เปิดแผลใจ “นคร” จำเลยคดี ม.112 ถูกฝากขัง 10 วัน ฝันสลาย ตายทั้งเป็น สุดท้ายสองศาลยกฟ้อง เจ้าตัวถาม ‘ใครรับผิดชอบ’

“นคร” (นามสมมติ) ผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ปัจจุบันอายุ 30 ปี นครถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) มาตั้งแต่ปลายปี 2563 สมัยที่ยังเป็นเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาพาดพิงกษัตริย์ จำนวน 2 โพสต์ 

นครรู้ว่าตัวเองถูกแจ้งความคดี ม.112 จากการรายงานข่าวของทีวีช่องหนึ่ง ในข่าวนั้นมีการนำข้อมูลส่วนตัวและภาพใบหน้าของนครไปเปิดเผยด้วย แต่ถูกเซนเซอร์ไว้ราง ๆ แต่กับคนรู้จักก็ยังพอจะดูออกว่าเป็นใคร ตั้งแต่วันนั้นชีวิตของนครไม่เคยเหมือนเดิมอีกต่อไป 

ต่อมา เมื่อช่วงกลางปี 2564 ด้วยความไม่รู้ข้อกฎหมายและยังเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางคดี ทำให้หลังถูกแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่ได้มีทนายไปด้วย นครถูกตำรวจขอฝากขังในชั้นสอบสวนนานถึง 10 วัน อยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการ ห่างไกลจากบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงรายกว่า 800 กิโลเมตร

การถูกดำเนินคดีนี้ ทำให้นครได้รับผลกระทบหลายอย่าง ตั้งแต่การถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวว่าตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 การต้องบาดหมางกับครอบครัว ถูกตีตราว่าเป็นผู้กระทำผิด การถูกกดดันจากคนรอบข้างให้สารภาพรับผิด เผชิญประสบการณ์เลวร้ายจากถูกขังในเรือนจำ ซึ่งแม้จะได้ประกันตัวออกแล้วก็ยังต้องใช้เวลาเยียวยาจิตใจแรมเดือนถึงจะตั้งหลักกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ 

นครยืนยันต่อสู้คดีความจนถึงที่สุด จนเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษา “ยกฟ้อง” และต่อมาวันที่ 27 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน แม้ยังต้องรอคอยว่าจะมีการฎีกาคำพิพากษาอีกหรือไม่ แต่สองคำพิพากษาที่เกิดขึ้น ก็ทำให้นครถามหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากกระบวนยุติธรรมแล้วว่า 

“ใครจะรับผิดชอบ …” 

1. จุดเริ่มต้นเส้นทางคดี ม.112

รายการข่าวดังยกข้อมูลส่วนตัวไปรายงาน

เส้นทางพลิกผันจากนักศึกษา สู่การเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 ของนครเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2563 ตอนนั้นนครยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ระหว่างเรียนนครมีอาชีพเสริมเป็น ‘ช่างแต่งหน้า’ หารายได้ไปด้วย ตอนนั้นนครบอกว่าตัวเองไม่ได้สนใจและเข้าใจการเมืองแม้แต่น้อย เพียงแต่เคยเห็นข่าวบางประเด็นผ่านตาบ้างก็เท่านั้น แม้กระทั่ง “ข้อหามาตรา 112” นครในตอนนั้นก็ไม่เคยได้ยินผ่านหูมาก่อน

แต่แล้ววันหนึ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2563 รายการข่าวของช่องทีวีหนึ่งได้รายงานข่าวกรณีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายราย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส” โดยกล่าวหาว่าการกระทำบนเฟซบุ๊กของพวกเขานั้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

ระหว่างการออกอากาศ ช่วงหนึ่งรายการได้นำข้อมูลภาพถ่ายบัตรประชาชนและภาพโปรไฟล์บัญชีเฟซบุ๊กของผู้ถูกกล่าวหาขึ้นแสดงบนจอภาพด้วย โดยได้ทำการเบลอข้อมูลไว้ราง ๆ แต่หากเป็นคนที่รู้จักกันก็จะจำได้ทันทีว่าคนในภาพเป็นใคร หนึ่งในนั้นมีภาพใบหน้าและข้อมูลส่วนตัวของนครรวมอยู่ด้วย 

นครเล่าย้อนถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า

“ตอนแรกที่เราเห็น เราก็ ‘เฮ้ยนี่มันคือข่าวกูจริง ๆ เหรอ, มันคือหน้ากูจริง ๆ วะ’ รูปหน้าที่รายการเอาไปออกมันคือรูปหน้าเราในบัตรประชาชนเลย” 

หลังจากเห็นข่าว นครตัดสินใจไปลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านว่าไม่ได้โพสต์หรือแชร์เนื้อหาที่อาจเป็นความผิดอย่างที่ตกเป็นข่าว และในวันเดียวกันนั้น ช่วงเย็นนครโทรติดต่อไปหารายการข่าวเพื่อขอให้ลบคลิปข่าวนั้นออกจากยูทูปด้วย ซึ่งต่อมาคลิปข่าวดังกล่าวก็ถูกลบภายในวันนั้นทันที

3 วันผ่านไป นครกลับไปดูเพจเฟซบุ๊กของรายการ ปรากฏว่าทีมงานยังคงผลิตข่าวที่มีเนื้อหาทำนองคล้ายกันซ้ำอีก เผยแพร่ต่อเนื่องกันอีกถึง 2 วัน เมื่อญาติของนครทราบเรื่องจึงโทรไปหาทีมงานรายการอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ บรรณาธิการข่าวของรายการเป็นผู้รับสายด้วยตัวเอง และรับปากว่าจะทำข่าวแก้ต่างให้กับนครว่าไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา

แต่หลังจากวางสายไป ในวันเดียวกันนั้นรายการก็ยังคงผลิตเนื้อหาคล้ายเดิมซ้ำอีกเป็นหนที่ 4 มิหนำซ้ำยังนำเอาข้อมูลส่วนตัวของนครมาเผยแพร่เพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งหน้าบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงภาพใบหน้าด้วย  

“เราก็แบบ ‘โอ๊ย! ตายแล้ว’ ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อนเลย, หนักกว่าเดิมอีก

“เขาเซนเซอร์ข้อมูลเรานะ ข้อมูลที่อยู่นี่แทบไม่เห็นเลย แต่กับรูปหน้า กับชื่อเฟซบุ๊กของเรานี่ไม่ต้องเซนเซอร์ก็ได้มั้ง ถ้าจะเซนเซอร์แค่นั้น …”

เพราะแม้จะเซนเซอร์ด้วยการเบลอไว้ราง ๆ แต่ก็ยังมองออกว่าเป็นใบหน้าของนคร นั่นทำให้หลายคนติดต่อมาหา จนเรื่องไปถึงหูพ่อและแม่ของนคร

2. จากหมายเรียกพยาน 

กลายเป็น ‘หมายเรียกผู้ต้องหา’

ผ่านไปประมาณ 6 เดือน หลังจากตกเป็นข่าวบนหน้าจอทีวี ในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2563 นครได้รับ ‘หมายเรียกพยาน’ เพื่อไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.บางแก้ว จ.สมุทรปราการ ซึ่งยังไม่ใช่ ‘หมายเรียกผู้ต้องหา’ แต่อย่างใด

นครกังวลกับหมายเรียกพยานครั้งนี้ค่อนข้างมาก เพราะนี่เป็นครั้งแรกของการเข้าไปพัวพันกับคดีความ ตอนนั้นนครได้รับคำแนะนำจากนิติกรของมหาวิทยาลัยให้ไปตามนัด ถ้าไม่เช่นนั้นพนักงานสอบสวนอาจจะเปลี่ยนหมายเรียกพยานไปเป็นหมายเรียกผู้ต้องหาแทนได้

นครเดินทางไปให้ปากคำในฐานะพยาน ที่ สภ.บางแก้ว พร้อมกับญาติคนหนึ่ง โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย“ตอนนั้นจำได้เลย ที่หน้าห้องสอบสวนมีคนที่โดนคดีเดียวกัน ประมาณ 4-5 คน นั่งรออยู่ พวกเขาหันมาถามเราว่า ‘โดน 112 เหรอ’ เราก็ตอบ ‘อืม โดนเหมือนกัน’ 

“วันนั้นเราได้รู้ว่าที่ สภ.บางแก้ว มีคนที่ชอบมาแจ้งความด้วย ม.112 เป็นขาประจำอยู่ 2 คน เป็นผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อ คือ ‘ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล’ อีกคนหนึ่งเป็นผู้หญิง แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จัก

“พอให้ปากคำเสร็จ เรายังจำประโยคสุดท้ายที่ตำรวจเขาพูดกับเราได้ดีว่า ‘ลุงไม่ได้อยากเรียกหนูมาหรอกนะ ลุงรู้ว่าหนูอยู่ไกล ลุงแค่เรียกมาสอบปากคำเฉย ๆ ไม่มีอะไรแล้วแหละ หนูเข้าใจลุงเนอะ’…” นครกลับมาบอกกับครอบครัวที่รออยู่อย่างที่เข้าใจ ว่าตำรวจแค่ขอสอบปากคำและเรื่องทั้งหมดน่าจะจบลงเท่านี้  

6 เดือนหลังจากนั้น ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 มีตำรวจโทรหานครโดยไม่ยอมแจ้งชื่อ อ้างว่าติดต่อมาจาก สภ.บางแก้ว และได้พยายามถามข้อมูลส่วนตัวจากนครหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลพื้นฐานอย่างชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น ที่อยู่ปัจจุบัน ไปจนถึงข้อมูลสถานศึกษา ชั้นปี คณะ หรือแม้กระทั่งชื่อหอพักและหมายเลขห้องพัก

นครเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวเกินไปที่จะตอบ แต่ตำรวจก็ยังคาดคั้นถามเอาข้อมูลอื่น ๆ อีก เช่น ที่อยู่ของพ่อแม่ตรงกับที่อยู่ทะเบียนบ้านหรือไม่ อาศัยอยู่กันกี่คน ฯลฯ ซึ่งนครก็ได้ปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลเช่นเดิม 

ไม่กี่วันต่อมา ตำรวจในพื้นที่ได้นำส่ง ‘หมายเรียกผู้ต้องหา’ ระบุว่าเป็นคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้กับนครถึงบ้านที่เชียงราย โดยในหมายเรียกระบุวันนัดหมายให้ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.บางแก้ว ภายใน 3-4 วันต่อจากนั้น

“ตอนนั้นจำได้ว่าเครียดอยู่ แต่แม่ก็บอกว่า ‘อย่าไปคิดมากเลย รอบที่แล้วไปก็ไม่เห็นมีอะไร รอบนี้ก็คงไม่มีอะไรหรอก’…”

พนักงานสอบสวนในตอนนั้นก็บอกกับนครว่า “ไม่มีอะไรหรอกครับ พอดีจะสอบปากคำเพิ่มเติม เพราะวันนั้นร้อยเวรเขาสอบปากคำไม่ละเอียด ผมก็เลยจะขอสอบปากคำใหม่ …” 

นครได้ยินเช่นนั้นจึงวางใจ คิดว่าการไปตามนัดหมายจะต้องผ่านไปได้ด้วยดี นครตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไป-กลับ ภายในวันเดียวกัน รวมแล้วประมาณ 4,000 บาท และตั้งใจเดินทางไปเพียงลำพัง

3. ถูกตำรวจฝากขัง

ทั้งที่สับสนกับกระบวนการ ไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วย

เมื่อไปถึง สภ.บางแก้ว ตามนัดหมายในวันที่ 9 เม.ย. 2564 ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเดินทางไปราชการที่ต่างจังหวัด จึงต้องให้ตำรวจคนอื่นสอบปากคำแทน เมื่อถึงขั้นตอนสอบปากคำ นครเล่าว่าตำรวจไม่ได้เอ่ยปากถามอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่ไปหัวหมุนกับการพิมพ์และเตรียมเอกสารบางอย่างแทน และจู่ ๆ พนักงานสอบสวนคนดังกล่าวก็ได้หันไปคุยกับตำรวจคนข้าง ๆ ทำนองว่า “จะส่งฝากขังใช่ไหม เดี๋ยวขอฝากด้วย” โดยไม่ได้ชี้แจงอะไรกับนครซึ่งนั่งอยู่ตรงข้ามเลยแม้แต่น้อย

“เขาไม่หันหน้ามาหาเราเลยนะ เขาไม่บอกเราเลยว่าจะพาไปฝากขังกับศาล หรืออะไร เขาไม่พูดเลย …” นครบอก

ในตอนนั้นนครไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “ฝากขัง” หมายถึงอะไร 

“ตอนนั้นในใจก็เริ่มคิดว่าแล้วว่า เขาพูดถึงเราหรือเปล่า เขาจะขังเราหรือเปล่านะ แต่ตอนนั้นมีผู้ต้องหานั่งรออยู่ด้วยกันหลายคน เราคิดว่าอาจจะเป็นคนอื่นก็ได้ เราจำได้ว่าวันนั้นคนที่นั่งข้าง ๆ เป็นแรงงานพม่า 2 คน ถูกพาตัวมาเพราะทะเลาะวิวาทกันในแคมป์คนงาน อยู่ในสภาพที่ยังไม่สร่างเมาเลยด้วยซ้ำ เราก็เลยคิดว่าน่าจะเป็น 2 คนนี้มากกว่าที่อาจจะถูกขัง ไม่น่าใช่ตัวเอง

“แต่อยู่ ๆ ตำรวจก็มาถ่ายรูปเรา แล้วเขาก็หายไปประมาณ 1 ชั่วโมง ไปพิมพ์เอกสารอะไรต่อก็ไม่รู้ พอเสร็จเขาก็เรียกลงให้เราไปพิมพ์ลายนิ้วมือกับเซ็นเอกสาร ตอนแรกเอกสารนั้นมันเขียนว่า ‘สอบปากคำเสร็จแล้วปล่อยกลับบ้าน’ เราก็เซ็นลงไป แต่พอเขาเอากลับมาอ่านให้ฟังอีกที เขาก็ขีดฆ่าคำว่า ‘ปล่อยตัว’ ทิ้ง แล้วเขียนคำว่า ‘ฝากขัง’ ลงไปแทน   

“จนถึงตอนนั้นตำรวจก็ยังไม่บอกอะไรเราเลยว่าจะเอาเราไปขัง เขาพูดแค่ว่า ‘เดี๋ยวไปศาลนะ’ คิดว่าเขาเลี่ยงที่จะไม่พูดคำว่า ‘ฝากขัง’ 

“ตอนนั้นมันบ่าย 2 เกือบจะบ่าย 3 แล้ว ซึ่งเราจะต้องขึ้นเครื่องตอน 5 โมงเย็น จริง ๆ 4 โมงมันก็ควรจะต้องไปเช็กอินที่สนามบินแล้ว 

“ระหว่างอยู่บนรถตำรวจเพื่อไปศาล ตำรวจก็ยังถามนะว่า ‘จองตั๋วเครื่องบินกลับวันนี้เลยหรือเปล่า’ เราก็บอกว่า ‘ใช่ครับ’ เขาบอกว่า ‘โอ๊ยแล้วมันจะทันเหรอ’ ตอนนั้นเราก็ถามอีกว่า ‘จะพาไปไหน’ ตำรวจบอก ‘จะพาไปศาล’ จนถึงตรงนี้เขาก็ยังไม่บอกเราว่าจะขอฝากขัง ไม่มีเลย … 

“กระทั่งไปถึงศาล ตอนบ่ายสามครึ่ง เขาก็พาเราไปที่ห้องฝากขัง เจ้าหน้าที่ก็มายึดโทรศัพท์ ยึดกระเป๋า ให้ถอดรองเท้า ห้ามเอาอะไรติดตัวเข้าไปเลย ตอนนั้นเราเครียดมาก เพราะจะโทรไปเลื่อนเที่ยวบินก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ได้เลย เพราะโดนยึดโทรศัพท์แล้ว 

นครนั่งอยู่ในห้องฝากขังรอให้ศาลเรียก แต่ก็ไม่ถูกเรียกชื่อสักที เวลาผ่านไปจนราว 5 โมงเย็น เจ้าหน้าที่ได้ให้นครและคนอื่น ๆ ในห้องใส่ตรวนที่เท้าและร้อยโซ่ที่ตรวนแต่ละคนไว้ด้วยกันเพื่อเตรียมพาตัวไปเรือนจำ 

“ตอนที่เราโดนใส่ตรวน มันชาไปตั้งแต่หัวจรดเท้า เราเคยเห็นคนอื่นแต่ในทีวี ในละคร ตอนนั้นเรารู้สึกว่าก็เพราะคนพวกนั้นมันเป็นคนไม่ดีไงก็เลยโดนจับเข้าคุก ก็ถูกแล้ว แต่พอมาเจอกับตัวเอง มันรู้สึกชาไปหมดทั้งตัว หูอื้อ ไม่ได้ยินอะไรเลย

“ตอนนั่งรถไปเรือนจำก็จะมีคนมองเข้ามา ความรู้สึกตอนนั้นแบบ โห!, สายตาคนที่เขามองมามันเหมือนเราไปฆ่าใครตายมา เหมือนเราเป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ มันไม่ใช่อะไรที่ดีเลย มันคือนรกชัดๆ” 

ระหว่างที่รถขับมุ่งหน้าไปเรือนจำสักพักแล้ว อยู่ ๆ เจ้าหน้าที่ศาลก็โทรหาคนขับรถให้ขับวนกลับมาที่ศาลก่อน  เพราะมีนักโทษคนหนึ่งที่ศาลยังไม่ได้ไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ซึ่งก็คือ ‘นคร’ เอง เมื่อกลับไปถึงศาล เจ้าหน้าที่ได้อธิบายถึงรายละเอียดคดีความ และแจ้งว่าจะถูกฝากขังกี่ผัด 

“เราก็ค่อยไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ เพราะมีแต่ศัพท์เฉพาะเยอะมาก ฝากกี่ผัดอะไรยังไง เราก็ไม่เข้าใจหรอก …”

สุดท้ายเจ้าหน้าที่บอกกับนครทำนองว่า “วันนี้ต้องถูกฝากขัง แต่สามารถทำเรื่องขอประกันตัวได้ แต่วันนี้ศาลปิดทำการแล้ว จนกว่าจะมีคนมาประกันตัว ยังไงก็ขอฝากขังก่อนแล้วกัน…” 

นครแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าเขาเป็นคนเชียงราย ไม่มีญาติอยู่ที่กรุงเทพฯ เลยสักคน และไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำเรื่องประกันตัวยังไง ก่อนที่จะพาไปเรือนจำ เจ้าหน้าที่เลยให้เวลานครโทรหาแม่ 

“เราบอกแม่ไปว่าเราถูกฝากขังนะ อยู่เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรปราการ ช่วยมาประกันตัวหนูด้วยนะ” 

4. ประสบการณ์เลวร้ายในเรือนจำ

ตลอดการถูกคุมขัง 10 วัน

เรื่องราวระหว่างการถูกฝากขังอยู่ที่เรือนจำ หลายเรื่องนครยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน เพราะเป็นความทรงจำที่ค่อนข้างเลวร้ายที่เขาไม่อยากที่จะหวนนึกถึง 

วันที่ 1 

นครเริ่มเล่าย้อนตั้งแต่ฉากที่รถผู้ต้องขังขับถึงเรือนจำ ทุกคนถูกพาให้ลงจากรถและเดินเข้าเรือนจำ อย่างแรกทุกคนถูกสั่งให้ถอดของมีค่าออกทั้งหมดและฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ นครถอดสร้อยคอ นาฬิกา และฝากเงินสดเกือบ 9,000 บาท ไว้ 

จากนั้นทุกคนถูกบังคับให้แก้ผ้า เปลือยกาย แล้วเข้าไปอาบน้ำพร้อมกัน ให้เสร็จภายในเวลา 2 นาที ก่อนจะอาบน้ำ เจ้าหน้าที่จะแจกสบู่ให้คนละ 1 ก้อน 

นครบรรยายถึงสถานที่อาบน้ำในตอนนั้นว่า เป็นลานโล่งกว้าง หลังคามุงด้วยแผ่นสังกะสี บนผนังมีท่อน้ำยาวพาดผ่าน บนท่อถูกเจาะเป็นรูเว้นระยะประมาณ 1 วา ให้น้ำไหลออกเพื่อให้ทุกคนอาบได้คล้ายฝักบัว ระหว่างนั้นจะมีเจ้าหน้าที่คอยยืนเฝ้าอยู่ตลอดเวลา เสร็จแล้วก็จะต้องใส่ชุดนักโทษที่เจ้าหน้าที่แจกให้ ทั้ง ๆ ที่ตัวยังเปียกโชกอยู่ โดยไม่มีผ้าให้เช็ดตัวให้แห้งก่อน 

“ชุดนักโทษมันไม่ใช่ชุดที่จะมีเอวรัดอะไรเลย มันเป็นเหมือนกางเกงโสร่ง กางเกงเลที่ต้องมามัดเอง เสื้อก็จะตัวใหญ่ ๆ โคร่ง ๆ แบบโอเวอร์ไซซ์” 

ขั้นตอนต่อไป ทุกคนต้องเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะ จัดทำประวัติ และถูกส่งเข้าไปแดนกักกันโรคตามมาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในช่วงนั้น แต่ระหว่างทางเดินเข้าเรือนจำ ทุกคนถูกบังคับให้แก้ผ้าเปลือยกายอีกครั้ง ณ บริเวณลานกว้างกลางแจ้ง ซึ่งสองฟากที่ขนาบข้างอยู่เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ซึ่งมีผู้ต้องขังอยู่เต็มไปหมด แต่นครและคนอื่น ๆ ต้องจำใจเปลือยเปล่าร่างกาย ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องมาจากหลายร้อยชีวิตรอบ ๆ บริเวณนั้น

“มันเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมาก ๆ คนบนตึกตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงชั้น 3 ทุกคนจะมองเห็นลานกว้างตรงนั้นหมด แล้วเราต้องแก้ผ้าตรงนั้นเพื่อที่จะให้ผู้คุมมาเช็กอีกรอบ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็แก้ผ้ามาแล้วรอบหนึ่ง ตรวจโลหะก็ตรวจมาแล้ว 

“เข้ามาข้างในยังต้องแก้อีกเหรอ เราไม่เข้าใจเลย”

เมื่อผ่านการตรวจร่างกายและขั้นตอนต่าง ๆ จนครบถ้วนแล้ว นครพร้อมกับเพื่อนผู้ต้องขังใหม่ในรอบเดียวกันถูกพาตัวไปคุมขังยังห้องกักกันโรค เป็นห้องขังขนาดใหญ่ ต้องอยู่รวมกับผู้ต้องขังอื่นอีกกว่าร้อยชีวิต 

“ห้องก็เล็ก แล้วยังต้องกั้นเป็นห้องน้ำอีก ฉะนั้นห้องมันจะคับแคบมาก คนแทบจะต้องนอนขี่คอกันอยู่แล้ว ตัวติดตัวเลย” นครเล่าถึงความแออัดในห้องขังนั้น

ในวันแรกนครไม่ได้รับแจกของใช้อะไรเลย นอกจากผ้าห่มแค่ 1 ผืนไว้นอนหนุนหัว 

“น้ำในห้องที่มีอยู่ ถังก็ไม่เคยล้างเลย แก้วดื่มน้ำก็มีให้อยู่ใบเดียว หน้ากากอนามัยก็ไม่มีแจกให้ใส่ ‘การกักกันโรคไม่มีอยู่จริง’ ห้องแคบ อยู่เบียดกันขนาดนั้นมันจะช่วยกักกันโรคไหมล่ะ ถ้ามีคนเป็นโรคระบาดจริงก็คงแพร่ให้คนอื่นติดกันทั้งห้องแล้ว …

“มีผู้ต้องขังคนหนึ่งไม่สบายหนักเลยนะ เขาขอยาพาราฯ กับเจ้าหน้าที่ไป แต่กว่าจะได้ต้องรอถึง 4 วัน แล้วได้มาแค่ ‘เม็ดเดียว’ โชคดีที่เขาไม่เป็นอะไรไปซะก่อน” 

วันที่ 2 

นครถูกย้ายไปห้องขังอีกห้องหนึ่งที่ดูเหมือนว่าจะกว้างกว่าเดิม แต่ก็มีนักโทษที่มากกว่าห้องเดิมด้วย วันนี้เองเขาถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปตัดผมเป็น ‘ทรงมาตรฐาน’ ของนักโทษ เป็นรองทรงสูงคล้ายทรงนักเรียน

“ตอนนั้นเราไม่กล้าส่องกระจกเลย แม้แต่เงาตัวเองยังไม่กล้ามอง เพราะไม่ชอบทรงนั้นเลย คิดมาตลอดว่าถ้าเป็นไปได้จะไม่ทำทรงนั้นอีกเด็ดขาด” 

อาหารการกินของเรือนจำ นครบอกว่าไม่เหมือนกับสิ่งที่สื่อเคยนำเสนอให้สาธารณชนได้รับรู้เลย สื่อหลายสำนักมักจะทำสกู๊ปทำนองพาสำรวจเรือนจำและชื่นชมสวัสดิการอาหารว่าดีมาก ๆ “อยากถามว่ามันไปเรือนจำที่ไหนวะ” นครตั้งคำถามด้วยอารมณ์โมโห เพราะสิ่งที่ได้เจอมากับตัวช่างต่างกับสิ่งที่เคยรับรู้จากหน้าจอข่าวโดยสิ้นเชิง

“อย่างเมนูต้มผัก เขาก็จะเอาผักมาทั้งต้น ทั้ง ‘ราก’ เลย เหมือนกับแค่ล้างผ่านน้ำหยาบ ๆ เพราะรากผักยังมีดินติดอยู่เลย ผักจะถูกสับมาเสิร์ฟมาแบบเละ ๆ มีสุกบ้าง ไม่สุกบ้าง

“ส่วนเนื้อหมูจะเป็นเหมือนหมูสับที่อยู่ในยำ จะมีน้อย ๆ เป็นเหมือนเศษหมูผสมอยู่ในน้ำแกง วันไหนถ้าเป็นเมนูปลาอย่างปลาทู เราก็จะได้เนื้อปลาไม่ถึงซีก จะได้กินแค่ส่วนปลายหางนิดเดียว ส่วนที่เหลือก็คือเป็นก้าง 

“ถามว่าอยู่ตรงข้างในนั้น ‘กินได้ไหม’ เราก็กิน แต่กินแค่มื้อละคำสองคำ 

“กับข้าวมันแย่มาก อย่าใช้คำว่า ‘ไม่อร่อย’ ต้องใช้คำว่า ‘มันเหี้ยมากจริง ๆ’ โอ๊ย! เนี่ยเหรอที่ประชาสัมพันธ์บอกคนข้างนอกว่าชีวิต อาหารการกินของคนในคุกมันดี ‘มันไม่ดี’ เขาสร้างภาพทั้งหมด 

วันที่ 3 

“เจ้าหน้าที่พาเราไปทำประวัติ แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเราเองก็ไม่ได้สติอยู่กับตัวเองเท่าไหร่ นักโทษที่มาช่วยซักประวัติถามอะไรเราก็ตอบไป แต่เขาก็จะชอบตะคอกกลับมาว่า ‘ไม่ได้ยิน’ เราตอบอีกที เขาก็บอกว่าไม่ได้ยินอีก จนเราต้องตะโกนบอกให้เสียงดังกว่าเดิม แล้วเขาก็ด่าเรากลับว่า ‘มึงตะคอกใส่กูเหรอ! มึงรู้ไหมว่ากูเป็นใคร มึงอยากโดนกูซ้อมตายคาตรงนี้ไหม! …ฯลฯ’ 

“ตอนนั้นเราอยู่ชั้น 3 มองออกไปเห็นระเบียงที่อยู่ข้าง ๆ แล้วก็คิดกับตัวเองว่า ‘หรือกูกระโดดตรงนี้ให้ตาย ๆ ไปเลยดี มันจะได้จบ …’ 

แต่นครผ่านวันนั้นมาได้ เพราะได้เพื่อนผู้ต้องขังใกล้ ๆ ช่วยไกล่เกลี่ยไว้ แต่นักโทษที่ทำหน้าที่ช่วยซักประวัติคนดังกล่าวยังพูดจาข่มขู่ทิ้งท้ายอีกในทำนองว่า “มึงอย่าห้าวนะ มึงรู้รึเปล่าว่าในนี้ใครใหญ่” 

“3 – 4 วันแรกเราไม่คุยกับใครเลย ปลอบตัวเองว่ากูกำลังฝันอยู่ เดี๋ยวกูก็ตื่น อยากตื่นแล้ว” 

“ระหว่างนั้นเขาให้เขียนจดหมายไปหาที่บ้าน ตอนแรกก็เขียนไป 1 หน้ากระดาษ บอกแม่ให้มาช่วยประกันตัวหน่อย เพราะก็ไม่รู้ว่ามีใครมาทำเรื่องประกันเราหรือยัง แล้วก็ระบายความทุกข์ใจไปหลายอย่างว่าอยู่ในนี้รู้สึกเหมือนฝันเลย อยากกลับบ้านแล้ว ฯลฯ 

“แต่มันก็มีนักโทษด้วยกันเอาไปอ่าน แล้วก็บอกว่าเขียนเกิน 15 บรรทัดไม่ได้ เขียนว่าอยู่ในนี้ลำบากก็ไม่ได้ 

“เราก็แบบ อ้าว, แล้วต้องเขียนอะไรลงไป

“เพื่อนก็บอกว่า มึงต้องเขียนว่าอยู่ในนี้มีความสุข สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง ฯลฯ 

“นครตอบตัวเองในใจว่า แล้วกูจะเขียนยังไง ก็กูไม่สบาย กูไม่มีความสุข แล้วจะให้กูมาโกหกว่าสบายดีได้ยังไง พอเราเขียนเสร็จก็ยังติดแสตมป์ไม่ได้ เพราะผู้คุมต้องเอาไปอ่านก่อน, เราก็อ๋อ รู้แล้วว่าทำไมมันถึงไม่ให้เราเขียนเรื่องแย่ ๆ ลงไป เพราะแบบนี้นี่เอง …”

‘จดหมายทุกฉบับที่จะออกไปต้องถูกตรวจก่อน’ คือกฎที่ผู้ต้องขังรู้กันดี จดหมายของนครถูกส่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2564 ผ่านบริการไปรษณีย์ไทย อย่างช้าที่สุดอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะถึงปลายทาง แต่จนถึงวันที่ได้ประกันตัวกลับบ้าน จดหมายฉบับนั้นยังไม่ถึงมือแม่ของนครที่เชียงรายเลย 

“คุณให้เราเขียนขอความช่วยเหลือจากคนที่บ้าน แต่กลับไม่ส่งจดหมายมาให้เรา สมมติถ้าเป็นเรื่องฉุกเฉินจริง ๆ ก็คงไม่มีใครรู้เลย …” นครตั้งคำถามถึงการส่งจดหมายที่ล่าช้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะเหตุผลใดกันแน่

ไม่ใช่แค่จดหมายขาออก แต่จดหมาย ‘ขาเข้า’ จำนวนไม่น้อยก็ไม่ถึงมือผู้ต้องขังเช่นกัน อย่างผู้ต้องขังคนหนึ่งที่นครได้พูดคุยได้ ภรรยาของเขาเขียนจดหมายจ่าหน้าซองถึงเรือนจำหลายฉบับมาก แต่ผู้ต้องขังผู้เป็นสามีกลับไม่เคยได้รับเลยแม้แต่ฉบับเดียว ส่วนนครก็เพิ่งมาทราบภายหลังว่าสมาชิกในครอบครัวก็ได้ส่งจดหมายมาหาตั้งแต่วันแรก ๆ ที่ถูกคุมขัง แต่เขาก็ไม่ได้รับเช่นกัน

“เราสังเกตว่าในนั้นไม่มี ‘นาฬิกา’ เลย เคยถามว่าทำไม คนในเรือนจำก็บอกว่า ‘แล้วจะอยากรู้เวลาไปทำไม รู้ไปก็เท่านั้น’ ซึ่งมันก็ถูกของเขานะ รู้ไปมันก็เท่านั้น ทีวีเขาก็ให้ดูแต่หนัง ไม่เปิดข่าวอะไรให้ได้ดูเลย เขาบอกว่า ‘จะอยากรู้เรื่องข้างนอกไปทำไม รู้ไปก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี’ 

“วัน ๆ จะได้ดูแต่หนัง เปิดแต่หนังเรื่องเดิม ๆ วนซ้ำไปมา ไม่รู้ว่าทั้งเรือนจำมีแผ่นหนังอยู่แผ่นเดียวหรือเปล่า บางวันดีหน่อยเขาก็จะเปิดเสียงให้ฟังด้วย บางวันก็จะได้ดูแต่ ‘ภาพ’ ไม่มีเสียง ให้ดูกันอยู่เงียบ ๆ อย่างนั้น แต่พอไม่เปิดเสียงคนก็จะคุยกันเสียงดัง พอเสียงดังเจ้าหน้าที่ก็จะมาทำโทษอีก 

“มันเป็นชีวิตที่เราเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย …” นครพูดด้วยสีหน้าเศร้า ๆ  

“ด้วยความที่เราไม่เคยติดคุกมาก่อน ก็ถามคนข้างในนั้นนะว่า ‘รู้สึกกลัวคุกกันบ้างไหม’ ส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่ได้กลัวคุกกัน แต่กลัวว่าคนข้างนอกจะเป็นห่วงมากกว่า และเป็นห่วงครอบครัว พ่อ แม่ ลูก เมีย ว่าจะอยู่กันยังไง  ในใจเราก็แอบคิดนะว่า ‘แล้วตอนทำทำไมคุณไม่คิดก่อนว่ะ’”

คำถามนี้นครก็ได้รับคำตอบว่า บางคนก็เป็นส่วนหนึ่งจากความผิดพลาดของกระบวนการยุติธรรมเช่นเดียวกันกับการที่เขาถูกคุมขังเป็นเวลา 10 วันในคดีนี้

“มันมีอยู่คนหนึ่งติดคุกคดีฆาตกรรม เขาบอกว่าไม่ได้เป็นคนทำ เพื่อนที่ไปด้วยกันต่างหากที่ทำ แล้วเขาก็เริ่มเล่าว่า เขาไปร่วมปล้นกับเพื่อน ตอนแรกตั้งใจจะปล้นชิงทรัพย์เฉย ๆ แต่ว่าเหยื่อเกิดขัดขืนจนเพื่อนที่ไปด้วยกันพลาดท่าทำให้เหยื่อเสียชีวิต แต่เพื่อนคนนั้นหนีไปได้ สุดท้ายเขาเลยก็ต้องมาติดแค่คุกคนเดียว” 

วันอื่น ๆ หลังจากนั้นยังคงเป็นเหมือนดั่งเคย เขาถูกกักตัวอยู่รวมกับคนอื่น ๆ กลางวันมักจะมีคนเข้าหาเพื่อถามสารพัดคำถามของโลกภายนอก ตกดึกก็ต้องข่มตานอนให้เวลาผ่านไปได้เร็วที่สุด 

5. คำถามเรื่องสถาบันกษัตริย์ฯ

เรือนจำเป็นพื้นที่เสมือนว่าตัดขาดจากโลกภายนอกแล้ว ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ในนั้นแทบจะไม่รู้ความเป็นไปของโลกภายนอกเลย นั่นทำให้ผู้ต้องขังใหม่เป็นเสมือนหนังสือพิมพ์ฉบับล่าสุดของพวกเขา ผู้ต้องขังคนเก่า ๆ มักจะพากันกรูเข้าหาผู้ต้องขังใหม่เสมอเพื่อถามสิ่งที่ตัวเองอยากรู้

“แถว…ยังมีร้าน…อยู่ไหม, ละแวกนั้นเป็นยังไงแล้วบ้าง ฯลฯ”

และคำถามสุดฮิตที่ผู้ต้องขังใหม่มักจะถูกถาม คือ “โดนคดีอะไรมาล่ะ?” 

“คดีมาตรา 112 เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” นครตอบคนอื่น ๆ ในเรือนจำ “คนข้างในเขาก็ถามกันใหญ่เลย เพราะไม่ค่อยมีใครรู้จักคดีแบบนี้” 

พอผู้ต้องขังคนอื่น ๆ รู้ ก็จะถามนครทำนองว่า “อ้าว, ทำไมคนข้างนอกเดี๋ยวนี้เขาไม่รักพระมหากษัตริย์แล้วเหรอ, เขาไม่รักพระเจ้าอยู่หัวแล้วเหรอ, ทำไมถึงไม่อยากมี, ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์แล้วใครจะมาพระราชทานอภัยโทษให้พวกเราล่ะ … ฯลฯ” 

นครมองว่าในหลวงสำคัญกับผู้ต้องขังมากในเรื่องการให้อภัยโทษ ลดจำนวนวันถูกคุมขัง มีโอกาสได้ถูกปล่อยตัวไวขึ้น “ที่เขาอยู่ในนั้นทุก ๆ วัน เขาอยู่ได้เพราะมีความหวังในการรออภัยโทษเพื่อที่จะได้ออกไป เขาไม่ได้หวังว่าจะต้องติดคุกเต็มอัตรา ความหวังของคนคุกที่เฝ้ารออิสรภาพในวันสำคัญต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ 

“ในนั้นไม่มีปฏิทิน ไม่มีนาฬิกา แต่ทุกคนนับเวลากันแม่นมาก รู้หมดว่าเดี๋ยววันไหนเป็นวันเกิดของราชวงศ์คนไหน ทางการน่าจะปล่อยผู้ต้องขังออกไปจำนวนเท่าไหร่ รู้ว่าประเทศมีพระราชินีองค์ใหม่ เกิดวันไหน วันนั้นทางการจะปล่อยคนที่โดนคดีอะไรบ้าง ฯลฯ” 

6. วันสุดท้ายที่เรือนจำ

ไม่อยากแม้แต่จะหันหลังมองกลับไป

หลังถูกคุมขังเข้าสู่วันที่ 10 ในวันที่ 18 เม.ย. 2564 ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนคร จากการยื่นประกันของญาติ ในวันนั้นนครต้องขอข้าวของตัวเองคืนเพื่อเตรียมตัวกลับบ้าน รวมถึงเงินสดที่ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่ ก่อนหน้านี้ จำนวน 8,964 บาท แต่เจ้าหน้าที่คืนกลับมาให้นครเพียง 8,800 บาท ซึ่งนครก็ได้ทักท้วงว่าได้เงินไม่ครบ แต่เขากลับได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ในลักษณะตะคอกเสียงดังทำนองว่า “มึงมาอยู่นี่ มึงจ่ายค่าน้ำค่าไฟไปหรือยัง มึงจ่ายค่ากินค่าใช้ของหลวงหรือยัง มึงจ่ายค่าข้าวหรือยัง มากินมาผลาญงบหลวง! …” 

“เจ้าหน้าที่พูดจาไม่ดี พูดตะคอกเหมือนเรื่องปกติในนั้น ไม่มีหรอกที่จะพูดเสียงเบา ๆ ค่อย ๆ ว่า ‘ไปโดนคดีอะไรมาเหรอครับ ฯลฯ’ มีแต่ตะคอกว่า ‘มึงไปโดนคดีอะไรมา!, แล้วคดีมึงออกทีวีปะ!, คนเหี้ยอย่างมึงติดอีกนานแหละ!’  

“จนวันสุดท้ายที่เรากำลังจะเดินออกไปอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ยังพูดไม่ดีใส่เราว่า ‘เดี๋ยวมึงก็กลับมาอีก’ ตอนเราเดินออกมา เราไม่หันกลับไปมองข้างหลังเลยแม้แต่หางตา มองข้างหน้าอย่างเดียว …” 

7. บาดแผลเลือนราง 

แต่ไม่เคยจางหาย

หลังได้รับการประกันตัวระหว่างชั้นสอบสวนออกมา นครรู้สึกว่าตัวเองมีสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง อันเนื่องมาจากประสบการณ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและถูกโกนผมออกจนสั้นเกรียน ในช่วงแรกเขาแทบไม่กล้าออกไปพบปะหน้าใครนานแรมเดือน 

“เราไม่กล้าไปเจอหน้าคนอื่น เราไม่รู้ว่าคนอื่นเขาจะรู้เรื่องของเราไหม ไม่รู้เลยว่าคนอื่นจะคิดยังไง เขาอาจจะรู้หรือไม่รู้ก็ได้ แต่เราเหมือนคิดกับตัวเองว่าคนอื่นต้องรู้แน่ ๆ เพราะตอนนี้เรามีสภาพแบบนี้ไง เราโดนโกนผมออกหมดเลย …”

ระหว่างถูกคุมขังเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตัดผมนครด้วยการใช้แบตตาเลี่ยนไถทั่วทั้งหัวแบบไว ๆ ผลที่ได้จึงมีลักษณะคล้ายทรงสกรีนเฮดที่สั้นกว่าทรงนักเรียนเสียอีก นครบอกว่าทุกครั้งที่ตื่นมาส่องกระจก มันเหมือนเป็นการตอกย้ำกับตัวเองว่าไปเจอกับอะไรมาบ้าง 

“เหมือนเป็นแผลแล้วเอามือไปกด กดจนเจ็บ พอพรุ่งนี้กดใหม่ กด ๆ ๆ ๆ อยู่อย่างนั้น 

“ทุกครั้งที่ส่องกระจกเหมือนการกดแผลตัวเอง เรารู้ว่าบาดแผลมันไม่หายไปไหนหรอก แต่มันเจ็บจนมันชินไปแล้ว มันต้องออกนอกบ้านได้แล้วแหละ จนเพื่อนพี่ตอนนั้นมันพาไปร้านกาแฟ ไปนั้นไปนี่ คือก็อยู่แบบเพื่อนก็ถามว่ามึงไปเจออะไรมา เล่าให้ได้นะ แต่ถ้าไม่พร้อมเล่าก็ไม่ว่า

“กลายเป็นว่าทุกวันนี้เรากลัวผมทรงนั้นไปเลยนะ พอออกมาเจอคนข้างนอกเขาจะถามว่า ‘ทำไมไปตัดผมทรงนี้มา’ เราก็ไม่รู้ว่าจะตอบเขายังไงดี ช่วงนั้นเรารู้สึกว่าเดินไปไหนก็มีแต่คนมองหน้า มันทำให้เราคิดอยู่ตลอดว่าหรือเพราะเขารู้เรื่องของเรา หรือว่าเขาดูข่าวช่องนั้นว่ะ …”

นั่นทำให้ช่วงแรกหลังได้ปล่อยตัว ช่วงกลางวันนครไม่กล้าออกห้องนอนของตัวเองเลย แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกดินแล้วเขาจึงจะเริ่มออกไปใช้ชีวิต เยียวยาตัวเองกับลมหนาวยามค่ำคืน เสื้อแขนยาวมีหมวกฮูดไว้ปกปิดทรงผมคือเสื้อคู่ใจ จากนั้นนครจะขับรถมอเตอร์ไซต์ออกไปรับลม ตะลอนในเมืองเชียงรายเพื่อผ่อนคลายจิตใจบ้าง จนเวลาเกือบเช้ามืดจึงจะขับรถกลับเข้าบ้าน 

ชีวิตของนครหลังได้รับอิสรภาพเป็นเช่นนี้นานหลายสัปดาห์ กระทั่ง 1 เดือนผ่านไป ผมเริ่มยาวขึ้น สภาพจิตใจของเขาก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเช่นกัน จากนั้นนครถึงได้พยายามออกมาพบปะผู้คนและกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ อย่างไรก็ตาม นครบอกว่าสิ่งเลวร้ายที่ได้ประสบช่วงนั้นยังคงเป็นบาดแผลในใจของเขาจวบจนถึงทุกวันนี้ และยากที่จะลืมเลือน

8. ใครจะรับผิดชอบ?

หลังต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรมเพื่อสู้คดีมานานเกือบ 3 ปี ต้องเผชิญข้อครหา การตีตรา และผลกระทบมากมาย สุดท้ายเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อหาในคดีของนคร โดยให้เหตุผลว่าน้ำหนักหลักฐานพยานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ พิสูจน์ไม่ได้ว่านครเป็นผู้แชร์โพสต์ทั้งสองโพสต์ดังกล่าว

แต่อัยการยังได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา และล่าสุดศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษายืนยกฟ้อง แม้อาจจะยังต้องรอคอยอีกสักช่วงหนึ่ง ว่าอัยการจะยังฎีกาคำพิพากษาอีกหรือไม่ แต่คำพิพากษาของสองศาลก็มีส่วนช่วยยืนยันความบริสุทธิ์ของนคร ทั้งที่กระบวนการยุติธรรม ครอบครัว และคนรอบข้างได้เคยปฏิบัติ เหยียบย่ำ ซ้ำเติมกับเขาตลอดเวลาที่ผ่านมา 

“ต้องถูกคุมขังในเรือนจำนานถึง 10 วัน”

“ความทรงจำอันเลวร้ายที่ไม่อาจลืมได้”

“เรื่องราวและบาดแผลจากการบาดหมางกับครอบครัว”

“ภาพจำ ‘อาชญากร’ ในสายตาคนรอบข้าง”

ความสูญเสียเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ  

X