“ข้อมูล” (Data) คือ หนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังและมีความสำคัญมากที่สุดในยุคปัจจุบัน ทั้งในด้านการนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจที่แม่นยำ, การเผยแพร่และเปิดเผยความจริง, การสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ และข้อมูลยังสามารถถูกต่อยอดเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
ในบริบทด้านสิทธิมนุษยชน การทำงานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปิดเผยให้เห็นการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชน, ช่วยในการเรียกร้องความรับผิดชอบและเยียวยาตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน, ป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิในอนาคต และนำไปสู่การรณรงค์และผลักดันในทุกระดับเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
.
แล้วเราจะทำงานข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?
สายธารข้อมูลนั้นไหลผ่านทุกชีวิต ทุกสังคม ทุกสถานที่ และทุกเวลา การทำงานข้อมูลจึงต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเริ่มต้นจากการเก็บและรวบรวมข้อมูล, การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ, การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล และการนำข้อมูลไปใช้ ตามลำดับ ดังนั้น การทำงานทุกขั้นตอนอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยหล่อเลี้ยงให้การทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้ทรงพลังและเติบโต
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก่อตั้งขึ้นหลังมีการรัฐประหารในปี 2557 นอกจากการทำงานให้ความช่วยเหลือในทางคดีแล้ว เบื้องหลังของศูนย์ทนายความฯ ยังมีการทำงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนควบคู่ไปด้วยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จึงสามารถแบ่งปันประสบการณ์การทำงานข้อมูลได้ดังนี้
.
การเก็บและรวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วน
วิธีการเก็บและรวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีด้วยกันหลายวิธีซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามบริบทสถานการณ์และลักษณะของแหล่งข้อมูล โดยศูนย์ทนายความฯ มักติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย 3 วิธีหลัก ดังนี้
1. การลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยตนเอง โดยลงพื้นที่ติดตามสังเกตการณ์คดีในกระบวนการยุติธรรม, ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ชุมนุมสาธารณะ และลงพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เช่น การจัดกิจกรรม วงเสวนา หรือการแถลงข่าว
2. การประสานงานกับแหล่งข้อมูล โดยเฉพาะตัวผู้ถูกละเมิดสิทธิหรือแหล่งข้อมูลอื่นที่เชื่อถือได้ ซึ่งอาจเก็บและรวบรวมข้อมูลได้ผ่านทางการสัมภาษณ์ การสอบข้อเท็จจริง และการขอข้อมูลที่แหล่งข้อมูลเก็บและรวบรวมไว้โดยตรง
3. การมอนิเตอร์ (monitor) โดยติดตามและรวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการรายงานข่าว และสื่อต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้ การเก็บและรวบรวมข้อมูลยังอาจทำได้ผ่านการสำรวจ (Surveys) และทำแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง หรือการแบ่งปันข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็น เช่น องค์กรภาคประชาสังคมอื่น หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน
การเก็บและรวบรวมข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและรอบด้าน โดยใช้วิธีการและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยังต้องมีการประเมินระดับความน่าเชื่อถือของข้อมูลซึ่งสามารถพิจารณาได้จากแหล่งข้อมูล, ความสอดคล้องและสมบูรณ์ของข้อมูล, ความทันสมัย และวิธีการเก็บข้อมูล ซึ่งจะต้องตั้งข้อสังเกตไว้เสมอว่าข้อมูลที่ได้เก็บและรวบรวมมามีความถูกต้องและเชื่อถือได้ในระดับสูง กลาง หรือต่ำ
นอกจากนี้ ส่วนสำคัญที่จำเป็นต้องเก็บมาด้วยเสมอคือ “ความยินยอม” ของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือแหล่งข้อมูล ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวให้ชัดเจนและปลอดภัยควรจัดทำเป็นเอกสาร “แบบฟอร์มแสดงความยินยอม” หรือ “Consent Form” ที่ครอบคลุมถึงการเก็บและบันทึกข้อมูล รูปภาพ และ/หรือภาพเคลื่อนไหว ตลอดจนความยินยอมให้เผยแพร่และ/หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวด้วยวิธีการและรูปแบบต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้
ภาพการสังเกตการณ์คดีจาก TrialWatch
.
การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ
การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบจะทำให้การจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลทำได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากการลืมข้อมูล ข้อมูลหาย หรือบันทึกไว้ไม่ชัดเจน และยังทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบและติดตามเพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยสามารถทำได้ด้วย 4 วิธีการ ดังนี้
1. จัดประเภทข้อมูล โดยต้องแบ่งข้อมูลที่จะบันทึกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาจอ้างอิงจากลักษณะงานขององค์กร, ช่วงเวลา, แหล่งที่มาของข้อมูล, ความสำคัญของข้อมูล และ/หรือวัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล โดยจะต้องจัดเก็บไว้ใน “แฟ้ม” หรือ “โฟลเดอร์” ที่มีเพื่อบันทึกข้อมูลดังกล่าวโดยเฉพาะ ทำให้ในชุดข้อมูลเรื่องหนึ่ง ๆ จะมีโฟลเดอร์หลักและโฟลเดอร์ย่อยเสมอตามความเหมาะสมและความเฉพาะเจาะจงของข้อมูล
2. เลือกใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่เหมาะสม กล่าวคือ การเลือกว่าจะใช้ซอฟต์แวร์หรือระบบการจัดเก็บข้อมูลแบบคลาวด์จากผู้ให้บริการเจ้าใด โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ศักยภาพของเครื่องมือว่าสามารถเก็บข้อมูลหลากหลายรูปแบบได้หรือไม่, ความเหมาะสมกับประเภทของข้อมูลที่จะบันทึก, ความสะดวกในการใช้งานและเข้าถึงของคนในองค์กร, ความสามารถในการสำรองข้อมูล และความปลอดภัยทางเทคโนโลยีของข้อมูล
ตัวอย่างเครื่องมือที่นิยมใช้ในการบันทึกข้อมูล เช่น Google Drive, Microsoft OneDrive, Dropbox, Notion และ Monday.com เป็นต้น
3. กำหนดระเบียบในการบันทึกข้อมูล โดยเป็นการกำหนดมาตรฐานในการบันทึกข้อมูลให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ตัวอย่างเช่น
- กำหนดกรอบเวลาว่าการบันทึกข้อมูลควรเกิดขึ้นทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์หรือเมื่อได้รับข้อมูลการละเมิดสิทธิ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดตกหล่นหรือผิดพลาด
- ออกแบบรูปแบบ (Pattern) ที่เป็นมาตรฐานขององค์กรเพื่อใช้ในการบันทึกข้อมูลประเภทเดียวกัน เช่น แบบสอบข้อเท็จจริง, แบบแสดงความยินยอม และแบบบันทึกประชุม เป็นต้น โดยรูปแบบดังกล่าวจำเป็นต้องถูกทบทวนและปรับปรุงอยู่เสมอ
4. ติดตามและอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยในข้อมูลที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนั้น ควรมีการติดตามและอัปเดตอย่างสม่ำเสมอว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างและข้อมูลที่บันทึกไว้เดิมยังคงถูกต้องหรือไม่ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดบุคคลหรือทีมที่รับผิดชอบในการอัปเดตข้อมูล และข้อมูลในแต่ละประเภทก็ต้องถูกติดตามด้วยความถี่ที่แตกต่างกันไปตามความเร่งด่วนและความสำคัญ
นอกจากนี้ การบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องจะทำให้สามารถสร้างฐานข้อมูล (Database) ได้ในอนาคต โดยศูนย์ทนายความฯ ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลไว้ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาก็มีการสร้างฐานข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน เช่น ฐานข้อมูลคดีสิทธิเสรีภาพซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงได้บนเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความฯ
ภาพฐานข้อมูลคดีสิทธิเสรีภาพบนเว็บไซต์ TLHR
.
การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล
การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลนั้นมีความแตกต่างกัน โดยการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) จะเป็นการนำข้อมูลที่มีอยู่มาศึกษาเพื่อจำแนกรูปแบบ ความสัมพันธ์ของข้อมูล และแนวโน้มจากข้อมูล
เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นที่นิยมคือ การทำสถิติ (Statistics) ซึ่งจะทำให้เห็นข้อมูลภาพรวมและข้อมูลในเชิงปริมาณ นำไปสู่การจำแนกกลุ่มรูปแบบของข้อมูลและการค้นพบแนวโน้มที่เดิมอาจมองไม่เห็นจากการดูข้อมูลดิบเพียงอย่างเดียว
ศูนย์ทนายความฯ ก็มีการวิเคราะห์ข้อมูลหลายประเภทโดยใช้เทคนิคทางสถิติ ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น รายงานการคุกคามประชาชน (Harrasment Report) ปี 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นจำนวนครั้งและจำนวนคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม รูปแบบของการคุกคาม และจำนวนการคุกคามแบ่งตามพื้นที่
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งแสดงให้เห็นจำนวนคดีและจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดี จำนวนผู้กล่าวหาที่เป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวนแบ่งตามพฤติการณ์ในคดี จำนวนเยาวชนที่ถูกกล่าวหา จำนวนสถานะของคดีทั้งหมด และลำดับแกนนำการชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุด
สถิติการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองปี 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นจำนวนครั้งที่ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมดและแยกตามประเภทคดี และแนวโน้มสถานการณ์การประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวสูงถึง 91.7% (ข้อมูลจัดเก็บถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567)
ภาพสถิติการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองปี 2567
นอกจากนี้ เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่ศูนย์ทนายความฯ ใช้เป็นประจำคือการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงเนื้อหา ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงบริบท ความรู้สึก และผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะ ‘ร่วมกัน’ ของแหล่งข้อมูล โดยมักเป็นข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์หรือลงพื้นที่เก็บข้อมูล เช่น บทความเกี่ยวกับความเจ็บปวดของ LGBTQIAN+ ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นการละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในเรือนจำในรูปแบบต่าง ๆ
ส่วนการสังเคราะห์ข้อมูล (Data Synthesis) เป็นการนำข้อมูลที่มีแหล่งที่มาหรือชุดข้อมูลที่แตกต่างกันมารวมกันเพื่อให้ได้มุมมองใหม่ ข้อสรุป ข้อเสนอแนะ หรือนโยบาย เช่น รายงานการศึกษากระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนในคดีทางการเมืองทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งรวบรวมทั้งข้อมูลดิบและข้อมูลทางสถิติของศูนย์ทนายความฯ ความรู้และประสบการณ์จากที่ปรึกษากฎหมาย เด็กและเยาวชน ผู้ปกครอง นักสังคมสงเคราะห์ และนักวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหา จนทำให้ได้ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีของเด็กและเยาวชน
.
การนำข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์
การนำข้อมูลไปใช้สามารถทำได้หลากหลายวิธีและรูปแบบ โดยขึ้นกับวัตถุประสงค์และลักษณะของข้อมูลที่มี เช่น ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ, ใช้ข้อมูลเพื่อศึกษาและวิจัยในทางวิชาการ, ใช้ข้อมูลเพื่อการสื่อสารและเผยแพร่สาธารณะ, ใช้ข้อมูลเพื่อรณรงค์กับกลุ่มคนหรือองค์กรภายในประเทศและระหว่างประเทศ และใช้ข้อมูลในการพัฒนาและผลักดันในเชิงนโยบาย เป็นต้น
ศูนย์ทนายความฯ มีการนำข้อมูลไปใช้เพื่อให้การทำงานข้อมูลบรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กรใน 3 วิธี ดังนี้
1. เผยแพร่ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาและสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมทั้งให้ความรู้ทางกฎหมายกับประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิได้โดยง่าย และส่งเสริมให้รัฐไทยปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นการยับยั้งหรือจำกัดการคุกคามและละเมิดสิทธิที่ยังคงดำเนินอยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยเช่นกัน
รูปแบบงานเผยแพร่ของศูนย์ทนายความฯ มีทั้ง ข่าวสาร, บทความ, บทสัมภาษณ์, รายงาน/ประมวลคดี/ประมวลสถานการณ์ และ ความเห็นทางกฎหมาย/แถลงการณ์ โดยเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม ได้แก่ เฟซบุ๊ก, X และอินสตาแกรม นอกจากนี้ยังมีงานเผยแพร่ในรูปแบบวิดีโอบน YouTube อีกด้วย ทำให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชนหลากหลายกลุ่มได้เป็นวงกว้าง และเผยแพร่ข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบตามคุณลักษณะของแต่ละแพลตฟอร์ม
2. จัดทำและสนับสนุนการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ เพื่อทำให้เกิดการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมได้ในอนาคต
ศูนย์ทนายความฯ มีบทบาททั้งเป็นผู้ศึกษาและจัดทำการศึกษาและวิจัยทางวิชาการด้วยตนเอง เช่น ข้อเสนอต่อการจัดการผลพวงรัฐประหาร, จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี และอิสรภาพแบบมีเงื่อนไข และยังมีบทบาทเป็นแหล่งข้อมูลให้กับนักวิชาการที่ต้องการนำข้อมูลไปสนับสนุนการทำงานวิชาการด้วยเช่นกัน
3. การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มคนหรือองค์กรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเป็นการดำเนินกิจกรรมหรือเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสนับสนุน โน้มน้าว และผลักดันให้เกิดความตระหนักรู้และการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือเชิงระบบ เช่น นโยบาย กฎหมาย การเมือง หรือแนวทางปฏิบัติ เป็นต้น
การรณรงค์นั้นสามารถทำได้ทั้งกับประชาชนทั่วไป, สื่อมวลชน, หน่วยงานของรัฐบาล, องค์กรอิสระ, องค์กรภาคประชาสังคม, นักการทูต, องค์การสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างเช่น การเดินทางเข้าพบสถานทูตฯ สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมและศูนย์ทนายความฯ เพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมและการแสดงออกในพื้นที่ชายแดนใต้ หลังรัฐไทยดำเนินคดีมาตรา 116 กับผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรม #มลายูรายา2022
