Missing Votes: ‘ป้าอัญชัญ’ เสียดายผู้ต้องขังกว่าแสนคนทั่วประเทศไม่มีสิทธิลงคะแนน พร้อมหวังปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหลังเลือกตั้ง

เสียงที่ถูก(ขัง)ลืม

10 พ.ค. 2566 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายความเดินทางไปเยี่ยม “อัญชัญ” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่คดีถึงที่สุดแล้ววัย 67 ปี และเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหานี้มากเป็นประวัติการณ์ โดยศาลอาญาลงโทษจากกรณีการอัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน รวมทั้งหมด 29 ครั้ง จำคุกถึง 87 ปี แต่เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกราว 43 ปีครึ่ง

ป้าอัญชัญถูกคุมขังหลังศาลมีคำพิพากษา มาตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2564 โดยไม่ได้อุทธรณ์คดีต่อ ถึงตอนนี้เธอก็รับโทษมา 2 ปี 3 เดือนเศษแล้ว เมื่อรวมกับการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาในช่วงแรก 3 ปี 9 เดือนเศษ ป้าอัญชัญก็ใช้ชีวิตภายใต้การจองจำมาแล้ว 6 ปี เศษ

แต่หนทางข้างหน้าก็ยังอีกยาวไกล เมื่อเธอมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกประมาณอีกกว่า 8 ปีข้างหน้า คณิตศาสตร์ของการนับเวลายังดำเนินไปภายใต้การจองจำเช่นนี้

ป้าอัญชัญโบกมือให้ด้วยรอยยิ้ม เมื่อยกหูโทรศัพท์ขึ้น ป้าก็ขอให้อัพเดทสถานการณ์ข้างนอกให้ฟังทันที โดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ป้ารู้สึกกังวลต่อการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่แสดงความผิดพลาดจำนวนมากในการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านไป เธอกลัวว่าเสียงของประชาชนจะถูกขโมยไป

“ป้าอยากรู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะทำให้ป้าได้ออกจากคุกหรือเปล่า”

นั่นคือคำถามสำคัญสำหรับป้าอัญชัญต่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ที่กำลังจะมาถึง 

Q: รู้สึกอย่างไรที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง

A: “เสียดาย ป้าไม่เคยพลาดการเลือกตั้งสักครั้งเลยลูก เราต้องการเลือกคนที่เรารัก-คนที่เราถูกใจก็ไม่ได้เลือก ไม่ใช่แค่ป้าที่เสียดายนะ คนในเรือนจำทั้งประเทศหลายแสนคนก็ไม่ได้เลือก ทั้งที่เราก็เป็นประชาชน เป็น 1 คะแนนเสียงเหมือนกัน เรายังอยู่ในประเทศไทย เรายังมีชีวิตน่ะลูก นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมันมีผลกับเราทั้งนั้น ไม่ยุติธรรมเลยที่เราไม่ได้สิทธิเลือกตั้ง”

Q: แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่อยากพูดคุยด้วย

A: “ป้าอยากคุยกับคุณพิธา อยากให้คุณพิธา พรรคก้าวไกลได้เป็นนายกฯ เขาเป็นคนรุ่นใหม่ ป้าอยากได้คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ จากที่ป้าตามการเมืองมาตลอด ป้าก็เห็นว่ามีพรรคก้าวไกลนี่แหละที่ไม่ทิ้งเด็กๆ ป้าเชื่อมั่นในตัวคุณพิธา

“ป้าอยากให้คุณพิธาเข้ามาแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องในประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้ ไม่ใช่ถอยหลังลงคลองอย่างทุกวันนี้ แล้วป้าก็อยากให้คนที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศกลับมา บางคนเขาก็แก่แล้วนะลูก ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองมันก็ไม่สะดวก อย่างน้อยๆ ถ้าเขาต้องการ เขาก็ควรได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้าน”

Q: คุณสมบัติของผู้นำในดวงใจ

A: มีความเชื่อมั่นในตัวเอง, มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง, ใจสู้ กล้าชนเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ, ทำให้เศรษฐกิจดี ประชาชนอยู่ดีกินดี ไม่ลำบาก และทำให้ประเทศไทยมีความเจริญทัดเทียมนานาชาติ

Q: หากเสนอนโยบายที่สำคัญของตนเอง

A: ยกเลิก 112 และมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่แสดงออก เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามาบริหารประเทศ

Q: ปัญหาบ้านเมืองที่อยากให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน

A: “ป้าอยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับคนชราที่ติดคุก มันมีจำนวนมากเลยนะ การใช้ชีวิตในเรือนจำก็ลำบากมาก ข้าวของก็แพง ต้องแย่งชิงทรัพยากรกัน ป้าแก่แล้ว ก็ไม่ค่อยทันอะไรกับเขาหรอก มันน่าจะมีมาตรการอื่นแทนการติดคุกนะ อีกอย่างคือเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขและปฏิรูปโดยเร็วที่สุด”

ย้อนอ่านเรื่องราวของป้าอัญชัญ

จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต

บันทึกเยี่ยมที่ไม่ได้เยี่ยม: ‘อยากกลับบ้านเพราะแก่มากแล้วจ้ะ’ จดหมายจาก ‘ป้าอัญชัญ’ นับถอยหลังโทษคดี ม.112 เหลืออีก 9 ปี

X