ผู้รายงานพิเศษ UN ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยเพื่อแสดงความกังวลต่อการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ผู้รายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถึงรัฐไทย สืบเนื่องมาจากกรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ผู้ต้องขังทางการเมืองคดีมาตรา 112ในระหว่างการควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยผู้รายงานพิเศษได้แสดงความกังวลอย่างมาก (grave concern) ในหนังสือถึงรัฐไทย และเรียกร้องให้รัฐไทยทำการสอบสวนการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ตามหลักสากล และยุติการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 กับนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เห็นต่างทางการเมือง

อีกทั้งได้เผยแพร่ความคิดเห็นของผู้รายงานพิเศษจากองค์การสหประชาชาติ ผ่านทางเว็บไซต์ของผู้รายงานพิเศษเรื่องสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนส่งคำร้องไปยังผู้รายงานพิเศษฯ ของ UN

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ส่งคำร้องเรียน (communication) กรณีการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ในระหว่างการควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ไปยังผู้รายงานพิเศษฯ หลายด้าน ตามกลไกพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่

  1. ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก (Special Rapporteur on Freedom of Opinion and Expression)
  2. ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม (Special Rapporteur on Freedom of Peaceful Assembly and of Association)
  3. ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders)  
  4. ผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับการสังหารโดยมิชอบหรือโดยพลการ (Special Rapporteur on Extrajudicial, Summary or Arbitrary Executions)

โดยภายในคำร้องเรียนได้ระบุถึงรายละเอียดว่า “บุ้ง” เนติพร  เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ในระหว่างถูกควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์ ระหว่างที่ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ สืบเนื่องมาจากกรณีศาลอาญากรุงเทพใต้ออกคำสั่งเพิกถอนประกัน“บุ้ง” เนติพร เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 โดยอ้างเหตุเข้าร่วมชุมนุมและพ่นสีหน้ากระทรวงวัฒนธรรม เรียกร้องให้ถอดเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สว. ออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566

ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้  “บุ้ง” เนติพร ถูกดำเนินคดีกว่า 7 คดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งรวมไปถึงคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ และกรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน 

นับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2567 ถึง 14 พ.ค. 2567 “บุ้ง” เนติพรถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลากว่า 110 วัน โดยเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2567 “บุ้ง” เนติพร ได้ปฏิบัติการอดอาหารและน้ำ เพื่อประท้วง โดยมี 2 ข้อเรียกร้อง คือ (1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (2) จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก และได้ยุติการอดอาหารประท้วงช่วงเดือนเมษายน ซึ่งได้ทำการอดอาหารประท้วงเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 65 วัน โดยในระหว่างนั้น “บุ้ง” เนติพร และได้ถูกนำตัวไปรักษาอยู่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จนกระทั่ง “บุ้ง” เนติพร เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการตายของ “บุ้ง” เนติพร ยังไม่ปรากฏอย่างชัดเจน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงได้มีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มที่และเป็นอิสระเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกักขังโดยพลการและการเสียชีวิตของ“บุ้ง” เนติพร ตามมาตรา 148 และ 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนทำให้“บุ้ง” เนติพรเสียชีวิตต้องรับผิดชอบ
  2. เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาลไทยรับรองว่านักโทษและผู้ต้องขังทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ที่เพียงพอ
  3. เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาลไทยได้ทำการเยียวยา รวมไปถึงการชดเชยอื่น ๆ แก่ครอบครัวของ“บุ้ง” เนติพรเนื่องจากการเสียชีวิตของเธอ
  4. เรียกร้องทุกหน่วยงานของรัฐบาลไทยให้เคารพ คุ้มครอง และปฏิบัติตามสิทธิในการประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในความผิดใดๆ โดยคำพิพากษาถึงที่สุด และให้ยุติการใช้การเพิกถอนประกันเป็นเครื่องมือไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
  5. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการจับกุม การดำเนินคดี และการคุมขังภายใต้มาตรา 112 ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และบุคคลอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างชอบธรรมตามข้อ 19 ของ ICCPR โดยผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มีมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย
  6. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายของรัฐบาลไทย รวมทั้งฝ่ายตุลาการ เคารพและตีความกฎหมายของไทยในลักษณะที่รับรองความสอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศภายใต้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะภายใต้ ICCPR ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และหลักการพื้นฐานที่ระบุไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองในระดับสากล (ปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน)
  7. เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนและแก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกโทษทางอาญาและป้องกันไม่ให้ใครก็ตามสามารถยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ต่อบุคคลอื่นได้

ผู้รายงานพิเศษฯ แสดงความกังวลต่อการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของ “บุ้ง” เนติพร

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2567 ผู้รายงานพิเศษฯ ทั้ง 4 อาณัติได้ส่งหนังสือไปยังรัฐบาลไทย และแสดงถึงความกังวลต่อการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของ “บุ้ง” เนติพร พร้อมทั้งเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) ที่มุ่งเป้าไปยังนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และประชาชนผู้เห็นต่าง อีกทั้งยังเรียกร้องให้การชันสูตรพลิกศพ รวมไปถึงขั้นตอนการสืบสวนใด ๆ อันเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ “บุ้ง” เนติพร ได้รับการปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ UN ยังได้ย้ำเตือนรัฐบาลไทยถึงรายงานของผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับการสังหารโดยมิชอบหรือโดยพลการในประเด็นการเสียชีวิตในเรือนจำ (A/HRC/53/29) กล่าวคือ

สุดท้าย ผู้รายงานพิเศษฯ หลายด้านและได้มีข้อร้องเรียนต่อรัฐบาลไทยให้ตอบกลับในประเด็นดังกล่าวต่อไปนี้ภายในระยะเวลา 60 วัน

  1. โปรดให้ข้อมูลเพิ่มเติม และ/หรือ ความคิดเห็นที่มี เกี่ยวกับข้อกล่าวหาข้างต้น
  2. โปรดอธิบายพื้นฐานข้อเท็จจริงและทางกฎหมาย (factual and legal basis) สำหรับการดำเนินคดีในฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์และยุยงปลุกปั่นต่อ“บุ้ง” เนติพร
  3. โปรดให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของการสอบสวนหรือการสืบสวนใดๆ ที่กำลังดำเนินอยู่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ“บุ้ง” เนติพรและการปฏิบัติตามพิธีสารมินนิโซตา หากไม่มีการสอบสวนหรือการสืบสวนดังกล่าว โปรดอธิบายสาเหตุ

หลังจากระยะเวลาผ่านไปกว่า 60 วันนับจากผู้รายงานพิเศษฯ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนไปยังรัฐบาลไทย กลับไม่ปรากฏถึงการตอบรับทราบ (acknowledge) รวมไปถึงการให้ข้อมูลสำหรับหนังสือร้องเรียนที่ AL THA 8/2024 อันเกี่ยวเนื่องกับข้อมูลการชันสูตรพลิกศพในกรณีการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร ในขณะที่ถูกควบคุมตัวภายใต้การรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ 

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาก่อนที่ประเทศไทยจะได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวาระรอบปี 2568-2570 ที่ได้มีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญา ในการ “ดำเนินการพัฒนาและแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และระเบียบให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และรับประกันประสิทธิภาพของการดำเนินการภายในประเทศ” และ “สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และกลไกสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยไม่เลือกปฏิบัติ”โดยคำมั่นสัญญาทั้งหมดของรัฐไทย สามารถอ่านได้ที่นี่

X