เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace: CAP), มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Centre Foundation: MAC) และกลุ่มด้วยใจ ยื่นคำร้องเรียน (communication) ต่อกลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดีนักกิจกรรมชาวมุสลิมจากการจัดกิจกรรมมลายูรายาในปี 2565 (Melayu Raya 2022)
โดยองค์กรข้างต้น ได้ส่งคำร้องไปทั้งหมด 6 กลไกพิเศษของ UN ได้แก่
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายและสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on Counter-Terrorism and Human Rights)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก (Special Rapporteur on the Freedom of Opinion and Expression)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม (Special Rapporteur on the Freedom of Peaceful Assembly and of Association)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและทางความคิด (Special Rapporteur on Freedom of Religion or Belief)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องชนกลุ่มน้อย (Special Rapporteur on Minority Issues)
เครดิตภาพจาก Wartani
กิจกรรม “มลายูรายา” คืออะไร? การสร้างพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนมลายู-มุสลิม
ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ เดิมทีในปี 2557 การจัดกิจกรรมการแต่งชุดมลายู ในวันฮารีรายอ (วันเฉลิมฉลองศาสนาอิสลาม) ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนา ได้มีการจัดกันมาก่อนแล้วในกลุ่มเล็กๆ ภายใต้ชื่อกลุ่ม สายบุรีลุคเกอร์ (Saiburi Looker) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ฟื้นฟูการแต่งกายตามวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น รวมถึงเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ และรณรงค์ให้กลุ่มเยาวชนในรุ่นต่อไปได้รับรู้และเข้าใจถึงความเป็นมาในอดีต รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณีที่สวยงามของบรรพบุรุษ
ช่วงเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมนี้จะเน้นสื่อสารการรณรงค์สวมใส่ชุดมลายู-มุสลิม ผ่านช่องทางสื่อในโซเชียลมีเดียเป็นหลัก แม้จะยังไม่เป็นที่นิยมจากคนในพื้นที่มากนัก แต่ก่อให้เกิดความตื่นตัว และกระแสการรับรู้ต่อสาธารณะได้พอสมควร
จนกระทั่งในปี 2559 – 2562 สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace: CAP) เล็งเห็นว่าความเป็นมาและรากเหง้าของประวัติศาสตร์ในอดีต เป็นประเด็นสำคัญบนใจกลางของความขัดแย้งมายาวนาน แต่ในอดีตที่ผ่านมามักจะประสบปัญหากับภาครัฐในเรื่องการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ ดังนั้น การจัดกิจกรรมสนับสนุนในประเด็นทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ในท้องถิ่น จึงเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าและให้ความสำคัญ และจำต้องลดทอนความรู้สึกหวาดระแวงของประชาชนในพื้นที่ต่อภาครัฐ เพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนสามารถแสดงออกได้โดยไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย และรัฐควรที่จะส่งเสริม สนับสนุนและฟื้นฟู อย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐเคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างแท้จริง
หลังจากนั้นทางสมัชชาฯ CAP จึงได้เริ่มจัดกิจกรรม ผ่านการเชิญชวนให้คนในชุมชนร่วมกันรณรงค์ใส่ชุดมลายูในวันเฉลิมฉลองอีฏิลฟิตรี (วันสิ้นสุดช่วงเทศกาลถือศีลอด เดือนรอมฎอน) และอีฏิลอัดฮา (วันริเริ่มประกอบพิธีฮัจญ์) และนัดพบปะตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปและพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างปี 2563 ถึง 2564 ได้เกิดวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) จึงทำให้ทางสมัชชาฯ CAP ไม่สามารถที่จะจัดกิจกรรมได้เช่นเดียวกับปีที่ผ่าน ๆ มา แต่ยังมีการใช้สื่อในโซเชียลมีเดียถ่ายทอดเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายได้เฉพาะอยู่ในที่พักอาศัย
เครดิตภาพจาก Wartani
มลายูรายา 2022 (Melayu Raya 2022)
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 สมัชชาฯ CAP ได้มีการจัดกิจกรรม Melayu Raya 2022 ณ หาดวาสุกรี อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี หลังได้ว่างเว้นการจัดกิจกรรมมาแล้วกว่า 2 ปี ผ่านชื่อโครงการ “ส่งเสริมและฟื้นฟูการแต่งกายชุดมลายูตามวัฒนธรรม จารีต ประเพณีและความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่ชายแดนใต้” และมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ
- เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ฟื้นฟูการแต่งกายตามวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น
- เพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเครือข่ายเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีพื้นที่สาธารณะในการแสดงออกทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์
- เพื่อรณรงค์และหนุนเสริมบรรยากาศกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่
ในช่วงเช้าเป็นกิจกรรมรวมตัวแต่งกายชุดมลายู-มุสลิมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานส่วนมากแล้วเป็นเยาวชน จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมทยอยเดินทางมารวมตัวที่หาดวากสุกรีเมื่อเวลา 14.00 น.
ภายในงานนอกจากมีกิจกรรมรวมกลุ่มในการแต่งกายชุดมลายู-มุสลิมแล้ว ยังมีการโบกธงประจำหมู่บ้าน การแสดงสัญลักษณ์ “Save Palestine” การละหมาดอัซรี และการแสดงบนเวที เช่น การกล่าวสุนทรพจน์ และร้องเพลงบนเวที ซึ่งเป็นกิจกรรมในเชิงสันทนาการ และเพื่อความสนุกสนานให้กับผู้มาร่วมงาน ทั้งนี้กิจกรรมเป็นไปในลักษณะของการรวมกลุ่มโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ และมีจุดประสงค์เพื่อแสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมมลายู-มุสลิมเท่านั้น
(ซ้าย) ภาพภายในงานมลายูรายา 2022 (Melayu Raya 2022) ได้มีการแสดงธงสัญลักษณ์ “Save Palestine”
(ขวา) ภาพกิจกรรมการละเล่นดนตรีและร้องเพลงภาษามลายูของกลุ่มเยาวชนและผู้เข้าร่วมกิจกรรม
เครดิตภาพจาก The Motive
(ซ้าย) การแสดงธงสัญลักษณ์ประจำหมู่บ้านของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
เครดิตภาพจาก The Motive
พิธีละหมาดริมหาดวาสุกรี จ.ปัตตานี
เครดิตภาพจาก The Motive
ก่อนที่จะมีการจัดกิจกรรม Melayu Raya 2022 ทางสมัชชาฯ CAP ได้แจ้งและได้มีการจัดการประชุมปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ไม่ว่าฝ่ายความมั่นคงอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 สน.) รวมถึงหน่วยงานเทศบาลตำบลตะลุบัน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลในพื้นที่
หลังจากการจัดกิจกรรมในวันที่ 4 พ.ค. 2565 ทางสื่อบางสำนักได้นำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดงานของสมัชชาฯ CAP เป็นการปลุกระดมจากกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน และมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงพลังในการต่อต้านรัฐ สืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว จึงมีการร้องเรียนต่อคณะกรรมมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร และมีการประชุมเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 15 ก.ย. 2565 โดยมีบรรดาตัวแทนกลุ่มกิจกรรมร่วมพูดคุยหาทางออก เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมในปีถัด ๆ ไป และชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานด้านวัฒนธรรมและความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น
เครดิตภาพ Wartani
การดำเนินคดีกับผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมมลายูรายา 2022 ภายใต้มาตรา 116
ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค. 2566 ผู้จัดงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม Melayu Raya 2022 จำนวน 9 คน ได้รับหมายเรียกจากตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ม.ค. 2567 โดยหมายเรียกทั้ง 9 ได้ระบุข้อหาตามมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) มาตรา 209 (อั้งยี่) และมาตรา 210 (ซ่องโจร) แห่งประมวลกฎหมายอาญา
วันที่ 9 ม.ค. 2567 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 พร้อมทนายความ ญาติ ผู้สังเกตการณ์ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตำรวจภูธรปัตตานี ซึ่งใช้สถานีตำรวจภูธรสายบุรี จังหวัดปัตตานีเป็นสถานที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) มาตรา 209 (อั้งยี่) และมาตรา 210 (ซ่องโจร) แห่งประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งนี้ หลังรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ได้ให้การปฏิเสธ ต่อมาได้ส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมเอกสารประกอบให้กับพนักงานสอบสวนในวันที่ 12 มี.ค. 2567
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนระบุกล่าวหาว่า “ผู้ต้องหากับพวกได้มีการกล่าวถ้อยคำบนเวทีอันมีลักษณะยุยงปลุกปั่นและปลุกระดมว่ามีศัตรูมาทำลายชาติมลายูปาตานี ทำให้เสียเอกราช เยาวชนต้องรวมตัวกันทำให้หมดไปซึ่งการถูกกดขี่ข่มเหง การกล่าวถ้อยคำว่าวันรายอที่ 3 เป็นวันเยาวชนแห่งชาติปาตานี กิจกรรมร้องเพลงปลุกใจมีเนื้อหาทำนองให้เยาวชนร่วมกันปฏิวัติกอบกู้เอกราชปาตานี”
เครดิตภาพจาก The Motive
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 9 นั้นถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการกระทำที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของพื้นที่ปาตานีของมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิและฮาซัน ยามะดีบุ การให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อพระเจ้าในฐานะชาวมลายู-มุสลิมที่นำโดยอานัส ดือเระ หรือแม้กระทั่งร้องเพลงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ปาตานีที่นำร้องโดยซูกิปลี กาแม
คำร้องที่ส่งไปที่กลไกพิเศษ UN ได้ตั้งข้อสังเกตว่า บางคำถามที่พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนมีความไม่ชัดเจนว่ามีเกี่ยวข้องกับคดีหรือฐานความผิดในคดีนี้อย่างไร เช่น
- มีการติดธงชาติไทยในงานมลายูรายา 2022 หรือไม่
- ก่อนเริ่มงานมีการร้องเพลงชาติไทยหรือเพลงที่สื่อถึงความรักชาติไทยหรือไม่
- ผู้ต้องหาทราบหรือไม่ว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แบ่งแยกไม่ได้ ผู้ต้องหามีความคิดเห็นอย่างไร
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมผู้ต้องหาต่อพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี และมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน และพนักงานอัยการจึงนัดให้จำเลยไปรายงานตัวในวันที่ 28 ส.ค. 2567
ภาพการประชุมคณะกรรมการทหาร เครดิตภาพจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ข้อเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนไทยต่อกลไกพิเศษ UN
ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ,มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และกลุ่มด้วยใจ เห็นว่าการดำเนินคดีต่อบุคคลดังกล่าวนั้น เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนม และเสรีภาพทางศาสนาเพื่อให้มีการตรวจสอบโดยกลไกระหว่างประเทศ จึงส่งคำร้องเรียน เพื่อให้รัฐบาลไทยคำนึงและทบทวนตามข้อเรียกร้อง ดังนี้
- ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลทั้ง 9 และ/หรือให้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
- ให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 116 ต่อบุคคลที่ใช้สิทธิทางวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 18 และ 27 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วนสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR
- ให้รัฐบาลไทยมีการจัดการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และนำเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำความผิดมาเข้ากระบวนการยุติธรรม
- เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณายกเลิกการบังคับใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกฎหมายพิเศษดังกล่าวได้ถูกบังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วกว่า 20 ปีสำหรับพ.ร.บ.กฎอัยการศึก และกว่า 19 ปีสำหรับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
- เรียกร้องให้รัฐบาลไทย รวมถึงทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรม คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 19 ของ ICCPR
รู้จักการใช้กลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (UN Special Procedures)
กลไกพิเศษเป็นกลไกที่ใช้ง่ายและรวดเร็วที่สุดรูปแบบหนึ่งที่ผู้ร้องเรียนซึ่งต้องการความเร่งด่วนในการขอความช่วยเหลือต่อสหประชาชาติจะสามารถทำได้ทันที คือการส่งคำร้องดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอิสระ (Independent Experts) ของ UN ในด้านต่าง ๆ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนได้แต่งตั้งเข้ามาผ่านการเสนอชื่อจากคณะทำงานของสหประชาชาติที่เฟ้นหาตัวผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศ พวกเขาเหล่านี้จะทำงานโดยเป็นอิสระจาก UN กล่าวคือ สหประชาชาติจะไม่สามารถควบคุมประเด็นการสื่อสารของผู้รายงานพิเศษได้
กลไกพิเศษ (UN Special Procedures) เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ หรือในรายประเด็น โดยบุคคลหรือคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน กลไกพิเศษเหล่านี้ มีทั้งในรูปของผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) หรือคณะทำงาน (Working Group) ที่จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่าง ๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ทั้งยังจะมีการเผยแพร่หนังสือของผู้รายงานพิเศษหรือคณะทำงาน และคำชี้แจงของรัฐต่อสาธารณะ ในเว็บไซต์ของสหประชาชาติอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม:
กระบวนการส่งคำร้องให้กลไกพิเศษ UN
ตร.สอบเพิ่มเติม 4 นักกิจกรรม คดีทหารกล่าวหา ม.116 เหตุอ่านประกาศคณะราษฎร ในกิจกรรมแห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย