ท่ามกลางกำแพงสูงของเรือนจำในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีเรื่องราวความรักที่ถูกบอกเล่าผ่านการเยี่ยมของทนายความ เมื่อพวกเขาได้พบกับผู้ต้องขังการเมือง 9 ชีวิต เพื่อรับฟังเรื่องราวของหัวใจที่ต้องห่างไกลจากคนรัก
ในขณะที่โลกภายนอกกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความรัก ผู้ต้องขังเหล่านี้แบ่งปันมุมมองที่แตกต่างออกไป ความรักสำหรับพวกเขาไม่ได้วัดด้วยของขวัญหรือดอกกุหลาบ แต่อยู่ในทุกตัวอักษรของจดหมายที่ได้รับ ทุกนาทีของการเยี่ยม และทุกความทรงจำที่ยังคงเก็บรักษาไว้
จดหมายกลายเป็นสะพานเชื่อมโยงหัวใจที่ห่างไกล แต่ละบรรทัดบรรจุความคิดถึง ความหวัง และกำลังใจที่ส่งถึงกัน การได้รับจดหมายจากครอบครัวและคนรักเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ส่องผ่านความมืดมิดของรั้วกำแพงสูง ขณะที่การเยี่ยมแต่ละครั้ง แม้จะสั้นเพียงไม่กี่นาที กลับมีค่ามากกว่าเวลาหลายชั่วโมงในโลกภายนอก
ความหวังที่จะได้กลับมาพบกันอีกครั้งกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้พวกเขาสามารถผ่านพ้นแต่ละวันในที่คุมขังได้ ความรักที่มีต่อครอบครัวและคนรักเป็นเสมือนเกราะป้องกันจิตใจ ช่วยให้พวกเขายังคงรักษาความหวังและพลังใจไว้ได้ แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก
เรื่องราวของทั้ง 9 ชีวิตนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้กำแพงเรือนจำจะสูงเพียงใด ก็ไม่อาจกั้นความรักที่แท้จริงได้ พวกเขายังคงรักษาความสัมพันธ์และความผูกพันผ่านตัวอักษรในจดหมาย ผ่านเสียงในการพูดคุย และผ่านความทรงจำที่ยังคงสดใสในใจ รอวันที่จะได้กลับมาพบกันอีกครั้ง
.
“อัญชัญ”: รักที่รอคอยในบั้นปลายชีวิต

“ในช่วงเวลานี้ เราอยู่กับตัวเอง ก็คิดถึงคนที่เรารักและเข้าใจเราในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ถ้าออกไปได้ก็จะไปช่วยดูแลเขา ถ้าไม่มีหนู ๆ (ทนาย) ก็คงไม่มีใครมาหาป้าเลย”
ในวัย 70 ปี ป้าอัญชัญใช้ชีวิตปีที่ 8 ในเรือนจำด้วยความหวังเพียงประการเดียวคือ การได้พบกับคนรักอีกครั้งก่อนวันสุดท้ายของชีวิต คนรักของเธอที่มีอายุมากเช่นกันเคยบอกว่า “อยากเจอกันแค่สักวันก็ยังดี” คำพูดที่ทำให้น้ำตาของป้าไหลรินด้วยความคิดถึง เธอยังบอกเล่าถึงความประทับใจในเรื่องความห่วงใยต่อกัน “ประทับใจที่เขาเห็นว่าเรามีคุณค่า เรายังมีชีวิต และมีตัวตนสำหรับเขาอยู่” (เอามือทาบอก)
ขณะนี้สิ่งสำคัญพอ ๆ กับความรักของผู้ต้องขังสูงวัย คือการได้กำลังใจในการอดทน ต่อสู้ เพื่อรอวันที่ได้รับอิสระ “กำลังใจมันสำคัญมากนะลูก ไม่อย่างนั้นเราจะรู้สึกเหมือนอยู่ไปไม่มีความหมายกับใครเลย” เธอย้ำว่าถ้าเราได้กำลังใจจากคนที่เรารัก เราก็มีแรงที่จะสู้ต่อไปเพื่อให้ได้เจอเขา
ในแต่ละวันของป้าอัญชัญผ่านไปด้วยการอ่านหนังสือ ดูคลิปสร้างแรงบันดาลใจ ครอบครัว สุขภาพ อาชีพ หรือศาสนา ในคอมพิวเตอร์ห้องสมุด และรอคอยจดหมาย สายใยบาง ๆ ที่ยังเชื่อมโยงเธอกับโลกภายนอก ป้าอัญชัญบอกกับคนรักผ่านจดหมายว่า “ไม่ต้องกังวลมาก ดูแลตัวเองดี ๆ” แม้ในใจจะเจ็บปวดกับการที่ไม่ได้อยู่ดูแลเขาในยามชรา
ป้าอัญชัญฝากข้อความทิ้งท้ายถึงคนรักว่า “ขอให้เขามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีพลังกายพลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะได้ออกไปเจอะเจอกันข้างนอก ไม่ว่ายังไงเราจะได้เจอกันก่อนตายแน่นอน (ยิ้ม)”
จนถึงปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางมาแล้ว 4 ปี กับ 25 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 3 วัน รวมเธอถูกขังมาเกือบ 8 ปีแล้ว จากโทษจำคุกเต็มประมาณ 43 ปี 6 เดือน ขณะที่คนรักของเธอกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองในช่วงหลังรัฐประหาร 2557
.
“ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ: 319 วันแห่งการพลัดพราก

สำหรับขนุน 319 วันในเรือนจำคือระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดที่เขาต้องห่างไกลจากคนรัก ผู้เปลี่ยนชีวิตเขาจากคนที่ ‘อ่อนประสบการณ์ โลกแคบ’ ให้กลายเป็นคนที่เห็นความอยุติธรรมในสังคม ขนุนเล่าถึงหนังสือของ เนลสัน แมนเดลลา อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ นักเคลื่อนไหวต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ที่เพิ่งอ่านจบไปวันก่อน
ความรักสำหรับแมนเดลาคือสิ่งที่ทำให้ผ่านพ้นในแต่ละวันไปได้ การได้เขียนจดหมาย ได้เห็นภาพใบหน้าของคนรักในทุก ๆ วัน คือสิ่งที่คอยเยียวยาจิตใจ “ผมคงไม่ต่างจากแมนเดลา เอาเข้าจริงแทบทั้งชีวิตผมผูกไว้กับคนที่ผมรัก ผมไม่เคยไกลจากคนรักนานเท่านี้มาก่อน” การถูกจองจำที่ยาวนานในนี้ ยิ่งทำให้ขนุนตระหนักว่า ความรักสำคัญกับเขาแค่ไหน แม้เธอไม่มาเยี่ยมแต่ก็รับรู้ข่าวสารจากเพื่อนหลายหลายคน ว่า เธอก็ยังไม่หยุดความพยายาม ที่จะหาทางให้ขนุนได้ออกไป
ในทุกค่ำคืนขนุนยังคงฝันถึงวันวานที่เคยจับมือ พาไปกินข้าว เล่นเกม ดูยูทูปด้วยกัน และบอกฝันดีก่อนนอน กิจวัตรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กลายเป็นความทรงจำอันมีค่า ครั้งสุดท้ายที่ได้กอดกันคือวันฟังคำพิพากษา เขาบอกว่าจะรีบออกมา แต่จนถึงวันนี้ เขายังคงอยู่หลังกำแพง และจดหมายกลายเป็นความหวังเดียวที่ทำให้ผ่านพ้นแต่ละคืนไปได้
ขนุนสัญญากับตัวเองว่าหากได้ออกไป จะเป็น “คนรักที่สมบูรณ์ที่สุด” เพื่อเธอ และจะชดเชยเวลาที่หายไปให้สมบูรณ์ “เดิมผมก็เป็นคนคิดมากอยู่แล้ว พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น ผมทำตัวไม่ถูก แฟนผมใช้คำว่าผมจะลงแดงเสมอเวลาที่เจอสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้เป็นแบบนี้”
ขนุนฝากข้อความถึงคนรักว่า “ขอบคุณเธอนะ ที่ยังเป็นประกายแสงในชีวิต เธอล้วนสำคัญไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างในนี้ ถึงก่อนหน้าจะเป็นคนที่ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดได้ดีพอ หรือปล่อยปัญหาคาราคาซังมาจนทุกวันนี้ และสัญญาว่าถ้าได้ออกไปจะชดเชยช่วงเวลาที่เธอสูญเสียไปและเติมเต็มความสัมพันธ์ ขอบคุณที่เป็นทุกอย่างในชีวิตจนกว่าเค้าจะได้อิสรภาพอีกครั้ง”
จนถึงปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) ขนุนถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์มาแล้ว 327 วัน โดยจะถูกคุมขังครบ 1 ปี หรือครบครึ่งหนึ่งของโทษจากศาลชั้นต้น ในวันที่ 25 มี.ค. 2568
.
“อาย กันต์ฤทัย”: หัวใจของแม่และภรรยา

น้ำตาของ “อาย” ไหลลงมา เมื่อพูดถึงข้อความในโทรศัพท์ที่ลูกพิมพ์ไว้ถึงปัญหาชีวิต ความเจ็บปวดของการเป็นแม่ที่ไม่ได้อยู่ปลอบลูกในยามที่เขาต้องการ ไม่ได้ฉลองวันเกิดด้วยกัน ไม่ได้ซื้อของขวัญให้เหมือนทุกปีที่ผ่านมา
แต่อายยังโชคดีที่มีสามีที่เข้าใจ แม้เขาจะเคยเตือนว่า “อย่าไปยุ่งกับการเมืองเลย” แต่เมื่อเธออธิบายเหตุผล เขาก็รับฟังและเคารพการตัดสินใจของเธอ ทว่าความรู้สึกผิดก็ยังคงกัดกินหัวใจเมื่อนึกถึงว่าสามีต้องแบกรับภาระทุกอย่างเพียงลำพัง
ความรักสำหรับอายในตอนนี้คือการได้รับกำลังใจทั้งจากคนในครอบครัว และคนภายนอกที่มีการพูดถึงเธอบ้าง ทำให้รู้สึกได้รับกำลังใจเป็นอย่างมาก “อายรู้สึกขอบคุณทุกคน แม้อายจะไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว แต่ก็ยังส่งกำลังใจให้กัน”
อายมีกลุ่มเพื่อนที่คอยอยู่เคียงข้างกันตลอด ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกคนก็พร้อมทำไปด้วยกัน “มันทำให้เราไม่ได้รู้สึกโดดเดี่ยว และอยู่คนเดียวในการต่อสู้นี้” แต่ถึงที่สุด การไม่ได้อยู่กับลูกและสามี ก็เป็นเรื่องที่เจ็บปวด วิธีเยียวยาคือการที่อายได้เขียนจดหมายไปหา และการที่ทุกคนคอยมาเยี่ยมตลอด “ขอบคุณครอบครัว และเพื่อน ๆ ที่คอยมาเยี่ยม และให้กำลังใจกันตลอด เพราะมีทุกคน อายจึงยังอยู่”
ทุกวันนี้ อายพยายามทำตัวให้ร่าเริง แม้คิดว่าอาจจะไม่ใช่ความรู้สึกที่แท้จริง เพื่อไม่ให้คนรอบข้างต้องเป็นทุกข์ไปด้วย เธอบอกว่าหากได้ประกันตัว “ไม่ว่าจะต้องได้รับเงื่อนไขอะไร ยอมรับทั้งนั้น” ขอเพียงได้กลับไปอยู่กับลูกและสามีอีกครั้ง
ปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) อายถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 172 วัน หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กรวม 8 โพสต์ ศาลลงโทษจำคุก 8 ปี 48 เดือน โดยไม่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ นอกจากต่อสู้กับชีวิตไร้อิสรภาพจากข้างในนั้น อายยังต้องรักษาตัวเองจากโรคซึมเศร้าที่เป็นต่อเนื่องมาก่อนเข้าเรือนจำเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว
.
“มีชัย”: ในนี้ ความรักและความคิดถึงชัดเจนและมีค่ามาก

ท่ามกลางชีวิตสูญเสียอิสรภาพขณะถูกจองจำ มีชัยกลับค้นพบความจริงที่ไม่คาดคิด นั่นคือสายสัมพันธ์ในครอบครัวอันแน่นแฟ้นขึ้นอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน
มีชัยพูดถึงครอบครัวว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เป็นสิ่งที่แลกได้ทุกอย่าง ทั้งความทุ่มเทของแม่ที่สร้างความประทับใจให้เขาอย่างลึกซึ้ง แม้จะอายุมากแล้วและอาศัยอยู่ที่จันทบุรี แม่ก็ยังพยายามเดินทางมาเยี่ยมเขาที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ ทั้งที่ก่อนถูกจำคุก พวกเขาแทบไม่ได้พูดคุยกัน แต่ตอนนี้ความพยายามของแม่ที่จะรักษาสายสัมพันธ์ไว้ได้กลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้เขาประคองชีวิตในเรือนจำได้
นอกจากนี้กำแพงเรือนจำกลับนำมาซึ่งการเยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับพี่ชาย เมื่อก่อนทะเลาะกันเพราะความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจนถึงขั้นโต้เถียงรุนแรง แต่ตอนนี้พวกเขาได้กลับมาเข้าใจและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน “พวกเราไม่เคยรู้สึกถึงความรักในครอบครัวขนาดนี้มาก่อน” มีชัยสะท้อนความรู้สึก “แต่ในนี้ ความรักและความคิดถึงชัดเจนและมีค่ามาก”
ความเข้มแข็งของเขามาจากความเชื่อมั่นในหลักการที่ไม่สั่นคลอน “สิ่งที่เราทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด” เขายืนยัน แสดงความภาคภูมิใจในอุดมการณ์แทนที่จะเสียใจ สำหรับเขา การแสวงหาความถูกต้องสำคัญยิ่งกว่าแม้แต่สายสัมพันธ์แห่งความรักหรือครอบครัว
ในพื้นที่จำกัดนี้ การสื่อสารมีความหมายใหม่ จดหมายและข้อความ ซึ่งเคยถูกมองข้ามในชีวิตภายนอก กลับกลายเป็นสมบัติล้ำค่า “ผมไม่เคยเขียนหรืออ่านจดหมายมาก่อน” เขายอมรับ “แต่ที่นี่ แม้แต่ข้อความเล็กน้อยที่ใครเขียนมาให้ก็มีค่ามาก ผมเก็บไว้ทั้งหมดและอ่านซ้ำได้บ่อย ๆ โดยไม่เบื่อ”
ปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) มีชัย อดีตพนักงานโรงแรมที่เกาะช้าง จ.ตราด ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ มาแล้ว 205 วัน มีชัยถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 จำนวน 2 ข้อความ หลังสู้คดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีชัยถูกลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน ก่อนคดีของเขาสิ้นสุดลงที่ชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา
.
“ฐาปนา”: “ขอให้ลูกแข็งแรง อย่าดื้อ อย่าซนมาก พ่อจะรีบออกไปนะ”

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่บ้านกรุณา ฐาปนาปรากฏตัวในชุดวอร์มสีน้ำเงินเข้มและรองเท้าแตะฟองน้ำสีดำ ผมยาวกว่าครั้งที่แล้วแต่ไม่ถึงกับทรงสกินเฮด รูปร่างดูดีขึ้น ไม่ได้อ้วนนัก แต่ไม่ผอมซูบเหมือนก่อน ในห้องเยี่ยม ภายใต้สายตาของนักสังคมสงเคราะห์ เรื่องราวบอกเล่าครั้งนี้คือความรัก การสูญเสีย และความหวัง เขาเริ่มต้นด้วยความภูมิใจ ประกาศถึงความสำเร็จในการเรียนจบหลักสูตรช่างยนต์ ดวงตาเป็นประกายขณะเล่าถึงความก้าวหน้าในการเรียนจบมัธยมต้น
วันวาเลนไทน์ที่กำลังจะมาถึงนำมาทั้งความสุขและความเจ็บปวด ความสัมพันธ์กับแฟนสาวห่างเหินลงตามระยะทางที่ห่างไกล แต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เธอพาลูกมาเยี่ยม “เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด” เขาเล่า ใบหน้าเปล่งประกาย “ลูกเรียกผมว่า ‘ป่ะป๊า’ แรก ๆ ลูกก็เขินอาย แต่แล้วก็ยื่นมือให้อุ้ม” ฐาปนาเล่าถึงความสุขที่บรรยายไม่ถูก
นอกจากคนรัก สำหรับฐาปนาแม่ของเขาคือเสาหลักที่แข็งแกร่งที่สุด แม้แต่แรกจะเขียนจดหมายไม่เป็น แต่เมื่อรู้ว่าลูกชายได้รับข้อความน้อย เธอก็พยายามหัดเขียน “แม่พยายามทุกวิถีทางที่จะอยู่เคียงข้างผม” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงสะเทือนใจ ตอนนี้แม่ต้องดูแลบ้านคนเดียว เลี้ยงดูน้องอีกสองคน แต่ก็ยังหาทางช่วยค่าใช้จ่ายของหลานด้วย
ทุกวันที่บ้านกรุณา ฐาปนาต่อสู้กับความเหงาด้วยการทำกิจกรรมไม่หยุดหย่อน ทั้งร่วมพิธีทางศาสนา ช่วยงานครู ทำงานบ้าน ทุกครั้งที่ครอบครัวมาเยี่ยมกลายเป็นความทรงจำล้ำค่าที่หล่อเลี้ยงจิตใจ จนกว่าจะถึงการเยี่ยมครั้งต่อไป การขาดการติดต่อนำมาซึ่งความวิตกกังวล โดยเฉพาะเมื่อโทรไปแล้วไม่มีคนรับสาย
ก่อนจากกันเขาฝากข้อความที่กินใจที่สุดเขาที่เก็บไว้สำหรับแม่และลูก ถึงแม่ “ขอให้แม่ดูแลตัวเองบ้าง อย่าทำงานหนักเกินไป ผมขอโทษที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับครอบครัวเรา”
ถึงลูก “พ่อขอโทษ… พ่อจะทำตัวดี ๆ จะได้รีบกลับไปหาลูก ขอโทษที่ทำให้ครอบครัวเราต้องแตกแยกกัน ขอให้ลูกแข็งแรง อย่าดื้อ อย่าซนมาก พ่อจะรีบออกไปนะ”
ฐาปนาถูกคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องกับการขว้างปาวัตถุระเบิด ระหว่างการชุมนุมช่วงดินแดง มาตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2567 หลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางวินิจฉัยให้จำเลยออกจากมาตรการพิเศษ และกำหนดให้มีคำพิพากษาแทน โดยพิพากษาลงโทษจำคุก และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 4 ปี ต่อมาทางฝ่ายอัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาด้วย
รวมแล้วปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) ฐาปนาถูกคุมขังมาแล้ว 292 วัน เท่าที่ทราบข้อมูล เขาเป็นผู้ต้องขังเยาวชนคนเดียวที่มีเหตุจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้
.
“ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา: ความรักที่เติบโตตามกาลเวลา

เสียงจากปลายสายโทรศัพท์ของขุนแผนที่แดน 8 แทรกด้วยเสียงวุ่นวายของผู้คน แต่น้ำเสียงของเขายังคงมั่นคงและใคร่ครวญ แม้ร่างกายจะต่อสู้กับอาการชาที่รุนแรงขึ้น ทั้งที่แขนและใบหน้า จนบางครั้งรู้สึกเจ็บฟันและปาก แต่เมื่อพูดถึงเรื่องความรัก เขากลับมีมุมมองที่ลึกซึ้งและเปี่ยมด้วยประสบการณ์
“ความรักความห่วงใจจากคนข้างนอก ช่วยเป็นกำลังใจได้มาก” ขุนแผนเล่า “ขนาดเราคิดว่าเราเข้มแข็งแล้ว แต่พอได้รับความห่วงใยมันก็ช่วยให้ใจฟูขึ้นเยอะ” เขาให้ความสำคัญแม้กระทั่งกับจดหมายจากคนแปลกหน้าที่ส่งกำลังใจมา เพียงคำว่า “สู้ ๆ” ก็ทำให้รู้สึกว่ายังมีคนมองเห็นและเข้าใจในสิ่งที่เขาต่อสู้
ด้วยวัยและประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ขุนแผนมองความรักและความสัมพันธ์อย่างเข้าใจ “เราจะไปหวังอะไรมากมาย เราไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกอย่าง คนอื่นก็มีชีวิตของเขา มีมุมมองของเขา เขาเอาเวลาของเขามาคิดถึงเรามันก็ดีมากแล้ว”
เขามองว่าความขัดแย้งในความสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมดา แต่ด้วยวัยที่มากขึ้น ทำให้มีความอดทนและจัดการความรู้สึกได้ดีขึ้น ก่อนพูดถึงคนรักว่า “ผมชอบที่เขาไม่ได้ทำให้เรารู้สึกแย่เลย อาจเพราะเราทั้งคู่ต่างก็มีอายุแล้ว นิ่งกันแล้ว ความมั่นคงทางใจมันมีมากกว่า แม้จะง้องแง้งกันบ้าง แต่โดยรวมมันดี”
การอยู่ที่นี่เขายอมรับว่ามีความเหงาอยู่บ้าง ในวันที่บรรยากาศมันพาไป แต่ความรู้สึกเหล่านั้นก็อยู่ไม่นาน เพราะรู้ว่ามีคนอีกเยอะที่อยู่ข้าง มีคนมาเยี่ยม มีคนพูดถึง มีคนมาให้กำลังใจในวันที่ขึ้นศาล ความเหงาที่เกิดขึ้นเลยไม่ได้ทำให้โดดเดี่ยว “เพราะเรารู้ว่าเราไม่ได้สู้คนเดียว ยังมีคนเห็นความสำคัญของสิ่งที่เราทำ มันเห็นความห่วงใย เห็นกำลังใจ”
ขุนแผนกล่าวทิ้งท้ายผ่านบทสนทนาว่า “ขอบคุณทุกคนที่ยังสู้อยู่ด้วยกัน คุณจะสู้วิธีไหนไม่รู้ จะเหมือนหรือต่างก็ไม่รู้ แต่การที่ยังสู้อยู่ ยังห่วงใยเพื่อนร่วมทางกันอยู่ มันก็ทำให้รับรู้ได้ ทั้งหมดมันเป็นกำลังใจให้คนที่อยู่ข้างในด้วย ถ้าออกไปแล้วมันต้องสู้ต่อ ผมก็จะสู้”
จนถึงปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) “ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 212 วัน หลังศาลอาญาพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 6 เดือน โดยไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
การใช้ชีวิตในเรือนจำขุนแผนยังต้องสู้กับอาการป่วยวัณโรคปอด (Tuberculosis หรือ TB) ที่เป็นอยู่โดยรักษาต่อเนื่องมาตั้งแต่อยู่ข้างนอก ยิ่งกว่านั้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 เขาเคยต้องเผชิญกับภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มาแล้ว
.
“บุ๊ค ธนายุทธ” : ความรักมีความหมายมาก ๆ โดยเฉพาะในเวลานี้

ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แดน 4 “บุ๊ค” ธนายุทธ เล่าเรื่องราวของความรักท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว ร่างกายของเขากำลังต่อสู้กับอาการภูมิแพ้เรื้อรัง มีอาการไอและตุ่มแดงขึ้นตามแขน แต่เมื่อพูดถึงเรื่องความรัก ดวงตาของเขากลับเปล่งประกายด้วยความหวัง
“ความรักมีความหมายมาก ๆ โดยเฉพาะในเวลานี้” บุ๊คเริ่มต้นการสนทนา “เป็นทั้งความหวัง แรงขับเคลื่อน แรงบันดาลใจ ที่ทำให้ผมผ่านทุก ๆ วันไปได้” เขามองว่าแม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากเพียงใด การรู้ว่ามีคนที่รักเราอยู่อีกฟากของกำแพง ก็ทำให้ระยะทางดูเหมือนจะสั้นลง
ความรักในชีวิตของบุ๊คมีหลายมิติ ทั้งความรักจากเพื่อนในเรือนจำที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจกัน ความรักจากแฟนที่เขาชื่นชมในทุกแง่มุมของเธอ “ผมชอบทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดีของเขา ผมชอบทุก ๆ มุม” บุ๊คเล่าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน เขาเล่าว่าแฟนของเขาคือคนที่ทำลายกำแพงในหัวใจ ยอมรับและเข้าใจในตัวตนของเขาที่เป็นเด็กจากคลองเตยผู้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง
บุ๊คยังพูดถึงความรักจากครอบครัวด้วยความซาบซึ้ง ทั้งพ่อ ย่า และแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เขานับเป็นครอบครัว “ผมคิดว่าผมไม่สามารถเป็นตัวเองอย่างทุกวันนี้ได้ ถ้าไม่ได้รับความรักจากครอบครัว” เขารับมือกับความเหงาด้วยการใช้เวลาช่วงหนึ่งของทุกวัน โดยเฉพาะก่อนนอน นึกถึงช่วงเวลาดี ๆ ที่เคยมีร่วมกับคนที่รัก เพื่อให้ภาพความรักยังคงชัดเจน ไม่ถูกความทุกข์กลืนกิน
ก่อนจากกัน บุ๊คฝากขอบคุณทุกคน ที่ยังมอบความรักให้ สนับสนุนและเชื่อในตัวเขา “ผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ผมก็หวังว่าสักวันผมจะเป็นคนที่ดีขึ้นได้เรื่อย ๆ ผมอยากให้คนรอบข้างผมมีความสุขและมีรอยยิ้มมากที่สุด การถูกจองจำทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าสิ่งใดที่มีค่าที่สุดในชีวิต ได้เรียนรู้ว่าสิ่งไหนที่ผมควรรักษาไว้ให้ดีที่สุด”
ปัจจุบัน (14 ก.พ. 2567) บุ๊ค ศิลปินฮิปฮอป ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุตรวจพบการครอบครองระเบิดปิงปองในช่วงชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2565 ถูกคุมขังมาแล้ว 512 วัน หรือ 1 ปี กับอีก 4 เดือน 27 วัน คดีของบุ๊คสิ้นสุดลง โดยต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยได้ลดหย่อนโทษลงราว 6 เดือน หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567
ระหว่างใช้ชีวิตในเรือนจำบุ๊คยังคงทำงานแต่งเพลงสะท้อนสังคม และเตรียมจะปล่อยซิงเกิ้ลใหม่ทันทีหากเขาได้รับอิสรภาพ
.
“แม็กกี้”: ความรักที่ไร้พรมแดน

ผ่านกระจกห้องเยี่ยมที่เรือนจำกลางคลองเปรม แดน 1 “แม็กกี้” นั่งอยู่อีกฟากหนึ่ง ริมฝีปากทาสีชมพูอมส้มสดใส แม้กระจกจะมีคราบไม่สะอาด แต่รอยยิ้มของเธอก็ยังเปล่งประกายผ่านความหม่นหมองนั้นได้ วันนี้เธอบอกว่าเป็นวันที่รู้สึก “เบลอ ๆ” แม้จะพยายามฮีลตัวเองมามากแล้ว
สำหรับแม็กกี้ ความรักคือพลังที่ทำให้มีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป แม้จะไม่มีคนรักข้างนอก แต่เธอได้รับความรักในรูปแบบอื่น ทั้งจากเพื่อนในเรือนจำ ครอบครัว ทนาย และผู้สนับสนุนผู้ต้องขังทางการเมือง ที่คอยช่วยเหลือเธอ “หนูรักที่ทุกคนไม่ทิ้งหนู” เธอเล่าด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง
“ความรักเป็นแรงให้ยังรู้สึกว่ามีหวัง หนูหมายถึงสิ่งที่ทุกคนทำให้หนูมันเป็นความรักที่ส่งมาให้หนูรู้สึกอยากอยู่ต่อ อยากมีความสุข แล้วก็พยายามไม่เครียด พยายามเข้มแข็ง”
นอกจากความรัก ความสัมพันธ์กับครอบครัวของแม็กกี้เป็นเรื่องที่เธอประทับใจ แม้พวกเขาจะอยู่ไกลและไม่ค่อยได้มาเยี่ยม แต่ความรักและความห่วงใยก็ไม่เคยจางหาย “วันที่เยี่ยมใกล้ชิดมันเหมือนเวลามันย้อนกลับไปตอนที่รู้สึกว่าเราเด็ก ๆ เราเจอแม่มาหาที่โรงเรียน มันดีใจ มันอบอุ่น ตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก” แม็กกี้เล่าด้วยความรู้สึกอบอุ่น
การสื่อสารกับโลกภายนอกผ่านการเยี่ยม จดหมาย และของฝากต่าง ๆ เป็นเสมือนสายใยแห่งอิสรภาพสำหรับแม็กกี้ “การที่เข้ามาเยี่ยม การส่งจดหมายหา มีอาหาร มีข้าวของเครื่องใช้ส่งให้แบบนี้ มันทำให้ความรักในใจหนูชุ่มชื่น และสิ่งเหล่านี้มันเหมือนเป็นอิสรภาพของหนูเลย เพราะมันมาจากข้างนอก ที่ ๆ หนูออกไปไม่ได้”
แม้จะต้องเผชิญกับความเหงาและความว้าเหว่ แต่แม็กกี้ก็พยายามหากิจกรรมทำ เช่น การแต่งหน้า แม้บางวันจะไม่ได้ออกไปพบใคร แต่เธอก็ทำเพื่อรักษาความหวังว่าอาจมีคนมาเยี่ยม เธอพยายามทำใจให้สบาย ไม่ให้ตัวเองเครียดมากเกินไป และรอคอยวันที่จะได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เรือนจำจัดขึ้น
ก่อนลาจากแม็กกี้ฝากข้อความไว้ว่า คิดถึงครอบครัวมาก ขอบคุณที่มาเยี่ยมใกล้ชิด ขอให้ทุกคนแข็งแรง แม่กับพ่อดูแลสุขภาพด้วย “สำหรับมิตรภาพที่เกิดขึ้นตอนที่หนูโดนคดี หนูอยากบอกว่าขอบคุณมาก ๆ ความรักจากทุกคนที่อยู่ข้าง ๆ หนู คอยถามเรื่องราว ซื้อของให้ เข้าเยี่ยมแบบนี้ มันทำให้หนูมีกำลังใจ ไม่โดดเดี่ยว หนูขอให้ทุกคนรักษาสุขภาพ ขอให้ยังมีแรงที่จะอยู่ข้าง ๆ กันต่อไป”
จนถึงปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) แม็กกี้ถูกคุมขังมาแล้วรวม 482 วัน โดยเธอถูกศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 25 ปี ในคดีตามมาตรา 112 คดีของแม็กกี้สิ้นสุดลงแล้ว ทำให้ยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม
.
“แอมป์ ณวรรษ”: ความรักและความเท่าเทียมทางเพศ

ในห้องเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ แดน 4 เขาปรากฏกายในชุดเสื้อแขนสั้นสีฟ้าและกางเกงขาสั้นสีดำนั่งอยู่ ผมสั้นทรงสกินเฮดที่ไม่ได้สั้นมากนักบ่งบอกถึงสถานะของผู้ต้องขัง แม้รอยยิ้มจะยังคงประดับบนใบหน้า แต่แววตาอ่อนล้าและรอยคล้ำใต้ตาสะท้อนถึงความเหนื่อยล้าที่ซ่อนอยู่ภายใน นี่คือแอมป์ ผู้ที่ความรักยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะการต่อสู้สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ
“ความรักเป็นเหมือนเพื่อน พี่ น้อง ที่คอยซัพพอร์ตกันตลอด” แอมป์เริ่มต้นบทสนทนาด้วยน้ำเสียงอบอุ่น เขาเล่าว่าในฐานะผู้ต้องขังคดีการเมือง หากไม่มีความรักที่คอยค้ำจุนจิตใจ ทั้งการสนับสนุนด้านการเงิน ของเยี่ยม และสิ่งของจำเป็น ชีวิตคงลำบากกว่านี้มาก ความรักกลายเป็นพลังที่ทำให้เขายังมีความหวังว่าจะได้กลับออกไปข้างนอก
เมื่อพูดถึงแฟน “ถ้าจะให้นิยามง่าย ๆ คนรักของผม เขาเป็นเหมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว จริง ๆ เราเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิตกันและกัน ถ้าไม่มีเขาคอยซัพพอร์ต มันก็เหมือนชีวิตครึ่งหนึ่งของผมหายไปด้วย”
ยิ่งกับความทุ่มเทของคนรัก ผู้ซึ่งต้องเดินทางไกลจากพระประแดงมาเยี่ยมที่เรือนจำ แม้การเดินทางจะไม่สะดวกและคนรักขับรถไม่คล่อง แต่ก็ไม่เคยขาดการติดต่อ บางครั้งถึงขั้นมาพักค้างแถวเรือนจำเพื่อให้ได้เยี่ยมในรอบแรกของวัน “เขาให้เหตุผลที่ทำให้เราไม่ลำบากใจ บอกว่าถ้ามาเยี่ยมเช้า ๆ ได้ หลังจากนั้นก็จัดการเวลาเอาไปทำงานอย่างอื่นได้” แอมป์เล่าด้วยความซาบซึ้ง
ความรักยังเป็นแรงบันดาลใจให้แอมป์ต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เขามองว่าความรักไม่ใช่แค่เรื่องของคนสองคน แต่เป็นเรื่องของการได้รับการยอมรับและการรับรองอย่างเป็นทางการจากสังคม ประสบการณ์ความรักของเขาเองก็สอนให้เข้าใจประชาธิปไตยมากขึ้น “ยิ่งกับเรื่องที่คิดเห็นไม่ตรงกัน เราสามารถพูดคุยในความเห็นที่แตกต่างนั้นได้ แล้วมันก็นำไปสู่วิธีการแก้ไขหรือการหาทางออกร่วมกัน”
แม้การถูกจำคุกจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ แต่แอมป์พยายามมองในแง่บวก โดยเฉพาะการได้เขียนโดมิเมล์หรือจดหมายหากัน เป็นรูปแบบการสื่อสารที่ไม่ให้กำแพงเรือนจำมาขวางกั้นความรักของพวกเขา “จดหมายมันมีความหมายกับผมมาก ถ้าจะพูดให้เห็นภาพหน่อยคงเหมือนการรดน้ำต้นไม้ มันช่วยให้ต้นไม้ยังคงเติบโตได้ คือถ้าไม่รดน้ำ ไม่ใส่ใจ ไม่ดูแลต้นไม้ มันก็ตาย”
นอกจากจดหมายและการเยี่ยม กับการจัดการความเหงาจากข้างใน “ผมพยายามมองหาแง่มุมที่มันทำให้ตัวเองไปต่อได้ อย่างน้อยเราก็ยังมีคนให้คิดถึง ยังมีคนที่รอเราอยู่ข้างนอก มันทำให้มีกำลังใจที่จะไปต่อ ที่จะอดทน”
แอมป์ยังฝากข้อความสำคัญ ถึงเพื่อน ๆ ผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า ขอแสดงความยินดีที่ทุกคนสามารถสมรสกันได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่จำกัดเพศ ขอให้จดจำโมเมนต์นี้ไว้ว่ามันเป็นวันที่เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องหลบซ่อน และที่สำคัญไม่อยากให้ลืมว่ากว่าจะถึงวันนี้ เราต้องผ่านการต่อสู้อย่างยากลำบากมามากมายขนาดไหน
จนถึงปัจจุบัน (14 ก.พ. 2568) แอมป์ถูกคุมขังระหว่างชั้นฎีกาในคดีมาตรา 112 มาแล้ว 68 วัน ทั้งนี้จากบทบาทขึ้นปราศรัยในการชุมนุม ระหว่างปี 2563-2564 แอมป์ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองรวมทั้งหมด 20 คดี
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
“เพราะความฝันและความหวังไม่เคยถูกกักขัง”: ส.ค.ส. ปีใหม่จากผู้ต้องขังการเมือง