นักปกป้องสิทธิชาวมลายูเดินสาย กทม. ให้ข้อมูลสิทธิในการแสดงออกในพื้นที่ชายแดนใต้ และกระบวนการสันติภาพ

เมื่อวันที่ 19 และ 20 ก.พ. 2568 ผู้แทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เดินทางไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สถานทูตสวิสเซอร์แลนด์ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสะท้อนประเด็นปัญหาในมิติต่าง ๆ ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมโดยสงบ 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้ข้อมูลในประเด็นเรื่อง การดำเนินคดีทางการเมือง และผู้ต้องขังทางการเมือง พร้อมทั้ง ภาคประชาสังคมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าร่วมเข้าร่วมให้ข้อมูล สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ อาทิเช่น เรื่องการดำเนินคดีปิดปาก (SLAPP) ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนในพื้นที่ รวมไปถึงประเด็นการเจรจาสันติภาพ (Peace Process)

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2568 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคมอื่น ๆ อาทิ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) กลุ่มด้วยใจ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และกลุ่มเดอะ ปาตานี (The Patani)   ได้เดินทางไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เพื่อเข้าร่วมพูดคุยกับ Dr. Morris Tidball-Binz ผู้รายงานพิเศษด้านการสังหารนอกกฎหมายตามอำเภอใจ (UN Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions) ซึ่งได้เดินทางมายังประเทศไทยในระหว่างการเข้าร่วมในความร่วมมือทางวิชาการ 

ในการนี้ บรรดาตัวแทนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สะท้อนถึงประเด็นการวิสามัญ การบังคับสูญหาย ของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง รวมไปถึงการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนในพื้นที่ จากการรายงานสถานการณ์การสังหารนอกระบบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น กรณีการดำเนินคดีต่ออาร์ฟาน วัฒนะ ในข้อหาขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสะท้อนถึงประเด็นปัญหาของการชันสูตรพลิกศพและกระบวนการการไต่สวนการตายที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในโอกาสเดียวกัน ผู้แทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้นำเสนอข้อมูลจากกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร ในระหว่างการควบคุมตัวของราชฑัณฑ์ ที่ยังปรากฏถึงความคลุมเครือในกรณีดังกล่าว รวมถึงการเลื่อนไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2568 ซึ่งผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ทั้งนี้ หลังจากมีการส่งหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทยแล้ว กลับยังไม่พบการตอบรับจากรัฐบาลไทย

ต่อมาในวันที่ 20 ก.พ. 2568 ผู้แทนจากภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้เดินทางไปยังสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และสถานทูตอื่น ๆ ได้เข้าร่วมรับฟังในประเด็นต่าง ๆ อันประกอบไปด้วย

  1. สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชนสืบเนื่องจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
  2. สถานการณ์ทางสิทธิการเมืองและความคืบหน้าในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
  3. สถานการณ์การคุกคาม การดำเนินคดีต่อประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ การให้รายละเอียดข้อมูลดังกล่าว เป็นการรายงานสถานการณ์อันเป็นผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นหลังจากการเดินทางมาให้ข้อมูลแก่ทางบรรดาผู้แทนสถานทูต เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2568

นอกจากนั้นแล้ว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเข้าร่วมปรึกษาหารือแนวทางในการเข้ามามีส่วนร่วมของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน การคุกคาม และการดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษา นักกิจกรรม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

โดยก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวมลายูมุสลิมจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้สอบถามถึงความคืบหน้าของการทำรายงานทางด้านสิทธิมนุษยชน ในกรณีมลายูรายา 2022 (Melayu Raya 2022) รวมไปถึงกรณีเสวนาวิชาการเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Right to self-determination) และการทำประชามติจำลอง ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการเข้าร่วมหารือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567

ทั้งนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีการชี้แจงการตรวจสอบในกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2568 อีกทั้ง จะมีการเผยแพร่รายงานทางด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นดังกล่าวในลำดับขั้นตอนถัดไป

ในวาระเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้สอบถามความคืบหน้าจากการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในกรณีกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้รับการตอบรับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 ม.ค 2568

X