“มีชัย” อดีตพนักงานโรงแรมที่เกาะช้าง นับเป็นประชาชนอีกคนหนึ่งที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112
เขาเป็นคนเดียวเท่าที่ทราบข้อมูล ซึ่งถูกคุมขังในข้อหานี้อยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ มาตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค. 2567 จนถึงปัจจุบันก็เข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว
คดีของมีชัย เขาถูกกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563 มีเนื้อหาตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ คดีของเขาต่อสู้จนถึงชั้นอุทธรณ์ แต่หลังจากไม่มีผู้พิพากษารับรองให้ฎีกา ทำให้คดีเดินทางมาถึงที่สุด และเขาต้องรับโทษตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คือ จำคุก 2 ปี 8 เดือน
แม้เขายืนยันการต่อสู้คดี เพราะคิดว่าข้อความไม่น่าจะเข้าข่ายความผิด และไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องติดคุก แต่หลังจากสถานการณ์คดีดำเนินไป มีชัยก็เตรียมตัวเตรียมใจในระดับหนึ่งกับการเผชิญหน้าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
แม้จะเตรียมใจไว้ได้บ้าง แต่ข้อห่วงกังวลต่อชีวิตของคนในครอบครัวก็ยังคงอยู่ มีชัยก็มีคุณแม่ที่อายุมากแล้ว และลูกสาวในวัยมหาวิทยาลัย ต้องห่วงใยและกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ชีวิตในเรือนจำของคนที่เสียอิสรภาพจึงเต็มไปด้วยความระลึกถึงคนที่อยู่ภายนอก
ชวนทำความรู้จักกับมีชัย และความห่วงกังวลในชีวิตของเขาให้มากขึ้น
.
คนทำงานในธุรกิจโรงแรมมากว่า 30 ปี
มีชัย (สงวนนามสกุล) ปัจจุบันอายุ 53 ปี เขาเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ โดยเรียนชั้นประถมและมัธยมในโรงเรียนย่านพระโขนง ต่อมาหลังจบมัธยมปีที่ 3 เขาเข้าเรียนระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ในแผนกช่างก่อสร้าง จนมีทักษะด้านงานก่อสร้าง ส่งผลให้เขาเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้านสายงานก่อสร้าง มีตำแหน่งเป็นโฟร์แมนคุมงาน
ทำงานนี้ได้ราว 3 ปีกว่า ก็เกิดวิกฤติปูนขาดตลาด บริษัทที่เขาทำงานอยู่เป็นผู้รับเหมาขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีเงินทุนพอจะจัดหาปูนมาในเวลานั้น จึงส่งผลกระทบต่อคนทำงานทั้งหมด และทำให้เขาต้องตกงานในที่สุด
หลังจากนั้น ญาติที่ทำงานในห้องอาหารจีนของโรงแรมที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ชักชวนให้เข้าไปทำงานด้วย โดยเขาได้เป็นพนักงานเสิร์ฟรายวัน ทำให้มีชัยหันเหไปทำงานในธุรกิจสายโรงแรมเรื่อยมานับแต่นั้น แม้จะเปลี่ยนที่ทำงานไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นงานในสายนี้เป็นหลัก รวมระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว
ก่อนหน้าที่จะถูกดำเนินคดีนี้ มีชัยย้ายไปอาศัยอยู่กับแม่ที่จันทบุรี ก่อนได้ไปทำงานอยู่ที่รีสอร์ทแห่งหนึ่ง บนเกาะช้าง จังหวัดตราด ในตำแหน่งผู้จัดการห้องอาหารของโรงแรม มีหน้าที่จัดการอาหารและเครื่องดื่ม ดูแลความพึงพอใจของลูกค้าที่เข้าพัก โดยได้เงินเดือนราวเดือนละ 25,000 บาท
เงินเดือนดังกล่าวของเขา ต้องถูกใช้ดูแลครอบครัวอีก 2 ชีวิต ได้แก่ คุณแม่ที่อายุ 74 ปีแล้ว และอาศัยอยู่คนเดียวที่จังหวัดจันทบุรี ปกติมีชัยจะส่งเงินให้แม่ทุกเดือน ช่วยกันกับพี่ชายและน้องสาวของเขา ซึ่งทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ
นอกจากนั้น เขายังมีลูกสาววัย 19 ปี ซึ่งเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยย่านจังหวัดปทุมธานี และเช่าอาศัยอยู่หอพักย่านมหาวิทยาลัย มีชัยต้องส่งเสียค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนให้ลูกสาวก่อนที่เขาจะถูกคุมขัง
“ปกติแค่ส่งให้แม่และค่าเทอมลูก ก็ไม่เหลือเงินใช้เองอยู่แล้ว ดีที่งานโรงแรมนั้น มีอาหารและที่พักให้ จึงไม่เดือดร้อนอะไรมาก แต่ตอนนี้ก็เป็นห่วงลูก ในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าเทอมและค่าที่พักของลูก” มีชัยบอกเล่า
.
เข้าร่วมการชุมนุมของคนเสื้อแดง และติดตามข่าวสารบ้านเมือง
ในด้านความสนใจทางการเมือง มีชัยย้อนเล่าว่าสมัยก่อน เขาเริ่มจากการติดตามดูข่าวสารบ้านเมืองทางสื่อต่าง ๆ ทั่วไประหว่างการทำงาน หากตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2549 เขาเห็นว่าบ้านเมืองมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นมาก สิ่งเหล่านี้สะสมความคิดและความไม่สบายใจเอาไว้
“ผมชอบความเสมอภาคความเท่าเทียม เลยหันมาอ่านข่าว อ่านบทความการเมือง” มีชัยเล่า
จนหลังการยุบพรรคไทยรักไทย และเกิดการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่ราวช่วงปี 2552 เขาก็เริ่มติดตามการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใกล้ชิดขึ้น โดยเคยมาร่วมการชุมนุมบ้างเป็นบางครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ หรือการชุมนุมแสดงพลังอย่างที่โบนันซ่า เขาใหญ่ แต่หากเทียบกับผู้ตื่นตัวทางการเมืองคนอื่น ๆ มีชัยคิดว่าเขาไม่ค่อยได้ร่วมชุมนุมเท่าไร เพียงแต่ติดตามข่าวสาร และออกไปรวมตัวกับคนที่สนใจใกล้เคียงกันในชุมชนที่อยู่เท่านั้น
การติดตามข่าวสารบ้านเมือง ยังนำเขาไปสู่ความตระหนักในประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้ภาษีของประชาชน ทำให้เขาแสดงความคิดเห็นดังกล่าวในช่วงหลัง และนำไปสู่การถูกดำเนินคดีมาตรา 112
“ผมเจอเรื่องงบประมาณสถาบันฯ ตอนนั้นก็แค่โพสต์ถาม เพราะความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป ตอนโควิดนั้นเศรษฐกิจแย่ แต่งบสถาบันฯ ยังคงสูงอยู่ เลยคิดว่าถ้าแบ่งมาใช้กับประชาชนในช่วงเศรษฐกิจแย่ คงจะดีกว่าไหม ไม่ได้คิดจะล้มล้างอะไรเลย” มีชัยสรุปสิ่งที่เขาคิด
.
ช่วง คสช. เจ้าหน้าที่รัฐไปหาถึงบ้าน ก่อนถูกดำเนินคดีในปี 2564
ก่อนหน้าจะถูกดำเนินคดีนี้ มีชัยเล่าว่าในปี 2561 ช่วงที่ คสช. ยังอยู่ในอำนาจ เขาเคยถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบราว 10 กว่านาย ขับรถ 7-8 คัน ไปหาเขาถึงบ้าน เขาคิดว่ามีทั้งหน่วยของทหาร และ กอ.รมน. พยายามเข้ามาสอบสวนเขาถึงเหตุผลการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดยไม่ได้มีหมายใด ๆ และดูเหมือนไม่ใช่กระบวนการตามกฎหมาย
“วันนั้น มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร และ กอ.รมน. รวม 10 กว่านาย ไปหาผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่ผมอยู่อาศัย ผู้ใหญ่บ้านเลยเดินไปตามผมที่บ้าน ผมอยู่ที่บ้านพอดี ผมก็ให้ความร่วมมือไป”
มีชัยจำได้ว่า เขาไปคุยกับชุดเจ้าหน้าที่ดังกล่าวที่ใต้ถุนบ้านของผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะและพูดคุยในลักษณะสอบสวนเขาเป็นเวลาราว 2 ชั่วโมง ทั้งยังมีการตั้งกล้องวิดีโอบันทึกการพูดคุยไว้โดยตลอด และยังได้ให้เขาลงลายมือชื่อในเอกสารข้อตกลง ว่าจะไม่เผยแพร่ข้อความที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์อีก เขาได้ยินยอมให้ความร่วมมือ
จนกระทั่งช่วงปลายปี 2563 เขาได้รับหมายเรียกในฐานะ “พยาน” จากตำรวจ สภ.บางแก้ว ให้เดินทางไปให้ปากคำเกี่ยวกับข้อความที่อาจเข้าข่ายมาตรา 112 แต่เขาไม่ได้เดินทางไป เนื่องจากขณะนั้นเขาอาศัยอยู่จังหวัดจันทบุรี และมีภาระทางครอบครัวที่ต้องดูแล ทำให้ไม่สะดวกไป และไม่คิดว่าจะมีผลกระทบตามมา
จนวันที่ 31 มี.ค. 2564 มีชัยได้รับหมายเรียกจาก สภ.บางแก้ว อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นหมายเรียกในฐานะ “ผู้ต้องหา” ให้เขาเดินทางไปรับทราบข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่สถานีตำรวจซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ
ต่อมาทราบว่าคดีมี ศิวพันธุ์ มานิตย์กุล เป็นผู้กล่าวหาไว้ ประชาชนรายนี้เป็นผู้ดำเนินการแจ้งความมาตรา 112 ไว้ที่ สภ.บางแก้ว หลายสิบคดี โดยทราบว่ามีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่น้อยกว่า 9 ราย และมีชัยก็กลายเป็นหนึ่งในนั้น
มีชัยได้รับการประกันตัวเรื่อยมาในชั้นสอบสวนและชั้นศาล โดยได้รับความช่วยเหลือหลักทรัพย์ประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ เขาไปตามนัดคดีเรื่อยมา แม้ต้องเดินทางไกลไปจากจันทบุรี และต่อมาก็จากเกาะช้าง หลังจากได้งานใหม่
เขาต่อสู้คดีโดยยอมรับว่าโพสต์ข้อความจริง แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงการตั้งคำถาม อยากให้สังคมร่วมกันคิดว่าจะสามารถปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นประโยชน์โดยรวมได้อย่างไร เป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย และไม่ได้เจาะจงตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์โดยรวม
แต่ในที่สุด ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังคงเห็นว่าเขามีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกถึง 4 ปี แต่เห็นว่าเขาให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
.
.
ชีวิตและความห่วงกังวลหลังถูกจองจำ
“ผมไม่ได้คิดถึงอิสรภาพตัวเองเท่าไหร่ คิดถึงเรื่องทางบ้านมากกว่า คิดว่าถ้าเราต้องอยู่ในคุก ทางบ้านจะเป็นอย่างไร ผมต้องพาแม่ไปหาหมอที่อนามัย ตอนอยู่ในห้องเวรชี้ ถ้าวันนี้ติดคุก วันพรุ่งนี้ต้องทำอย่างไร ใครจะพาแม่ไปหาหมอ” มีชัยเคยเล่าความรู้สึกระหว่างต่อสู้คดีกับผู้สังเกตการณ์
มีชัยเตรียมตัวเตรียมใจไว้ระดับหนึ่งว่าจะต้องถูกจองจำ จากคำพิพากษาที่ต่อเนื่องมาทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทำให้หลังถูกคุมขัง มีชัยบอกกับทนายความที่เข้าเยี่ยมว่า เขาปรับตัวกับสภาพที่เกิดขึ้น และเข้าใจสถานการณ์ได้ แต่เขาห่วงกังวลเรื่องเดียว คือเรื่องคุณแม่ที่อายุมากแล้ว และลูกสาวคนเดียว ที่ปกติเขาส่งรายได้ให้ทั้งสองคนในทุก ๆ เดือน
“ผมห่วงแต่เรื่องข้างนอก เรื่องแม่และลูกสาว กลัวสองคนนี้ลำบาก เงินไม่พอใช้ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีเงินเก็บมากนัก และเงินส่วนใหญ่ ก็ใช้เป็นค่าเทอมและค่ากินอยู่ เดือนชนเดือนไป”
หลังถูกคุมขังในเรือนจำกลางสมุทรปราการ มีชัยถูกจำแนกแดน ย้ายไปอยู่ที่แดน 7 ซึ่งกำหนดวันเยี่ยมญาติได้เฉพาะวันจันทร์และพฤหัส แต่แม่ของเขาที่อยู่จังหวัดจันทบุรีก็เดินทางไปเยี่ยมได้ลำบากอยู่ดี รวมทั้งการเพิ่มชื่อบุคคลเข้าเยี่ยมที่เรือนจำนี้ ยังเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า
มีชัย เล่าถึงชีวิตภายในว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำให้เขาไปช่วยงานที่ห้องสมุด เพราะเห็นว่าฟังพูดภาษาอังกฤษได้ จึงอยากให้ช่วยเป็นล่ามให้ผู้ต้องขังชาวต่างชาติ เวลามายืมคืนหนังสือ และช่วยให้คำแนะนำกับชาวต่างชาติได้
มีชัยเล่าว่า เขาเรียนภาษาอังกฤษมาตามระบบโรงเรียนปกติ ไม่เคยเรียนเพิ่มเติมหรือไปอยู่เมืองนอกเลย แต่เขาได้ทักษะการใช้ภาษาที่ดีขึ้น จากการทำงานโรงแรม ซึ่งต้องคลุกคลีกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาเรียนรู้แบบครูพักลักจำเอา ฟังจากที่ฝรั่งพูด ทำความเข้าใจความหมายของคำจากบริบท ว่าคำพูดประมาณนี้ใช้สื่อสารอะไร จนมีทักษะภาษาที่ดีขึ้น
มีชัยยังเล่าว่าในเรือนจำ เขาได้เข้าร่วมชมรมดนตรี โดยเป็นคนเล่นกีตาร์ เขาร่วมซ้อมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถ้ามีงานตามวันสำคัญ ก็จะได้เป็นวงดนตรีขึ้นเล่น เช่น ล่าสุดในกิจกรรมช่วงวันลอยกระทง โดยทักษะการเล่นกีตาร์นี้ เขาเคยหัดเล่นและแกะคอร์ดเอง มาตั้งแต่ช่วงเรียน ปวช. แล้ว
หลังถูกคุมขังในเรือนจำไปกว่า 4 เดือนแล้ว เขายังมีโทษเต็มที่รออยู่ข้างหน้าอีกกว่า 2 ปีเศษ เขายังหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวโดยเร็วกว่านั้น ไม่ว่าจะโดยการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง หรือการดำเนินการอื่นใด
“อยู่ในนี้ผมสวดมนต์ทุกวัน ถือศีลห้า มันเป็นโอกาสดีที่จะรับศีลในคุก คาดว่าออกไปผมจะเลิกเหล้าเลิกบุหรี่ คิดว่าติดคุกทั้งทีเอาดีให้ได้”
“แต่วิธีคิดยังคงเหมือนเดิม เรื่องการเมืองการปกครอง สิ่งที่ผมคิดมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อยู่ในนี้พอคนรู้ว่าโดนคดี 112 มา ทุกคนก็อยากรู้อยากคุยด้วย หลายคนตกใจคิดว่ามันเป็นคดีร้ายแรง ก็เลยถือโอกาสให้ความรู้คนอื่นไปด้วยเลย ทั้งตัวกฎหมายและการกระทำของผม คนก็เข้าใจมากขึ้น ว่ามันแค่โพสต์ข้อความ แสดงความคิดเห็น” มีชัยบอกเล่าถึงบางส่วนของชีวิตในเรือนจำ
.