่รักในอำนาจของตัวเอง”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
“ผมเป็นนักสู้ ไม่ใช่อาชญากร” การเยี่ยมครั้งสุดท้าย ก่อน “มะ ณัฐชนน” ตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดี
เผยกรณีหนุ่มวัย 25 ถูกคุมขังเหตุพกประทัดยักษ์ ระหว่างไปชุมนุมเดือนมิ.ย. ก่อนถูกศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี