ไทยยังให้ความชอบธรรมต่อการใช้ข้อหาร้ายแรงทางอาญาจัดการกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเด็ก มีเด็กอย่างน้อย 286 คน ต้องเข้าไปพัวพันกับกระบวนการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น เพียงเพราะออกมาใช้สิทธิด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ, รายงาน จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี
องคาพยพในกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะผู้พิพากษา นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ ควรปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีการเมือง โดยการไม่มองพวกเขาเหมือนกับเป็นอาชญากร แต่ควรมองแบบ “นักโทษทางความคิด” ที่ไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่ต้น, รายงาน อิสระภาพแบบมีเงื่อนไข
“การทำคดีเด็กเยาวชนต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตเป็นสำคัญก็จริง แต่ก็ไม่อาจละทิ้งการต่อสู้เพื่อยืนยันหลักการตามกฎหมาย และไม่อาจละเลยเจตจำนงของเด็กเยาวชนที่ต้องการยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุมด้วยเช่นกัน” คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความที่ช่วยเหลือคดีเด็ก/ เยาวชน ตั้งแต่ปี 2563 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติและงานเวทีแลกเปลี่ยน “4 ปี กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนในคดีทางการเมือง: ความรุนแรง ความสับสน ความเงียบ และความหวัง” โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) (Save the Children Thailand)
วันที่ 20 ก.ย. 2567 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ห้องโถงชั้นล่าง อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ
.
“จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี: การทำให้การแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของเด็กและเยาวชนเป็นความผิดทางอาญา” (From Classroom to Courtroom — The Criminalization of Children’s Speeches and Peaceful Assemblies in Thailand)
รายงานฉบับที่ 1 นำเสนอข้อมูลทางด้านสิทธิเด็ก ในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของเด็กและเยาวชน นับตั้งแต่การชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2563 ถึงช่วงเดือนธันวาคม 2566 โดยรวมไปถึงการสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและวิเคราะห์ปัญหาจากการดำเนินคดีและกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชน
จากการรวบรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ถึงวันที่ 30 พ.ย. 2566 มีเยาวชนอย่างน้อย 286 คน ถูกดำเนินคดีใน 217 คดี จากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ทั้งนี้พบว่า มีเยาวชนอย่างน้อย 20 คน ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) ถึง 23 คดี
เมื่อพิจารณาถึงสถิติคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 พบว่า มีการพิพากษาในกรณีของเด็กและเยาวชน จำนวน 5 คดี โดยใน 4 คดี เป็นคดีที่ศาลตัดสินลงโทษให้มีความผิด
ในรายงานฉบับนี้ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนไว้ว่า แม้จะมีการบังคับใช้
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 เนื่องจากเด็กนั้นควรได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในขอบเขตที่มากกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้ง การควบคุมหรือคุมขังเด็กนั้นต้องกระทำเป็นทางเลือกสุดท้าย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการ “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” แต่ยังปรากฏการละเมิดสิทธิเด็กที่ออกมาใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในหลายประการ เช่น การควบคุมตัวและดำเนินคดีต่อเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 การจับกุมเด็กที่มิได้กระทำอย่างละมุนละม่อม การควบคุมตัวเด็กในกรณีที่ไม่มีผู้ปกครอง และการกำหนดแผนการฟื้นฟูเด็กและเยาวชน โดยไม่มีที่ปรึกษากฎหมายของเด็กอยู่ด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่าตามกฎหมายแล้วการพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนกำหนดให้มีการพิจารณาคดีเป็นการลับ และมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่มีการอนุญาตให้บุคคลอื่นที่ศาลเห็นสมควรอนุญาตเข้ามาร่วมสังเกตการณ์พิจารณาคดีได้ แต่จากข้อมูลที่ได้รับการรวบรวมและนำเสนอมายังรายงานฉบับนี้ พบว่า เยาวชนบางรายต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวในห้องพิจารณาคดี เมื่อการพิจารณาคดีต้องกระทำเป็นการลับ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ การที่ไม่มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีที่เป็นบุคคลที่เด็กไว้ใจ อาจจะมีความสุ่มเสี่ยงในการละเมิดสิทธิในการรับฟังความคิดเห็นของเด็ก และเช่นนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของเด็กและเยาวชนนั้นสามารถตอบสนองหลักการ “ผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ได้มากน้อยเพียงใด
หากมองถึงมิติตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอันเป็นกฎหมายที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว ได้วางหลักไว้ว่า การจำกัดสิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบจะกระทำได้ต่อเมื่อ (1) มีกฎหมายบัญญัติไว้ (2) มีความจำเป็นสำหรับการเคารพสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือ ความสาธารณสุขหรือศีลธรรม และประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีมีหน้าที่ต้องเคารพและปกป้องสิทธิเด็กทุกคน รวมถึงผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากผู้มีอำนาจ แต่จากข้อเท็จจริงที่ได้รวบรวมและนำเสนอมายังรายงานฉบับนี้ พบว่า เด็กและเยาวชนยังคงถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายที่ขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ข้อเสนอแนะต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีเด็กและเยาวชน
- ยุติการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงคดีมาตรา 112 และนิรโทษกรรมเด็กและเยาวชนมากกว่า 280 รายที่ถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2563
- ยุติการใช้มาตรา 112 กับเด็กและเยาวชน ปล่อยเยาวชนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจ และแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
- งดเว้นการจับกุมหรือคุมขังเด็กและเยาวชนหากไม่มีความจำเป็น และหากไม่ใช่ทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจับกุมหรือคุมขังเด็กและเยาวชน รัฐต้องปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนตามกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ
- ประกันสิทธิของเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการรับฟังในกระบวนพิจารณาทางตุลาการและทางปกครอง โดยการอนุญาตให้ผู้ไว้วางใจของเด็กได้เข้าฟังการพิจารณาคดี
- ยกเลิกเงื่อนไข “การรับสารภาพ” สำหรับการเข้าถึงมาตรการพิเศษ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าการให้การรับสารภาพของเด็กและเยาวชนเป็นไปโดยอิสระและสมัครใจอย่างแท้จริง รับฟังความเห็นจากเด็กและเยาวชน ครอบครัว และที่ปรึกษาทางกฎหมาย ในระหว่างการจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และปฏิรูป “มาตรการพิเศษ” เพื่อนำไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของนักปกป้องสิทธิและนักกิจกรรมที่เป็นเด็กและเยาวชน
อ่านรายงาน “จากห้องเรียนสู่ห้องพิจารณาคดี” ฉบับเต็ม >>> https://tlhr2014.com/archives/70001
.
“อิสรภาพแบบมีเงื่อนไข: การใช้มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีการเมือง” (Freedom Subject to Conditions)
รายงานฉบับที่ 2 นำเสนอข้อมูลการใช้มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญาสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2567 ในรายงานนี้ได้รวบรวมสถานการณ์ปัญหาจากประสบการณ์ตรงของเด็กและเยาวชนในคดีการเมือง ตลอดจนผู้ปกครอง ในการเข้าสู่การใช้มาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญา ทั้งมาตรการแทนการดำเนินคดีก่อนฟ้อง มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีหลังฟ้อง มาตรการแทนการพิพากษาคดี และการเปลี่ยนโทษหรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนหรือการคุมประพฤติ ตาม พ.ร.บ. ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ) เพื่อชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับปัญหาแตกต่างกันไปในแต่ละขั้นตอนที่เด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและเข้ามาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญาฯ กล่าวคือ
ชั้นสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ไม่เป็นมิตร บางกรณีแนะนำให้รับสารภาพ รวมถึงมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและครอบครัวมากเกินความจำเป็นและไม่สอดคล้องกับฐานความผิดที่ถูกกล่าวหา เช่น เพศสัมพันธ์ การตรวจปัสสาวะฯ
มาตรการแทนการดำเนินคดีก่อนฟ้องและหลังฟ้อง (มาตรา 86 และมาตรา 90 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ) พบปัญหาการกำหนดมาตรการในแผนบำบัดฟื้นฟูไม่สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมเกี่ยวกับตัวเด็กหรือเยาวชนและครอบครัว และมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพ เช่น เด็กที่ทำงานกับครอบครัวกำหนดให้เด็กหางานเป็นลูกจ้างประจำทั้งที่เด็กทำงานกับครอบครัว การห้ามออกจากบ้านในเวลากลางคืนฯ และพบปัญหาการบังคับใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาทั้งก่อนและหลังฟ้อง ซึ่งกฎหมายกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าเด็กหรือเยาวชนต้อง “สำนึกในการกระทำ” ซึ่งการแสดงความสำนึกในการกระทำ เด็กหรือเยาวชนต้องให้การ “รับสารภาพ”
มาตรการแทนการพิพากษา (มาตรา 132 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ) พบปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของเด็กในการกำหนดมาตรการ การกำหนดมาตรการที่ไม่เหมาะสมและไม่ได้ช่วยบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองและจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น การกวาดลานวัด ล้างห้องน้ำ การห้ามเข้าร่วมชุมนุม ฯ รวมถึงมีมาตรการที่สร้างภาระทางการเงินและจิตใจ เช่น การทำจิตอาสาที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการไปทำ ความรู้สึกอายตัวเองที่มาทำจิตอาสาเพื่อให้พ้นจากภาระคดี ส่วนมาตรการการเข้าค่ายทหารและค่ายธรรมะเป็นเพียงไม่กี่มาตรการที่เด็กสามารถต่อรองเพื่อปรับเปลี่ยนได้
การเปลี่ยนโทษและการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน/คุมประพฤติ พบปัญหามาตรการไม่เหมาะสมกับสภาพหรือปัจจัยของเด็กและครอบครัว เช่น การให้เรียนในระบบซึ่งเด็กบางคนมีปัญหาและไม่พร้อมเพราะต้องทำงาน แผนคุมประพฤติไม่สมเหตุสมผล เช่น ไม่ให้คบเพื่อนไม่ดี ซึ่งทำให้เด็กตั้งคำถามว่าเพื่อนไม่ดีคืออะไร รวมถึงเพื่อนที่ชวนไปชุมนุมทำกิจกรรมด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังฉายภาพให้เห็นผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ปกครอง ผ่านมุมมองของนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ที่ชวนคิดว่าเด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเพื่อแสดงออกความไม่เห็นด้วยต่อรัฐ เขาเหล่านั้นมองว่าตนเองใช้สิทธิตามกฎหมายไม่ได้ทำผิดตามกฎหมาย และเผยให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนหลายคนยอมเข้ามาตรการพิเศษแทนการใช้มาตรการทางอาญามิใช่เพราะสำนึกว่าสิ่งที่ตนกระทำนั้นผิด แต่จำต้องเข้าสู่มาตรการฯ เพราะได้รับผลกระทำทางจิตใจและสังคม และบอกกับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ว่า กระบวนการยุติธรรมและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสร้างบาดแผลทางใจและผลกระทบทางสังคมระยะยาวต่อเด็กและผู้ปกครอง
ข้อเสนอแนะเชิงหลักการ
- เพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีอาญาทางการเมืองในเชิงหลักการคนในกระบวนการยุติธรรมเด็กทุกขั้นตอนควรเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดอย่างเท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน และไม่ใช้วิธีการทางกฎหมายเพื่อกดปราบอีกฝ่าย และปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีการเมืองแบบ “นักโทษทางความคิด ไม่ใช่ อาชญากร”
- ข้อเสนอแนะต่อการแสวงหาข้อเท็จจริงและแบบการเก็บข้อมูล จัดให้มีสถานที่ที่เป็นมิตรต่อเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศและเคารพความเป็นส่วนตัวของเด็ก
- ประการสำคัญ การใช้มาตรการพิเศษแทนมาตรการทางอาญาต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนให้ทำหน้าที่แบบไม่ตัดสินในตัวเด็กและเยาวชน และให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานมากกว่าเอกสาร ตลอดจนสร้างพื้นที่ปลอดภัย ลดการใช้อำนาจ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กและเยาวชน
ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน
- พนักงานอัยการ/ศาลเยาวชน ต้องประกันว่าคดีที่เข้าสู่การใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดี จะถูกใช้สำหรับคดีที่เข้าข่ายว่ากระทำความผิดจริง และอัยการควรใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อกลั่นกรองคดีที่ไม่เป็นความผิดหรือกรณีที่ไม่ควรฟ้อง
- ผู้พิพากษา/ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ พนักงานคุมประพฤติและนักจิตวิทยาของศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาล ควรทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู และคำนึงถึงพฤติการณ์คดีเป็นคดีกฎหมายที่แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป และสอดคล้องกับเงื่อนไขชีวิตของเด็กแต่ละราย และไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพโดยไม่จำเป็น
- นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ควรทำงานตามหลักวิชาชีพ ไม่ตัดสิน และเน้นให้คำปรึกษา เป็นพื้นที่ปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่เด็กต้องอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
- กระทรวงยุติธรรม ควรแก้ไขหลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นนักจิตวิทยาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้เฉพาะผู้ที่มีวุฒิการศึกษาทางจิตวิทยา แพทยศาสตร์ หรือพยาบาลศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านจิตเวชศาสตร์หรือพัฒนาการเด็กเพียงเท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์คุณสมบัติการขึ้นทะเบียนของนักสังคมสงเคราะห์ในปัจจุบันที่เปิดให้เฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับอนุญาตเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นการควบคุมคุณภาพของผู้ปฏิบัติงาน และควรปรับปรุงหลักสูตรการอบรมที่เน้นการพัฒนาทักษะที่สำคัญในการลดผลกระทบของเด็กในกระบวนการยุติธรรมได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
- สถานพินิจฯ หรือศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาล ควรจัดทำปฏิทินกิจกรรมหรือโครงการฝึกอาชีพที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับจุดแข็งและความถนัดของเด็ก เพื่อให้เด็กเลือกตามความสนใจ โดยเพิ่มกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง การมีสวนร่วมในสังคมประชาธิปไตย ให้สอดคล้องกับความสนใจของเด็ก
- ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำของศาลควรให้ความสำคัญกับการบำบัดเยียวยาจิตใจเด็กมากกว่าการทำกิจกรรมตามมาตรการที่กำหนดมาเพียงอย่างเดียว และควรพัฒนาศักยภาพและทัศนคตินักจิตวิทยาให้สามารถสนับสนุนทางจิตใจและบำบัดเยียวยาเด็กที่ได้รับผละกระทบ
อ่านรายงาน “อิสรภาพแบบมีเงื่อนไข” ฉบับเต็ม >>> https://tlhr2014.com/archives/70004