อัยการสั่งฟ้องคดี ม.116 ของ 9 นักกิจกรรมชาวมลายูจากการจัดกิจกรรมมลายูรายา 2022 จ. ปัตตานี

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2568 ที่ศาลจังหวัดปัตตานี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 มีคำสั่งฟ้องคดีของเก้านักกิจกรรมชาวมลายูในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) มาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 210 (ซ่องโจร) และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีจัดกิจกรรมมลายูรายาที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 10,000 คน เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2565 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี และนัดตรวจพยานหลักฐานและคุ้มครองสิทธิวันที่ 26 ก.พ. 2568

คดีนี้มี กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งผู้แทนเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี โดยอ้างว่านักกิจกรรมชาวมลายูทั้ง 9 คน ได้กระทำการยุยงปลุกปั่น ใช้ถ้อยคำเพื่อปลุกระดมให้กลุ่มเยาวชนต่อต้านรัฐไทยในงานมลายูรายา 2022 จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี

วันที่ 14 ธ.ค. 2566 หรือระยะเวลามากกว่า 1 ปี 6 เดือนหลังวันงาน ผู้จัดงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม Melayu Raya 2022 จำนวน 9 คน ได้รับหมายเรียกจากตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 9 ม.ค. 2567 ซึ่งในวันดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 พร้อมทนายความ ญาติ ผู้สังเกตการณ์ รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม เดินทางไปที่ สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2567 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมผู้ต้องหาต่อพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี และมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 9 คน

วันที่ 23 ม.ค. นักกิจกรรมชาวมลายูทั้ง 9 คน ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดปัตตานี โดยมีพี่น้องชาวมลายูได้เดินทางมาให้กำลังใจ มีการถือป้ายพร้อมข้อความ “#Melayu #Anti-SLAPPs Raya” “WE WANT FREEDOM OF EXPRESSION” 


คำฟ้องของพนักงานอัยการมีเนื้อหาโดยสรุปว่า นักกิจกรรมชาวมลายูทั้ง 9 คน เป็นสมาชิกของ “ขบวนการกู้ชาติรัฐปาตานี” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต้องการแบ่งแยกประเทศไทย กล่าวคือ แบ่งแยกจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลาออกจากราชอาณาจักรไทย

คำฟ้องอ้างว่า ในงาน Melayu Raya นักกิจกรรมทั้ง 9 คนได้มีการปราศรัย กล่าวสุนทรพจน์ ร้องเพลงภาษามลายูบนเวที ฯลฯ เพื่อยุยงปลุกปั่นผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้รู้สึกเกลียดชังรัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่รัฐ และสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน อันเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต และไม่ใช่เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

ต่อมา ศาลจังหวัดปัตตานีได้รับฟ้องไว้ และอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างพิจารณาคดี โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 70,000 บาท รวมทั้งหมด 630,000 บาท โดยใช้เงินกองทุนประชาชน Keadilan Patani จำนวน 350,000 บาท และกองทุนราษฎร จำนวน 280,000 บาท

ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานและคุ้มครองสิทธิวันที่ 26 ก.พ. 2568

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace: CAP), มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Centre Foundation: MAC) และกลุ่มด้วยใจ ยื่นคำร้องเรียน (communication) ต่อกลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures  เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดีนักกิจกรรมชาวมลายูจากการจัดกิจกรรมมลายูรายาในปี 2565 (Melayu Raya 2022)

ในคำร้องดังกล่าวมีข้อเรียกร้องต่อคดีมลายูรายา 2022 และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภาคใต้ดังนี้

  1. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลทั้ง 9 และ/หรือให้พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
  2. ให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 116 ต่อบุคคลที่ใช้สิทธิทางวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 18 และ 27 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วนสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR
  3. ให้รัฐบาลไทยมีการจัดการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม และนำเจ้าหน้าที่ที่ได้กระทำความผิดมาเข้ากระบวนการยุติธรรม
  4. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพิจารณายกเลิกการบังคับใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกฎหมายพิเศษดังกล่าวได้ถูกบังคับใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้วกว่า 20 ปีสำหรับพ.ร.บ.กฎอัยการศึก และกว่า 19 ปีสำหรับพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  5. เรียกร้องให้รัฐบาลไทย รวมถึงทุกภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรม คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อ 19 ของ ICCPR


Cr. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสืบเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ในการประชุมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผู้ถูกดำเนินคดีจากการจัดงานมลายูรายา 2022 ในนามของสมัชชาฯ CAP ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุยชนไว้ด้วย ซึ่งนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์  พลเพชร  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเรื่องร้องเรียน

ต่อมาวันที่ 17 ม.ค. 2568 นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. เห็นว่ากิจกรรมมลายูรายา 2022 “เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่แสดงความเห็นต่อสาธารณะ มีการขออนุญาตจัดงานและไม่ปรากฏว่าการจัดกิจกรรมมีการใช้กำลังหรืออาวุธ ยุยงปลุกปั่น หรือมีลักษณะเป็นการปกปิดข้อมูลแต่อย่างใด แต่หน่วยงานของรัฐกลับดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมจำนวน 9 คนที่ร่วมการชุมนุม ซึ่งต่อมาไม่พบว่า มีการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระในการต่อสู้คดีมากกว่า 2 ปี”

ด้วมเหตุผลดังกล่าว กสม. จึงมีมติข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการสรุปได้ ดังนี้

“(1) ให้ตำรวจภูธรภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินคดีในส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการติดต่อสื่อสาร”

“(2) ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ตำรวจภูธรภาค 9 และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน แนวทางสันติวิธี แนวคิดด้านพหุวัฒนธรรม และการแสดงอัตลักษณ์ของชาวมุสลิม รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

“(3) ให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และตำรวจภูธรภาค 9 อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะเป็นสถานที่ชุมนุม รวมถึงกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ว่าต้องไม่ขัดขวางหรือรบกวนการชุมนุมที่เป็นไปอย่างสงบโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้ให้ทั้งสองหน่วยงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ใช้แนวทางสันติวิธีในการปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้วิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่ถูกวิจารณ์หรือกล่าวหาเป็นวิธีการแรก และใช้มาตรการในการดำเนินคดีเป็นวิธีการสุดท้าย ตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562”

“(4) ให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังเหตุการณ์ ประสานงานเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน อำนวยความสะดวกและเปิดพื้นที่ให้ประชาชนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกได้อย่างสันติในที่สาธารณะและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ และติดตามให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรม”

“(5) ให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเร่งลดจำนวนพื้นที่ความมั่นคงที่ไม่ปรากฏเหตุการณ์ความรุนแรง และควรใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบังคับแทนกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และให้กำหนดนโยบายระดับชาติในการกำกับการบริหารงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยเน้นการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย และการปรึกษาสาธารณะของประชาชน”

“(6) ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพิจารณาเร่งรัดการตรากฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรการเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Anti-SLAPP Law) เพื่อใช้เป็นมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

X