เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace: CAP), มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Centre Foundation หรือ MAC) กลุ่มด้วยใจ และกลุ่ม The Patani ได้ยื่นคำร้อง (communication) ต่อกลไกพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN Special Procedures เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินคดี 5 นักกิจกรรมชาวมลายู ซึ่ง 3 ใน 5 คนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จากการจัดเสวนาและประชามติจำลองเกี่ยวกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567
องค์กรข้างต้นได้ส่งคำร้องไปที่ 6 กลไกพิเศษ ได้แก่
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก (Special Rapporteur on the Freedom of Opinion and Expression)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม (Special Rapporteur on the Freedom of Peaceful Assembly and of Association)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on the Situation of Human Rights Defenders)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและทางความคิด (Special Rapporteur on Freedom of Religion or Belief)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องชนกลุ่มน้อย (Special Rapporteur on Minority Issues)
- ผู้รายงานพิเศษเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายและสิทธิมนุษยชน (Special Rapporteur on Counter-Terrorism and Human Rights)
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ม. 116 กับนักกิจกรรม เห็นงานเสวนาเกี่ยวกับ “สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง” เป็นภัยต่อความมั่นคง
วันที่ 7 มิ.ย. 2566 กลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติ Pelajar Bangsa ได้จัดงานเปิดตัวกลุ่ม ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จ.ปัตตานี โดยภายในงานได้มี รศ.ดร.มารค ตามไทกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Right to Self Determination หรือ RSD) กับสันติภาพปาตานี” ตามด้วยเสวนาในหัวข้อ “การกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดยมี ผศ.ดร. วรวิทย์ บารู นายฮากิม พงตีกอ นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก เป็นวิทยากรร่วมเสวนา และนายฮุซเซ็น บือแน เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
ในขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมลงทะเบียนได้เข้าร่วมกิจกรรมประชามติจำลอง ทดลองออกเสียงประชามติแสดงความคิดว่า “คุณเห็นด้วยกับ ‘สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง’ หรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย?” ก่อนที่งานจะจบลงโดยการกล่าวคำประกาศ Pelajar Bangsa ของนายอิรฟาน อูมา ประธานชบวนนักศึกษาแห่งชาติ เพื่อปิดงาน
ต่อมาวันที่ 24 มิ.ย. 2566 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งผู้แทนเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี โดยอ้างว่าผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมเสวนา ได้การกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประมวลกฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จึงมากล่าวโทษให้ดำเนินคดี
วันที่ 8 ธ.ค. 2566 นักกิจกรรมชาวมลายูทั้ง 5 คน ได้แก่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก, ฮากิม พงตีกอ, ฮุซเซ็น บือแน, อิรฟาน อูมาน และสารีฟ สะแลมัน ได้เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาภายใต้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) มาตรา 209 (อั้งยี่) มาตรา 210 (ซ่องโจร)
โดยพนักงานสอบสวนอ้างว่า กิจกรรมวันงาน “มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตและไม่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงความคิดเห็น หรือเป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ และบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐมิได้ ทั้งเป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่จะต้องไม่กระทำการใดที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในหมู่ประชาชน”
บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหายังระบุอีกว่า กิจกรรมของกลุ่ม Pelajar Bangsa “เป็นการยุยง ปลุกปั่น ปลุกเร้า และชักชวนประชาชนที่รับชมหรือร่วมกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนคล้อยตามและหลงผิดรวมตัวกันเกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และล่วงละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรโดยร่วมมือกับพวกผู้ต้องหาผลักดันให้มีการออกกฏหมายซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของพวกผู้ต้องหาที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนปาตานี … เป็นเอกราชจากประเทศไทย อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร”
ในวันที่ 3 ต.ค. 2567 พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนให้อัยการ โดยมีความเห็นให้สั่งฟ้อง อัยการนัดส่งตัววันที่ 17 มี.ค. 2568
องค์กรภาคประชาสังคมส่งคำร้องถึงกลไกพิเศษ UN รายงานข้อเท็จจริงคดี “ประชามติจำลอง”
วันที่ 6 ธ.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace: CAP), มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (Muslim Attorney Centre Foundation หรือ MAC) กลุ่มด้วยใจ และกลุ่ม The Patani ได้ส่งคำร้องต่อ 6 กลไกพิเศษข้างต้นขององค์การสหประชาชาติ เพื่อรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดี “ประชามติจำลอง”
โดยคำร้องได้อธิบายว่า ผู้จัดงานและวิทยากรวงเสวนามิได้ทำการยุยงให้ผู้เข้าร่วมกระการอันผิดกฎมหายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม วิทยากรได้อธิบายถึงความสำคัญของการมีพื้นที่ทางการเมืองที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นต่างจากรัฐ ฮากิม พงตีกอ หนึ่งในวิทยาการงานเสวนา เน้นย้ำว่าประชามติเอกราชต้องเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องมีกฎหมายรองรับที่ออกโดยรัฐสภา “การทำประชามติที่ดีที่สุดคือการรับรองโดยกฎหมายของรัฐ ถ้าไม่มีกฎหมายมารองรับก็จะเกิดปัญหาอื่น” ความเห็นดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าวิทยากรและผู้จัดงานไม่ได้มีเจตนาละเมิดกฎหมายหรือยุยงให้ผู้อื่นละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด
คำร้องที่ส่งไปที่กลไกพิเศษ UN ได้ตั้งข้อสังเกตว่า บางคำถามที่พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนมีความไม่ชัดเจนว่ามีเกี่ยวข้องกับคดีหรือฐานความผิดในคดีนี้อย่างไร เช่น
- หากมีกลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคล จะเข้าไปอยู่ในบ้านท่าน และต้องการเป็นเจ้าของ ท่านยินยอมมติดังกล่าวหรือไม่
- คนกรุงเทพเรียกคนนอกพื้นที่ เรียกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนว่าโจรใต้จริงหรือไม่ ผู้ต้องหาเรียกเขาว่าอย่างไร วีรบุรุษหรือผู้เสียสละ หรือไม่อย่างไร
- เวลาเจ้าหน้าที่วิสามัญ ผกร. ที่ต่อสู้การปฏิบัติการตามหน้าที่ท่านรู้สึกอย่างไร
คำร้องยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในวันที่ 7 พ.ค. 2567 พนักงานสอบสวนได้ส่งหนังสือถึงคุณอังคณา นีละไพจิตร เพื่อขอสอบปากคำในคดีประชามติจำลอง โดยหนึ่งในคำถามต่อคุณอังคณาคือ “ท่านสามารถร้องเพลงชาติไทย และเข้าใจความหมาย และเนื้อหา สำคัญตามเนื้อร้องของเพลงชาติไทยหรือไม่ อย่างไร”
กสม. เห็นว่าคดีประชามติจำลองเป็นการใช้กฎหมายเพื่อยับยั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงออก อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
วันที่ 17 ม.ค. 2568 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. เห็นว่า “การดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาในการกำหนดอนาคตตนเอง ‘สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองกับสันติภาพปาตานี’ จัดโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองมานำเสนอมุมมองและผลักดันแนวทางสันติภาพในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกเช่นกัน จึงเห็นว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสองกรณีนี้ [อีกคดีหนึ่งคือคดีมลายูรายา] เป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือยับยั้งการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
อ่านเพิ่มเติม: