เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2567 ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) หลังจากการเลือกตั้งสำหรับวาระ 2568-2570 โดยประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้รับเลือกด้วย ได้แก่ ไซปรัส เกาหลีใต้ กาตาร์ และหมู่เกาะมาร์แชล ประเทศไทยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิก HRC ตั้งแต่ ม.ค. 2568
แต่การมีที่นั่งในคณะมนตรีฯ มีความสำคัญอย่างไร? และทำไมประเทศไทยถึงเคยแพ้การเลือกตั้งในอดีต? บทความนี้จะอธิบายความสำคัญของการที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก HRC และเหตุผลที่เราทุกคนควรให้ความสนใจประเด็นนี้

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคืออะไร?
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2549 โดยมีภารกิจในการ “ส่งเสริมความเคารพต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม” หน้าที่ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ยังรวมถึง “การจัดการกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการละเมิดที่ร้ายแรงและเป็นระบบ และออกข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว” นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ จำต้อง “ส่งเสริมการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐ และติดตามเป้าหมายและคำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการประชุมและการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติ” สมาชิกที่ได้รับเลือกจะต้องยึดถือ “มาตรฐานสูงสุด” ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (UNGA Res. 60/251)
การเกิดขึ้นของ HRC เกิดจากการที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เป็นองค์กรก่อนหน้า ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการที่คณะกรรมาธิการฯ มีผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในนั้นด้วย หลังจากการยุบคณะกรรมาธิการฯ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ก่อตั้ง HRC ขึ้น พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและจัดการกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนบนโลก
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ จะจัดประชุมอย่างน้อยปีละสามครั้ง เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนบนโลก และจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อแนะนำวิธีการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศเพื่อขยายกรอบสิทธิมนุษยชน
การเลือกตั้ง HRC มีขั้นตอนอะไรบ้าง?
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ประกอบด้วยสมาชิก 47 ประเทศที่ได้รับเลือกโดยผ่านการลงคะแนนลับของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เก้าอี้ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯจะแบ่งตามกลุ่มภูมิภาคห้ากลุ่ม เพื่อให้มีการแบ่งเก้าอี้อย่างเป็นธรรม:
- ประเทศในแอฟริกา (13)
- ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (13)
- ประเทศในยุโรปตะวันออก (6)
- ประเทศในลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (8)
- ประเทศในยุโรปตะวันตกและอื่น ๆ (7)
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย
เพื่อให้ได้ที่นั่งใน UNHRC แต่ละประเทศต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากการลงคะแนนในกลุ่มภูมิภาค หากมีประเทศลงสมัครรับเลือกตั้งมากกว่าจำนวนเก้าอี้ที่ว่างอยู่ ณ ขณะนั้น ประเทศแคนดิเดตที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก และมีคะแนนเสียงสูงสุดจะได้รับเลือก
ในปีนี้ ประเทศที่แข่งกับประเทศไทยมี ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ไซปรัส หมู่เกาะมาร์แชล และเกาหลีใต้ โดยซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้รับที่นั่ง แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (97) แต่กลับได้รับการสนับสนุนน้อยที่สุด (117) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สมัครคนอื่น ๆ
ในการลงคะแนนเสียงให้กับประเทศแคนดิเดตที่สมัครรับเลือกตั้ง ประเทศสมาชิกจะต้องพิจารณาถึง
(1) คุณูปการของผู้สมัครในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และ
(2) คำมั่นสัญญา (pledges) ของผู้สมัคร
ในการเสนอชื่อลงชิงเก้าอี้ HRC วาระปี 2568-2570 ประเทศไทยได้อ้างถึงความสำเร็จภายในประเทศ เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างเท่าเทียม และการนำแบบเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปัญหาเกี่ยวกับมลพิษ
ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาอะไรกับประชาคมระหว่างประเทศก่อนการเลือกตั้ง?
ประเทศไทยได้ส่งคำมั่นสัญญาหลายประการ ซึ่งประกอบด้วยคำมั่นสัญญาในระดับประเทศติ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศ
ในระดับประเทศ ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะ:
- “ดำเนินการพัฒนาและแก้ไขกฎหมาย นโยบาย และระเบียบให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี และรับประกันประสิทธิภาพของการดำเนินการภายในประเทศ”
- “นำข้อเสนอแนะที่ได้รับจากคณะกรรมการตามสนธิสัญญา กลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยรับรองระหว่างกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) มาพิจารณาในการจัดทำนโยบายและกฎหมาย”
- “ส่งเสริมการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ รวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้มีการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ”
ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศไทยได้สัญญาว่าจะสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ อีกด้วย:
- “สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และกลไกสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน โดยไม่เลือกปฏิบัติ”
- “สนับสนุนการไม่ทำให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นทางการเมือง และทำงานเพื่อเสริมบทบาทของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในฐานะเวทีสำหรับการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ และส่งเสริมบทบาทที่ก้าวหน้าของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในการป้องกันการละเมิดและการทำร้ายสิทธิมนุษยชน”
- “มีส่วนร่วมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพของกระบวนการพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ และนำข้อเสนอแนะของพวกเขามาปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก”
คำมั่นสัญญาทั้งหมดของรัฐไทย สามารถอ่านได้ที่นี้
ประเทศไทยมีส่วนร่วมกับการทำงานของ HRC อย่างไร?
เมื่อพูดถึงคำมั่นสัญญาของประเทศไทยในการสนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ สิ่งสำคัญคือต้องดูว่า “การทำงาน” นี้มีเนื้อหาอย่างไร คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มีหน่วยงานย่อยหลายหน่วยงาน กลไกผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มทำงานที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภารกิจโดยรวมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน บทบาท หลักการ เป้าหมาย และวิธีการของหน่วยงานหลักและกลไกเหล่านี้ได้ถูกกำหนดไว้ในมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ 5/1
กลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ คือกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review – UPR) ซึ่งประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะถูกตรวจสอบโดยเพื่อนสมาชิกอื่นๆ เกี่ยวกับประวัติด้านสิทธิมนุษยชนทุก ๆ 4 ปีครึ่ง ประเทศไทยได้เข้าร่วมในรอบการตรวจสอบ UPR แล้วทั้งหมดสามครั้ง (ในปี 2554, 2559, และ 2564) โดยรอบที่สี่จะมีกำหนดในปี 2569
ในกระบวนการ UPR ประเทศไทยได้รับข้อเสนอแนะมากมายจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ ให้แก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และรับประกันสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ข้อเสนอแนะในการแก้ไขมาตรา 112 ทั้งหมดถูก “บันทึก” แต่ไม่ได้รับการ “สนับสนุน” โดยประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมักจะอ้างถึง “การสนับสนุนหลักการในการรักษาสมดุลในการใช้สิทธิของบุคคลโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ และสาธารณสุข”
นอกจาก UPR แล้ว คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ยังมีการจัดตั้งกลไกพิเศษ (Special Procedures) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่รายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้านและเฉพาะประเทศ กระบวนการพิเศษเหล่านี้อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะราย (เช่น ผู้รายงานพิเศษ) หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (เช่น คณะทำงาน) ก็เป็นได้ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ
ในปัจจุบันคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มี หน่วยงานเฉพาะด้านที่ทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานอยู่ 46 หน่วยงาน โดยมีหน้าดูดูแลประเด็นสิทธิมนุษยชนอยู่หลายประเด็นด้วยกัน เช่น เสรีภาพในการแสดงออก ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ
หนึ่งในหน่วยงานเหล่านี้คือคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญห้าคนที่ตรวจสอบกรณีการถูกจำกัดเสรีภาพที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2555 WGAD ได้ออกความเห็นทั้งหมด 10 ครั้งให้แก่ประเทศไทย เพื่อที่จะให้รัฐบาลจัดการกับปัญหาการควบคุมตัวภายใต้มาตรา 112 ซึ่งในทั้ง 10 ความเห็น คณะทำงานฯ พบว่าการควบคุมตัวบุคคลภายใต้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ รวมไปถึงการควบคุมตัวของ “ตะวัน” และ ป้าอัญชัญ ดังนั้น WGAD จึงได้ส่งข้อเรียกร้องแล้วหลายครั้งไปยังรัฐบาลไทยให้ “นำกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับข้องเรียกร้องในความเห็น[ของคณะทำงานฯ] และพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้ไว้ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ”
หน่วยงานเฉพาะด้านอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ รวมถึงผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้รายงานพิเศษเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออกและความเห็น ผู้รายงานพิเศษได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับการตัดสินลงโทษตามมาตรา 112 โดยเน้นย้ำว่ากฎหมายลักษณะนี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย
ยกตัวอย่างเช่น ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders) ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มโดยสันติ (Special Rapporteur on Freedom of Peaceful Assembly and of Association ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและในการแสดงออก (Special Rapporteur on the Freedom of Opinion and Expression) และรายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและทนายความ(Special Rapportuer on the Independence of Judges and Lawyers) ได้แสดงความ “ตระหนก” ต่อการใช้มาตรา 112 ในการตัดสินลงโทษทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นายอานนท์ นำภา:
“เราเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกการตัดสินลงโทษของคุณนำภา และยกเลิกข้อกล่าวหาที่เหลืออยู่ […] เราขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องที่ยาวนานของเราให้รัฐไทยยกเลิกกฎหมายลักษณะนี้ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อผู้ที่กำลังเผชิญกับการดำเนินคดี และปล่อยตัวผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษเพียงเพราะการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก”
ประวัติของประเทศไทยกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ
ประเทศไทยได้รับที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2553 สี่ปีหลังจากที่คณะมนตรีฯ ถูกก่อตั้งขึ้นมา ขณะนั้นประเทศไทยได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียงจำนวน 182 จาก 193 เสียง นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว จากประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีฯตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2553 ถึง มิ.ย. 2554 หรือในวาระที่ 5 ของคณะมนตรีฯ
อย่างไรก็ตาม การเสนอชื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกครั้งที่สองของประเทศไทยกลับไม่ประสบความสำเร็จ ในเการเลือกตั้งในเดือน ต.ค. 2557 ประเทศไทยไม่ได้รับคะแนนเสียงเพียงพอสำหรับที่นั่ง หลายคนคาดเดาว่าประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนั้น เนื่องจากเกิดการรัฐประหารในปีนั้น มากไปกว่านั้น การรัฐประหารนำไปสู่การใช้กฎหมายต่าง ๆ เช่นมาตรา 112 เพื่อปราบปรามการผู้เห็นต่างทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการทูตกับประเทศอื่นๆ
แล้วยังไงต่อ หลังจากนี้
การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมีที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ถือว่าเป็นโอกาสของรัฐที่จะแสดงให้โลกเห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความสำเร็จของประเทศไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้บ่งชี้ว่า ประเทศไทยได้ฟื้นฟูความไว้วางใจจากประชาคมโลกในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งเห็นได้จากการที่ประเทศไทยได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก โดยได้รับ 177 คะแนน ตามมาด้วยไซปรัสและกาตาร์ที่ได้ 167 คะแนน
แต่ก่อนที่ประเทศไทยจะมองไปข้างหน้าเพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ต่อประชาคมโลก ประเทศไทยควรที่จะจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศตัวเองก่อน ระหว่างที่ประเทศไทยได้รับเลือกเข้าสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ การดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชนคนไทย ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 จนถึงเดือน ต.ค. 2567 มีประชาชนเกือบ 2000 คนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสงบ ปัจจุบันยังมีประชาชนถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 37 คน ในจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีนั้น มีเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 286 คนอีกด้วย โดย หนึ่ง คนยังคงถูกควบคุมตัวในข้อหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่พวกเขายังเด็ก
เพื่อที่ประเทศไทยจะทำตามคำมั่นสัญญาของตนและ “ยึดถือมาตรฐานสูงสุดในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” (UNGA Res. 60/251) รัฐบาลไทยต้อง:
- ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองและตรากฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
- ปล่อยนักโทษทางการเมืองที่ยังถูกควบคุมตัวจากการแสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง
- แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษชนระหว่างประเทศ
- ยุติการดำเเนินคดีและการละเมิดสิทธิเด็กแลเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ
อ่านแถลงการณ์ TLHR ประไทศไทยได้รับเลือก UNHRC ที่นี่