บันทึกเยี่ยมที่ไม่ได้เยี่ยม: ‘อยากกลับบ้านเพราะแก่มากแล้วจ้ะ’ จดหมายจาก ‘ป้าอัญชัญ’ นับถอยหลังโทษคดี ม.112 เหลืออีก 9 ปี

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 เราเขียนจดหมายถึงป้าอัญชัญ ผู้หญิงที่ศาลพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 ถึง 87 ปี เป็นอัตราโทษจำคุกสูงที่สุดเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยบันทึกไว้ ในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยป้าอัญชัญถูกกล่าวหาว่าอัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งหมด 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กรรม 

เนื่องจากเราไม่เคยคุยกับป้าโดยตรง ครั้งนี้เลยเขียนจดหมายแนะนำตัวก่อน และถามป้าว่าโควตาเยี่ยม 10 รายชื่อยังเหลือที่ว่างอยู่ เราก็ขอให้ป้าใส่ชื่อเราเป็น 1 ใน 10 รายชื่อนั้นด้วยจะได้เข้าไปเยี่ยมป้าในเรือนจำ เพราะคดีของป้าถึงที่สุดแล้ว ทัณฑสถานหญิงกลางจึงไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมในฐานะทนายความอีก

เราคิดว่าการส่งจดหมายแบบออนไลน์ไปหาป้าที่เรือนจำน่าจะถึงมือป้าเร็วกว่า เพราะเราเคยส่งแบบเดียวกันให้ ‘ป่าน ทะลุฟ้า’ เมื่อครั้งที่เคยถูกคุมขังในคดีสาดสีหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เธอก็ได้รับจดหมายเร็วกว่าการส่งแบบปกติเช่นกัน 

แต่หลังกดส่งจดหมายไปนานหลายสัปดาห์ป้าก็ยังไม่ตอบกลับมา ในใจเราคิดว่าป้าอาจจะใช้โควตาเขียนตอบญาติสนิทมิตรสหายก่อนตามลำดับก็เป็นได้ เพราะเรือนจำจำกัดโควตาให้ส่งจดหมายได้เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น จะว่าไปก็ยังจำกัดแม้กระทั่ง ‘จำนวนบรรทัด’ ในจดหมายเลยทีเดียวล่ะ

(รูปจาก Voice TV)

_______________________

จนกระทั่งเกือบจะสิ้นเดือนแล้ว วันที่ 30 ต.ค. 2565 เราได้รับจดหมายตอบกลับจากป้าเป็นฉบับแรก ปรากฏว่าป้าได้รับจดหมายของเราเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2565 ไม่น่าเชื่อว่าจดหมายความยาวเพียง ‘ครึ่งหน้า’ เรือนจำจะใช้เวลาตรวจเกือบ 2 สัปดาห์เลยทีเดียว  

ดูจากวันที่ในจดหมาย ทำให้เห็นว่า หลังจากป้าได้รับจดหมายจากเราก็รีบเขียนตอบกลับในวันถัดมาทันที ป้าใช้ปากกาหมึกสีน้ำเงินเขียนตัวบรรจงว่า อยากให้เราไปเยี่ยมที่เรือนจำ ขอให้ติดต่อญาติ และขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับโทษจำคุกที่เหลืออยู่ให้หน่อย และสุดท้ายป้าฝากบอกว่า 

“ช่วยบอกทุกคนที่มีส่วนร่วมในการบริจาคเงินเข้ากองทุนเพื่อซื้ออาหารให้ป้ากินทุกวัน และรณรงค์เรื่องของป้า ขอขอบคุณทุกคนมากๆ เลยค่ะ ถือเป็นเกียรติและความภูมิใจสำหรับป้ามากค่ะ ป้าก็ถือว่าป้าเป็นคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ต้องจดจำตลอดไป ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งที่ไม่ลืมป้า”

_______________________

หลังจากนั้นไม่นานเราได้เขียนจดหมายถึงป้าเป็นฉบับที่ 2 และต่อมาเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 เราจึงได้รับจดหมายตอบกลับจากป้าอัญชัญอีกครั้ง มันถูกเขียนขึ้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2565 ในจดหมายบอกว่าป้าได้รับจดหมายฉบับที่ 2 จากเราเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2565 แต่อาจจะเขียนตอบช้าไปหน่อย เพราะส่งจดหมายได้แค่สัปดาห์ละครั้งเท่านั้น และบอกว่าได้เพิ่มชื่อเราเป็น 1 ใน 10 รายชื่อผู้ที่สามารถเข้าเยี่ยมได้แล้ว

แต่หลังเราติดต่อไปยังเรือนจำกลับได้รับการแจ้งว่า หลังจากถูกเพิ่มเป็น 1 ใน 10 รายชื่อแล้วเราจะสามารถเข้าเยี่ยมป้าได้ในอีก 1 เดือนหลังจากนั้น เราไม่แน่ใจว่าทำไมเรือนจำถึงได้ทิ้งช่วงนานขนาดนี้ โดยปกติญาติที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้เข้าเยี่ยมได้ ก็จะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ทันที หลังจากกักตัวเสร็จและย้ายลงแดน 

ในจดหมายป้าบอกอีกว่า “จดหมายของป้าทั้งขาออกและเข้าช้ากว่าทุกคน (แกะดำ) ต้องทำใจ จดหมายของป้าบางฉบับก็ไม่ได้รับค่ะ สิทธิ์ของป้ามีปัญหา ไม่รู้จะพูดอย่างไร…”

“และป้ายังได้เขียนข้อความฝากมาอีกว่า “ถ้าทนายมาเยี่ยมป้าไม่ได้ ป้าจะเขียนจดหมายมาหาหนูบ่อยๆ ค่ะ เรื่องโทษของป้า อภัยเมื่อ 15 ส.ค. 2565 ผลออกมาปรากฏว่ามีนักโทษไม่ได้รับการอภัยโทษกันเยอะ ป้าเองก็ไม่ได้เช่นกัน แต่มีข่าวว่าเดือนธันวานี้จะมีการอภัยโทษอีกครั้ง ถ้าเป็นเหมือนปี 64 โทษของป้าก็จะเหลืออีกแค่ 18 เดือนเท่านั้น ก็ได้แต่รอความหวังให้มีการอภัยโทษในเดือนธันวานี้ค่ะ”

“เบื่อมากค่ะ อยากกลับบ้าน แก่ลงไปทุกวัน ความเครียดเกิดขึ้นได้ตลอดหากเราไม่รู้จักอดทนและทำใจกับสิ่งรอบข้างให้ได้ การอยู่ในนี้เราถูกจำกัดอิสรภาพและสิทธิต่างๆ เพราะเราคือผู้ต้องขัง”

“พอดีอ่านข้อความของกลุ่ม Amnesty 100 กว่าข้อความ ข้อความที่ 51 ป้าดีใจมากกับข้อความนี้ กับบุคคลที่ป้าคอยอยู่ ขอบคุณทุกข้อความที่ให้กำลังใจค่ะ ทนายมีข่าวอะไรก็ส่งมาให้ป้าดูบ้างนะคะ เรื่องหนังสือป้าขอบคุณมากในความหวังดีค่ะ แต่ไม่ต้องหรอก หาในนี้อ่านได้”

“ป้าเล็กขอบคุณทุกๆ คนที่ห่วงใยนะคะ อยากกลับบ้านเพราะแก่มากแล้วจ้ะ”

ป้าเล็ก

12 พ.ย. 2565

ทัณฑสถานหญิงกลาง

_______________________

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 ทนายความได้สอบถามไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง และได้รับคำตอบว่าอัญชัญมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกประมาณเกือบ 9 ปีข้างหน้า โดยอัตราโทษที่เหลืออยู่ดังกล่าวยังไม่ได้คำนวณการลดโทษจากการอภัยโทษรอบล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2565 เนื่องจากยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าป้าอัญชัญได้รับการอภัยโทษในรอบดังกล่าวด้วยหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม จากที่ป้าอัญชัญได้เขียนเล่ามาในจดหมายล่าสุด เธอไม่ได้รับการลดหย่อนโทษจากการอภัยโทษรอบล่าสุดนี้ และยังวาดหวังถึงการลดหย่อนโทษต่อไปในโอกาสปลายปีนี้

นอกจากป้าอัญชัญแล้ว ปัจจุบันนี้ยังมีผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองที่คดีถึงที่สุดแล้วอีกอย่างน้อย 3 คนด้วยกัน ได้แก่ ศุภากร ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ, มะ ณัฐชนน ในคดีมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และอดีตพลทหารเมธิน ในคดีมาตรา 112 

ย้อนดูเส้นทางคดี ม.112 ของป้าอัญชัญ

25 ม.ค. 2558 อัญชัญถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวไปไว้ในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน (25-29 ม.ค. 2558) ทั้งนี้ ขณะนั้นอยู่ระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยคณะรักษาความสงบ (คสช.) 

30 ม.ค. 2558 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีกับเธอ และนำตัวไปขออำนาจศาลทหารกรุงเทพฝากขัง โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่อนุญาตให้ประกันตัว อัญชัญจึงถูกนำตัวไปขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 

23 เม.ย. 2558 อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีของอัญชัญต่อศาลทหารกรุงเทพ 

28 ก.ค. 2558 ศาลอาญานัดสืบพยานนัดแรก

2 พ.ย. 2561 อัญชัญได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท หลังถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีมานานมากกว่า 3 ปี 9 เดือน และคดีของอัญชัญได้ถูกโอนย้ายมายังศาลอาญาในช่วงปี 2562 

15 ธ.ค. 2563 ก่อนที่จะมีการสืบพยานโจทก์ต่อจากที่ค้างไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 อัญชัญในวัย 65 ปี ได้ตัดสินใจกลับคำให้การในคดี เป็นให้การรับสารภาพ เพราะหวังว่าศาลจะลดโทษและระยะเวลาในการคุมขัง

19 ม.ค. 2564 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา โดยพิพากษาจำคุก 87 ปี แต่รับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุกราว 43 ปี 6 เดือน ในวันนั้นเธอจึงถูกส่งตัวกลับเข้าทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง ในฐานะนักโทษเด็ดขาดที่คดีถึงที่สุดแล้ว และถูกคุมขังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต

ศาลจำคุก 87 ปี “อัญชัญ” คดีม.112 เหตุแชร์คลิป “บรรพต” สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้

X