SEX GENDER DIVERSITY┃ของแสลงในกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้ ‘เจ็บปวด’ ทุกที

เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง Pride Month เดือนแห่งเทศกาลเฉลิมฉลองความสวยงามของอัตลักษณ์ทางเพศที่หลายหลาก ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเองมีความหวังใกล้จะเป็นจริงแล้ว รอเพียงการพิจารณาของวุฒิสภาในเร็ว ๆ นี้เท่านั้น 

บรรยากาศที่ดูเหมือนมีความหวัง ท่าทีของสังคมที่กำลังเปิดกว้างและให้การยอมรับกับเรื่อง ‘เพศ’ มากขึ้น แต่สำหรับกระบวนการยุติธรรมกลับยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQIAN+ นั่นครอบคลุมรวมไปถึงประเด็นอ่อนไหวของรัฐไทยอย่างบทสนทนาเรื่องเพศสัมพันธ์ (SEX) เพศ (GENDER) และความหลากหลาย (DIVERSITY) 

ศูนย์ทนายฯ ชวนทบทวน ถึง ‘ความเจ็บปวด’ ของ LGBTQIAN+ ในพื้นที่กระบวนการยุติธรรม ต้นเหตุสำคัญอาจเพราะรัฐไทยยังคงยึดติดกับแนวคิดกรอบระบบเพศ ‘สองขั้ว’ มองประชาชนว่ามีเพียงเพศชายและหญิงตามเพศกำเนิดเท่านั้น จึงไม่ได้อำนวยความสะดวกและโอบรับความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรม หากวันนี้ความเท่าเทียมได้เกิดขึ้นบนท้องถนนแล้ว หวังว่าสิ่งเดียวกันนี้จะส่องแสงไปยังพื้นที่ส่วนอื่นของสังคมที่น้อยคนจะได้ยินเสียงพวกเขาด้วยเช่นกัน

SEX – ต้องติดคุก 1 ปี เพราะโพสต์เล่าประสบการณ์เซ็กส์ ช-ช ในเรือนจำ 

“พี่โม๊คให้หน่อย”

“พี่ดูดหัวนมให้หน่อย”

“พี่อยากเย็ดตูดพี่นะ”

“เขายื่นหัวนมด้านซ้ายของเขาให้ผม”

“ผมดูดหัวนมข้างซ้าย พร้อมกับสำเร็จความใคร่ให้กับเขา เขาส่งเสียงครวญครางเบา ๆ สักพักเขาจูบปากของผม เขาสอดลิ้นเข้ามาในปากของผม” 

ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในซีรี่ย์ตอนที่ 9 จากทั้งหมด 14 ตอน ในหัวข้อ “ชีวิตในเรือนจำครั้งแรกของผม” เป็นการบอกเล่าประสบการณ์ในเรือนจำ รวมไปถึงเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย ที่ “เอกชัย หงส์กังวาน” นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยประสบมาระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกือบ 3 ปี 

สิ่งนี้ทำให้เอกชัยถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นโพสต์เนื้อหาที่มีลักษณะ ‘ลามก’ โดยทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาพิพากษาเห็นพ้องให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยให้เหตุผลในคำพิพากษาทำนองว่า 

“จำเลยมีเจตนากระทําความผิดจริง เนื่องจากการโพสต์ใช้ถ้อยคำกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับนักโทษชายอื่นในระหว่างต้องขังคดีอื่นในเรือนจำอย่างโจ่งแจ้ง เป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนผู้รู้ผิดชอบตามปกติพึงปฏิบัติ เป็นข้อความที่ไม่สุภาพ เข้าข่ายลามกอนาจาร และมีลักษณะยั่วยุกามารมณ์”

คดีนี้ทำให้เอกชัยต้องถูกคุมขัง 1 ปี รวม 2 ครั้ง ในช่วงปี 65-67 โดยได้ถูกปล่อยตัวแล้วเมื่อ 4 ก.พ. 2567 ทั้งที่เขาเองมีเจตนาเพียงต้องการถ่ายทอดความจริงในเรือนจำให้สาธารณชนได้รับรู้เท่านั้น เพราะเห็นว่าเรือนจำเป็นพื้นที่เข้าถึงได้ยาก สังคมรับเรื่องราวหลังกรงขังได้น้อยมากเหลือเกิน 

ทั้งที่ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ต้องขังด้วยกันเองในเรือนจำ คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด กรมราชทัณฑ์เองก็ยังมีนโยบายป้องกันโรคเอดส์ ด้วยการแจกถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำชายด้วยซ้ำไป 

แล้วคุณล่ะคิดว่าเรื่องโพสต์เรื่องเซ็กส์ในเรือนจำ ‘ร้ายแรง’ ถึงขนาดต้องคุกนาน 1 ปีหรือไม่

GENDER – ขึ้นชื่อว่า นช. ถึงผ่าทำ ‘หน้าอก’ แล้ว เรือนจำก็ไม่มียกทรงให้ใส่

เรือนจำชายในประเทศไทยปฏิบัติกับนักโทษเหมือนว่าทุกคนเป็น ‘ผู้ชาย’ ไม่ใส่ใจและละเลยกับอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender identity) ที่หลากหลาย แม้ว่าจะเขาหรือเธอผู้นั้นจะมีลักษณะทางกายภาพต่างจากเพศกำเนิดอย่างไรก็ตาม

เรื่องนี้ถูกเล่าผ่าน ‘นารา’ อนิวัต ประทุมถิ่น ซึ่งถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ช่วงแรกของการถูกคุมขังเธอและเพื่อน ๆ ไม่มี ‘เสื้อชั้นใน’ ให้สวมใส่ แม้ว่าจะผ่าตัดเสริมหน้าอกแล้วก็ตาม นั่นทำให้ชีวิตประจำวันในเรือนจำพวกเธอมีเพียงเสื้อนักโทษสีน้ำตาลไม่ได้หนามากปกคลุมสัดส่วนเว้านู้นของร่างกาย

เรื่องนี้ส่งผลโดยตรงให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพทางสรีระตามมาภายหลังได้ ทั้งยังเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและกลั่นแกล้งให้มีมากขึ้นด้วย 

นาราใช้ชีวิตเช่นนั้นอยู่นานหลายเดือน จนกระทั่งเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดกับสังคม ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ต่อมา ช่วงปลายปี 2566 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงได้จัดหาชุดเสื้อชั้นในให้กับนาราและผู้ต้องขังที่มีหน้าอกได้สวมใส่แล้วอย่างที่ควรจะเป็น 

ความเปลี่ยนแปลงนี้ดูเหมือนจะเป็นการตอบรับกับเสียงก่นด่าของสังคมเท่านั้น แต่ยังไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่โอบรับการมีอยู่ผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นมาตรฐานทั่วทั้งประเทศ ไม่แน่ว่าอาจจะมีเรือนจำอีกหลายแห่งที่ผู้ต้องขัง LGBTQIAN+ กำลังเผชิญปัญหาอย่างที่นาราเคยเจอ
 

GENDER – เป็น ‘ผู้หญิง’ แค่หัวใจยังไม่พอ แปลงเพศ 100% ถึงจะได้เทคฮอร์โมน

ปัญหาสำคัญอีกอย่างของเรือนจำชายในประเทศไทยที่ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของ LGBTQIAN+ โดยตรงอย่างร้ายแรง นั่นคือ การสั่งห้ามไม่ให้รับประทานฮอร์โมนเพศหญิงต่อไป

ในผู้หญิงข้ามเพศเป็นที่รู้กันว่า การรับประทานฮอร์โมนเพศหญิง หรือ เทคฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้น นอกจากจะช่วยลดฮอร์โมนเพศชายแล้ว ยังทำให้รูปร่าง ผิวพรรณ น้ำเสียง เส้นผมสวยงามเหมือนผู้หญิง คงสรีระให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ซึ่งผู้หญิงข้ามเพศส่วนใหญ่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิงมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานหลายปีจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดตามลำดับ บางคนเริ่มมาตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม บางคนเริ่มต้นช่วงเรียนมหาวิทยาลัย แตกต่างกันไป

แต่เมื่อตกอยู่ในสถานะ ‘นักโทษ’ จะไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนเพศหญิงได้อีกต่อไป ความยากลำบากนี้ถูกเล่าผ่าน ‘นารา’ อนิวัต ประทุมถิ่น และ “แม็กกี้” (สงวนชื่อสกุล) ผู้ถูกคุมในคดีมาตรา 112 อยู่จนถึงปัจจุบัน

ช่วงหลายเดือนของการถูกคุมขัง นาราต้องหยุดเทคฮอร์โมนเพศหญิงตามคำสั่งของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นั่นทำให้เธอได้รับผลข้างเคียงหลายอย่าง อาทิ ขนตามร่างกายมีมากขึ้นและขนมีลักษณะเส้นแข็งขึ้นเรื่อย ๆ, อารมณ์แปรปรวน ไม่คงที่ หงุดหงิดง่ายและบ่อยครั้ง, ผิวพรรณไม่สดใส ไม่เรียบเนียนเหมือนเดิม ฯลฯ เช่นเดียวกับ ‘แม็กกี้’ ที่ช่วงแรกถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่หลังต้องหยุดทานฮอร์โมนแล้วก็ทำให้กล้ามเนื้อดูชัดมากขึ้น ผิวพรรณไม่สดใสเหมือนเคย และอารมณ์ไม่คงที่เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ปัญหานี้ถูกเผยแพร่ผ่านโซเซียลมีเดีย หลายสำนักข่าวได้นำเสนอสู่สาธารณะ จนต่อมา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ให้ผู้หญิงข้ามเพศที่ต้องการเทคฮอร์โมนเพศหญิงได้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการประเมินเบื้องต้นและลงความเห็นจากแพทย์ก่อนได้จะรับฮอร์โมนเพศหญิง นั่นทำให้ช่วงปลายปี 2566 นาราได้เข้าถึงฮอร์โมนเพศหญิงแล้ว

ส่วนแม็กกี้ ไม่ได้เข้าพบแพทย์เพื่อขอรับฮอร์โมนเพศหญิงแต่อย่างใด ทั้งที่ก่อนหน้านี้เธอรับฮอร์โมนเพศหญิงตลอดมาจนกระทั่งถูกคุมขัง แม็กกี้ให้เหตุผลว่าไม่มีความกล้าเพียงพอ และกลัวจะถูกต่อว่า เพราะส่วนใหญ่ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงฮอร์โมนนั้นจะมีรูปร่างคล้ายผู้หญิง เช่น มีหน้าอก ไว้ผมยาว สรีระคล้ายผู้หญิง แต่สำหรับเธอนั้นยังไม่ได้เสริมหน้าอกและสรีระไม่ได้คล้ายผู้หญิงเสียทีเดียวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ดูว่ากรมราชทัณฑ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างฉาบฉวยตามกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเท่านั้น แต่ยังไม่ได้มีการออกกฎเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและบังคับกับเรือนจำทุกแห่งอย่างด้วยบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน 

GENDER – ต้องตัดผมจนสั้นเกรียน คือ บาดแผลของนักโทษ LGBTQIAN+

‘เส้นผม’ บางคนเปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทรงผมที่เหมาะสมและดูดีช่วยส่งเสริมความมั่นใจและตัวตนให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ในเรือนจำชาย นักโทษจะถูกตัดผมให้สั้นเกรียนทรงรองทรง ในบางคนถูกตัดสั้นเกรียนคล้ายการโกนหัวหรือทรงสกรีนเฮดเลยก็มีเช่นกัน

นี่เป็นอีกหนึ่งความเจ็บปวดของผู้ต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ โดยเฉพาะกับ LGBTQIAN+ เรื่องนี้ถูกเล่าผ่าน “นคร” (นามสมมติ) ผู้ถูกฝากขังอยู่ในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการ อยู่นานถึง 10 วัน เมื่อปี 2564 แต่สุดท้ายคดีนี้นั้นศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ‘ยกฟ้อง’  

ระหว่างถูกคุมขังวันที่ 2 นคร ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำตัดผมจนสั้นเกรียนคล้ายทรงนักเรียน “ตอนนั้นเราไม่กล้าส่องกระจกเลย แม้แต่เงาตัวเองยังไม่กล้ามอง เพราะไม่ชอบทรงนั้นเลย คิดมาตลอดว่าถ้าเป็นไปได้จะไม่ทำทรงนั้นอีกเด็ดขาด” นครบอก

เช่นเดียวกับ ‘นารา’ อนิวัต ประทุมถิ่น ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ถูกตัดผมจนสั้นเกรียนเช่นเดียวกัน ระหว่างที่เธอถูกเบิกตัวออกไปศาลตามนัดหมายคดี เธอถูกบุคคลหนึ่งแอบถ่ายภาพขณะอยู่ในห้องพิจารณาคดีและนำไปเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย สิ่งนี้สร้างความเสียใจ ความอับอาย แก่นาราอย่างมาก

“อยากให้เรือนจำเปลี่ยนแปลงระเบียบทรงผม เพราะสิ่งนี้ทำให้ ‘เรา’ ยังคงเป็น ‘เรา’ อยู่” นาราบอก

นาราเคยบอกอีกว่า มีผู้ต้องขังอภิสิทธิ์ชนเพียงบางคนในเรือนจำเท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นให้ไว้ผมยาวกว่าปกติ รวมถึงเรือนจำบางแห่งที่มีผู้ต้องขังข้ามเพศเป็นสัดส่วนที่มากกว่าแห่งอื่น เช่น ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งจะมีแดนหนึ่งแดนไว้สำหรับผู้ต้องขังข้ามเพศโดยเฉพาะ

GENDER – เป็นนักโทษ ต้องเปลื้องผ้า ‘เปลือยกาย’ ต่อหน้าคนอื่น

เมื่อต้องถูกคุมขังในเรือนจำ กระบวนการแรกรับอย่างน้อย 1-2 ขั้นตอน ผู้ต้องขังจะต้องแก้ผ้า เปลือยกายให้เจ้าหน้าที่ตรวจร่างกาย และอาบน้ำทำความร่างกายรวมกับผู้ต้องขังใหม่คนอื่นอย่างโจ่งแจ้ง ในกระบวนการแรกรับบางครั้ง เจ้าหน้าที่บังคับให้ผู้ต้องขังใหม่แก้ผ้าเปลือยเปล่าถึง 2 ครั้งด้วยกัน

เรื่องนี้ถูกเล่าผ่าน ‘นคร’ (นามสมมติ) ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ซึ่งถูกฝากขังนาน 10 วัน ที่เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อปี 2564 โดยนครเล่าว่าถูกบังคับให้แก้ผ้าถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เพื่อตรวจร่างกายหลังลงจากรถผู้ต้องขัง โดยต้องแก้ผ้าในห้องห้องหนึ่งพร้อมกับผู้ต้องขังให้คนอื่นและอาบน้ำ จากนั้นเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ ครั้งที่ 2 เดินเข้ามาถึงบริเวณที่มีนักโทษถูกควบคุมตัวจำนวนหลายร้อยคนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังบังคับให้แก้ผ้าเปลือยอีกเป็นหนที่ 2 สร้างความอับอายให้กับนครเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ชีวิตประจำวันในเรือนจำอย่าง ‘การอาบน้ำ’ ก็จะเปลือยกายอาบน้ำรวมพร้อมกันทั้งหมด ผู้มีความหลากหลายทางเพศบางคน อย่างเช่น ‘นารา’ จะหาวิธีเอาตัวรอดด้วยการอาบน้ำในห้องส้วมของห้องขัง โดยให้ผ้าห่มมัดกับซี่กรงขังคลุมปกปิดไว้ หรือไม่เช่นนั้นก็จะหาเวลาไปอาบน้ำก่อนเวลา

นอกจากนี้ ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ยังเคยเล่าว่า ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสุ่มตรวจประจำปี เป็นการสุ่มตรวจที่กะทันหันมากเพื่อไม่ให้ใครได้ตั้งตัว การตรวจที่ว่านี้เจ้าหน้าที่จะบังคับให้ผู้ต้องขังทุกคน ‘ถอดเสื้อ’ รวมถึงคนที่มีผ่าตัดเสริมหน้าอกแล้วด้วยเช่นกัน 

Diversity – ถูกดำเนินคดี จากร่วมกิจกรรมเรียกร้อง ‘สมรสเท่าเทียม’

ในบรรดาการชุมนุมที่สั่งฟ้องเป็นคดีความนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับการชุมนุมเรียกร้องประเด็นสังคมอย่างการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อต้านรัฐประหาร เรียกร้องประชาธิปไตย หรือการประท้วงการทำงานของหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่กับการชุมนุมที่มีประเด็นข้อเรียกร้องให้มี ‘สมรสเท่าเทียม’ ก็เคยถูกตั้งข้อหาเป็นคดีความด้วยเช่นกัน 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมและกลุ่มองค์กรภาคประชาชน LGBTQ+ กว่า 18 องค์กร ได้จัดกิจกรรม #ม็อบสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่แยกราชประสงค์ เพื่อพูดคุยประเด็น “สมรสเท่าเทียม” และการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 ที่อนุญาตเฉพาะคู่รัก “ชาย-หญิง” จดทะเบียนสมรสกันได้ รวมไปถึงการล่ารายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับประชาชน

ในกิจกรรมครั้งนั้น หลังยุติกิจกรรมมีผู้ขับรถเครื่องขยายเสียงและอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุมถูกตำรวจติดตามจับกุมทันทีในวันนั้น รวม 5 คน  

ต่อมา ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังออกหมายเรียกผู้ร่วมกิจกรรมรวม 20 คน อาทิ สิรภพ อัตโตหิ, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง นักกิจกรรมกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, สุไลพร ชลวิไล นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิ, สุธีชา เบาทิพย์, จริงใจ จริงจิตร, ทวีชัย มีมุ่งธรรม, ธารารัตน์ ไพบูลย์ธนสมบัติ, ศิริศักดิ์ ไชยเทศ, ศิริ นิลพฤกษ์, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย รวมไปถึง ชานันท์ ยอดหงษ์  

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 ปัจจุบันคดีนี้ ก็ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ยังไม่ได้ยุติลงไปแต่อย่างใด

X